องอาจ เดชา หรือ ภู เชียงดาว คือ เด็กหนุ่มชาวเชียงใหม่ที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองด้วยการอ่านและการเขียนหนังสือ ชีวิตวัยเด็กดิ้นรนเรียนหนังสือเพื่อเป็นครูดอย ใช้ชีวิตแบบคนภูเขา กลางวันสอนหนังสือให้กับเด็กนักเรียน ส่วนกลางคืนสอนหนังสือให้กับชาวบ้าน ยามเปลี่ยวเหงาหยิบปากกาเขียนบันทึก เมื่อพบเจอกับเพื่อนรักจึงชักชวนสู่อาชีพนักเขียน นักข่าว คอลัมนิสต์ เปลี่ยนชีวิตจากครูดอยสู่การเป็นนักเขียนรางวัลสารคดี “คนค้นคน” และรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” หลังจากนั้น เติบโตเป็นบรรณาธิการหนังสือ บรรณาธิการวารสาร เลือกใช้ชีวิตที่สงบสุขอยู่ในหุบเขา ทำธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม วรรณคดี
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผมชอบอ่านหนังสือ ตอนเรียนผมชอบวิชาภาษาไทยและวิชาสังคม จำได้ว่า ทุกวัน คุณครูประจำชั้นจะเล่าวรรณคดีเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ผมซึมซับวรรณกรรม วรรณคดี ฟังเรื่องเล่าวันละนิด ทำให้ผมติดตาม ชอบวรรณกรรม ชอบวรรณคดีโดยไม่รู้ตัว แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็ชอบอ่านหนังสือ บ้านเกิดของผมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา คือ หมู่บ้านแม่ป๋อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า ถนนหนทางไม่ดี เดินทางลำบากมากกว่าจะเดินทางถึงตัวเมือง ที่หมู่บ้านจะมีรถโดยสารเพื่อเดินทางไปตลาด แม่จะตื่นตี 3 เพื่อพาผมไปจ่ายตลาด ผมจำได้ว่า อยากไปตลาดเพราะผมได้กินขนม ที่นั่นมีแผงหนังสือ มีคนขายหนังสือพิมพ์ ผมจะขอเงินแม่ซื้อหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ
โลกของผมกว้างมากขึ้น ผมเริ่มเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือดีๆ นิตยสารชัยพฤกษ์ นิตยสารวัยหวาน มันเป็นการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว แต่ผมชอบหนังสือนอกเวลา ชอบหนังสือคนเผาถ่าน พลายมลิวัลย์ เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมสอบโควต้าเข้าเรียนช่างยนต์ ตั้งใจจะไปบอกพ่อกับแม่ที่กำลังทำไร่ พวกเขากำลังเกี่ยวถั่ว มัดถั่ว ส่วนผมดีใจเพราะมีที่เรียนต่อ ผมบอกพ่อกับแม่ว่าสอบได้โควต้าช่างยนต์ พ่อแม่ส่ายหัวไม่ให้เรียน ครอบครัวของผมลำบากมาก ผมเสียใจร้องไห้เพราะผมมีความฝัน เด็กบ้านนอกคนหนึ่งสอบได้โควต้าจะได้ไปเรียนหนังสือในเมือง สุดท้ายพ่อบอกไม่ให้เรียน ให้มาช่วยกันทำสวน แบกถั่ว มัดถั่ว ตอนนั้น ผมได้แต่ร้องไห้
พี่ชายคนโตมองเห็นผมตัวเล็ก ทำไร่ ทำสวน มองว่าผมทำงานหนักไม่ไหว พี่ชายบอกพ่อกับแม่ว่าให้น้องไปเรียน แต่เวลาล่วงเลย โรงเรียนปิดรับสมัคร โรงเรียนเปิดเทอม ผมไม่มีที่ไปนอกจากโรงเรียนธรรมราชศึกษา หรือโรงเรียนวัดพระสิงห์ ที่นั่นนักเรียนเกเร นักเลง ผมเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมค้นหาตนเองไม่เจอ ญาติก็ชวนไปทำงานร้านเหล็กในตัวเมืองเชียงใหม่ เยื้องกับร้านหนังสือสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ แบกเหล็ก ส่งเหล็ก หลังจากนั้น ก็เปลี่ยนงานเป็นพนักงานเก็บเงิน ขับรถมอเตอร์ไซค์เก็บเงิน แต่ผมชอบอ่านหนังสือ ตรงข้ามร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ มีร้านหนังสือเก่า ที่นั่นผมค้นเจอโลกหนังสือ โลกวรรณกรรม ผมเจอหนังสือของ มาลา คำจันทร์ ,พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล , ถนอม ไชยวงแก้ว , เสกสรร ประเสริฐกุล, เฮมมิ่งเวย์ ผมได้เจอโลกใหม่
หลังจากนั้น ผมสมัครเป็นครูการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ครูเดินสอน เขารับครูวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป พอดีมีครูในหมู่บ้านแนะนำ ผมก็สมัครผมก็ได้เป็นครูอาสาสมัครเดินสอน จำได้ว่า ไปอำเภอแม่อาย นอนในหมู่บ้าน ตอนนั้นรับผิดชอบ ต.ท่าตอน กลางวันทำงานช่วยห้องศึกษอำเภอ ตกเย็นเข้าหมู่บ้าน ผมพักอยู่ที่หมู่บ้านหัวเมืองงาม หรือ บ้านสุขฤทัย ซึ่งเป็นชุมชนบ้านคนจีน สมัยก่อนจะมีซุ้มยาดอง กินยาดองย้อมใจ เพราะยุคสมัยก่อนน่ากลัวมาก แต่ที่หมู่บ้านมีตำรวจตะเวนชายแดน มีตั้งด่าน ป้อมยาม ผมก็คุ้นเคยกัน บางครั้งเขาไปรับเงินเดือน เขาก็เอาปืนให้ แล้วก็หายไป ก็เป็นฉากที่ กลางคืนจะสอนผู้ใหญ่ สอนผู้ไม่รู้หนังสือ ให้เขาอ่านออกเขียนได้และได้วุฒิการศึกษา หลังจากนั้น ขยับมารับผิดชอบ ต.บ้านหลวง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ช่วงนั้นเป็นช่วงวัยรุ่น ยังไม่ได้คัดเลือกทหาร สมัยก่อนมีสภาตำบล เขาจะมาประชุมกันทุกเดือน ผมเป็นเด็กก็มานั่งประชุม ตอนนั้นสั่นเลย ซึ่งผมก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป แล้วก็มีการผ่อนผันทหาร สุดท้ายผมก็ต้องจับใบดำ หลังจากนั้น ผู้บริหารก็บอกว่า เขาจะเอาครูที่มีวุฒิการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไป หลังจากนั้น ผมถูกปลดออก
ครูดอย ครูในความฝัน
ผมเคว้งเคว้าง ตกงาน แต่กลายเป็นแรงฮึด ผมตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนต่อ แล้วจะกลับไปเป็นครูดอย ผมเลือกเรียนหลักสูตรอนุปริญญา พัฒนาชุมชน เรียนหนังสือช่วงเสาร์-อาทิตย์ วันจันทร์-ศุกร์ หางานทำ ตอนแรกไม่มีเพื่อน จำได้ว่า เคยทำงานเป็นยามโรงแรม เตรียมเครื่องแบบใส่กระเป๋า เรียนหนังสือเสร็จก็เปลี่ยนเครื่องแบบทำงานเป็นยาม เพื่อนที่เรียนด้วยกันชื่อ ธีระ แก้วสีใส ทำงานอยู่โรงเรียโรงเรียนกาวิละอนุกูล เป็นโรงเรียนสอนเด็กปัญญาอ่อน เพื่อนของผมทำงานห้องผลิตสื่อ เขาชวนผมไปทำงาน
จันทร์-ศุกร์ ผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผลิตสื่อ ส่วนวัน เสาร์-อาทิตย์ เรียนหนังสือ หลังจากนั้น ผมทำงานเป็นครูโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นครูสอนเด็กตาบอด กินนอนอยู่กับเด็กตาบอด ผมมองเห็นแรงบันดาลใจ ความฝัน ความหวังของคนตาบอด ขณะที่ผมสิ้นหวัง ท้อแท้ ผมจะมองเห็นพลังของเขา เด็กตาบอดมีเซ้นส์พิเศษ พวกเขาสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาการเล่นดนตรี เด็กบางคนสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ เรียนร่วมกับเด็กมหาวิทยาลัย เรียนจบปริญญา
ผมทำหน้าที่เป็นครูผลิตสื่อ พิมพ์อักษรเบรลล์ ต่อมาเมื่อมีโปรแกรมสามารถพิมพ์ธรรมดาแต่พิมพ์ออกมาเป็นอักษรอักษรเบรลล์ได้ ฉากชีวิตในโรงเรียนตาบอด มันมีเรื่องราวของความสิ้นหวัง เด็กมืดมน 8 ด้าน พ่อแม่เอามาปล่อย บางครั้งผมมองเห็นเด็กกอดซี่กรงประตูโรงเรียนร้องไห้อยากกลับบ้านอยากอยู่กับตายาย แต่ฉากที่ทำให้ผมมีความหวังก็มีมาก เด็กหลายคนเล่นดนตรีได้ บางคนเก่งคอมฯ บางคนมีความฝันและไม่หยุดเพียงแค่นั้น บางครั้งผมก็ต้องกลับมาดูตนเอง ผมต้องสู่ ช่วงนั้น แม่เสีย ผมขับมอไซค์กลับบ้าน หลังจากกลับไปผมต้องสู้ เมื่อพ่อแม่เสีย ผมไม่มีที่พึ่ง
ผมทำงานกระทั่งเรียนจบอนุปริญญา ผมสมัครสอบครู เลือกครูบนพื้นที่สูง เริ่มทำงานที่บ้านน้ำบอใหม่ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชนเผ่าลีซู พ.ศ. 2537 ถนนเวียงแหงลำบาก หน้าฝนถนนเป็นโคลน ผมยังจำภาพรถโดยสารเวียงแหงชื่อ รถดาวทองขนส่ง เมื่อก่อนรถดาวทองเป็นรถ 6 ล้อ สีขาว มีการปล้นรถดาวทอง แต่สุดท้ายเรื่องราวการถูกปล้นก็กลายเป็นเรื่องขบขันเมื่อคนที่อยู่ในเหตุการณ์นำมาเล่าใหม่ ทั้งหัวหน้าไปรษณีย์ พยาบาล ฯลฯ
ผมจำภาพเหตุการณ์ตอนเดินทางไปบ้านน้ำบอใหม่ครั้งแรก แบกเป้เดินทางด้วยเท้าไปตามสันเขา เมื่อเดินทางถึงโรงเรียน เด็กๆ เยอะมาก ครูคนเดียวสอนเด็กนักเรียน 52 คน กลางวันสอนเด็กนักเรียน กลางคืนสอนผู้ใหญ่ แต่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก เพราะผมเหมือนอยู่โลกใหม่ เรียนรู้วิถีชนเผ่า มีทั้งสุข ทุกข์ อยู่ในหุบเขา อยู่ในหมู่บ้านทางผ่านของผู้ลี้ภัย พ่อค้ายาเสพติด เป็นทางผ่านไปดอยสามหมื่น แต่ความเป็นครูแตกต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ต่างจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้านรักเคารพครูเหมือนเป็นที่พึ่งของเขา ถ้ามีเหตุการณ์มีปัญหาชาวบ้านจะเชื่อฟังครู ปกป้องครู
มีเหตุการณ์หนึ่งคือลูกศิษย์ของผมป่วย ท้องร่วง พ่อแม่ของเขาร้องไห้และยอมรับสภาพว่าลูกของเขาใกล้ตาย ตอนนั้นเขาจุดธูป ใส่ชุดประจำเผ่า แต่ผมรับไม่ได้จึงของเอาเด็กไปโรงพยาบาล ผมขับรถฮอนด้าดรีมสีขาวคุรุสภา ส่วนพ่อเอาลูกสะพายหลังใช้ผ้ามัดรั้งแล้วซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ เราสามคนเดินทางบนเส้นทางที่เป็นโคลนภูเขาเพื่อพาเด็กไปหาหมอ ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ รถล้ม ผมจับดูเด็กยังมีลมหายใจ แผ่นหลังของผมเปื้อนด้วยน้ำตาของพ่อ พวกเราเดินทางต่อกระทั่งถึงโรงพยาบาล แต่เมื่อถึงโรงพยาบาลเวียงแหง หมอ พยาบาล ช่วยกันปั้มหายใจ แต่สุดท้ายเด็กน้อยก็สิ้นลมหายใจแล้ว
ผมเรียกประชุมทั้งหมู่บ้าน ตกลงกันว่า ทุกวันศีลลีซูผมจะพาชาวบ้านไปขุดถนน ระหว่างที่ชาวบ้านทำงานขุดถนน ผมก็จะไปที่วัดกองลมเพื่อพบกับเจ้าคณะอำเภอเวียงแหง ทางวัดก็จะจัดเตรียม มาม่า ปลากระป๋อง ฝากให้ผมนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน หลังจากนั้น พวกเราก็กินข้าวด้วยกัน ผมทำแบบนี้หลายปีกระทั่งรถยนต์สามารถเดินทางขึ้นไปในหมู่บ้านได้ สำหรับการเรียนการสอน ผมเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ภาษาไทย สังคม ช่วงบ่ายก็จะเป็นสร้างเสริมประสบการณ์ ผมพาเด็กๆ ลงไปเล่นน้ำห้วย เด็กบนดอยเก่งอยู่แล้ว จับปลา เก็บลูกมะไฟ เก็บผักกรูดตามลำห้วย ฯลฯ มันมีความสุขหลังกลับบ้านเขาก็ได้ผัก ได้ไม้ฟืน ช่วงกลางคืนก็ก่อไฟทำกิจกรรม ชาวบ้านก็จะมาร่วม ผมจะได้รับความจริงใจ ความงดงาม เรารักผูกพันกัน
ตอนเป็นครูดอยเวียงแหง ผมต้องช่วยเหลือตนเอง นึ่งข้าว หุงข้าว ทำกับข้าวเอง เราเหมือนอยู่โลกคนเดียว พูดภาษาไทยได้คนเดียว แต่ในทุกสังคมมีความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าอยู่จุดใด การเอาเปรียบ ความเป็นชนชั้น มีแทรกอยู่ทุกกลุ่มชน บางเรื่องผมพูดออกมาไม่ได้ แต่ผมเห็นความเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว ถ้ากลับไปบนดอย ผมจะสอนเรื่องการเอาตัวรอดในสังคมเมือง ชุมชนบางชุมชนผู้คนยังไม่มีสัญชาติ บางสังคมถูกบีบคั้นจากรัฐ สวัสดิการไม่ครอบคลุม ตอนนี้ หมู่บ้านล่มแล้ว ร้าง เหลือคนเพียงไม่กี่ครอบครัว ส่วนที่เหลืออพยพมาอยู่ตัวอำเภอ มีเงินก็มาซื้อที่ดินอยู่พื้นราบ ไม่ต้องไปสู้รบกันอีก ถ้าย้อนเวลากับไปได้ผมอยากสอนให้พวกผมเรียนรู้ความจริงข้างล่างว่ามันเลวร้าย ไม่ได้บริสุทธิ์เหมือนบนดอย หลายคนเข้าเมืองแต่ล้มเหลว สุดท้ายกลับมาแต่งงานกับชนเผ่าของตนเอง

โลกและความขัดแย้งของคนภูเขา
ครั้งหนึ่ง เกิดเหตุการณ์คนของหมู่บ้านลีซูถางป่ารุกล้ำเขตเมืองน้อยซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอญอเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดข้อขัดแย้ง หมู่บ้านปกาเกอญอเขตอำเภอปาย ยกพวกมาทั้งหมู่บ้าน นำอาวุธมีด ปืน มาที่หมู่บ้านลีซู เมื่อเดินทางมาถึงผมฐานะเป็นครูก็นำน้ำ อาหาร มาต้อนรับหลังจากนั้นพูดคุยปัญหา จัดการเจรจา หลังจากนั้น ทำบันทึกข้อตกลง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งกับรัฐ แต่ชาวบ้านไว้ใจครู ครูจึงเป็นตัวเชื่อมองค์กรของรัฐ ทั้ง โรงพยาบาล หมอ
อย่างเช่น ‘อะลูมิ เลายี่ปา’ ลูกสาวของภูเขา เป็นเด็กที่เรียนจบปริญญาตรี กลับไปทำงานที่บ้าน ทำโฮมสเตย์ แล้วก็เจอนโยบาย แล้วก็กลายเป็นแกนนำ ประท้วงคัดค้าน ช่วงหลังเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น ความขัดแย้งลดลง นโยบายรัฐเริ่มผ่อนปรน มีการประชุม รับฟัง กลุ่มที่เคยถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าก็กลายเป็นฟันเฟือง ดูแลเรื่องการจัดการไฟป่า รายได้จากโฮมสเตย์ส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นกองทุนเพื่อจัดการไฟป่า
การบุกรุกป่าเป็นไปโดยรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นเขตป่าสงวน? ความจริงรู้อยู่แล้วว่าแนวเขตป่าเป็นอย่างไรแต่มันเป็นวิถีของชาวเขา ถ้าสมัยก่อนแค่เพียงปลูกข้าวก็ใช้พื้นที่แค่นั้น แต่ช่วงหลังมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เดียวนี้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีการขยายพื้นที่ ถ้าปลูกข้าว ถั่ว มะม่วง คงไม่กระทบมาก แต่ตอนนี้เริ่มปรับตัว บางหมู่บ้านที่ปลูกข้าวโพดเยอะๆ มีการขยายพื้นที่ มีปัญหาขัดแย้งตลอด ช่วงหลังชาวบ้านเริ่มปรับตัวได้ เดียวนี้เริ่มปรับการเพาปลูกหลากหลายขึ้น เช่น มะม่วง ลำไย อโวคาโด เมื่อเป็นแบบนี้ก็ย่อมดีต่อภาครัฐ เมื่อมีพื้นที่ก็ไม่ขยาย เขาก็จะดูแลพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกับการทำไร่ข้าวโพด
ผมรับความคิดจากประชาไท เรื่องการวิพากษ์รัฐ แต่ผมสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการปรับตัวดีมากขึ้นเพราะถ้าใช้นโยบายแบบเดิมคือการปราบปราม ปิดป่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง บางครั้งเกิดไฟไหม้ เมื่อปรับนโยบาย ผ่อนปรน ก็มีการพูดคุย ถามว่าชาวบ้านอยากสร้างปัญหาหรือไม่ ชาวบ้านไม่อยากสร้างปัญหา เขาพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่น การระดมทุนเพื่อเป็นกองทุนในการแก้ปัญหาไฟป่า รัฐต้องทำความเข้าใจ ล่าสุดชาวบ้านเข้าไปเรียกร้องที่ศาลากลาง กฎหมายลูกมีความขัดแย้ง ซ่อนไว้ สุดท้ายแล้ว มันก็คือการเอาคนออกจากป่า มันย้อนแย้ง หลายชุมชนได้รับผลกระทบ พื้นที่แม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดผิดระเบียบ ชุมชนอยู่มาก่อนมีพระราชบัญญัติ ฉะนั้น ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นเพื่อทวงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายลูกบีบให้เจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ แยกคนออกจากป่า
ถ้ารัฐเข้าใจควรจะเข้าไปรื้อโครงสร้าง แนวคิด เพราะมันผิดตั้งแต่ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถ้าผมไล่เลียงประวัติศาสตร์ชุมชนมันอยู่มาก่อน ถ้ารัฐเข้าใจแล้วสร้างแนวกั้นเขตให้ชัดเจน แล้วไม่ต้องไปยุ่งแนวเขตชุมชนดั้งเดิม เราอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้ว หลายพื้นที่อย่างบ้านกลาง จังหวัดลำปาง เขากั้นเขตพื้นที่ สามารถดูแลป่าได้ดีมาก บ้านกลางอยู่สมัยคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย เขามีประวัติศาสตร์ แล้วก็มีการประกาศเขตอุทยานเท่านี้ก็เห็นแล้ว่าไม่ใช่ ความจริงแกนนำอยากให้เรื่องถึงผู้บริหาร ปัญหาคือผู้นำระดับประเทศระดับชาติไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เขาฟังแค่คนบอก ความจริงแล้วไม่ใช่ กฎหมายสามารถแก้ได้ ให้กฎหมายเป็นธรรม คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ เหมือนดอยหลวงเชียงดาว ถูกประกาศโดยยูเนสโก้ว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของโลก ซึ่งในความหมายหรือบริบท สัตว์ คน ป่า สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ฉะนั้น เราต้องทำอย่างนั้นให้ได้ แต่เราติดกับกฎหมายเก่าๆ กลายเป็นปัญหาเก่าๆ ซึ่งความจริงมีทางออก การศึกษาหรืองานวิจัยก็รองรับว่า หลายพื้นที่ชาวบ้านสามารถดูแลป่าได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ
นักจดบันทึกสู่นักเขียนสารคดีมือรางวัล
สำหรับงานเขียนหนังสือ ครูดอยสมัยก่อนไม่มีวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ขึ้นบนดอยแล้วเดินทางยากลำบาก เขาก็จะให้ทำงานต่อเนื่อง แต่หยุดยาว 8 วัน ช่วงวันหยุดผมก็จะเดินทางไปร้านหนังสือมือสอง ค้นหนังสือวรรณกรรม เมื่อได้ก็อ่านหนังสือ ช่วงขึ้นไปที่บนดอย ผมจะมีย่าม มีหนังสือ มีสมุดบันทึก ผมเริ่มจากการบันทึก แต่ผมได้รับอิทธิพลทางวรรณกรรม ส่วนบันทึกผมก็เขียนไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่า มันจะนำมาสู่งานเขียน แต่ผมรู้ว่า ผมชอบเขียน
บรรยากาศช่วงนั้นหมาะสำหรับการอ่านมาก เวลาเขียนผมก็จะเล่าให้เห็นบรรยากาศ เขียนไปโดยไม่รู้ว่า มันจะเป้นบทกวี ความเรียง เรื่องสั้น กระทั่งวันหนึ่งผมก็พบกับ วีรศักดิ์ จันทร์ส่องแสง ตอนนั้น เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เขามีงานเขียนสารคดีลงนิตยสารหลายฉบับ ก่อนหน้านั้น ผมมีเพื่อนที่เรียนราม คือครูเคนกับครูเสือ แล้วก็มาเป็นครูช่วยสอน กินนอนอยู่บ้านบ่อใหม่ ทุกคนรักเขา แล้วเป็นเพื่อเดียวกับ วีระศักดิ์ หลังพบกันผมก็เอาสมุดบันทึกดู เมื่อดูแล้ววัรศักดิ์ก็บอกว่าเป็นบทกวี นั่นเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็แนะนำให้เขียนส่งตามนิตยสารต่างๆ หลังจากนั้นก็เลยจดที่อยู่นิตยสารบทกวีเรื่องสั้น หลังจากนั้น ผมเริ่มเขียนหนังสือส่งไปยังกองบรรณาธิการชาวกรุง สยามรัฐ เนชั่นสุดสัปดาห์ ผู้จัดการ จุดประกายวรรณกรรมกรุงเทพธุรกิจ ผมเขียนส่งไปรษณีย์อย่างเดียว เพราะผมไม่สามารถติดตามได้เลย แล้ววันหนึ่ง ผมก็ได้รับจดหมายจากวีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง
ผมเปิดดู งานผมได้ตีพิมพ์ที่เนชั่น วีรศักดิ์ตัดบทกวีของผมใส่ในซองจดหมายมาให้ ผมรู้สึกตื่นเต้น งานของผมมีคุณค่าเพราะมีคนคุมคอลัมน์ มีคนดูแลคอลัมน์ เช่น ไพรินทร์ ดวงรัตน์ , นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ,คมทวน คันธนู นั่นทำให้ผมได้รับอะไรใหม่ๆ ทำให้ผมอยากเขียน ผมได้เปรียบเพราะผมมีวัตถุดิบเยอะมาก ฉากบนดอยเป็นวัตถุดิบ คลังภาษาของผมมาจากการอ่าน จากการที่ผมไปร้านหนังสือเก่า ผมสามารถหยิบมาใช้ได้ตลอด ทำให้ผมเริ่มขยับมาเขียนเรื่องสั้น ผมเขียนหนังสือลงเนชั่น ตีพิมพ์ในจุดประกายวรรณกรรม เป็นเรื่องประสบการณ์จริง หลังจากนั้น เริ่มเขียนสารคดี
ผมอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เริ่มเจอนักเขียน เริ่มเข้าเมือง พบเจออ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมทำให้รู้จักนักเขียนหลายคน อ้ายแสงดาวพาไปเจออ้ายมาลา คำจันทร์ หลังจากนั้น พาไปงานที่สวนทูนอินทร์ของ รงค์ วงค์สวรรค์ ทำให้เจอนักเขียนหลายๆ คน ผมเริ่มสนุก ทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่บนโลกอีกโลกหนึ่ง มันต่างกับโลกของข้าราขการ เมื่ออยู่กับกลุ่มศิลปิน มนุษย์ต้องการอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ กลายเป็นจุดที่ผมใฝ่ฝัน หลังจากนั้น เมื่อผมอยู่กับกลุ่มนักเขียน ผมตัดสินใจลากออก ตอนที่นั่งรถไฟไปบ่อนอกหินกรูดเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้ากับเจริญ วัฒน์อักษร ไปกับศิลปินทั่วประเทศ ทำให้ผมมองเห็นอะไรได้มากกว่า
ตอนนั้น บัณรส บัวคลี่ ชวนผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ เขาชวนสมเกียรติ จันทรสีมา มานั่งคุยกับผม หลังจากนั้น คุณสมเกียรติ ก็เป็น บรรณาธิการประชาไท คนแรก ส่วนผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าว เราประชุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานโครงการโดยได้รูปแบบมาจากประเทศฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในเมืองไทย หลังจากนั้น ผมกลับมาผมเขียนใบลาออกจากการเป็นครูดอย เลือกทำงานเป็นนักข่าวประชาไท
ตอนเดินทางกลับจากกิจกรรมของครูตี๋ที่เชียงราย อ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร ก็กระตุ้นและผมก็ทราบข่าวว่า มีงานประกวดสารคดี “คนค้นค้น” ของเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ส่วนอ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร ก็แนะนำให้เขียนเรื่องราวของอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานส่งประกวดกระทั่งได้รับรางวัล หลังจากนั้น ก็เขียนหนังสือสารคดีรวมเล่มกระทั่งได้รับรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ช่วงเวลานั้น ผมมีงานสารคดีลงตีพิมพ์เยอะมาก มีหนังสือรวมเล่ม มันเป็นช่วงเวลาที่ผมสนุกกับงานเขียน นำงานข่าวมาทำเป็นสารคดี ผมเขียนหนังสือลงนิตยสาร เป็นคอลัมนิสน์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี มีงานลงตีพิมพ์ในสารแสงอรุณ นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข
การอ่านหนังสือหรือวรรณกรรมทำให้คนเปลี่ยน ทำให้ชุดความคิดของผมเปลี่ยน ผมมองโลก มองสังคมหลากหลายขึ้น กว้างขึ้น มองเห็นความเป็นมนุษย์ได้หลากหลายขึ้น สิ่งที่ผมได้โดยไม่รู้ตัวคือ ความละเมียดละมุนของถ้อยคำ ความอ่อนโยน มีอยู่ในงานวรรณกรรมดีๆ ซึ่งมันมีผลต่องานเขียนของผม ลองสังเกตงานเขียนของผมจะเป็นงานที่ใสซื่อ ไม่มีการประดิดประดอย ทำให้มีกลุ่มผู้อ่านติดตาม
ส่วนการทำงานเป็นบรรณาธิการ ผมกลับบ้านเกิดมาทำนิตยสารเชียงดาวโพสต์ ทำวารสารท้องถิ่น เช่น เทศบาลปิงโค้ง , ทำวารสารมองเมืองนะ เทศบาลตำบลเมืองนะ ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายฉบับ แต่ด้วยปัจจัยด้านงบประมาณ เรื่องข้อระเบียบ เมื่อยุติบทบาทก็กลับมาทำสวน ทำร้านกาแฟ ที่พัก กางเต้นท์ บางครั้งก็ออกเดินทางและเขียนงานให้ประชาไท ประชาธรรม ซึ่งในช่วงหลัง ผมเขียนหนังสือให้กับวารสารผู้ไถ่ เขียนกับสุวิชานนท์ รัตนภิมล ต่อมาผมเป็นบรรณาธิการฉบับพิเศษและเป็นบรรณาธิการวารผู้ไถ่ยุคสุดสุดท้ายที่เป็นหนังสือ ก่อนจะปรับตัวเป็นวารสารออนไลน์
สำหรับชีวิตของผม ไม่ได้มองอนาคตอะไรมากกว่านี้ ผมเพียงอยากปูพื้นฐานให้ลูกชาย ให้เขาสามารถอยู่ในสังคมหนึ่งได้อย่างปกติสุข เอาตัวรอดได้ สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไวมาก ผมไม่ปิดกั้น เขาสามารถเรียนรู้และดูแลตนเองได้ ผมมีฐานที่มั่นของตนเอง สร้างพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของผม ผมไม่สามารถบอกอนาคตได้เลย ผมเห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม มันไม่สามารถกำหนดได้ ผมต้องตั้งรับให้ได้ ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องสงครามเลยนะ ผมจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัย วิถีของผมมีจิตอาสาอยากช่วยคนอื่น อยากทำให้สังคมดีขึ้น อยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เหมือนผมเป็นกลไก ฟันเฟืองเล็กๆ มีกิจกรรมอะไรผมก็เข้าไปช่วย ความสำเร็จในชีวิตของผมตั้งแต่เด็กจนโต ถ้ามองในมุมมองธุรกิจ ถือว่าล้มเหลว เพราะผมไม่รวย