กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยและสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย และภาคี แถลงข่าวขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออก ประจำปี 2564
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุม Auditorium สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
นางวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย และดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ร่วมแถลงข่าวขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การเกษตรสู่การส่งออก ประจำปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ยุกใหม่มาช่วยบริหารจัดการในมิติต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำสินค้าของตนไปสู่กกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่เหมาะสม
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ การมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการค้าและสร้างความเป็นต่อในเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งตรงตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ซึ่งการดำเนินงานในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาพันธ์/สมาคมด้านโลจิสติกส์และเกษตรถึง 5 หน่วยงานได้แก่ สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมธุรกิจคลังสินค้าไซโลและห้องเย็น สมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม และสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย ในปี 2563 ได้นำร่องขับเคลื่อนในภาคเหนือซึ่งสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกษตรสามารถเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศได้ถึง 33 องค์กรและมียอดขายรวมกว่า 75 ล้านบาท ในปีนี้จะมีการขยายผลต่อเนื่องในภาคเหนืออีกครั้งทั้งกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และผู้ประกอบการรายใหม่ โดยจะมีการนำแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ "Log Plus" ในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้วย และจะได้มีการขยายผลไปสู่ภูมิภาคอื่นต่อไป
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ แสดงความชื่นชมและขอบคุณแทนผู้ประกอบการเกษตร และพร้อมร่วมกับเคลื่อนโครงการนี้กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาคี และกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นครัวโลกที่มีครัวเรือนเกษตรกรมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มในการผลิตและแปรรูปอาหารปลอดภัย ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้นซึ่งเป็นความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเกษตรสามารถเชื่อมโยงโลจิสติกส์ บริหารจัดการต้นทุนการผลิตและเชื่อมโยงตลาด สามารถกำหนดราคาตลาด และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันได้ดีขึ้น โดยทางสมาคมเกษตรกรรมยั่งยืนไทยพร้อมร่วมผลักดันผู้ประกอบการเกษตรในภาคเหนือเข้าร่วมโครงการในปีนี้ และจะได้เตรียมการขยายผลล่วงหน้ากับผู้ประกอบการเกษตรในเครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในแต่ละภูมิภาคในปีต่อๆไป
รายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย (TSATA)