อุทัย ตันกูล หรือ Mr.Uthai Tankoon คือนักธุรกิจเจ้าของฟาร์มโคเนื้อ “คุณไทฟาร์ม” ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการส่งออกโคเนื้อให้ประเทศจีน ส่วนตลาดภายในประเทศ เขาออกแบบโมเดลธุรกิจด้วยแนวคิดการขายตรง มีการประกันราคารับซื้อโคตัวละ 35,000 – 45,000 บาท มีแพ็คเกจสินค้า โคแม่พันธุ์ท้อง โคคู่แม่ลูก โคท้องคู่แม่ลูก จัดหาเงินทุนจากแหล่งทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดรับสมาชิกเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ฉีดวัคซีน จัดอบรม เมื่อแม่พันธุ์โคออกลูกหรือหลานแล้วขายคืนสู่ฟาร์มจะมีเงินปันผล ขายลูกได้เงินปันผลร้อยละ 3 ของราคาขาย ขายหลานได้เงินปันผลร้อยละ 1 ของราคาขาย เขากล่าวกับ “พะเยาบิส” ว่า เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้ออยู่ได้ด้วยการรวมตัว พวกเราไม่ใช่ฟาร์มขนาดใหญ่แต่เมื่อหลายฟาร์มรวมตัวกัน เราสามารถควบคุมราคาส่งออกหรือสามารถบริหารจัดการโคภายในประเทศได้ ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวนในเครือข่ายจำนวน 3,600 คน เป็นกลุ่มวิสาหกิจมีจำนวนกว่า 400 กลุ่ม

โมเดลธุรกิจขายตรงปรับใช้กับธุรกิจฟาร์มโคเนื้อ

ผมเป็นคนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประเทศไทย พ่อกับแม่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคและเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หน้าที่ของผมคือการเป็นตัวแทนเข้ารับการอบรมเรื่องการเลี้ยงโคตั้งแต่อายุ 16 ปี พอโตเป็นวัยรุ่นก็เริ่มทำธุรกิจขายตรง หลังจากนั้นเริ่มเข้าตลาดนัดโคกระบือ ซื้อมาขายไป ช่วงแรกผมขาดทุนเพราะดูลักษณะของโคไม่ถูก คำนวนน้ำหนักโคไม่ถูกเมื่อขายก็ขาดทุน ต่อมาเมื่อเห็นโคก็ดูสายพันธุ์ไม่ออกว่าเป็นสายพันธุ์บราห์มัน ชาร์โรเล่ส์ หรือลูกผสม เป็นบทเรียนอย่างมากโดยเฉพาะปี พ.ศ.2550 ผมขาดทุนมากสุดจำนวน 380,000 บาท หลังจากนั้นผมเริ่มเติบโตมองเห็นเกษตรกรหลายคนประกอบอาชีพแต่ไม่มีกำไร ก็เลยหาความเป็นกลางเพื่อให้เกษตรกรมีกำไร

การลดต้นทุนด้านแรงงาน คนงานคนเดียวสามารถเลี้ยงโคจำนวน 200 ตัว มีรูปแบบการเลี้ยงซึ่งเกษตรกรควรรู้ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การบริหารจัดการฟาร์ม ผมมักถามเกษตรกรหลายคนว่าเคยฉีดยาโค 30 ตัวใช้เวลานานเท่าใด หลายคนใช้เวลาครึ่งวัน “คุณไทฟาร์ม” ฉีดวัคซีนโคเนื้อจำนวน 120 ตัวใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที เราเสียพื้นที่ปลูกพืชจำนวน 1 ไร่ แต่หากทำเป็นฟาร์มสามารถเลี้ยงวัวได้จำนวน 4 ตัว โดยคุณไทฟาร์มประกันราคาขายให้กับเกษตรกร โคตัวละ 35,000-45,000 บาท ลูกโคตัวละ 15,000 บาท

ปัจจุบันคนหันมาเลี้ยงโค ผมมองว่าเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้ออยู่ได้ด้วยการรวมตัว พวกเราไม่ใช่ฟาร์มขนาดใหญ่แต่เมื่อหลายฟาร์มรวมตัวกัน เราสามารถควบคุมราคาส่งออกหรือสามารถบริหารจัดการโคภายในประเทศได้ ผมตั้งเป้าว่าภายในปีพ.ศ.2564 จะรวบรวมแม่วัวจำนวน 100,000 ตัวเข้าสู่ระบบ ตอนนี้เรามี 38,000 ตัว มีสมาชิกในเครือข่ายจำนวน 3,600 คน เป็นกลุ่มวิสาหกิจมีจำนวนกว่า 400 กลุ่ม

เปิดตลาดเนื้อโคพรีเมี่ยมในจังหวัดพะเยา ประเทศไทย

ผมเห็นสหกรณ์โคเนื้อโพนยางคำสกลนครทำร้านขายเนื้อรูปแบบทันสมัย (Butcher Shop) ผมอยากทำรูปแบบนี้เพราะกำลังพัฒนาโคสายพันธุ์ที่มีเลือดสูงหรือเนื้อนุ่มมีไขมันแทรก โดยได้รับการสนับสนุนจากพี่สาวที่ทำฟาร์มโคอยู่ประเทศออสเตรเลีย ที่นั่นเขาเลี้ยงโคปล่อยเหมือนโคบ้านเรา แต่ออสเตรเลียเน้นพัฒนาสายพันธุ์ ผมก็คิดว่าน่าจะทำตลาดพรีเมี่ยมซึ่งเวลานั้นตลาดเนื้อโคขุนเมืองไทยมีเนื้อพรีเมี่ยมค่อนข้างน้อย พอลงมือทำก็ย้อนกลับมาสู่ต้นทางคือเกษตรกร ตอนนั้นเขาเลี้ยงโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เลี้ยงด้วยอาหารบ้านเราซึ่งมีไม่เพียงพอ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเนื้อโคขุนหยาบไม่นุ่มเหมือนโคขุนต่างประเทศ เมื่อทบทวนก็เลยกลับมาทำพื้นฐาน เน้นตลาดโคมีชีวิตส่งจีนซึ่งเน้นโคลูกผสมสายพันธุ์บราห์มัน ซึ่งเป็นความถนัดของผม

ผมกลับมาสร้างรากฐานของธุรกิจโคเนื้อด้วยการสร้างฐานโคแม่พันธุ์ ปัจจุบันเครือข่ายวิสาหกิจมีศักยภาพเติบโต มีแนวการบริหารจัดการเป็นรูปแบธุรกิจทันสมัยเพราะมีฐานข้อมูลอยู่ในแฟลตฟอร์ม การบริหารจัดการง่ายขึ้น ข้อมูลเข้าสู่ระบบ แยกเป็นภาค เป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล เราทำข้อมูลอันเอื้อประโยชน์ต่อแหล่งเงินทุนเพราะในอีก 3 ปีข้างหน้า เรามองถึงการใช้โคเนื้อเป็นหลักประกันการขอกู้ยืมเงิน หากรูปแบบมันเสถียรก็มีความเป็นไปได้สูง ปัจจุบันฟาร์มประกันราคาวัว ธกส. สามารถปล่อยเงินกู้ให้ได้ร้อยละ 30 ของราคาประกัน

คุณไทยฟาร์ม มีศักยภาพในการประกันราคารับซื้อโคเนื้อ

การประกันราคา เราดูราคาขายที่ตลาดรับซื้อในประเทศจีน ก็คิดเป็นกิโลกรัมคือตัวผู้ราคากิโลกรัมละ 98 บาท ถ้าเป็นวัวคัดทิ้ง เช่น ขาหัก ไม่สมบูรณ์ ราคาประกันกิโลกรัมละ 88 บาท กรณีน้ำหนักลดระหว่างเดินทางต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ถ้าน้อยกว่านั้นเขาไม่รับซื้อ รูปแบบธุรกิจของผมอีกส่วนหนึ่งคือรับซื้อโคจากต่างประเทศผ่านด่านแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เป็นโคพื้นเมืองของอินเดีย ปากีสถานซึ่งเป็นต้นสายของโคสายพันธุ์บราห์มันมีลักษณะคล้ายโคขาวลำพูนของไทย นำมาขุนในประเทศไทยประมาณ 4 เดือน จากนั้นจึงส่งขายให้กับพ่อค้าจีนรวมกับโคในเครือข่ายเรา เดือนละ 500-600 ตัว ปัจจุบันภาคเหนือมีพ่อค้าโคเนื้อรายใหญ่ 3-4 ราย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่จังหวัดพะเยาซึ่งส่งโคเนื้อส่งออกสู่ประเทศจีนเดือนละประมาณ 1,000 ตัว

ปัญหาใหญ่ในการส่งออกโคเนื้อสู่ต่างประเทศ คือการปิดด่านการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจของผมเน้นการส่งออก เมื่อส่งออกไม่ได้เพราะด่านปิด จึงต้องเน้นการทำการตลาดในประเทศ ตลาดจีนถือเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศไทย เป็นทิศทางของอนาคต ประเทศจีนกำลังมีความต้องการเนื้อโคจำนวนมาก ตอนนี้เขาเปิดโรงเชือดแถบชายแดนประเทศจีน เพื่อรับโคเนื้อมีชีวิตจากประเทศไทย โดยใช้เส้นทางขนส่งผ่าน สปป.ลาว พ่อค้ารับซื้อคือพ่อค้าจีนซึ่งเข้ามาลงทุนสร้างโรงเชือดที่ สปป.ลาว เมื่อส่งออกเนื้อเข้าจีนก็ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อลองตรวจสอบดูตัวเลขพบว่า ความต้องการเนื้อโคของจีนมีจำนวนถึง 9 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นโคเนื้อจำนวน 40-50 ล้านตัว โคเมืองไทยปัจจุบันมีจำนวน 5 ล้านตัว สามารถส่งออกได้ปีละ 2 ล้านตัว ตัวเลขการส่งออกโคเนื้อประเทศไทยคิดแล้วยังไม่ถึงร้อยละ 3 ของความต้องการโคเนื้อของคนจีน

ผู้สัมภาษณ์ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ เรียบเรียงและถ่ายภาพ ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)