“กะทิ” นอนคดคู้หลังตรากตรำจากการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจอันแสนเหน็ดเหนื่อย ช่วงเวลาที่ผ่านมา เธอต้องเดินทางไกล ไม่มีเวลาพักผ่อน เวลาทำงานของกะทิไม่แน่นอน บางครั้งกลางวัน บางทีกลางคืน บางเวลาช่วงเช้ามืด บางทีค่ำคืนดึกดื่น
กะทิไม่มีเงินเดือน มีเพียงค่าตอบแทนเป็นเพียงค่าอาหารวันละ ๖๐ บาท นับเป็นค่าตอบแทนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนอาชีพอื่น แต่จะทำอย่างไรเล่า เธอเกิดมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่โดยสายเลือด
ฉันมองภาพถ่ายขณะกะทิปฏิบัติหน้าที่ เฝ้าสังเกตใบหน้าอันซีดเซียวเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ บางครั้งยามดึกเห็นเธออ้าปากหาว ดั่งรอคอยเวลาพักผ่อนเพื่อออกเวรยาม
กะทินับเป็นผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ทำงานโดยไม่มีเงินเดือน ไม่มีโบนัส ไม่มีเบี้ยเลี้ยง อดทนทำงานทุกสภาวะอากาศ ร้อนแล้ง เหน็บหนาว หรือกลางสายฝน
“กะทิมีความสามารถ แต่เธอขาดการยอมรับ ผมรู้ว่าเธอทำงานจริง มีความสามารถ และมีความสามารถมากกว่าคนทั่วไปถึงสี่สิบเท่า แต่เธอยังขาดโอกาส”
เจ้านายของกะทิ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันแสนขมขื่น ขณะเธอกำลังเอนกายพักผ่อนบริเวณที่พักแคบๆ เธอควรเป็นเด็กสาวใช้ชีวิตอย่างร่าเริง รื่นรมย์อยู่กับอาหารว่างและของเล่นด้วยความบันเทิง ควรมีคนเอาอกเอาใจ แต่เธอกลับต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบวินัย ใช้ชีวิตอย่างตรากตรำ
ฉันมองดูสายตาอันหม่นเศร้าคล้ายมีความนัยจะบอก
กะทิ! เสียงของเจ้านายปลุกให้เธอตื่นจากการพักผ่อน เธอลุกขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนคุ้นเคยกับเสียงของเจ้านาย กะทิหันมามองต้นเสียงแล้วเดินไปคาบกระดูกชิ้นใหญ่ น้ำลายเธอไหลยืด นั่นคือความสุขเพียงเล็กน้อยของกะทิ
“กะทิ” เป็นสุนัขตำรวจสายพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) มีต้นกำเนิดจากรัฐนิวฟาวด์แลนด์ประเทศแคนาดา นับเป็นสายพันธุ์สุนัขที่ได้รับเลือกเข้ารับการฝึกเป็นสุนัขตำรวจ
ด้วยเป็นสายพันธุ์ที่ฉลาดหลักแหลม กระตือรือร้น รักสนุก ช่างเอาอกเอาใจ นิสัยเป็นมิตร ประกอบกับเสียงเห่าทุ้มหนักแน่น เป็นที่น่าเกรงขามเหมาะกับหน้าที่เฝ้ายาม ค้นหาผู้ประสบภัย หรือค้นหายาเสพติด
สุนัขตำรวจเรียกว่าเคไนท์ ( K9) ออกเสียงคล้ายกับภาษาลาตินคำว่า Canine แปลว่า “สุนัข”
การใช้สุนัขมีมาเนิ่นนาน เริ่มจากใช้สุนัขเพื่อการทหารตามยุทธการสู้รบ สุนัขทำหน้าที่นำสาร สุนัขเฝ้ายาม สุนัขส่งเสบียงด้วยล้อเลื่อน
ในสงครามโลกครั้งแรก ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ล้วนแต่ใช้สุนัขในการสงคราม
สงครามโลกครั้งที่สอง มีการใช้สุนัขจำนวนมากประกอบยุทธการก่อสงคราม
เยอรมันนีจัดตั้งศูนย์ฝึกสุนัข ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ปี ค.ศ.๑๙๓๐ ใช้สุนัขสงครามถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตัว ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรเพิ่มกำลังสุนัขสงคราม รัฐเซียเพียงประเทศเดียวใช้สุนัขสงคราม ๕๐,๐๐๐ ตัว โดยหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นสุนัขที่ฝึกมาเพื่อการต่อสู้กับรถถัง
การต่อสู้ของสุนัขเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ขณะนั้นสุนัขสงครามนามว่า “โจดี้” เข้าขัดขวางการก่อวินาศกรรมต่อฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่จังหวัดอุบลราชธานี เกิดการต่อสู้ปะทะ
“โจดี้” สุนัขยามผู้กล้าหาญได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณหน้าอก ศูนย์การสุนัขทหารจึงรับเลี้ยงดูไว้ กองทัพสหรัฐอเมริกาปูนบำเหน็จแต่งตั้ง “โจดี้” เป็นทหารมียศสิบเอกพร้อมมอบเหรียญ เพอเพิล ฮาร์ท เมเดิล( PURPLE HEART MEDEL) อันแสดงถึงความสามารถและความกล้าหาญของสุนัข
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการสุนัขทหารของกองทัพไทย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เริ่มต้นใช้สุนัขสงครามสนับสนุนยุทธวิธีตำรวจ จากนั้นจึงมีการนำสุนัขตำรวจมาใช้อีกหลายภารกิจ
สุนัขตำรวจมีประสาทสัมผัสทางหูและตาดีกว่าคน สามารถแยกแยะคนร้ายและพยานวัตถุได้ดีกว่า โดยเฉพาะความสามารถของจมูกสุนัขในการดมกลิ่น มีเหนือกว่าคนปกติกว่า ๔๐ เท่า สามารถใช้จมูกสูดดมหาที่ซ่อนยาเสพติด แม้จะถูกกลบฝังใต้ผืนดินความลึกหลายฟุต นอกจากนั้น ยังมีความสามารถในการตรวจหาพยานหลักฐาน ด้วยความคล่องแคล่วและรวดเร็ว
ย้อนกลับไปในความทรงจำ ยามบ่ายของวันหนึ่งในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๕ มีการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรสุนัขตำรวจ ตอนนั้นฉันมองเห็นผู้บังคับสุนัขกำลังสั่งการสุนัขตำรวจตัวหนึ่ง สุนัขตัวใหญ่ปราดเปรียวพุ่งกระโดดเมื่อรับคำสั่ง มันวิ่งวนอยู่กลางสนามไปมาคล้ายกับรูปแบบของการเดินตรวจค้นหาพยานตามแบบฝึกของข้าราชการตำรวจ จากนั้นมันคาบของชิ้นเล็กๆ วางไว้ต่อหน้าเจ้านายของมัน
นั่นเป็นกล่องบรรจุยาเสพติดสำหรับฝึกสุนัขดมกลิ่น
สุนัขตำรวจดมกลิ่นหายาเสพติดได้ดีกว่าคนถึง ๔๐ เท่า แต่ข้อจำกัดของการใช้สุนัขตำรวจก็มีมาก เช่น กรณีมีการปิดล้อมระดมกวาดล้าง หรือการตรวจค้นเพื่อหายาเสพติด สถานที่เป้าหมายการตรวจค้นห่างไกลทุรกันดาร สุนัขตำรวจมักเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง
นั่นเป็นข้อจำกัดของสุนัขตำรวจ เมื่ออยู่ในพื้นที่ไม่เกื้อกูลต่อการตรวจค้น หรือพื้นที่ซึ่งสุนัขไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยสภาพภูมิประเทศ หรือมีสิ่งทำลายสุขภาพของสุนัข เช่น แกส ไอเสีย ไอพิษ ความสามารถของสุนัขตำรวจย่อมลดทอนลง
“สุนัขมีร่างกายต่างจากคน เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ เจ้าหน้าที่นั่ง แต่สุนัขตำรวจต้องยืนโคลงเคลงไปบนรถ คนนั่งพักแต่สุนัขเหนื่อย เมื่อถึงสถานที่ตรวจค้นความกระตือรือร้นในการค้นหายาเสพติดน้อยลง”
สุนัขตำรวจขาดโอกาสในการทำงานสำคัญ อาจเป็นด้วยปัญหาด้านการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่คนอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนมีอาการแพ้ขนหมา การปฏิบัติภารกิจสำคัญของสุนัขตำรวจจึงต้องถูกงดเว้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อผิดพลาดในภารกิจ ซึ่งประเทศไทยต่างจากประเทศอื่น
สหรัฐอเมริกาอันเป็นต้นแบบการฝึกสุนัข เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนของเขาให้เกียรติสุนัขมาก สุนัขที่ผ่านการฝึกและปฏิบัติงาน มีการเชิดชูเกียรติ มีการแต่งตั้งยศ เมื่อเสียชีวิตเนื่องจากหน้าที่มีธงชาติคลุม เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
เจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศไทย ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของประเทศสหรัฐอเมริกา เล่าว่า หลังผ่านการฝึก แต่ละปีจะมีเจ้าหน้าที่จากคณะทูตประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาตรวจเยี่ยมดูความเป็นอยู่ของสุนัขตำรวจอยู่เสมอ
หลายครั้งยามท้อแท้ เมื่อมองฉันสุนัขตำรวจจะรู้สึกอบอุ่นใจและมีกำลัง ส่วนเจ้าหน้าที่หลายคนซึ่งเคยร่วมงานกับสุนัขตำรวจก็มั่นใจว่า สุนัขตำรวจสามารถปฏิบัติงานดมกลิ่นหาจุดซุกซ่อนยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยามเว้นว่างจากภารกิจ “กะทิ” อาจเป็นเพียงสุนัขตัวหนึ่ง แต่เมื่อเธอปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของสุนัขตำรวจ ศักดิ์ศรีด้านการทำงานของสุนัขตำรวจ ก็มิต่างอะไรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์
๑.ดาบตำรวจนิกร อกผาย ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรแจ้ห่ม ครูฝึกผู้บังคับสุนัข
๒.จ่าสิบตำรวจชฎายุ กันดอก ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรแม่ลาว ผู้บังคับสุนัข