หากเอ่ยอ้างถึงความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีก 7-11 (Seven Eleven) นับเป็นความสำเร็จของธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถเติบโตข้ามฝั่งทวีปเข้ามาประสบความสำเร็จในประเทศไทย ทุกอำเภอในประเทศไทย ไม่มีที่ไหนขาดสาขา 7-11

ฉันใดฉันนั้น หากเอ่ยอ้างถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน D.A.R.E. ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา มีประเทศจำนวนกว่า 100 ชาติ นำรูปแบบการสอน D.A.R.E เข้าแก้ไขปัญหายาเสพติด

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำ D.A.R.E หรือ “โครงการต่อต้านยาเสพติดและความรุนแรงในสถานศึกษา” มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด

จะบอกว่าประเทศไทย Copy สหรัฐอเมริกาก็ไม่ถูก เพราะประเทศไทยพัฒนา D.A.R.E. ให้เหมาะสมกับเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง

จะบอกว่าประเทศไทย Copy ความสำเร็จของสหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ผิด เพราะรูปแบบการฝึกอบรม เป็นตามเกณฑ์มาตรฐานที่สหรัฐอเมริกากำหนด

กล่าวอย่างเป็นทางการสักนิดว่า
D.A.R.E. เป็นหลักสูตรการอบรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมาจากคำว่า ( Drug Aburse Resistans Education ) เป็นหลักสูตรการป้องกันยาเสพติด พัฒนาโดยนักวิชาการด้านการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา สอนโดยเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ

หลักสูตร D.A.R.E. ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา หลายประเทศนำ D.A.R.E.มาใช้อบรมเด็กในประเทศของตน

ประเทศไทยนำ D.A.R.E.มาใช้เมื่อปี พ.ศ.2542 ยุคพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2557 เพื่อนตำรวจคนหนึ่ง ขอให้ฉันเข้ารับการฝึกอบรมแทน เพราะนายตำรวจท่านนั้นติดภารกิจสอบระดับปริญญาโท ฉันไม่คิดมาก รับปากแล้วจัดเตรียมเสื้อผ้าเดินทางสู่สถานที่ฝึกอบรม รู้ตัวอีกทีก็ทราบว่าหลักสูตรอบรมชื่อ “โครงการต่อต้านยาเสพติดและความรุนแรงในสถานศึกษา” หรือโครงการ “ครูตำรวจแดร์”

ตอนนั้น ฉันรู้สึกลำบากใจ… เพราะพูดไม่เป็น
ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ นึกถึงความลำบากใจหน้าชั้นเรียน ฉันมักมีอาการกระอักกระอ่วนพูดไม่ออก เขินอายอย่างไร้เหตุผล หาใช่เขินอายแบบหนุ่มสาววัยแรกรุ่น แต่เขินอายแบบเด็กน้อยวัยประถม อาการเรื้อรังต่อเนื่องจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ฉันคิดว่ามันมิใช่โรคภัยร้าย ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิตอย่างผาสุก จนเมื่อสอบติดทำงานเป็นข้าราชการตำรวจ สถานการณ์พาลบังคับให้ต้องจับไมค์โครโฟนยืนต่อหน้าผู้คน อาการจุกบริเวณหน้าอก อึดอัดใจจนพูดไม่ออกก็เกิดขึ้น
การอยู่ต่อหน้าสาธารณะชน ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรอยู่ในมือหรือเพียงยืนนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ลำบากใจ มันกระอักกระอ่วนหลงลืมคำพูดคำจา พูดติดๆ ขัดๆ ยิ่งต้องจับไมโครโฟนยิ่งเกร็ง จะออกเสียงอย่างไรให้น้ำเสียงออกมาดี ควรรักษาระยะห่างเท่าใดระหว่างปากกับไมโครโฟน บางทีเสียงลมหายใจดังผ่านลำโพงก็ทำให้ผู้ฟังตกใจ บางครั้งถึงกับหน้ามืด เมื่อมีคนเชิญขึ้นกล่าวอะไรบนเวที
อาจเป็นด้วยเหตุผลนี้ฉันจึงควรเข้ารับการฝึกอบรม…

การฝึกอบรมทุกคนถูกจัดอยู่ในกลุ่มสี กลุ่มสีใดคนไม่ครบกลุ่มนั้นต้องถูกตัดคะแนนประเมิน แน่นอน นั่นเป็นเงื่อนไขจำเป็นให้พวกเราต้องเข้าห้องอบรมก่อนอยู่เสมอ “เอ็มโอ” หรือ MO (MENTOR OFFICER) บอกให้เราคิดว่าตนเองเป็นเด็ก 11 ขวบ เมื่ออยู่ในห้องอบรมพวกเราถูกลดความรู้เดียงสาเท่ากับเด็กวัยประถม

ฉันคิดว่าคงจะสบายเพราะการเป็นเด็กมิต้องหนักใจ ไม่มีความรับผิดชอบ แต่ลืมไปว่า การเป็นเด็กประถมนั้นต้องทำการบ้าน

ทุกเย็น ผู้เข้ารับการฝึกอมรมต้องทำการบ้าน โดยจะมีการตรวจการบ้านในตอนเช้า

แผนการท่องเที่ยวยามราตรีของฉันสะดุดหยุดลง ฉันทำการบ้านเหมือน ป.6 การบ้านมีมาตรฐานที่ดี เช่นเดียวกันนักเรียนระดับ ป.6 หลายห้วงเวลาฉันต้องยืนต่อหน้าชั้นเรียนเพื่อฝึกบรรยาย ฝึกพูด มันคล้ายกับยาขมซึ่งยากต่อการรับประทานสำหรับเด็ก

ฉะนั้นฉันจึงเริ่มต้นด้วยการยิ้ม …. หลายครั้งหลายหนฉันยิ้ม ยิ้มอยู่นาน วิทยากรผู้ฝึกสอน (MO) บอกกับเพื่อนร่วมชั้นว่าเป็นเทคนิคที่ดี สามารถสร้างความเป็นมิตรให้แก่เด็กๆ