ฤดูกาลสอบแข่งขันเข้ารับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ เวียนมาบรรจบอีกครั้งเหมือนทุกรอบปี การสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ เป็นเส้นทางชีวิตสายหนึ่งของ หนุ่ม-สาว ทุกคนที่ผ่านเส้นทางสายนี้มีคำตอบเหมือนกันว่า การบรรจุแต่งตั้งเข้ารับข้าราชการเปลี่ยนชีวิต

ก่อนอื่นต้องบอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ของเรื่องราวว่า “ตำรวจลูกทุ่ง” เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งชีวิตในจำนวนสองแสนกว่าชีวิต ที่อาศัยเงินเดือนข้าราชการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว สำหรับผู้สนใจสมัครสอบบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ การอ่าน “ตำรวจลูกทุ่ง” เป็นประโยชน์สำหรับผู้เตรียมสอบอย่างแน่นอน ด้วยเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ประสบการณ์ของเพื่อนร่วมอาชีพตำรวจ รวมถึงข้อมูลและคำสอนของครูฝึกและอาจารย์ผู้สอนหลายท่านของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ณ โอกาสนี้ขอขอบพระคุณศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ขอขอบคุณข้อมูลสัมภาษณ์อาจารย์พรณรงค์ บวรชัยธรรม ขอขอบคุณข้อมูลสัมภาษณ์อาจารย์ศุภกร ธนัตถ์ชัชชม และขอขอบคุณข้อมูลจากข้าราชการตำรวจทุกทท่านที่ทำให้ “ตำรวจลูกทุ่ง” กลายเป็นบทบันทึกที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของผู้เขียน

ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)

****************

พ.ศ.2551 ทุ่งลอ / จังหวัดพะเยา

“จะเอาใบต้องคอยรองน้ำตา ของน้องชบาที่จากบ้านนาไปนาน หลายปีแล้วหนาที่น้องไม่มาเยี่ยมบ้านพี่ห่วงจอมขวัญ…” ลำนำบทเพลงใบตองรองน้ำตาของศิลปินนักร้อง พรศักดิ์ ส่องแสง ดังจากเครื่องกระจายเสียงของหมู่บ้าน ถ้อยทำนองอันอ่อนโยนปลุกให้ฉันตื่นนอนตอนหกโมงเช้า นับเป็นการตื่นนอนรอบที่สองแล้ว หลังจากตื่นนอนรอบแรกเมื่อตอนตีสามเพื่ออ่านหนังสือ หลังจากนั้นเผลอหลับบนที่นอน

เมื่อบทเพลงจบลง เสียงของผู้ใหญ่บ้านอันคุ้นเคยเริ่มดังขึ้น เสียงแหบห้าวประกาศข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องกระจายเสียง วันนี้เป็นวันพิเศษ ผู้ใหญ่บ้านประกาศข่าวการสมัครบุคคลภายนอกบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ยุคสมัยนั้น ข่าวประชาสัมพันธ์ของภาครัฐถูกประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องกระจายเสียงของหมู่บ้านเป็นหลัก ด้วยช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าภายในหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านทำภารกิจส่วนตัวและรับประทานอาหารเช้าเสร็จจะเดินทางออกจากบ้านไปทำงานจนถึงช่วงเย็นถึงจะกลับบ้าน  ต่างจากยุคปัจจุบัน ชาวบ้านพกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเชื่อมอินเทอร์เน็ต มีแอพพลิเคชั่นติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูล

เครื่องกระจายเสียงของหมู่บ้านเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในยุคสมัยนั้น

เมื่อข่าวประชาสัมพันธ์การรับสมัครสอบตำรวจจบลง ฉันนึกถึงเหตุการณ์เมื่อยามบ่ายของวันวาน ภายใต้บรรยากาศอันอบอ้าวในอู่ซ่อมรถหลังคามุงกระเบื้องซึ่งฉันเรียกที่แห่งนี้ว่า office ออฟฟิชหมายถึงสถานที่ทำงานเป็นประจำของพ่อ รูปร่างอาคารเหมือนกับโรงรถมีพื้นที่กว้างขวางประมาณ 75 ตารางเมตร มีห้องเก็บของขนาดเล็กสำหรับเก็บเครื่องมือซ่อมรถ ส่วนพื้นที่บริเวณรอบนอกออฟฟิชเป็นลานสามารถจอดรถได้หลายคัน มีรถมอเตอร์ไซค์และรถไถนาจอดเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

ฉันนั่งอยู่ในอู่ซ่อมรถมองดูลูกค้าคนหนึ่งซึ่งขับรถมอเตอร์ไซค์ยางแบนเข้ามาถึง office ชายวัยกลางคนดูท่าทางเหน็จเหนื่อยทำหน้าตาเศร้าแล้วบอกว่า “ยางแบนช่วยเปลี่ยนยางให้ด้วย” ฉันตั้งขาตั้งรถมอเตอร์ไซค์แล้วถอดล้อรถออก จากนั้นใช้แท่งเหล็กปลายแบนบรรจงงัดล้อยางรถมอเตอร์ไซค์ออก ขณะกำลังที่ฉันกำลังวุ่นกับการถอดเอายางในรถมอเตอร์ไซค์ออกจากล้อรถ พ่อซึ่งนั่งอยู่ใกล้กันในออฟฟิชก็เอ่ยถามฉันว่า “อยากเป็นตำรวจหรือเปล่า”

ฉันรู้สึกแปลกใจ จากนั้นจึงหันหน้ามองพ่อ พ่อสวมกางเกงขายาวสีกรมท่า สวมเสื้อสีขาวเปื้อนคราบน้ำมันสีดำ นั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเล็ก ภาพแบบนี้เป็นภาพอันคุ้นตามาตั้งแต่ฉันอยู่ในวัยเด็ก พ่อตัวดำทำงานเป็นช่างซ่อมรถจนคราบน้ำมันซึมอยู่ในผิวหนังจนเป็นจุดสีดำ พ่อใช้มือจับใบเลื่อยตัดเหล็กหักแล้วนำมาขูดปะเก็นตรงฝาปิดห้องเครื่องหัวรถไถนา กระดาษเหนียวสีดำติดบริเวณฝาครอบเครื่องยนต์รถไถนาถูกขูดด้วยใบเลื่อยอย่างละเอียดชำนาญ ฉันมองพ่อแล้วตอบคำถามที่ตรงกับหัวใจฉันว่า ฉันยังไม่คิดจะเป็นตำรวจ

ผู้เขียน ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา(กระจอกชัย)