ตำรวจลูกทุ่ง : ๒.บันทึกความทรงจำ
เสียงกุกกักกุกกักดังออกมาจากห้องครัวใต้ถุนบ้าน เสียงดังปลุกให้ฉันลืมตาตื่นขึ้นมานั่งอยู่บนเตียงนอน เมื่อมองออกไปยังท้องฟ้านอกหน้าต่าง ฟ้ายังมืด ดวงดาวพร่างพราย ห้องนอนแม้มืดสนิทแต่ยังคงมองเห็นเข็มนาฬิกาปลุกสะท้อนแสงที่วางไว้บนหัวเตียง เข็มสั้นนาฬิกาชี้เลขสาม เข็มยาวชี้เลขสี่ เพิ่งตีสามยี่สิบนาที เสียงกุกกักกุกกักเป็นเสียงแม่ที่ตื่นนอนแต่เช้ามืด ตื่นมาทำกับข้าวเตรียมไว้ให้ลูกก่อนออกเดินทางไกล
เสียงกุกกักกุกกักเงียบหาย ฉันล้มตัวลงนอนซุกกายอยู่ใต้ผ้าห่มอีกครั้ง ดวงตาเริ่มปิดแต่สมองเริ่มทบทวนเนื้อหาสำหรับการสอบแข่งขัน การทบทวนเนื้อหาสำหรับฉัน เริ่มต้นด้วยการนึกถึงภาพกว้าง หลังจากนั้นเริ่มลึกลงในรายละเอียด ตัวอย่างเช่น การมองประเด็นการสอบตำรวจ มีการสอบวิชาใดบ้าง แต่ละวิชาสอบมีหัวข้อสำคัญใด ในแต่ละหัวข้อมีประเด็นใดที่เคยนำมาออกสอบและไม่เคยออกสอบ รูปแบบการทบทวนเช่นนี้มาจากวิธีการทำแผนที่ความคิดหรือ Mind Maps ซึ่งฉันมักบันทึกไว้ในสมุด
บันทึกซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับการสอบ เป็นสมุดขนาดเอสี่เล่มบางสีเทาอันยับย่น เป็นบันทึกความทรงจำซึ่งฉันพกพาติดตัวเพื่อทบทวนเนื้อหาการสอบ สมองของมนุษย์มีขีดจำกัด ไม่มีใครสามารถจดจำเรื่องราวได้อย่างละเอียดลออ การจดบันทึกจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาตนเอง ด้วยข้อมูลสำคัญอาจถูกหลงลืม หรือข้ามผ่านการจดจำ แต่หากมีการจดบันทึก เรื่องราวหรือข้อมูลที่หลงลืมอาจถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต
ฉะนั้นแล้ว หลังการอ่านหนังสือทุกครั้ง ฉันจะสรุปเนื้อหาและจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึก เมื่อจะเริ่มอ่านหนังสือครั้งต่อไปก็จะเปิดบันทึกทบทวนก่อน จากนั้นจึงเริ่มอ่านหนังสือบทถัดไปเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และหากต้องการทบทวนก็จะใช้วิธีการเขียนแผนที่ความคิด เมื่อนึกทบทวนข้อมูลตามแผนที่ความคิด ความทรงจำก็ผุดขึ้นชัดเจนและง่ายดาย
Mind Maps หรือ “แผนที่ความคิด” เป็นเครื่องมือช่วยจำ เป็นข้อมูลซึ่งถูกย่นย่อหรือลดขนาดข้อมูลให้สั้นลง แผนที่ความคิดสามารถทำให้ข้อมูลจำนวนมากง่ายต่อการจดจำ สามารถกระตุ้นความทรงจำให้ฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว แผนที่ความคิดเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งต้องมีการฝึกหัดให้ชำนาญ
สมองของคนก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ซึ่งมีพื้นที่จำกัดสำหรับความทรงจำ การใช้แผนที่ความคิดเป็นการจัดระเบียบข้อมูลในหัวสมองของเราให้สามารถจดจำข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถนึกหรือหยิบจับข้อมูลในความทรงจำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วในห้องสอบ
ฉันชอบทบทวนบทเรียนในช่วงเช้า เมื่อทบทวนจนจบทุกหัวข้อ ท้องฟ้าก็เริ่มสว่าง เสียงร้องเพลงของแม่ก็มักจะดังมาจากใต้ถุนบ้าน
“เขียนคำแม่สอน เป็นกลอนติดไว้ข้างฝา เลิกงานกลับมาอ่านทวนให้จำคำวอน เรียนรู้สู้งานอย่าลืมบ้านเกิดเมืองนอน ครอบครัวเรายังเดือดร้อน แม่พร่ำสอนก่อนไกลบ้านมา…” คำร้องทำนองเพลง “เพื่อแม่แพ้บ่ได้” ประพันธ์โดยครูเพลงสลา คุณวุฒิ ทำให้ฉันนึกถึงเสียงขับขานบทเพลงในยามเช้า แม่จะร้องเพลงลูกทุ่งขณะทำครัว บทเพลงของศิลปินนักร้องลูกทุ่งซึ่งฉันไม่เคยได้ฟังมักจะถูกแม่ขับร้องอยู่เสมอ
ขณะดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ฉันหันไปมองอักษรบนกระดาษสีขาวติดตรงหน้าประตูห้องนอน “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” อาจเป็นคำสอนอันดาดเขินฟังผ่านหูจนคุ้นชิน แต่เมื่อคำสอนถูกบันทึกด้วยลายมือของแม่ กลับกลายเป็นสิ่งย้ำเตือนพื้นฐานของการใช้ชีวิตด้วยความอดทน “แม่” คือคำสอน คือความรัก คือแรงบัลดาลใจและกำลังใจของฉัน
ผู้เขียน ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) ภาพถ่าย ยศ สักลอ