ยามเช้ามืด เสียงนกหวีดดังปรี๊ดดด ปลุกทุกคนบนกองร้อยให้สะดุ้งตื่น
“กองร้อย” คือบ้านพักหลังหนึ่งซึ่งนักเรียนตำรวจร่วมพักอาศัย อาคารกองร้อยเป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง สำหรับนันทนาการหรือเป็นห้องบรรยายให้ความรู้กับนักเรียนอบรม ชั้นบนเป็นห้องนอน เรียกว่า “โรงนอน” ลักษณะเป็นห้องโถงกว้าง มีเตียงนอนจำนวนหลายเตียง ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ รองรับนักเรียนอบรมได้มากกว่า ๕๐ คนต่อหนึ่งโรงนอน
เมื่อเสียงนกหวีดดัง ความโกลาหลบนโรงนอนมักเกิดขึ้น บางคนรีบเก็บที่นอน บางคนรีบวิ่งเข้าห้องน้ำ บางคนรีบสวมเสื้อผ้า ภารกิจทุกอย่างถูกกำหนดด้วยเวลาจำกัด เพียงไม่กี่นาทีทุกคนต้องเข้าแถวอยู่หน้ากองร้อยหลังเสียงนกหวีดดัง ฉันไม่เคยทำภารกิจเสร็จสิ้น เสียงนกหวีดเรียกรวมแถวบริเวณหน้าอาคารกองร้อยดังขึ้นก่อนเสมอ การตรวจนับจำนวนนักเรียนอบรมรวดเร็ว เมื่อไม่ครบจำนวน ทุกคนต้องถูกทำโทษ
การดันพื้น จึงเป็นกิจวัตรประจำที่เกิดขึ้นในศูนย์ฝึกอบรม
เดือนแรกที่ศูนย์ฝึก เป็นการปรับสภาพร่างกาย บางคนโอดครวญด้วยความเจ็บปวด นักเรียนอบรมดันพื้นจนปวดเนื้อปวดตัว บางคนปวดขา บางคนปวดแขน ปวดหัวไหล่ แต่กิจกรรมก็ยังดำเนินไปเหมือนเช่นทุกวันเมื่อตรวจนับแถวเสร็จ นักเรียนอบรมครบจำนวน ครูฝึกนำแถววิ่งไปบนถนน เสียงย่ำเท้าอันเคยแตกต่างของนักเรียนอบรมพร้อมเพรียงกัน หลังปรับพื้นฐานการฝึกมานานหลายวัน
จังหวะการเดิน จังหวะการวิ่ง ที่เคยแตกต่างกัน กลายเป็นจังหวะเดียวกันคล้ายทำนองเพลงมาร์ชมาร์ช (march) หมายความถึงบทเพลงประพันธ์สำหรับการเดินแถว เพื่อให้การเดินร่วมกันของคนจำนวนมากเป็นไปอย่างพร้อมเพรียง จังหวะเป็นเครื่องมือในการควบคุมแถวของครูฝึก เมื่อสมาธิของลูกแถวจดจ่ออยู่กับบทเพลง การย่ำเท้าของลูกแถวก็จะเป็นจังหวะเดียวกัน
เพลงที่ถูกขับร้องเป็นบทเพลงแรกในศูนย์ฝึกอบรมคือเพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” หรือที่รู้จักกันในนามเพลง “มาร์ชตำรวจ” ท่วงทำนองคึกคักเร้าใจใช้จังหวะหนักแน่น (Quick March)บทเพลงประพันธ์ขึ้นในช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ยุคของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ประพันธ์ท่วงทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร ประพันธ์เนื้อร้องโดย แก้ว อัจฉริยกุล
เคยมีเรื่องเล่าโดยชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๑ บอกกล่าวเรื่องราวลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ว่า ครูนารถ ถาวรบุตร เคยเล่าให้กับชรินทร์ นันทนาคร ถึงเบื้องหลังการแต่งเพลงมาร์ชตำรวจว่า “ฉันไม่อยากแต่งเลยชรินทร์ เพราะฉันไม่ค่อยชอบตำรวจ มันมาจับฉันเรื่อย เวลาฉันเล่นไพ่” เรื่องเล่าติดตลกถูกลืมเลือน แต่บทเพลงประพันธ์ของครูนาถ ถาวรบุตร ถูกขับร้องเป็นเวลาเนิ่นนานมากกว่า ๕๐ ปีที่ศูนย์ฝึกอบรม นักเรียนตำรวจขับขานเพลงของตำรวจอยู่ทุกวันคืน
“เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง ต่างซื่อตรง พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน เข้าประจันเหล่าร้ายเพื่อประชา…”พอร้องเพลงไปนานๆ วิ่งระยะทางไกลๆ จังหวะย่ำเท้าเริ่มสับสน ทุกคนรู้สึกเหนื่อยแต่ไม่หยุด การวิ่งต้องดำเนินต่อไปจนกว่าผู้ควบคุมแถวจะสั่งหยุด เมื่อลูกแถวคนอื่นยังวิ่ง การหยุดวิ่งถือว่าผิดระเบียบแถว
ฉันคิดในใจอยู่เสมอว่า “เมื่อคนอื่นทำได้ฉันก็ต้องทำได้” ด้วยการอดทนวิ่งฝ่าความเหน็ดเหนื่อยอยู่เป็นประจำ ฉันได้เรียนรู้ว่า ขีดความสามารถของมนุษย์ อดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย อดทนต่อความกดดันทางจิตใจ หรืออดทนต่อสิ่งอื่นใดได้มากกว่าที่พวกเราคิด หากเราวิ่งตามจังหวะย่ำเท้าของเพื่อนร่วมแถว จังหวะเพลงมาร์ชตำรวจจะนำพาเราเดินทางต่อไปจนถึงจุดหมายอันยิ่งใหญ่ นั่นคือบริเวณลานฝึกซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ ๕๐๐ ตารางเมตร เพื่อเข้าสู่กิจกรรมการกายบริหารร่างกายต่อไป