ปลายปี พ.ศ.2560 ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลร้านกาแฟจังหวัดพะเยา มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลในวงการธุรกิจกาแฟ ซึ่งจากการคำนวณตัวเลขมูลค่าการตลาดธุรกิจกาแฟพะเยามีเม็ดเงิน 180 ล้านบาท ตัวเลขอาจดูมากเร้าใจนักลงทุน ความจริงแล้วตัวเลขคำนวณจากจำนวนร้านและยอดขายกาแฟ สรุปคือมูลค่าตลาดกาแฟจังหวัดพะเยายังเติบโต
ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ ประเสริฐ สอนแก้ว ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท อินเตอร์คอฟฟี่เทรด จำกัด เป็นบุคคลเคี่ยวกรำในวงการธุรกิจกาแฟ มองว่าธุรกิจร้านกาแฟน่าลงทุน แต่ต้องฉลาดในการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับธุรกิจร้านกาแฟที่เปิดใหม่ เขาเล่าถึงลำดับเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านกาแฟซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรมของผู้บริโภค
“สมัยก่อนคนนั่งร้านกาแฟเพราะอยากแสดงถึงรสนิยม ปัจจุบันมีนักดื่มคอกาแฟ ร้านกาแฟต้องสามารถตอบสนองรสนิยมของผู้ดื่ม เจ้าของร้านลงทุนออกแบบร้ายอย่างมีระดับ มีกาแฟรสเลิศ บางคนไม่ดื่มแต่ยังสั่งกาแฟเพื่อนั่งชมภายในร้าน”
ประเสริฐ สอนแก้ว ยังบอกเล่าถึงการสร้างมาตรฐานของรสชาติกาแฟพะเยา ด้วยการใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการคั่วบดกาแฟให้มีรสชาติมาตรฐาน รวมถึงการปรับตัวสำหรับการแข่งขัน ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจ (Branding)
พื้นฐานการทำธุรกิจคงเป็นเรื่องหัวใจ คนทำธุรกิจกาแฟต้องมีใจรักกาแฟ มีพื้นที่ทำเลสำหรับการทำร้านกาแฟ มีต้นทุนสำหรับเครื่องชงกาแฟ ออกแบบรูปลักษณ์ร้านค้าน่าสนใจ รวมถึงการมีบาริสต้า (คนชงกาแฟ) ฝีมือดี
ปี พ.ศ. 2561 ตามคาดการณ์ของ ประเสริฐ สอนแก้ว ยังแม่นยำ ธุรกิจกาแฟน่าลงทุน มิเว้นแม้แต่ ซีพีออลล์ หรือ 7-11 มีการส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟบนดอยช้างอันเป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีที่สุดของภาคเหนือ มินานนักก็เริ่มจำหน่ายกาแฟแบรนด์ของตนเองใน 7-11 ล่าสุด “ซีพี รีเทลลิงค์” ในเครือซีพี ออลล์ เปิดแผนธุรกิจเปิดร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ “มวลชน”
เป็นที่ชัดเจนว่า การลงทุนในธุรกิจเปิดร้านกาแฟใกล้เคียงพื้นที่ 7-11 จำนวน 29 สาขาในจังหวัดพะเยา มีความเสี่ยงต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในมุมกลับถือเป็นโอกาสของการลงทุนแบบแฟรนไชส์กับ”ซีพี รีเทลลิงค์” เพราะ “กาแฟมวลชน” มีเป้าหมายเปิดแฟรนไชน์ จำนวน 1,000 สาขา แฟรนไชส์ 3 แบบ คือ S, M, L ค่าแรกเข้า 55,000 – 100,000 บาท งบประมาณลงทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบ 100,000 -3,000,000 บาท
ผู้เขียน ทรงวุฒิ จันธิมา