อลงกรณ์ และทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันขับเคลื่อน “ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ” ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของประเทศไทย
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นประธานเปิดงาน เวทีขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและ BCG การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนห่วงโซ่มูลค่าเกษตรอินทรีย์โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ณ โครงการตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ (Organic World Thailand) อ.สามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยมี นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายปานเทพ มารศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาสินค้าและชุมชน ธ.ก.ส นางสาวกัลยารัตน์ รัตนะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) นายวิเชียร คุณวิเชียร สวาทยานนท์ คุณศรีลำปาง สวาทยานนท์ เจ้าของโครงการตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ดร.กนก อภิรดี ประธานคณะที่ปรึกษา สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย แขกผู้มีเกียรติจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เกษตรกร และผู้ประกอบการทุกท่านร่วมให้การต้อนรับ
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย อนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และ รองประธานคนที่ ๑ สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย ได้กล่าวรายงานถึงความท้าทายของพี่น้องเกษตรกรอินทรีย์ทั่วประเทศ ที่ไม่มีตลาดในการจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรทำอินทรีย์แล้วเข้าไม่ถึงมาตรฐาน ขาดความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ขาดความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ ขาดความรู้ที่จะแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขาดเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ขาดการจัดการเชื่อมโยงผลผลิตซึ่งพอมีอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วประเทศ ขาดศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยรวมแล้วความท้าทายหลักของเกษตรกร คือมีจุดอ่อนในด้านการประกอบการ มีขีดจำกัดด้านการตลาด ในทางกลับกันผู้บริโภคและผู้ประกอบการก็ไม่สามารถเข้าถึงผลผลิตจากเกษตรกร
จึงได้เริ่มบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแบบประชารัฐ นำไปสู่การลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน ตามแนวทางประชารัฐ” กับ ๓๕ หน่วยงาน เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙ และต่อมาได้จัดตั้งกลไกวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ ในรูปของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัด และสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS-Participatory Guarantee System ภายใต้แบรนด์ SDGsPGS และกลไกธุรกิจในแต่ละจังหวัดเพื่อจัดการผลผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองสู่ตลาด และต่อมาได้ยกระดับจัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย เพื่อการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในเครือข่ายที่กว้างขวางและมั่นคงขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ จากทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน ซึ่งได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมประชารัฐ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภายใต้งบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนในปี ๒๕๖๑ ประมาณ ๖ ล้านบาท นำร่องใน ๘ จังหวัด ทำให้พวกเราสามารถตั้งใข่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายผลได้กว่า ๔๐ จังหวัดภายในปี ๒๕๖๒ และทำให้สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยได้รับรางวัลเลิศรัฐประเภท “ผู้นำหุ้นส่วนการพัฒนา – Engaged Citizen” จาก กพร.ในปี ๒๕๖๒ จุดแข็งของการขับเคลื่อนของพวกเราคือการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้วยกระบวนการ PGS การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดทำข้อมูลและเชื่อมโยงในทุกกระบวนการ และการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีต่างๆเชิงพื้นที่โดยสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัด ออกแบบให้สามารถขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
“เป็นความโชคดีของพวกเราและเกษตรกรที่ได้มาพบกับคุณวิเชียร สวาทยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ ซึ่งเมื่อท่านเห็นความตั้งใจของพวกเรา ท่านได้เสนอสร้างตลาดให้พวกเรา บนพื้นที่ ๑๓ ไร่แห่งนี้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปีเต็ม และได้ตั้งชื่อตลาดแห่งนี้ว่า “ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ” ชื่อภาษาอังกฤษคือโครงการ Organic World Thailand โดยแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ดังนี้คือ ๑) โดมขนาด ๔๐ x ๑๒๐ ตรม. ซึ่งสามารถจัดสรรคูหาเพื่อการค้าขนาด ๑๕ ตรม. และ ๒๐ ตรม. ได้ ๒๐๔ คูหา ๒) คูหารอบโดมขนาด ๔๘ ตรม. จำนวน ๙๓ คูหา โดยให้สิทธิพิเศษผู้ประกอบการสมาชิกของสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ในการจ่ายค่ามัด ๒ เดือน และจ่ายค่าเช่าคูหาทั้ง ๒ ส่วนนี้ เพียงคูหาละ ๑ บาทต่อเดือน เป็นเวลา ๒ ปี ท่านยังให้สิทธิพิเศษนี้กับสมาชิกของสมาคมฯ ในพื้นที่ส่วนขยาย ที่กำลังเตรียมการก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำผักผลไม้ ขนาด ๑,๐๐๐ ตรม. โรงล้างคัดตัดแต่ง และบรรจุ ขนาด ๑,๐๐๐ ตรม. โรงคั่วกาแฟและเบเกอรี่ ๓๕๐ ตรม. อีกด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังมีบริการห้องพักขนาด ๒๔ ตรม. ไว้บริการผู้ประกอบการ จำนวน ๑๒๐ ห้อง โดยมีค่าเช่าเพียงเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท มีโรงคัดตัดแต่งขนาดเล็กและห้องเย็นไว้บริการในส่วนของตลาดโรงเกลือ (ด้านหน้า) กำลังเตรียมก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และโซนบ้านพักอาศัยในพื้นที่อีกหลายร้อยไร่ เพื่อสร้างระบบนิเวศในการผลิตและบริโภคที่เชื่อมโยงกับตลาดแห่งนี้ด้วย”
ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ ขณะนี้ มีผู้ประกอบการจองคูหารอบโดมไปแล้วทั้งหมด ๑๐๐% และมีการจองคูหาใต้โดมไปแล้วประมาณ ๕๐% ยังสามารถรองรับผู้ประกอบการได้เพิ่มอีก กิจกรรมทางการค้าที่ผู้ประกอบการได้จับจองพื้นที่สำหรับการขายส่งและขายปลีกไปแล้ว มีตั้งแต่ ๑)ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ๒)ร้านจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง และผลิตภัณฑ์แปรรูป ๓)ร้านอาหารอินทรีย์ ๔)โรงล้างคัดตัดแต่งและบรรจุ ๕)โรงงานแปรรูปน้ำผัก ผลไม้ ๖)ศูนย์บริการห้องเย็น ๗)ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์คนเมือง เป็นต้น นอกจากนี้สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ยังได้ส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรม IOT และระบบ barcode ในการค้าขายในตลาดและเชื่อมโยงกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศด้วยระบบ Organic World Thailand Market Platform ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำการซื้อขายได้อย่างคล่องตัว สามารถพัฒนาราคากลางผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ โดยเชื่อมโยงกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture Network) เพื่อตรวจสอบย้อนกลับที่มาของผลผลิตและเอกสารยืนยันการรับรองผลผลิตอินทรีย์ และเชื่อมโยงกับระบบการค้าออนไลน์กับภาคีพันธมิตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป
“การจัดงานในวันนี้และพรุ่งนี้ ยังไม่ใช่ “วันเปิดตลาด” แต่เป็นการจัดเวทีเพื่อสื่อสารโครงการให้กับท่านผู้บริหาร ท่านผู้มีเกียรติได้รับทราบ พวกเรามีความยินดียิ่งหากท่านสามารถช่วยคิดต่อยอดโครงการ ร่วมหนุนเสริมด้วยทรัพยากรต่างๆ ตลอดจนองค์ความรู้ คำแนะนำ การเชื่อมโยงเครือข่าย มาร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้ตลาดแห่งนี้เดินหน้าได้อย่างมีพลัง มั่นคง และยั่งยืน นอกจากนี้การจัดงานในวันนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการเปิดตลาด ในไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๖ นี้”
นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวแสดงความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง บริษัทสยามมินิแฟคจำกัด และสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ในการพัฒนาและขับเคลื่อน “ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ” หรือโครงการ Organic World Thailand สามโคก-ปทุมธานี แสดงความชื่นชม คุณวิเชียร สวาทยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ ที่มีจิดอาสาในการช่วยเกษตรกรให้มีตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และแสดงความชื่นชม ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ และเครือข่าย ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเกษตรอินทรีย์ซึ่งนำมาสู่การก่อเกิดตลาดกลาง และการเตรียมความพร้อมในการเปิดตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะในครั้งนี้ และพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตลาดอย่างเป็นทางการ
“ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ต้องเรียนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีผมเป็นประธาน มีคณะทำงานขับเคลื่อนหลายคณะได้แก่ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรธรรมชาติและวนเกษตร และคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมในเมือง Urban Farming เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับตำบล ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเชิงพื้นที่ และในส่วนของเกษตรอินทรีย์ ได้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย เป็นต้น”
“ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ หรือจะเรียกว่า “ท้ายเกาะโมเดล” จะเป็นตลาดกลางขายส่งและขายปลีกผลผลิตเกษตรอินทรีย์แห่งแรกในประเทศไทย และในภูมิภาค จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาตลาดกลางในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญที่ตอบโจทย์ด้านการตลาดสำหรับเกษตรกรอินทรีย์จากทั่วประเทศ ทุกภาคส่วนควรได้บูรณาการความร่วมมือ ผลักดันให้ตลาดนี้สามารถเดินหน้าด้วยความสำเร็จ มีพลังและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรมตามที่มุ่งหวังไว้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “Political Will” หรือเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองซึ่งจะเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อไป ควรมีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอินทรีย์โลก”
หน่วยงานต่างๆได้ร่วมเวทีเสวนาตลอดทั้งสองวันของการจัดงาน ประกอบด้วย ๑)นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ๒)นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ๓)นายปานเทพ มารศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาสินค้าและชุมชน ธ.ก.ส ๔)นางสาวกัลยารัตน์ รัตนะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ๕)นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ๗)นายสมนึกยอดดำเนิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้าอาหารสด ๘)นายไพโรจน์ คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อผักและผลไม้สด ผู้แทนบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ๙)นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ๑๐)นายวินัย สุนทรสุข ประธานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย และ ๑๑)นายอัฒมาส ชนะ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนเชียงใหม่
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เชื่อมโยงทางการค้า ติดต่อ สมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย โทร. 0832424462 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ anurug@yahoo.comรายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายาสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย





