มันเป็นอาหารเฉพาะถิ่นบ้านดอน เมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดอื่นไม่มีเมนูอาหารที่ชื่อโล่งโต้ง แม่ผมอายุ 82 มาจากท่าชนะ บอกว่าเพิ่งมารู้จักโล้งโต้งตอนย้ายมาอยู่ในเมือง แปลว่า อำเภออื่นไกลออกไปก็ไม่รู้จัก
ผมรู้จักโล้งโต้งแต่เด็ก มันทำง่ายขายง่ายมีเพิงขายในซอยถนน มันแตกต่างร้านก๋วยเตี๋ยว ไอ้ที่ขายก๋วยเตี๋ยวก็ขายไป โล้งโต้งขายโล่งโต้งไป ผมจากบ้านไปนานช่วงหนุ่มไม่ค่อยกลับ เมื่อราว 10 ปีก่อนเริ่มกลับใต้บ่อยขึ้น เห็นร้านห้องแถวชั้นเดียวติดป้ายขายโล้งโต้งในย่านชุมชนใหม่ในลึก แสดงว่า มันเป็นอะไรที่ฝังรากยืนยาวในวัฒนธรรมการกินของคนสุราษฎร์
หลังๆ มีร้านชื่อดังเช่นยกเข่ง นักท่องเที่ยวต่างถิ่นนิยม เขาก็มีเมนูโล้งโต้ง ต่อมาก็มีอาหารเช้าอีกหลายร้านละแวกนั้นขายด้วย นี่เป็นภาพที่ถ่ายจากร้านบ้านก๋ง ตลาดล่าง ส่วนเจ้าที่ผมติดใจรสชาติคือร้านเล็กๆ ซอยตลาดล่าง ปีกลายโน้นเพื่อนเก่าตี๋เล็ก สมัยอนุบาลพาไป
โล้งโต้งคือหมี่ขาว น้ำซุปกระดูกหมูแบบใส รสชาติแบบจีนดั้งเดิม เน้นความกลมกล่อมละมุนของน้ำซุปเป็นสำคัญ แล้วก็เติมเครื่องประกอบลูกชิ้นเต้าหู้อะไรโปะหน้าเข้าไป
เจ้ารสชาติซุปกระดูกหมู นวลๆ กลมๆ ด้วยวิธีดั้งเดิม มันก็มีเสน่ห์ของมัน ขับเน้นรสชาติวัตถุดิบกระดูกหมู แบบไม่ปรุงจัด ซึ่งก็นั่นแหละ หลายคนไม่ชอบ มันเป็นอะไรที่สวนทางกับรสชาติจัดจ้านของอาหารใต้ อาหารไทย คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวจะตักพริกน้ำส้มน้ำปลาเติมไปอีก ให้แหลม แต่โล้งโต้งไม่แหลม ดั้งเดิมมันเป็นอาหารของชาวจีน
ประเด็นของโล้งโต้งคือ มันเป็นอาหารอัตลักษณ์ถิ่น แบบเดียวกับ เถ้าคั่ว สงขลา/ ข้าวเปิ้บ สุโขทัย/ ขนมกวนขาว นครศรีฯ / ข้าวซอยน้ำหน้า เชียงราย ฯลฯ … ซึ่งเอกชนพ่อค้าแม่ค้าเขาก็พยายามรักษาให้มันโด่งดังขายได้ในระดับจังหวัด แต่รัฐเฉยๆ กับมัน … นี่มัน soft power เศรษฐศาสตร์อาหารวัฒนธรรมนะครับ
ถ้าเป็นญี่ปุ่น เขาจะมีความพยายามตั้งวงวิชาการสืบหารากเหง้าที่มาของโล้งโต้ง ศัพท์ๆ นี้มันโผล่ขึ้นที่บ้านดอนได้อย่างไร เอ๊ะมีชื่อเรียกอาหารเส้นของจีน ทั้งฟูเจี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ คาบเกี่่ยวกันหรือไม่ หรือว่า มันเป็นชื่อที่คนไทยปักษ์ใต้ท้องถิ่นเรียก แบบเดียวกับ จีนเรียกเถ้าคั่วสงขลา ต่างจาก rojak มลายู … ญี่ปุ่นเขามีระบบการศึกษาจำแนกอาหารที่ยอดเยี่ยมมาก แต่เรายังไม่มี
ประวัติศาสตร์โล้งโต้งจึงยังไม่มี ทั้งๆ ที่มันขายได้อยู่แล้ว เป็นอัตลักษณ์อยู่แล้ว โดยที่คนกินคนขายก็ไม่รู้ว่ามันโล้งโต้งยังไง