หลายปีผ่านมา บนผืนดินจังหวัดพะเยา ประเทศไทย เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีเกษตกรกรรม เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้เมื่ออยู่บนท้องฟ้าแล้วมองลงมายังผืนดิน พิกัด (latitude longitude) แสดงตำแหน่งแปลงเกษตรอินทรีย์ (location) เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากแปลงเกษตรอินทรีย์เป็นผัก ผลไม้ 2 แปลง บัดนี้เพิ่มขึ้นเป็น 100 แปลง และหากลองชมสินค้าบนพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าทั่วไปหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เราจะมองเห็นสินค้าพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษวางจำหน่ายจำนวนมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีสินค้าเกษตรอินทรีย์วางจำหน่าย  ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ หรือ Asst.Prof. Somchat Tana ผู้อำนวยการโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา เล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงในระบบเกษตกรรมแบบดั้งเดิมสู่ระบบเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่ เกษตรกรเริ่มต้นจากการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แปลงเล็ก สู่การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS พัฒนาสู่การทำการตลาดกับ บริษัทออร์แกนิคพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลก

จัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อทำการตลาดแบบ CSR

บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกเป็นบริษัทที่แบ่งผลกำไรให้กับสมาชิกร้อยละ 30 ของกำไรที่ได้รับ รูปแบบที่สอง เป็นรูปแบบที่ไม่แบ่งผลกำไรแต่นำผลกำไรที่ได้มาทำกิจกรรมให้ความรู้ เช่น จัดการอบรม สร้างเครือข่าย หรือช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับเดือดร้อนความเสียหายเกี่ยวกับผลผลิตการเกษตร บริษัทอื่นสามารถบริจาคเงินหรือสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR โดยสามารถนำยอดบริจาคนำมาหักลดหย่อนภาษี

บริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นการต่อยอดเพื่อช่วยเหลือเกษตรซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาเพื่อทำการตลาด โดยให้สมาชิกทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น สร้างการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ความเชื่อมโยงของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS กับบริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด  คือ เบื้องต้นสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์สอนให้สมาชิกทำการตลาดเอง จำหน่ายสินค้าเอง หากสินค้ามีศักยภาพเพียงพอสมาพันธ์ก็จะส่งเสริมด้านการตลาด

เกษตรกรบางรายขาดศักยภาพและความน่าเชื่อถือ เช่น การติดต่อทำสัญญาซื้อขาย หรือเกษตรกรเข้าไม่ถึงโอกาสทางการตลาด บริษัทออร์แกนิคพะเยาจะเป็นตัวเชื่อม รวบรวมสินค้าของสมาชิกเพื่อจัดจำหน่าย เป็นตัวกลางเชื่อมตลาดเชิงพาณิชย์ เป้าหมายการก่อตั้งบริษัทออร์แกนิคพะเยา คือการสร้างความน่าเชื่อถือในศักยภาพของเกษตรกร หากเราเป็นผู้ซื้อเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถผลิตสินค้าได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด สำหรับผมการก่อตั้งบริษัทถือเป็นการยกระดับตลาด ในอนาคตสินค้าของเราอาจสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศก็เป็นไปได้

การเติบโตของเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา

ตอนนี้เราสร้างกลไกเครือข่ายระดับอำเภอ ในอนาคตหากเครือข่ายเติบโตมากขึ้น เราจะทำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เล็กลงสู่ระดับตำบล ปัจจุบันเรามีเครือข่ายระดับอำเภอ ประสานงานระดับอำเภอ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการพัฒนาเกษตรกร มีการตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ เราตรวจแปลงแบบไขว้โดยให้ผู้ตรวจแปลงจากอำเภออื่นตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ สำหรับปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน เรายังขาดงบประมาณและจะคาดหวังงบประมาณจากองค์กรภาครัฐไม่ได้ เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าจะมีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่

หากมองเรื่องการเติบโต หลายปีก่อนจังหวัดพะเยามีแปลงเกษตรอินทรีย์เป็นผัก ผลไม้ 2 แปลง หลังจากเราก่อตั้งสมาคมเกษตรอินทรีย์ เราสามารถเพิ่มจำนวนแปลงผักเกษตรอินทรีย์ เพิ่มจำนวนแปลงผลไม้อินทรีย์ ทั้ง มะม่วง ลิ้นจี สำหรับสินค้าประเภทข้าวอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา สินค้าของเราบางส่วนมีมาตรฐานออแกนิคไทยแลด์อยู่แล้ว การที่เกษตรกรสมัครเข้าเป็นสมาชิกเเพราะต้องการช่องทางการตลาด เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการสินค้าที่มาตรฐานแตกต่างกัน ตอนนี้เรามีแปลงเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดพะเยากว่า 100 แปลง มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นทุกปี บทสรุปงานวิจัยเราพบว่า การสนับสนุนของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS ส่งผลให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้นร้อยละ 16 มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น มีผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยรองรับ ถือเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์

จุดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีมาตรฐาน

หากมองภาพรวมเกษตรอินทรีย์โลก ประเทศไทยกำลังพัฒนา เทียบไม่ได้กับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น แต่ละประเทศมีมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่เหมือนกัน มูลค่าการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่างประเทศสูงมาก ส่วนประเทศไทยมีมูลค่าทางการตลาดน้อยแต่มีอัตราการเติบโตสูงมาก เกษตรอินทรีย์ประเทศไทยถือเป็นเกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐาน เกษตรกรไทยมองเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องไกลตัว มองเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องยาก หากต้องการตรารับรองคุณภาพ ต้องใช้เงิน ใช้เวลา เมื่อได้รับตรารับรองมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผลอย่างไร ทุกอย่างเรื่องเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยล้วนแต่เป็นคำถาม

เงื่อนไขการรับรองเกษตรอินทรีย์ระดับสากลมีความยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่เรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา หรือปลดล็อคเงื่อนไขเหล่านี้ มาตรฐาน SDGsPGS คือมาตรฐานสอดคล้องกับของ IFOAM โดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) เราคาดหวังว่า การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS เกษตรกรจะได้รับความรู้ มีพื้นฐานด้านการเกษตรสู่การรับรองการเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เพราะกระบวนการเงื่อนไขการตรวจแปลงเกษตรเหมือนกัน เกษตรกรสามารถเติบโตสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรทุกคนต้องเริ่มต้นจากจุดนี้

ทิศทางการทำการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์  

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย ร้านค้าชุมชน โรงเรียน ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงแรม เริ่มจากร้านค้าชุมชน เมื่อวางจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ก็สามารถเติบโตสู่ชุมชนอื่น โรงพยาบาลก็ถือเป็นจุดเปราะบางเพราะเมื่อคนไข้สัมผัสเคมีก็จะแสดงอาการ โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ก็สั่งผักจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อทำอาหารให้กับคนไข้ เมนูอาหารของโรงพยาบาลก็จะปรับตามผลผลิตของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถขายผักผลไม้ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับโรงแรม ก็มีการส่งผักอินทรีย์จากสมาชิกของสมาพันธ์ให้กับโรงแรมหลายแห่ง เช่น โรงแรมภูกลอง

ผมทำงานเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS ผมมองเห็นคนพะเยาตื่นตัวเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค มีเกษตรกรสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น มีผู้สนับสนุนจำนวนมากขึ้น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิกที่ได้รับตรารับรองของสมาพันธ์ ปัจจุบัน สินค้าเกษตรประเทศไทยตกต่ำมาก เกษตรกรต้องรอเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ หนี้ของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาในระบบการผลิตสินค้าเกษตรแบบใช้สารเคมี

เกษตอินทรีย์เป็นการทำงานอย่างประณีต เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำเกษตรอินทรีย์แปลงเล็กแล้วเริ่มขยาย เรียนรู้เรื่องการเตรียมดิน การใช้จุลินทรีย์ หากเกษตรกรเรียนรู้จนสามารถทำได้ปุ๋ยหมักได้ เรียนรู้วิธีกำจัดและควบคุมศัตรูพืช เกษตรกรก็สามารถลดต้นทุนการผลิต มันคือการใช้หัวใจเข้าไปดูแล ทำการเกษตรอินทรีย์อย่างละเอียดประณีต ทำให้มีผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ดี มีคุณภาพ

คนรุ่นใหม่กับการทำงานด้านการเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทำในรูปแบบของสวนออแกนิค เกษตรกรรุ่นใหม่หลายคนเปิดร้านอาหารและทำสวนออแกนิค ผมไปตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ทางไกลถนนคดเคี้ยว แต่เมื่อไปถึงก็พบร้านอาหารที่มีลูกค้าจำนวนมาก คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารในเมือง มีต้นทุนเป็นที่ดินของพ่อแม่ ไม่ต้องมีอาคารพาณิชย์ ไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคผ่านสื่อโซเชียล นับเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ พวกเขาสามารถอธิบายถึงแนวคิด กระบวนการ คุณสมบัติของสินค้าและบริการ นั่นทำให้เราสามารถผลักดันพวกเขาสู่ระบบเชิงธุรกิจได้มากขึ้น

การทำงานภาคประชาสังคมทำให้เห็นว่า นักวิชาการสามารถเข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น เข้าใจบริบทและการพัฒนาชุมชน สามารถสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ หากมองความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในลักษณะรูปแบบการทำงาน มหาวิทยาลัยพะเยา กำหนดตนเองหรือ positioning ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ยกระดับเรื่องเศรษฐกิจ ชีวิต สุขภาพ ด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม การทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ต้องมีการปรับแนวความคิด ปรับตัวหากัน ผมทำงานเริ่มจากศูนย์ เราคุยกันเพื่อเสนอความคิด แลกเปลี่ยน เรียนรู้แล้วทำงาน

เราไม่มีงบประมาณ แต่แหล่งเงินทุนก็มองเห็นศักยภาพในการทำงานของเรา เราได้รับงบประมาณศึกษาวิจัยและขับเคลื่อนกิจกรรม หน่วยงานรัฐมองเห็นการทำงานก็สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการ เป็นการทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในเรื่องมาตรฐานในการผลิต การตลาด ของสินค้าเกษตรอินทรรีย์ของจังหวัดพะเยา อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ในงานวิชาการการศึกษาวิจัยเชิงการเกษตร เราใช้กลไกการวางแผนทดลอง วิเคราะห์ผลองค์ความรู้ คำนวนผลนำเสนอเชิงสถิติ เมื่อมีความรู้เราก็สามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรอินทรีย์รุ่นต่อไป ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าใจว่า การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นเรื่องที่ต้องดูแลใส่ใจ 

สัมภาษณ์/ภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)