วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2566 หรืออีกประมาณสามเดือนนับจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) จะครบรอบ 20 ปีของการถือกำเนิด โดยนับจากวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเวลานั้นมีมติให้งบประมาณสนับสนุนสามปี พ.ศ.2547-2549 แก่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนกิจการฮาลาลของประเทศไทยขึ้น ห้องปฏิบัติการดังกล่าวต่อมาตอนปลาย พ.ศ.2547 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) ในการกำกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อันที่จริงงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเริ่มมาก่อนหน้า พ.ศ.2546 แล้ว โดยเริ่มในรูปห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในคณะสหเวชศาสตร์มาตั้งแต่ต้น พ.ศ.2538 เหตุนี้เอง คณะกรรมการบริหาร ศวฮ. จึงเห็นชอบให้นับวันที่มีมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ.2546 เป็นวันคล้ายวันถือกำเนิด ศวฮ. ดังนั้น เพื่อเฉลิมฉลองการครบวาระ 20 ปีให้เป็นทางการสักหน่อย ผมในฐานะผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง ศวฮ.จึงจัดทำหนังสือที่ระลึกขึ้นมาหนึ่งเล่มชื่อ “กว่าจะเป็น ศวฮ. สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก” เล่าเรื่องราวของ ศวฮ.ให้ทุกคนได้รับทราบ โดยเขียนเป็นตอนๆ รวมประมาณ 10 ตอนเป็น 1 ภาค เขียนทั้งสิ้น 5 ภาค เพื่อให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป
ภาคที่ 1 ตอนที่ 1.1 สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก
ยังจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ในงาน World Halal Forum (WHF) ณ โรงแรม The Crowne Plaza Mutiara กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ไม่เคยลืม งานวันนั้น ผมในฐานะผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้รับเชิญให้ขึ้นรับรางวัล The Halal Journal Award of Best Innovation in Halal Industry จากดาโต๊ะ สรี อับดุลลา บินหะยีอะหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เชิดชูเกียรติงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ผมพัฒนาขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมดำรงตำแหน่งคณบดีในเวลานั้น เป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนงานอุตสาหกรรมฮาลาล มีการประกาศในงานว่า ศวฮ.คือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในโลก ฟังแล้วขนลุกซู่ ทั้งภูมิใจทั้งแปลกใจ ไม่รู้มาก่อนว่างานที่ผมเริ่มต้นขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เพื่อปกป้องผู้บริโภคมุสลิมคืองานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลกมาก่อน
ก่อนหน้านั้น ผู้บริหารบริษัท KasehDia Sdn BhD เจ้าของนิตยสาร The Halal Journal (HJ) มาเลเซีย ในฐานะผู้จัดงาน WHF ของรัฐบาลมาเลเซีย ยกทีมมาเยี่ยมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่อาคาร 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และที่อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ โดยผมไม่ล่วงรู้เลยว่านั่นคือขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับรางวัล ทราบในภายหลังจากหนึ่งในกรรมการตัดสินว่ารางวัลทั้งหมดต้องรับจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้จัดจึงพิถีพิถันกันมากว่าจะให้หน่วยงานใดจากประเทศไหนเป็นผู้รับรางวัล นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องราวลงตีพิมพ์ในนิตยสาร HJ สองฉบับคือ Jul-Aug และ Sep-Oct 2006 สุดท้ายรางวัลตกมาอยู่กับ ศวฮ. ผมและ ศวฮ.จึงภาคภูมิใจกับการรับรางวัลในงาน WHF พ.ศ.2549 ครั้งนั้นมาก เป็นประสบการณ์ที่สร้างแรงกระตุ้นให้ทั้งผมและ ศวฮ.มุ่งมั่นรังสรรค์ผลงานกระทั่งคว้ารางวัลและเกียรติยศหลังจากนั้นอีกมากมาย
วารสาร HJ ฉบับ Jul-Aug 2006 ระบุคำพูดของผมในการสัมมนาหัวข้อ The True Powers of Halal ในงาน WHF ครั้งนั้นว่า “เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศพัฒนาแล้วใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการดำเนินงาน สังคมมุสลิมจะใช้ดาบขึ้นสนิมกระนั้นหรือ กรณีความปลอดภัยด้านจิตวิญญาณของผู้บริโภคมุสลิม เราต้องถามตัวเองว่าเราปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ดีเพียงใด” เป็นเพราะตระหนักเช่นนี้ ผมจึงใส่ใจกับงานพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งรับทุนจากมหาวิทยาลัยใน พ.ศ.2538 สร้างผลงานกระทั่งได้รับงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ.2546 จัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะสหเวชศาสตร์ หลังจากนั้นในปีต่อมา สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 658 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2547 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายบริหารให้จัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) ขึ้น ขณะที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ปิดตัวลง นับจากนั้น ศวฮ.ได้มุ่งมั่นทำงานสร้างความภาคภูมิใจให้กับสังคมไทยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ขอบคุณสังคมไทย ขอบคุณรัฐบาลไทย ขอบคุณคณะสหเวชศาสตร์ และขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย