เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีประทับพระตำหนักกว๊านพะเยา พระราชกรณียกิจสำคัญอันเป็นที่จดจำของปวงชน คือการแก้ปัญหาผักตบชวา อันเป็นวัชพืชที่แพร่ระบาดบนผืนน้ำกว๊านพะเยา นอกจากผักตบชวาจะทำลายทัศนียภาพอันงดงามของผืนน้ำ ยังทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของคนพะเยา
จากบทบันทึกประวัติศาสตร์เมืองพะเยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีประทับพระตำหนักกว๊านพะเยา ทรงชักชวนข้าราชการ ข้าราชบริพาร เก็บผักตบชวา ทรงเก็บผักตบชวาด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ทรงชักชวนข้าราชการ ข้าราชบริพาร พ่อค้า ประชาชน ร่วมเก็บผักตบชวาบริเวณริมกว๊านพะเยา
เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘ ทรงร่วมเก็บผักตบชวากับประชาชนบริเวณบริเวณวัดศรีโคมคำ
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ประทับหัวเรือตรวจจับสถานีประมงน้ำจืดพะเยา ทรงเก็บผักตบชวาด้านหลังพระตำหนักกว๊านพะเยาหลังที่ ๑
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ เสด็จพระราชดำเนินกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันเก็บผักตบชวาบริเวณริมกว๊านพะเยา ในกาลนั้นทรงพระราชดำริให้นำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ในงานหัตถกรรมจักสาน
ภาครัฐน้อมรับพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมจักสานแปรรูปผักตบชวาเป็นวัตถุดิบ นับจากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ ๔๐ ปี ผักตบชวาตามแนวพระราชดำริเติบโตอย่างเป็นประโยชน์
ณ ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ชุมชนติดกว๊านพะเยาชาวบ้านประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม ประกอบอาชีพหลักคืองานหัตถกรรม นางไหม ทำไร่ ราษฎรบ้านสันป่าม่วงหมู่ ๘ ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ด้วยวัย ๖๕ ปี ยังใช้ชีวิตอยู่ใต้ถุนเรือนทำงานหัตกรรมจักสานผักตบชวาเป็นเวลากว่า ๓๕ ปี ยายไหม เล่าถึงเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีประทับพระตำหนักกว๊านพะเยาว่า
“ตอนสมเด็จย่าทรงเก็บผักตบชวา ยายไม่ได้ร่วมเก็บผักตบชวาในเมือง แต่ยายเก็บผักตบชวาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของกว๊านพะเยา สมัยก่อนถนนหนทางไม่ดี เดินทางไม่สะดวก ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ ผักตบชวาบนกว๊านพะเยามีเยอะมาก ยายก็เก็บผักตบอีกฝั่งหนึ่งของกว๊าน ต่อมาพัฒนาชุมชมก็เข้ามาส่งเสริมให้ตายายทำงานหัตถกรรมฝึกหัดอาชีพจักสาน ตอนนี้เหลือเพียงยายคนเดียวที่มีชีวิตอยู่”
ยายไหมเล่าว่า ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นบอกว่า ผักตบชวามีไรสีแดงเป็นแมลงที่กัดกินผักตบชวา เครื่องจักสานจากผักตบชวาจึงใช้ประโยชน์ได้ไม่มากเพราะไม่ทนทาน แต่เมื่อสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยาส่งเสริมให้ความรู้ หัตถกรรมผักตบชวาจึงมีมาตรฐานทนทาน ใช้ประโยชน์ได้ดี สามารถทำเป็น หมวก จานรองแก้ว หรือ กระเป๋า
“เราสองคนตายายช่วยกันจักสานตั้งแต่หนุ่มสาวอยู่กินเป็นสามีภรรยา ตอนนั้นสินค้าหัตถกรรมผักตบชวาราคาถูก ที่วางแก้วราคาเพียงชิ้นละ ๕ – ๑๐ บาท จึงต้องพัฒนาฝีมือเพื่อสร้างงานให้มีรูปทรงสวยงาม จนงานหัตถกรรมกลายเป็นอาชีพหลัก เกษตรกรรมกลายเป็นอาชีพเสริม”
ปัจจุบันผักตบชวาในกว๊านพะเยามีจำนวนน้อยลง ส่วนหนึ่งถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในงานหัตถกรรม ส่วนที่เหลือนำมาเป็นอาหารสัตว์และผลิตปุ๋ยหมัก การสร้างงานหัตถกรรมจักสานจึงต้องนำผักตบชวาจากต่างจังหวัดมาใช้ประโยชน์
“ผักตบชวาถูกสั่งนำเข้าจากสุพรรณบุรี ชัยนาท หลายปีก่อนผักตบชวา ๑๐๐ ก้าน ราคา ๒๕ บาท ตอนนี้ราคาขึ้น ๖๐ บาท กลุ่มหัตถกรรมจึงต้องตั้งกลุ่มเพื่อบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การรับออร์เดอร์งาน การจำหน่ายสินค้า”
งานหัตถกรรมจักสานผักตบชวาของจังหวัดพะเยา มีพัฒนาการเติบโตเป็นลำดับต่อเนื่อง ปัญหาผักตบชวาล้นกว๊านพะเยาอันเคยเป็นปัญหาใหญ่เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ผักตบชวาอันเป็นเพียงเศษสวะหาราคาไม่ได้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์จักสานผักตบชวาอันเลื่องชื่อ มีมาตรฐานสามารถจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
นางผ่องศรี ปรีชาพงษ์มิตร กำนันตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาตำบลสันป่าม่วง มีบทบาทสำคัญในการทำการตลาดให้กับสินค้าหัตถกรรม อันมีปัจจัยความสำเร็จคือการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เริ่มตั้งแต่พัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงอบรมให้ความรู้ พัฒนางานหัตถกรรมให้มีมาตรฐาน เช่น สอนการชุบน้ำยากันเชื้อรา การตากแดด การตัดเย็บ การบุผ้า นอกจากนั้นยังจัดหาพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน
“พ.ศ.๒๕๔๑ แม่เริ่มชักชวนชาวบ้านฝึกหัดงานหัตถกรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เริ่มจัดแสดงสินค้าในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เมืองทองธานี, บางกะปิ, ถือเป็นช่วงการเรียนรู้เรื่องการตลาด พวกเราขาดประสบการณ์ ประเมินต้นทุนต่ำเกินไป กำหนดราคาสินค้าไม่เป็น หลังจากนั้นเริ่มเรียนรู้ เมื่อขายสินค้าที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ จึงเริ่มมีกำไร”
เมื่อออกบูทแสดงสินค้าหลายแห่ง ยอดสั่งซื้อจากกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อมีจำนวนมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการจากไนท์บาซ่าเชียงใหม่ ผู้ประกอบการจากบ้านถวาย ผู้ประกอบการจากตลาดนัดสวนจตุจักร ผู้ประกอบการตลาดสำเพ็งประตูน้ำ
งานหัตถกรรมจักสานผักตบชวาตำบลสันป่าม่วง ได้รับรางวัลหลายรายการ เช่น รางวัลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มผช) เลขที่ ๓๘๘-๓/๒๕๓๙,ได้ระดับ ๔ ดาว จากการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทย ปี ๒๕๔๗ ,ได้รับรางวัล ๕ ดาว จากการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทย ปี ๒๕๔๙ ,ได้รับ๔ ดาวจากการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทย ปี ๒๕๕๙ ,รางวัล Innovation Thailand ปี ๒๕๕๕ ,ได้รับตราสัญลักษณ์ Phayao Brand
เมื่อรับรางวัลหลายรายการเป็นที่รู้จัก จึงเริ่มทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้กลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาทราบว่า ผู้ประกอบการสมัยใหม่ นิยมชมสินค้าและติดต่อซื้อขายแบบออนไลน์ มินานนักยอดขายจากต่างประเทศจึงเติบโต กลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาตำบลสันป่าม่วง มียอดส่งออกสินค้าสู่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีเฉลี่ยเดือนละ ๕๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐บาท
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาในจังหวัดพะเยา มีจำนวน ๗ แห่ง แต่ละปีสามารถจัดจำหน่ายสินค้าเป็นเม็ดเงินมากกว่า ๑๐ ล้านบาทต่อปี เฉพาะกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาตำบลสันป่าม่วง มียอดจำหน่ายสินค้ามากกว่า ๑.๘ ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้ล้วนเติบโตด้วยความพยายามอย่างจริงจังของวิสาหกิจชุมชน
ผักตบชวาจากกว๊านพะเยาอันไร้ค่า ถูกถักทอทำให้ทุกเส้นสายกลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้ามีราคา ทำให้หวนคิดถึงพระฉายาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ที่เคยสะท้อนบนผืนแผ่นน้ำเมื่อครั้งประทับพระตำหนักกว๊านพะเยา
เว็บไซต์กลุ่มหัตถกรรมจักสานตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา http://www.phayaopuktobchawa.com/