“เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” นอกจากเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ “นครนิวส์การพิมพ์” ยังเป็นช่างภาพฝีมือดีของจังหวัดพะเยา ผลงานของ “เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” อาจมิเคยส่งประกวดบนเวทีภาพถ่ายระดับประเทศแต่ผลงานของเขาหลายชิ้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มบุคคลทั่วไป ภาพถ่ายของเกรียงศักดิ์จำนวนมากถูกดาวน์โหลด กอปปี้ แชร์ผ่านโซเชียลมีเดี่ย และถูกละเมิดลิขสิทธ์โดยนำไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ
จังหวัดพะเยาอาจมิมีช่างภาพชื่อกระฉ่อนระดับประเทศ แต่ในแง่ของความนิยมของภาพถ่ายสถานที่ในจังหวัดพะเยามีอยู่จำนวนมากด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือ ภาพถ่ายหลายภาพของจังหวัดพะเยาจึงถูกนำไปเผยแพร่โดยมิได้ได้รับอนุญาตจากช่างภาพซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ย้อนกลับไปในความทรงจำวัยเยาว์ของเกรียงศักดิ์ฯ เขาเล่าว่า เริ่มถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพแบบฟิล์มซึ่งเป็นกล้องที่ยืมมาจากเพื่อน หลังจากอัดล้างฟิล์มก็พบว่าภาพถ่ายของตนเองไม่สวยงาม ไม่น่าประทับใจ จนมีความคิดที่จะเลิกถ่ายภาพ หลายปีผ่านเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงสู่กล้องระบบดิจิตอล จึงเลือกซื้อกล้องถ่ายภาพแบบมืออาชีพ (PRO) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตนเองถ่ายภาพให้ดีขึ้น โดยคิดว่า หากถ่ายภาพด้วยกล้องแบบมืออาชีพแล้วผลงานยังไม่สวยก็จะเลิกถ่ายภาพ
มินานนักฝีมือการถ่ายภาพของเกรียงศักดิ์พัฒนาอย่างรวดเร็ว แจ้งเกิดช่างภาพชื่อ “เกรียงศักดิ์ ขวัญสง่า” ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนพะเยา ในเวลาต่อมาเกรียงศักดิ์ก่อตั้งกองบรรณาธิการนิตยสาร Free copy ของจังหวัดพะเยาฉบับแรกที่ชื่อว่า “กว๊านพะเยา”
“การถ่ายภาพทำให้เรามองเห็นคุณค่าของกว๊านพะเยาว่ามีค่ามหาศาล แต่บ้านเราขาดการนำเสนอจึงทำให้หลายคนมองข้ามผ่านกว๊านพะเยา จากราคาหนึ่งล้านบาท แต่ทำงานเพียงหนึ่งพันบาท”
ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพถ่ายของเกรียงศักดิ์ ซึ่งเป็นภาพอันมีคุณค่าแต่กลับถูก coppy นำไปตีพิมพ์ในเว็บไซต์และนิตยสารหลายฉบับ
ปัญหาของการถ่ายภาพของมืออาชีพในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแสง แต่คือปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพถ่าย บุคคล กลุ่มบุคคล ใช้ภาพถ่ายของช่างภาพแสวงหาประโยชน์ หลายครั้งพบว่า ภาพถ่ายของช่างภาพจังหวัดพะเยาถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ถูกนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร ใช้ในแผ่นพับงานโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพถ่าย
ช่างภาพมืออาชีพมีวิธีการเก็บรักษาภาพและแบ่งประเภทภาพถ่ายของตนเองเป็น 3 ประเภท
1.ภาพเกรด C อันเป็นภาพถ่ายแจกฟรี อนุญาตให้บุคคลทั่วไปใช้
2.ภาพเกรด B อันเป็นภาพถ่ายสำหรับใช้งาน ไม่ได้มีไว้แจกจ่าย ใครอยากได้ก็ต้องขออนุญาต
3.ภาพเกรด A อันเป็นภาพถ่ายคุณภาพสูง สามารถใช้งานทำบิวบอร์ดโฆษณา ไฟล์ภาพจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีไม่มีการเผยแพร่ให้กับสาธารณะ
สิ่งที่กองบรรณาธิการควรรำลึกไว้เสมอคือการนำภาพของบุคคลอื่นอันมีลิขสิทธิ์มาใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ การใช้ภาพถ่ายประการแรกที่ควรทำคือ ควรติดต่อเพื่อขอนุญาตใช้ภาพกับทางช่างภาพ หลายกองบรรณาธิการติดต่อขอใช้ภาพถ่ายจากช่างภาพ แม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ก็ให้เครดิตผลงาน เช่น การตีพิมพ์ชื่อช่างภาพ
ฉะนั้น กองบรรณาธิการหรือเจ้าของเว็บไซต์ต้องระมัดระวังการใช้ภาพถ่ายในการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ โดยเกรียงศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับภาพของผมหากถูกใช้ ถูกแชร์ ก็ไม่เป็นไรครับ แต่หากใช้ภาพของผมเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ควรแจ้งให้กับเจ้าของลิขสิทธ์ในภาพถ่ายก่อน”