“แคะเว่น ศรีสมบัติ” เป็นอดีตข้าราชการครูผู้บริหารการศึกษา สืบเชื้อสายชาวเขาเผ่าเย้าเดินทางจากประเทศจีนมาตั้งรกรากอยู่เมืองไทยเมื่อกว่า 150 ปีก่อน มีลูกหลานสืบสายสกุลเป็นรุ่นที่ 5 อาศัยอยู่ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ปัจจุบันอายุ 67 ปี ยังทำงานกับองค์กรเอกชนซึ่งเกี่ยวกับชนเผ่า เช่น สมาคมชนเผ่าแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยนไทย องค์กรดูแลป่าต้นน้ำ “แคะเว่น ศรีสมบัติ” เคยถวายฎีกาขอรับพระราชทานโครงการหลวงปังค่า หมู่บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา แง่มุมการพัฒนาพื้นที่สูงผ่านคนชนเผ่าจึงจัดเจนด้วยประสบการณ์
เศรษฐกิจของชนเผ่าจังหวัดพะเยาเป็นอย่างไร
พื้นที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา คนชนเผ่าอาศัยอยู่ด้วยกันสองเผ่าพันธ์ุคือ เผ่าเมี่ยน และเผ่าม้ง เมื่อกว่า 30 ปีก่อนคนชนเผ่าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพดและไร่ฝ้าย การถางพื้นที่ป่ากินพื้นที่บริเวณกว้าง มีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าและทำลายสิ่งแวดล้อมจึงมีมาก
ต่อมาการเกษตรเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดมาทำสวนปลูกลิ้นจี่ ช่วงนั้นที่ดินเสื่อมโทรม ป่าไม้ถูกทำลาย เกิดปัญหาไฟป่า ถึงฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำท่วม พวกเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสให้คนหันมาประกอบอาชีพอื่น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตร ทำการเกษตรใช้พื้นที่น้อย เช่น ปลูกผัก ปลูกผลไม้
ห้วงเวลานั้นปัญหาของคนชนเผ่ามีมาก ผมจึงตัดสินใจถวายฎีกาขอรับพระราชทางโครงการหลวงปังค่า หมู่บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา จากเคยทำไร่ข้าวโพดเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวก็หันมาปลูกพืชเมืองหนาวเพิ่ม เช่น ลูกพลับ อาโวคาโด เสาวรส สาลี่
การทำไร่ข้าวโพดเป็นเกษตรกรรมทำลายผืนป่าลุ่มน้ำยม ปัญหาไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นบ่อยมาก เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าครั้งหนึ่งกินเเวลายาวนานนับเดือน พื้นที่ความเสียหายจากการเผากว้างมาก ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้า ส่วนผมซึ่งรับราชการครูสอนเด็กนักเรียน อยากเปลี่ยนความคิดคนในชุมชนให้ประกอบอาชีพอื่น หลายคนหันไปประกอบอาชีพรับจ้าง ประกอบธุรกิจเป็นช่างซ่อม คนงานก่อสร้าง คนหนุ่มสาวหลายคนย้ายถิ่นประกอบอาชีพในเมือง
เปลี่ยนเศรษฐกิจเพื่อธรรมชาติ
ยุคนั้นเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง ค้นหา และค้นพบ เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลานกันมาเกือบ 25 ปี ปลูกพืชชนิดใดก็ไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ จึงต้องอาศัยองค์ความรู้จากโครงการหลวงอันเป็นโครงการในพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนให้ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยความช่วยเหลือของรัฐในการหาตลาดสินค้าอีกทางหนึ่ง
การอพยพย้ายถิ่นของคนหนุ่มสาวเกิดขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ คนมีฝีมือด้านแรงงานเลือกทำงานต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ บางคนแสวงโชคด้วยการออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ประชากรชนเผ่าอาศัยบนพื้นที่สูงลดลง พื้นที่บุกรุกทำการเกษตรย่อมลดลง ป่าไม้ที่เคยทรุดโทรมเริ่มฟื้นคืน ระบบนิเวศน์ดีขึ้น โครงการหลวงกลายเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตร ชาวบ้านเริ่มปลูกพืชชนิดอื่น เริ่มทดลองปลูกกาแฟ
แม้ปัจจุบันพืชผลการเกษตรของชาวเขายังเป็นข้าวโพดซึ่งมีตลาดรับซื้ออยู่ในตัวเมืองอำเภอเชียงคำ กำหนดราคาเป็นไปตามเศรษฐกิจ แต่สินค้าตัวใหม่ซึ่งได้รับการสนับสนุนก็วางขาย ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก อาโวคาโด้ เสาวรสสีม่วง สินค้าการเกษตรหลายชนิดโครงการหลวงรับซื้อทั้งหมด โครงการหลวงมีทั้งโรงคัดแยก โรงบรรจุ อยู่ที่โครงการหลวงปังค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
ช่วงเวลา 25 ปี นับเป็นห้วงเวลาของการลองผิดลองถูก พวกเราพบคำตอบว่า หากโครงการหลวงสนับสนุนให้ปลูกพืชตัวไหน คนชนเผ่าปลูกเพราะโครงการหลวงรับซื้อตามความต้องการของตลาด โครงการหลวงรับซื้อผลผลผลติทั้งหมดด้วยราคาที่เป็นธรรม
ชนเผ่าเคยกำหนดทิศทางการตลาดเอง
หลายปีก่อนเป็นช่วงลองผิดลองถูก พวกเราเคยลองกำหนดทิศทางการตลาดกันเองแต่กลับพบว่า การกำหนดทิศทางการตลาดสินค้าการเกษตรเป็นเรื่องยาก เสี่ยงต่อความล้มเหลว พวกเราเคยปลูกลิ้นจี่ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดกำลังต้องการแต่กลับพบปัญหาการขนส่งสินค้าที่ต้องเดินทางไกลไปถึงต่างจังหวัด กว่าจะไปถึงสินค้าขาดความสดใหม่ ราคาตกต่ำ
โดยสรุปแล้วชนเผ่าไม่สามารถกำหนดทิศทางการตลาดได้ ด้วยความต้องการสินค้าเป็นของคนเมือง ช่วงหลังชนเผ่าปลูกพืชตามความต้องการของคนเมือง คนเมืองอยากได้สิ่งใดเราปลูกให้ ดูทิศทางความต้องการของคนเมือง โครงการหลวงสามารถกำหนดแผนการตลาดสนับสนุนให้เราปลูกพืชชนิดใดเราปลูก
เป้าหมายของชนเผ่าในเวลานี้คือการสร้างศูนย์อาหาร สร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ สร้างพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างคนชนเผ่ากับคนเมือง เพราะในช่วงที่ผ่านมา การสนับสนุนของกลุ่มพ่อค้า การสนับสนุนจากทางภาครัฐ การสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชนมีน้อยมาก ชนเผ่าต้องการพื้นที่ทำการตลาดสินค้าเกษตร
ผลผลิตทางการเกษตรของคนชนเผ่าวางจำหน่ายในตลาดเชียงคำ และ ตลาดตำบลงิม อำเภอปง สินค้าเกษตรประเภทพืชผักส่วนใหญ่มีตลาดรองรับทุกเช้า ส่วนผลผลิตทางการเกษตรประเภทอื่นก็จัดส่งให้กับโครงการหลวงตามความต้องการ สิ่งที่คนชนเผ่าต้องการคือตลาดสินค้าที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับสินค้า เช่น พื้นที่การตลาดในห้างสรรพสินค้าจังหวัดพะเยา
ปัญหาต่อมาคือปัญหาเรื่องคน เพราะหนุ่มสาวซึ่งเป็นวัยแรงงานออกเดินทางทำงานนอกพื้นที่ เหลือเพียงผู้เฒ่าเลี้ยงหลานอยู่ในหมู่บ้าน หลายคนไม่สามารถทำงานได้ หลายคนทำงานทำงานได้เพียงเล็กน้อย เราต้องการให้ภาครัฐและเอกชนส่งเสริมสนับสนุนให้พวกเขาปลูกพืชทำการเกษตร อยากให้สนับสนุนความรู้และสนับสนุนเงินทุน