หลายปีผ่าน ผู้เขียนมองเห็นความเจ็บปวดและการสูญเสียจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ลางสังหรณ์เรื่องการถูกฉ้อโกงของผู้เขียนมีมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ

อาจเป็นเพราะร่ำเรียนวิชาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตอนเรียนมหาวิทยาลัย ถูกตอกย้ำความรู้จากการอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนคดีฉ้อโกงอยู่เป็นประจำ ผู้เขียนจึงเข้าใจดีถึงความเจ็บปวด รวมถึงการสูญเสียของบุคคลซึ่งตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง

ชีวิตบนโลกออนไลน์มิต่างอะไรจากโลกแห่งความจริง คนบางกลุ่มใช้ Social Media เปิดเผยชีวิตสร้างสัมพันธภาพกับสังคม คนบางกลุ่มใช้ Social Media เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์จำหน่ายสินค้า คนบางกลุ่มประกอบอาชีพใน Social Media หากินเลี้ยงชีวิต

แน่นอน คนบางกลุ่มสร้างกลเกมส์ลวงล่อเพื่อฉ้อโกงเงินจากเหยื่อผ่าน Social Media สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่า จริตสันดานของคนลวง มิต่างอะไรกันระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริง

ย้อนกลับไปในห้องเรียนมหาวิทยาลัย คำว่า Nigerian money offers  อ่านว่า “ไนจีเรีย มันนี่ ออฟเฟอร์” เป็นพื้นฐานของบทเรียน นับเป็นการหลอกลวงคนไทยครั้งมโหฬารซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น

กรณี เหยื่อหญิงชายวัยเกษียณอายุถูกหลอกเดินทางสู่ประเทศไนจีเรีย โชคร้ายเขาสูญเสียเงินเก็บทั้งชีวิต แต่โชคยังดีที่มีชีวิตรอด เพราะยังมีการประสานงานระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยเหลือเหยื่อคนไทยออกจากสถานที่คุมขังในประเทศไนจีเรียไว้ได้

กรณี เหยื่อหญิงสาวถูกลวงจนยอมแต่งงานก่อนจะถูกฝ่ายชายชาวไนจีเรียหลอกให้โอนเงิน พฤติการณ์ ชาวต่างชาติจีบหญิงไทยผ่าน Social Media ฝ่ายหญิงเชื่อสนิทใจว่าฝ่ายชายจะแต่งงานด้วยเพาะเขามอบแหวนเพชรและของขวัญจำนวนมาก เมื่อตกลงใจแต่งงานร่วมชีวิต ฝ่ายชายบอกจะนำเงินมาลงทุนร่วมชีวิตกับหญิงไทย ฝ่ายชายบอกว่าได้โอนเงินผ่านประเทศของเขาแต่เงินเข้าประเทศไทยไม่ได้ เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเข้าประเทศ ฝ่ายหญิงหลงเชื่อตัดสินใจโอนเงินเก็บทั้งชีวิตเพื่อค่าธรรมเนียม สุดท้ายฝ่ายชายนำเงินค่าธรรมเนียมหายเข้ากลีบเมฆ

กรณีเหยื่อนักธุรกิจชาวไทยถูกหลอกลวงร่วมธุรกิจสูญเงินหลายล้านบาท พฤติการณ์ นักธุรกิจชาวไนจีเรียและนักธุรกิจไทยร่วมลงทุนโครงการในประเทศ นักธุรกิจไนจีเรียบอกว่าได้โอนเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาทผ่านประเทศของเขาแต่เงินยังเข้าประเทศไทยไม่ได้ ขอให้นักธุรกิจชาวไทยโอนค่าธรรมเนียนให้ นักธุรกิจไทยหลงเชื่อ โอนเงินค่าธรรมเนียมการโอนเงินจำนวนหลายล้านบาทให้ สุดท้ายเงินมลายหายลับกับตา

ชั่วโมงอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เขียนทำความเข้าใจกับระบบการหลอกลวงด้วยโทรศัพท์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลลวงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ มีสำนักงาน มีพนักงานแบ่งเป็นแผนก เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง หลอกเอาเงิน จนถึงการโอนเงินจากประเทศไทยไปต่างประเทศ

ผู้เขียนเคยเห็นผู้ต้องหาซึ่งตกเป็นจำเลยในคดี “ฉ้อโกง” รูปพรรณสัณฐานของกลุ่มคนเหล่านี้ ดูดี น่าเชื่อถือ แม้แต่ตัวผู้เขียนเองหากยังไม่เห็นประวัติการกระทำความผิด ก็อาจเป็นอีกคนซึ่งตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง

หลายวันผ่านมา ผู้เขียนพบเห็นความผิดปกติของ Social Media นั่นคือธุรกิจรับจ้างกดไลค์ จริงหรือลวงเป็นเหตุอันคลุมครือมิแน่ชัดเพราะยังไม่ถูกตรวจสอบ แต่รูปแบบพฤติการณ์คล้ายคลึงกับ “แชร์ลูกโซ่ออนไลน์” อธิบายรูปแบบและพฤติการณ์อย่างง่าย คือเจ้าของธุรกิจชักชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมธุรกิจโดยจ่ายเงินให้ก่อน อาจเป็นลักษณะเงินการขายหุ้น จ่ายเงินประกันการทำงาน หรือเงินประเภทอื่น จากนั้นเริ่มจ่ายเงินปันผล จ่ายค่าตอบแทน เมื่อธุรกิจมีผู้ร่วมลงทุน มีเม็ดเงินจำนวนมากในธุรกิจ เจ้าของธุรกิจก็มักปิดบริษัทแล้วนำเงินหายเข้ากลีบเมฆ

จะจริงหรือลวงเป็นสิ่งต้องพิจารณา เพราะการโฆษณาธุรกิจหรือสินค้าบน Social Media หรือ SEO (Search Engine Optimization) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ซึ่งโดยพื้นฐานของการขายอย่างแรกต้องมีสินค้าที่ดี ส่วนระบบการโฆษณานั้นทำโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถกำหนดประเภทสินค้า กำหนดกลุ่มเป้าหมาย อายุ เพศ พื้นที่ ฉะนั้นแล้ว  

อย่าหลงกลลวงของ LIKE  จนถูกดึงเข้าสู่ธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่ออนไลน์”

ผู้เขียน กระจอกชัย /  songwut23@gmail.com