โลกล้วนเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้คน การประกอบพิธีฌาปนกิจหรืองานศพก็เช่นกัน ช่วงหลายสิบปี มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นมีแบบแผนตามพิธีกรรม ในมุมของผู้เฝ้ามองงานฌาปนกิจตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร จนปัจจุบันทำธุรกิจหลังความตายมีอายุ 67 ปี ยังคงเห็นว่า บางสิ่งในงานฌาปนกิจถูกปรุงแต่งจนมีราคามากเกินฐานานุรูป

ลุงหน้อยจันทร์ จันธิมา อายุ 67 ปี ประกอบอาชีพทำปราสาทงานฌาปนกิจ โลงศพ เรือนทาน (เฮือนตาน) ซึ่งรู้จักในนามว่า “จันทิมาปราสาทศิลป์” บอกเล่าเรื่องราวอาชีพสร้างปราสาทงานฌาปนกิจว่า เดิมทีลุงหน้อยจันทร์ประกอบอาชีพเป็นสล่าช่างศิลป์วาดภาพปั้นปูนตามวัด แต่การประกอบอาชีพเป็นช่างศิลป์ตามวัดมีรายได้น้อยไม่มีกำไร จึงหันเหตนเองลองประกอบอาชีพสร้างปราสาท ต่อโลงศพ ทำเรือนทาน (เฮือนตาน) สำหรับงานฌาปนกิจ

พ.ศ.2528  “จันทิมาปราสาทศิลป์” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเพราะสามารถสร้างปราสาทได้งดงามสมเกียรติแก่ผู้วายชนม์ ราคาปราสาทราคาถูกเพียงหลังละ 800-1200  บาท หลายคนจึงให้ความสนใจ โดยในยุคแรกมีการใช้แผ่นโฟมเป็นวัสดุในการสร้างปราสาท ยุคต่อมาใช้กระดาษตอกเป็นลายไทยให้มีรูปลายงดงามชัดเจนคงทน ยุคต่อมาใช้งานพิมพ์สกรีนแต่งานขาดความเป็นศิลปะ ให้ความรู้สึกเหมือนงานอุตสาหกรรม จึงหันมาสร้างปราสาทโดยใช้กระดาษอันเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน

“จันธิมาปราสาทศิลป์” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของคนอีสาน ด้วยสมัยนั้นมีพระสงฆ์ พระราชปริยัติโสภณ ปัจจุบันมีตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ท่านเดินทางมาร่วมพิธีฌาปนกิจที่ภาคเหนือ ท่านมาเห็นก็รู้สึกชื่นชมว่าการประกอบพิธีมีความงดงามสมเกียรติแก่ผู้วายชนม์ จึงติดต่อให้นำปราสาทจากจังหวัดพะเยา มาจัดงานที่จังหวัดขอนแก่น “จันทิมาปราสาทศิลป์” จึงเป็นที่รู้จักของคนภาคอีสานมาจนถึงปัจจุบัน

“เดียวนี้คนรับจัดงานฌาปนกิจเยอะมาก มีอยู่เกือบทุกตำบล รูปแบบพิธีการ รูปแบบปราสาท เปลี่ยนแปลง หลายสิ่งหลายอย่างมีค่ามีราคามากเกินสมควร แต่ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นไปตามความต้องการของเจ้าภาพ ความจริงชีวิตไม่มีอะไรต้องปรุงแต่งเลย หลังความตายร่างกายของทุกคนอยู่ในเชิงตะกอน เผาเหมือนกัน อยู่บนเชิงตะกอนเหมือนกัน”

ลุงหน้อยจันทร์ เล่าต่อว่า พิธีฌาปนกิจเปลี่ยนแปลงตามสังคมวัฒนธรรม ยุคสมัยก่อนงานศพไม่มีปราสาท โรงศพ ดอกไม้ มีเพียงเสื่อผืนพันห่อศพมัดติดไม้ไผ่หามกันสี่คน ผู้คนที่นำหน้าก็จะใช้ไข่ดิบโยนขึ้นไปตามทาง หากไข่แตกบริเวณใดก็ให้ฝังศพไว้ตรงนั้น ลุงหน้อยจันทร์เล่าว่า เคยเห็นพิธีกรรมแบบนี้หลายครั้งเมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร.

ยุคต่อมามีการสานไม้ไผ่เป็นโครงแล้วนำกระดาษมาติดเป็นรูป มีการต่อโลงทรงสี่เหลี่ยมบรรจุศพ  ประดับประดาด้วยดอกไม้กลบกลิ่น ติดไฟกระพริบวิบวาวให้งดงาม เวลาเดินทางใช้ล้อเทียมเกวียนลากจูงปราสาทสู่สุสาน

ต้นทุนการจัดงานฌาปนกิจความจริงไม่มาก 15,000 – 20,000 บาท มีครบทั้งปราสาท เรือนทานโลงศพ ดอกไม้ประดับประดา บางคนมีฐานะดีอาจใช้งบประมาณถึง 30,000 บาท แต่สิ่งที่ทำให้งานฌาปนกิจใช้งบประมาณหลายแสนบาท เพราะเจ้าภาพผู้จัดงานต้องดูแลแขกเหรื่อผู้มาร่วมงาน ฉะนั้นแล้วการจัดงานฌาปนกิจควรเหมาะสมแก่ฐานานุรูป เกิดความสะดวกสบายกับแขกเหรื่อ ไม่เป็นภาระกับเจ้าภาพผู้จัดงานมากเกินสมควร

ติดต่อ ลุงหน้อยจันทร์ จันธิมา จันทิมาปราสาทศิลป์ 0810244222