“สายลมพัดผืนน้ำเป็นระลอกคลื่น สายลมใต้กระทบผิวกายให้รู้สึกสบาย แสงตะวันรอนกำลังจะลับขุนเขาสาดกระทบผืนน้ำระยิบระยับ ผู้เฒ่าพายเรือแหวกเป็นคลื่นดั่งรอยเส้นพู่กันสีน้ำ หัวเรือพายมุ่งหน้าสู่นัยดวงตาแห่งธรรม” สารคดีรางวัลเรื่องเล่าประทับใจ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เรื่อง ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)

“ติโลกอาราม” เป็นวิหารเก่าแก่สร้างขึ้น พ.ศ.2011- 2022 สมัยพระยายุทธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองพะเยา สมัยก่อนคนเมืองพะเยาอาศัยบนผืนดินบริเวณกว๊านพะเยา ปัจจุบันเป็นทะเลสาบแห่งใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ มีสายน้ำแม่อิงอันไหลรวมแม่น้ำสิบสองสายจากเทือกเขาผีปันน้ำ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงภัยแล้งคุกคาม กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งเมื่อ พ.ศ.2482 วัดติโลกอารามจมอยู่ใต้ผืนน้ำ พ.ศ.2550 คณะสำรวจ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถระ) ประธานฝ่ายสงฆ์ สำรวจโบราณสถานพบศิลาจารึกอักษรฝักขาม บริเวณวัดติโลกอาราม อันเป็นวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ พระนามของพระยายุทธิษฐิระ ผู้ก่อสร้างวัดติโลกอารามถูกกล่าวขานอีกครั้ง

​พระยายุทธิษฐิระ เดิมคือพระยาสองแคว ทำสัญญากับพระบรมไตรโลกนาถว่า หากพระบรมไตรโลกนาถได้ครองกรุงศรีอยุธยา จักให้พระยายุทธิษฐิระปกครองเมืองสุโขทัย ยามเติบใหญ่ช่วยทำการศึก พระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองอาณาจักรอยุธยาสมดังใจ กลับให้พระยายุทธิษฐิระครองตำแหน่งพระยาสองแควจนเป็นที่น้อยเนื้อต่ำใจ พระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองล้านนาเกลี้ยกล่อมพระยายุทธิษฐิระเป็นบุตรบุญธรรม แล้วนำกำลังพลทำศึกชิงเมืองพิจิตรจนได้ชัย สิ้นสงครามพระเจ้าติโลกราชให้พระยายุทธิษฐิระพักรบอยู่เมืองภูคา จากนั้นจึงให้ปกครองเมืองพะเยา

​เพื่อเถลิงเกียรติพระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองล้านนา พระยายุทธิษฐิระสร้างวัดติโลกอารามโดยผสมผสานศิลปะหลายแขนง ทั้งศิลปะสุโขทัย เชียงแสน ล้านนา สังเกตรูปจำลองเจดีย์ทรงประสาทยอดวัดติโลกอารามและพระพุทธรูปสลักหินทรายที่ค้นพบ บริเวณวัดติโลกอารามพระนามว่า “หลวงพ่อศิลา” มีลักษณะอันได้รับอิทธิพลจาก พระพุทธรูปสิงห์หนึ่งพุทธศิปล์เชียงแสน ผสมผสานกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ศิลปะสุโขทัย อักษรฝักขามบนศิลาจารึกทำให้รอยต่อทางประวัติศาสตร์จังหวัดพะเยา เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสุโขทัยและล้านนาอย่างเป็นเหตุเป็นผล พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถระ) ปราชญ์เมืองพะเยา ดำริให้มีการบูรณวัดติโลกอารามและสร้างวัฒนธรรมบนผืนน้ำกว๊านพะเยา

นับแต่โครงการกู้วัดติโลกอารามเริ่มดำเนินการ ประวัติศาสตร์เมืองพะเยาถูกเรียบเรียง วัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ถูกเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ หน่วยงานราชการและเอกชน มีบทบาทด้านการพัฒนา แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองพะเยา แนวคิดการสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว  (Branding) เมืองพะเยา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ช่วงวันหยุดเทศกาลสำคัญ ผู้คนแปลกถิ่นคึกคักบนถนนเลียบกว๊านพะเยา เรือพายลอยล่องแหวกกระแสน้ำสู่วัดติโลกอารามสักการะสถาน โครงการกู้วัดติโลกอารามหาใช่ความฝันอันเลื่อนลอย แต่เป็นความจริงแห่งสัจธรรมในดำริพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถระ) เมธีปราชญ์เมืองพะเยา ส่วนอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2554 วาดฝันคนพะเยาด้วยศิลปะอันเป็นปรมัตถ์โดยออกแบบประติมากรรมร่วมสมัย

วัดติโลกอารามมีคุณค่ามากกว่าการเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นต้นธารแห่งวัฒนธรรมใหม่ของเมืองพะเยา นั่นคือ “ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ” พื้นที่ว่างเปล่ากลายเป็นข่วงเมืองแสดงศิลปะหลายแขนง มิว่าจะเป็น จิตรกรรม นาฎกรรม ดนตรีกรรม ควบคู่กับประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนา โบราณสถานและพิธีกรรมทางศาสนา ผสมผสานแนวคิดด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมCorporate Social Responsibility (CSR) ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา วัดติโลกอารามสามารถน้อมนำวัยรุ่นหนุ่มสาวเดินทางสู่วิหารแห่งศรัทธา ​10 พฤษภาคม 2560 ครบรอบสิบปีโครงการกู้วัดติโลกอาราม วันวิสาขบูชาของทุกปีกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดติโลกอารามเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสืบสาน ตลอดทั้งวันผู้คนทั่วสารทิศเดินทางมายังวัดศรีโคมคำไหว้สาสักการะพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดพะเยา บนถนนเลียบกว๊านพะเยา-ศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา รถราควักไขว่ คลาคล่ำด้วยผู้คนเลือกซื้อสินค้าหลังสักการะ ยามบ่ายใกล้ย่ำเย็นผู้คนสวมชุดขาว เดินทางร่วมประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ ณ กว๊านพะเยา อันเลื่องลือว่าเป็นการเวียนเทียนกลางน้ำแห่งเดียวในโลก

แสงตะวันรอนกำลังจะลับหลังเทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาดำทะมึนเลื่อมสลับคดเคี้ยวเป็นรอยเส้นตัดบนท้องฟ้า ส่วนผืนน้ำกับเทือกเขามีเส้นตัดเป็นเส้นตรง ผืนผิวต้นน้ำสิบสองสายไหลรวมเป็นระลอกคลื่นระยิบระยับ แสงสุดท้ายของตะวันสาดกระทบลำเรือพายเป็นสีทองลอยล่องอยู่กลางผืนน้ำ ผู้คนลงเรือลอยลำเวียนเทียนรอบวัดติโลกอาราม ฝีพายผู้เชี่ยวชาญพาเรือลำลอยเวียนเทียนรอบวัด เมื่อพระสงฆ์สวดบทพุทธคุณชำระจิตใจ ติโลกอารามสว่างไสวด้วยแสงไฟ สายลมพัดเปลวเทียนส่องแสงวิบวับดั่งดวงแสงหิ่งห้อย กว๊านพะเยากลายเป็นมลฑลแห่งสังฆารามอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนน้อมจิตฟังเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์รอบริมกว๊าน หลังพิธีกรรมอันยาวนานดำเนินเสร็จสิ้น ฉันมองออกไปยังข่วงเมืองริมกว๊าน การแสดงบริเวณ “ข่วงเมือง” ลานวัฒนธรรมกำลังดำเนิน ประวัติศาสตร์เมืองพะเยาบทใหม่กำลังจะเริ่มต้น