ปฎิวัติ ดาวไธสง คือหนุ่มอิเล็กทรอนิคนักซ่อมคอมพิวเตอร์แห่งเมืองกรุงเทพ ประเทศไทย พ.ศ.2556 เขากลับบ้านและเริ่มทำการเกษตรบนทุ่งลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ประเทศไทย ทำการเกษตรในยุคเฟื่องฟูของสารเคมีและยาฆ่าแมลง เป็นยุคการตลาดที่เราจะมองเห็นพนักงานขายสินค้าเปิดอบรมให้ความรู้แก่เกษตกรเพื่อขายสินค้า ขายกล้าพันธุ์พืช ขายปุ๋ย ขายสารเคมีและยาฆ่าแมลง พวกเขาโฆษณาชวนเชื่อว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีพ่อค้ารับซื้อผลผลิตในราคาสูง สุดท้ายแล้วเกษตรกรก็ต้องผิดหวัง

มองกล้วยเป็นธุรกิจจึงจะเข้าใจการตลาด

ผมเรียนจบอิเล็กทรอนิค ทำธุรกิจร้านซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่กรุงเทพเป็นเวลา 15 ปี พ.ศ.2556 ผมเริ่มทำธุรกิจเหมืองทรายที่จังหวัดพะเยา ช่วงเย็นหลังเลิกงานผมศึกษาทำการเกษตร ผมเริ่มศึกษาการปลูกกล้วย ก่อนหน้านั้นมีคนส่งเสริมเกษตรกรปลูกกล้วย พวกเขาจัดอบรมให้ความรู้ ขายกล้าพันธุ์ ขายปุ๋ย ขายสารเคมี พร้อมกับให้สัญญาว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวพวกเขาจะรับซื้อผลผลิต แต่แล้วพวกเขาก็ผิดสัญญา เกษตรกรหลายคนได้รับความเสียหายเพราะขายผลผลิตไม่ได้ พวกเขาตัดสินใจตัดต้นกล้วยสายพันธุ์อื่นทิ้งแล้วหันมาปลูกกล้วยน้ำว้าเช่นเดียวกับผม   

ต้นกล้วยทุ่งลอมีเรื่องราวมากมาย เมื่อลองศึกษาเราจะมองเห็นการตลาด มองเห็นการแข่งขัน มองเห็นคู่แข่ง มองเห็นพ่อค้าคนกลางและนายทุน หลายคนมองข้ามตลาดกล้วย พวกเขามองกล้วยเป็นเรื่องเกษตรกรรม แต่สำหรับผมมองกล้วยเป็นธุรกิจ ผมค้นหาตลาดกล้วยน้ำว้าจนพบคนรับซื้อ ผมรับออร์เดอร์จากโรงงานอุตสาหกรรมโดยมีแนวคิดว่า ถ้ายังฝืนทำการเกษตรแบบเดิมเราจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถต่อยอดพัฒนาสินค้า ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้

ปลูกกล้วยน้ำว้าพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อทำการตลาด

ผมรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นวิสาหกิจชุมชน ผมไม่จูงใจเกษตรกรมากเกินไป ไม่สร้างความคาดหวังให้กับเกษตรกรมากเกินไป ผมไม่หลอกเกษตรกรว่าปลูกกล้วยพื้นที่ 1 ไร่ จะขายกล้วยได้เงิน 100,000 บาท ไม่สัญญากับเกษตรกรในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่สัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิตกล้วยน้ำว้าในราคาสูงเกินความจริงเพราะเกษตรกรหลายคนผิดหวังกับการปลูกกล้วยสายพันธุ์อื่นมาแล้ว เขาคงไม่อยากผิดหวังอีกครั้ง เกษตรกรปลี่ยนมาปลูกกล้วยน้ำว้าเพราะพวกเขามีพื้นฐานด้านการเกษตร พวกเขามีแปลงกล้วย มีระบบน้ำที่ดี มีดินที่ดีเหมาะสำหรับการปลูกกล้วย เมื่อรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชน “กล้วยเงินล้าน” กล้วยน้ำว้าจึงเติบโตเป็นธุรกิจอย่างรวดเร็ว   

ประโยชน์ของการกำหนดสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชนคือ เราสามารถต่อยอดความรู้ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การแสดงตัวตนทางธุรกิจ ตอนผมกลับจากกรุงเทพเพื่อเริ่มธุรกิจการเกษตร ผมขอเข้าพบเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ค้นหาตลาดสินค้าการเกษตร ผมไม่จำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่ตัดสินใจนำส่งผลผลิตจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ชีวิตของเราต้องวิ่งเต้นแสวงหาโอกาส แสวงหาความรู้ ผมไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตร ผมเดินทางไปศูนย์วิจัยการเกษตรปากช่อง เดินทางไปศึกษาอบรมจากสถาบันเทคโนโลยีล้านนาลำปางเพื่อแสวงหาความรู้

การตลาดการขาย หรือการหลอกลวงเกษตรกร ?

เมื่อทำธุรกิจด้านเกษตร อยู่ในวงการค้าขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นเวลานาน เราจะมองเห็นกลุ่มคนที่แสวงหาประโยชน์จากเกษตกรกร ขายกล้าพันธุ์ ขายปุ๋ย ขายสารเคมี หลอกลวงว่าจะจะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคาสูง ตัวอย่างเช่น ขายกล้าพันธุ์โกโก้ ขายกล้าพันธุ์กระท่อม ขายกล้าพันธุ์ต้นตะโก ขายกล้าพันธุ์ต้นฉำฉา ขายกล้าพันธุ์ต้นกฤษณา (ไม้หอม) เกษตรกรถูกหลอกลวงเพราะถูกจูงใจด้วยเงิน เชื่อใจว่าเมื่อได้ผลผลิตจะมีผู้รับซื้อในราคาสูง ตัวอย่างเช่น การขายกล้าพันธุ์กล้วยโดยรับประกันว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจะรับซื้อในกิโลกรัมละ 15 บาท เกษตรกรคำนวนยอดขายสินค้าเกษตรว่าจะได้รับเงิน 60,000 บาทต่อไร่ ก็แย่งกันซื้อกล้าพันธุ์

กลุ่มผู้ส่งเสริมทำการเกษตรมีหลายกลุ่ม คนบางกลุ่มหวังผลประโยชน์จากการส่งเสริม หวังผลประโยชน์จากเปอร์เซ็นส่วนแบ่งจากยอดขาย กล้าพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี เกษตรกรมีบทเรียนกับเรื่องนี้ พวกเราจึงรวมกลุ่มเน้นหาตลาดเพื่อกำหนดทิศทางการผลิต พวกเรากำหนดราคารับซื้อกล้วยน้ำว้าตามกลไกการตลาด รับซื้อกล้วยน้ำว้าในราคากิโลกรัมละ 3 – 12 บาท ผลผลิตร้อยละ 80 หรือประมาณ 40 ตัน ถูกนำส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เป็นผลผลิตตกเกรด ถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ “กล้วยเงินล้าน” มีหลายหน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริม เช่น เกษตรกอำเภอ เกษตรจังหวัด มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ราชมงคลวิทยาเขตล้านนาลำปาง มหาวิทยาลัเกษตร มหาวิทยาลัศิลปากร ทำให้วิสาหกิจสามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายต่อไปของเราคือการสร้างโรงงานขนาดเล็ก

ตรารับรองคุณภาพสินค้าแบบใดเหมาะสำหรับธุรกิจการเกษตร ?

วิสาหกิจชุมชนกล้วยเงินล้านกำหนดตนเองเป็นเกษตรปลอดภัย พวกเราได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) เป้าหมายของเราคือทำให้เกษตรกรรมกลายเป็นธุรกิจการเกษตร เราต้องการผลกำไรจากการเกษตร ผมอยากเป็นนักธุรกิจการเกษตร อยากมีผลกำไรจากสิ่งที่เราทำโดยมีพื้นฐานแห่งความพอดี ผมเข้ารับการอบรมและคบหากับกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ทดลองทำเกษตรอินทรีย์แต่ก็ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขการรับรอง ผมเคยขอใบรับรองจาก IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) โดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ แต่ก็พบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ผมได้รับข้อมูลจากสื่อมวลชนอยู่เสมอเรื่องสินค้าเกษตรอินทรีย์ พวกเราเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการสินค้าออร์แกนิคจำนวนมาก โดยความจริงแล้ว ข้อมูลดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

เกษตรอินทรีย์เป็นการทำการเกษตรที่เพิ่มต้นทุนการผลิต หากเราทำเกษตรอินทรีย์แต่ไม่สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เอง เราต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก สำหรับผมเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถตอบโจทย์การเพาะปลูกหรือทำการเกษตรพื้นที่ขนาดใหญ่ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เล็กมาก ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน มีผลกำไร ธุรกิจถึงจะขับเคลื่อน สำหรับผมตรารับรองมาตรฐาน GAP หรือเกษตรปลอดภัย สามารถตอบโจทย์คนทำการเกษตรได้ดีที่สุดในเวลานี้

สัมภาษณ์/ภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)