“ละครมะขามป้อม” คือกลุ่มนักสื่อสารที่ใช้ละครเป็นสื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงประชาธิปไตย กลุ่มละครมะขามป้อมก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2523 ที่กรุงเทพฯ ต่อมาขยายพื้นที่กิจกกรรมมาตั้งถิ่นฐานที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์โดยใช้ละครเร่ ฝึกนักเรียนมัธยมให้เป็นนักแสดง ผ่านเวลากว่าสิบปี เด็กนักแสดงกลุ่มละครมะขามป้อมเติบโต “ธนุพล ยินดี” คือหนึ่งในผลแห่งการละครของกลุ่มละครมะขามป้อม แม้มิใช่ตัวละครหลักในเรื่องราวการแสดงบนเวที แต่ชีวิตจริงเขายังคงโลดเล่นในโรงละครแห่งความจริง

ลูกละครมะขามป้อมเชียงดาว

พ่อกับแม่ของผมเป็นครูสอนศาสนาคริสต์ (Missionary) ผมต้องเดินทางติดตามพ่อแม่ไปโบสถ์คริสต์ตามจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น ลำปาง เชียงใหม่ ย้ายโรงเรียนตามพ่อแม่ สุดท้ายเรียนที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นผมทำกิจกรรมชมรมโดยคุณครูที่ปรึกษาชมรมแนะนำให้ผมกับเพื่อนๆ ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มละครมะขามป้อมซึ่งขยายพื้นที่มาทำงานกิจกรรมในอำเภอเชียงดาว

ผมไม่รู้หรอกว่า “ละคร” คืออะไร ทราบเพียงว่าละครคือการแสดง ผมเคยมองเห็นคนเล่นละคร ดูละครเรื่องแรกในชีวิตเมื่อตอนเด็ก จำความได้ว่าตอนนั้นฝนตก ฟ้าร้อง ไฟดับ ครอบครัวของเราจุดเทียนส่องสว่าง พ่อกับแม่เริ่มเล่นละครเงา ทำมือเป็นรูปกระต่าย หมา เล่นละครแบบ Improvise หรือการเล่นละครแบบไม่มีการตระเตรียมการ เป็นละครที่สนุกมาก ต่อมาตัวละครตัวเดียวกันคือพ่อกับแม่ก็แสดงบทบาททะเลาะกันรุนแรง ฉากการแสดงเหมือนจริงจนผมวิ่งไปกอดแม่อย่างไม่รู้ตัว แต่ผู้จัดก็นำตัวผมออกมาแล้วบอกกับผมว่า มันคือละครฉากหนึ่ง  

เมื่อเติบโตขึ้น ความเข้าใจในละครของผมก็คือละครโทรทัศน์ ความคิดของผมเปลี่ยนเมื่อทำงานละครกับกลุ่มละครมะขามป้อม นั่นทำให้ผมเข้าใจว่า รูปแบบละครมีหลากหลาย ละครคือการเปิดโลกทัศน์ เป็นการแสดงข้อมูลและเนื้อหาบางอย่างที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง เช่น เรื่องราวของการข่มขืน ,เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม เนื้อหาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน หรือเนื้อหาที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนเพราะมีข้อจำกัดการเล่าเรื่อง ถูกเปิดเผยในการแสดงละคร สำหรับผมละครคือการกระเทาะความคิด ละครเขย่าหัวใจ ทำให้เราอยากเล่นละคร

“ละครมะขามป้อม” ทำให้ผมมองเห็นหัวใจตนเอง ก่อให้เกิดการรวมตัวของคนอยากทำละคร ผมเล่นละครเรื่องแรกกับละครมะขามป้อมตอนเรียนชั้นมัธยมชื่อเรื่อง “ยักษ์ลักเสียง” เป็นเรื่องราวในประเด็นสิทธิเด็ก เป็นบทละครสำหรับเด็ก ถูกนำเสนอในรูปแบบละครเร่ จัดแสดงตามศาลากลางหมู่บ้าน ตามวัด ผมเล่นละครเร่ในอำเภอเชียงดาว 30 รอบ นับเป็นละครเรื่องแรกที่ท่าท้าทายความสามารถของพวกเรา มันสนุกและรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง พวกเราพัฒนาทุกครั้งที่มีการจัดการแสดง

เรียนรู้ชีวิตจากการเล่นละครเร่

การแสดงทุกครั้งเราต้องหาจุดร่วมของความรู้สึก เราต้องโฟกัสเรื่องราว อยู่กับปัจจุบันและพร้อมจะปรับเปลี่ยนการแสดงตามเรื่องราว ละครเร่เป็นการเล่นนอกสถานที่ อาจมีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่น ฝนตก หมาเห่า เด็กร้องไห้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเล่นละครไม่จำเป็นที่นักแสดงต้องเป็นศิลปิน แต่ในชีวิตหนึ่งเราควรเล่นละครสักหนึ่งเรื่อง เพราะการเล่นละครเป็นการสร้างนักสื่อสารที่ดี องค์ประกอบการเล่นละครอย่างแรกคือต้องมีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ขณะเล่นละครเราต้องฟัง ใช้สมองคิดและตอบโต้

การเล่นละครนอกจากแสดง เราต้องเรียนรู้ตัวละครว่าเขาเติบโตมาอย่างไร ต้องรู้จักตัวตนของนักแสดงที่สวมบทบาท นั่นทำให้เราเข้าใจคนอื่นอย่างเท่าเทียม เราจะเข้าใจพระเอก นางร้าย หรือผู้ร้ายในละครอย่างที่เขาเป็น เราจะเข้าใจตัวตน สังคม บริบทแวดล้อม มองเห็นโครงสร้างของความรู้และสังคมที่เชื่อมโยงกัน

ละครก่อให้เกิดทักษะการทำงานร่วมกัน ธรรมชาติของคนทำละครต้องทำงานมากกว่าสองคน อาจเกิดความขัดแย้งซึ่งเราต้องหาจุดร่วม จุดต่าง ข้อดี ข้อเสีย ทำให้เราทำงานกับคนอื่น ละครเป็นเหมือนการซ้อมเล่นบทชีวิต เป็นการทำให้คนเป็นคนมีคุณภาพ บางครั้งชีวิตคนเราอาจไม่ต้องมีความสุขสมหวังทุกประการ บางฉากบางตอนอาจทำให้คนทำละครเกลียดกันจนวันตาย แต่นั่นก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า แม้จะเกลียดกันแค่ไหน ก็ไม่ถึงกับต้องฆ่ากัน

สำหรับผม การเล่นละครคือการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เช่นยักษ์ลักเศียร เป็นการสื่อสารที่สนุกหลายคนอยากดู ทำให้นักแสดงต้องฝึกฝนเพื่อก่อให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ตอนเล่นละครชั้นมัธยม เราเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างตรงๆ เด็กต่างประเทศเขาพูดกันตรงๆ ส่วนเด็กไทยจะเก็บคำพูดเก็บความรู้สึก เมื่อฝึกเล่นละครจะทำให้เราพูดบางอย่างออกมาตรงๆ นั่นทำให้เรามีพื้นฐานทางสังคม รู้จักตนเอง รู้จักสังคม เรียนรู้ความแตกต่าง ที่อำเภอเชียงดาวเป็นสังคมชาติพันธุ์ มีพหุวัฒนธรรม หลายครั้งมีปัญหาเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ นั่นเป็นประเด็นปัญหาแรกที่เราได้เรียนรู้จากการเล่นละคร

ละครคือสื่อสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งของสังคม

ตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผมเล่นละครกับกลุ่มละครมะขามป้อมอีกครั้งในโครงการ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ช่วง พ.ศ. 2551-2553 กระบวนการทำงานเหมือนเดิม เหมือนโปรเจ็กละครยักษ์ลักเสียงแต่มีคนจำนวนมากร่วมกันทำ มีมิติการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้น ผมเรียนรู้เรื่องระบบการทำงาน ระบบการบริหารงบประมาณ เพราะไม่ว่าเราจะเล่นละครได้เก่งแค่ไหนแต่หากการบริหารจัดการล้มเหลว โปรเจ็กซ์การละครนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ผมไม่ต้องการเป็นคนมีชื่อเสียง แต่อยากเล่นละครอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนเห็นว่าเราเอาจริง แต่บางเวลาเราก็ต้องถอยออกมาทำงานกับคนอื่น สื่อสารในประเด็นอื่น ตัวอย่างเช่น การทำงานในเทศกาลละครกรุงเทพฯ ทำให้มองเห็นประเด็นละครของเมืองหลวง ตัวละครมีปมปัญหาชีวิตที่ไม่สัมพันธ์กับชุมชน มีความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาการกระจุกตัวของชุมชน

ผมมีความชัดเจนในตนเอง มีศรัทธาในการแสดง ผมเลือกเป็นนักแสดงมืออาชีพ มันไม่ใช่เรื่องสนุกแต่เป็นการพัฒนาที่เป็นระบบ อยู่ในโครงสร้างละครที่สามารถสร้างเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยมีการแสดงละครหลากหลาย หนึ่งปีจะมีเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ (BIPAM) หรือ Bangkok International Performing Art Meeting พ.ศ. 2563 ผมจัดเทศกาลละครเชียงใหม่ เราทำงานกับศิลปินนักแสดงรุ่นใหญ่ นับเป็นครั้งแรกของการทำงานซึ่งเป็นการอำนวยพื้นที่ให้คนทำละครมาเจอกัน พวกเราต้องการสร้างชุมชนละครในเชียงใหม่ เรามีความผูกพันกับพื้นที่และประเด็นเรื่องราวในเชียงใหม่ เราอยากทำงานกับองค์กรอื่น เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยากเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว อยากเป็นห้องเรียนของเด็กๆ ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่มีโอกาสเจอสิ่งที่เราฝันและเชื่อมั่นมาตั้งแต่วัยเด็ก

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)