“ชีวิต” เป็นมากกว่าร่างกายและจิตใจ บางคนบอก หากอยากเห็นปอดของตนเองให้มองดูอากาศบนท้องฟ้า อยากเห็นลำไส้ให้ดูอาหารที่เรากำลังกิน อยากเห็นสุขภาพจิตใจให้มองสุขภาพร่างกาย นายแพทย์ลัทธพล เกิดสุข นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลจุน จังหวัดพะเยา คนเมืองพะเยาผู้ชมชอบถ่ายภาพจนวันหนึ่งมองเห็นบริบทสังคมว่า คนพะเยาเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น คาดหวังกับยารักษาซึมเศร้าชนิดใหม่ที่เรียกว่า “กัญชา” ข้อเท็จจริงพบว่า กัญชาทำให้ซึมเศร้ามากขึ้น 2.9 เท่า

การฆ่าตัวตายของคนอำเภอจุนเพิ่มขึ้น

ความป่วยไข้ในแต่ละพื้นที่สำหรับหมอไม่มีความแตกต่าง คนพะเยายังป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง แตกต่างกันบ้าง ในจำนวนของผู้ป่วยแต่ละโรคภัย อย่างเช่น อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โรคภัยซึ่งน่าเป็นห่วง นับวันจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นคือ “โรคซึมเศร้า” สาเหตุมาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาความเครียด การติดยาเสพติด พิษสุราเรื้อรัง

อำเภอจุน ประชากรประมาณ 50,000 คน จำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 20 คน  พื้นที่อื่นก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเพราะเราไม่ได้สังเกตสัญญาณของโรคซึมเศร้าในคนใกล้ชิด เช่น คนที่เคยมีนิสัยกระฉับกระเฉงกลายเป็นคนเชื่องช้า มีอาการเครียด ท้อแท้ นอนไม่หลับ บ่นอยากฆ่าตัวตาย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบอกเหตุ

จากบริบททางสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลง โรคซึมเศร้าส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยสูงอายุ คนไข้หลายคนลูกหลานไม่ดูแล ลูกหลานทำงานต่างจังหวัดปล่อยให้คนแก่อยู่เพียงลำพัง คนไข้โรคซึมเศร้าบางคนมีโรคประจำตัวทางกาย เมื่อร่างกายป่วยก็ก่อให้เกิดอาการป่วยทางจิตใจ หรือบางคนจิตใจป่วยก็ก่อให้เกิดอาการป่วยทางร่างกาย

ประการสำคัญเป็นเรื่องทัศนคติ หลายคนมองว่าการเข้าพบจิตแพทย์เป็นเรื่องของคนบ้า คนมีอาการทางประสาท ในต่างประเทศการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ โรงพยาบาลมีระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือความเครียดต่างๆ

ความหวังของคนซึมเศร้า

เรื่องกัญชา หมอขอให้ความเห็นในประเด็นทางการแพทย์ เพราะเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กัญชาไม่ได้รักษาทุกโรค ไม่ได้รักษาซึมเศร้า แต่ทำให้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น กัญชามีสารประกอบอยู่หลายชนิด ชนิดสำคัญมีอยู่สองตัว คือ THC หรือ Tetarhydrocannabinol มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทก่อให้เกิดอาการมึนเมา ใช้เพื่อเสพสันทนาการและความรื่นรมย์ สารอีกตัวหนึ่งคือ CBD หรือ Cannabidiol ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทใช้เพื่อรักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วย

ในทัศนของหมอเห็นว่า การเปิดเสรีกัญชาถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวัง กัญชามีหลายสายพันธุ์ ต่างประเทศมีกัญชาสายพันธุ์ที่มีสาร CBD ใช้ในการรักษาโรคในปริมาณมาก มีสาร มี THC น้อย ส่วนกัญชาสายพันธุ์ไทยมี THC ปริมาณมากเหมาะสำหรับการเสพมากกว่าการรักษา มองลึกลงในรายละเอียดการใช้กัญชาสำหรับการรักษา ปัจจุบัน สาร CBD ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้เป็นยาเสริมรักษาโรคลมชัก โรคคลื่นไส้อาเจียนเนื่องจากเคมีบำบัด อาการปวดประสารทต่างๆ ในคนไข้ที่ใช้ยาประเภทอื่นแล้วไม่ได้ผล

ประเทศไทยศึกษากัญชายังไม่มากพอ แต่เมื่อกฎหมายผ่านสภาแล้ว ย่อมมีประโยชน์มากในแง่มุมของการวิจัยเพื่อใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่อย่าลืมว่า ทุกอย่างเป็นเหมือนดาบสองคม ตัวยาจากกัญชาที่ใช้ในการรักษาอาจมีผลข้างเคียงกับคนไข้ ทำให้คนไข้ใจสั่นหรือเวียนศีรษะ โดยส่วนตัวหมอไม่ต่อต้านการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค แต่การใช้กัญชาควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ปัจจุบันสารเสพติดประเภทมอร์ฟีนก็ยังมีการใช้เป็นยาแก้ปวด หากมองเรื่องการรักษาคนไข้โรคซึมเศร้า หมอคิดว่า สังคมคนรอบข้างควรเข้าไปดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่บ้านเรามีบริบทสังคมอันเข้มแข็ง มี อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเขามีทีมงานดูแลผู้ป่วยและเยี่ยมบ้าน

ชีวิตที่มากกว่าจิตใจร่างกาย

พื้นฐานชีวิตมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หมอแนะนำว่าเราไม่ควรใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังบนโลก เวลามีปัญหาควรหาปรึกษาเพื่อน คู่ชีวิต หรือมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล “ศูนย์สุขใจ” เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาหลายเรื่อง ทั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ยาเสพติด และติดเชื้อ HIV

สุขภาพร่างกายและจิตใจสำคัญมาก การใช้ชีวิตเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพ ร่างกายอ่อนแอส่งผลต่อสุขภาพจิตใจอันเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า สุขภาพจิตใจย่ำแย่ส่งผลต่อความป่วยไข้ทางร่างกาย การใช้ชีวิตนอกจากร่างกายควรดูสิ่งแวดล้อมภายนอก การอยู่ เช่น ห้วงเวลาฤดูฝนมียุงลายจำนวนมากเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก การกิน เช่น เลือกกินอาหารมีประโยชน์ ไม่กินลาบหมูดิบมีเชื้อหูดับ กินปลาดิบอันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดี

ส่วนหมอยังเล่นดนตรี ท่องเที่ยวเพื่อถ่ายภาพเดือนละครั้ง หมอไม่อยากให้ชีวิตจมอยู่กับงานอันก่อให้เกิดความเครียด การถ่ายภาพบางครั้งอาจดูแตกต่างกับการรักษาโรคคนละขั้ว แต่เมื่อพิจารณาจะพบความเหมือนในแง่ของการใช้ศิลปะ หลายคนคิดว่าการรักษาโรคเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์แต่ความจริงแล้วต้องใช้ศิลปะด้วย