นักโภชนาการส่วนใหญ่ส่งเสริมการบริโภคอาหารอย่างสมดุล อย่าน้อยหรือมากเกินไป ตัวอย่างที่ยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงกันอยู่บ่อยคือเรื่องของโปรตีนกับกระดูก เดิมเคยเชื่อกันว่าการบริโภคอาหารโปรตีนสูง อาจเร่งการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก กลายเป็นว่าใครที่บริโภคโปรตีนสูงจนเกินไปอาจมีปัญหากระดูกพรุนหรือกระดูกโปร่งบาง ทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ นักโภชนาการจึงบันยะบันยังไม่แนะนำให้เสริมโปรตีนมากขึ้น เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกระดูก ได้ไม่คุ้มเสียว่ากันอย่างนั้น

เหตุที่เชื่อกันว่าการบริโภคโปรตีนสูงทำให้เกิดการเร่งการสลายแคลเซียมจากกระดูก เนื่องจากพบว่าคนที่บริโภคอาหารโปรตีนสูง ในปัสสาวะมีแคลเซียมเพิ่มขึ้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาหารที่มีโปรตีนสูงจะเพิ่มการสลายของแคลเซียมจากกระดูกส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เหตุที่เชื่อกันอย่างนั้นเนื่องจากอาหารโปรตีนสูงมีผลทำให้สภาพกรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงไปโดยเลือดมีความเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายจึงชดเชยด้วยการสลายแคลเซียมเพื่อสร้างแคลเซียมคาร์บอเนตเพิ่มสภาพด่างในเลือด เชื่อกันมานานอย่างนั้น

อันที่จริงข้อถกเถียงนี้น่าจะหมดไปได้ตั้งแต่ยี่สิบปีที่แล้ว เนื่องจากมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต ตีพิมพ์ในวารสาร International Congress Series ค.ศ.2007 โดยเจาะลึกลงไปในเมแทบอลิซึมของแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมจากอาหารกับแคลเซียมที่สลายออกมาจากกระดูก โดยใช้แคลเซียมไอโซโทปที่ให้ไปพร้อมอาหาร สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือไม่มีการสูญเสียแคลเซียมสุทธิจากกระดูกระหว่างการให้อาหารที่มีโปรตีนสูง สิ่งสำคัญคือระหว่างการให้อาหารที่มีโปรตีนสูง สัดส่วนของแคลเซียมในปัสสาวะที่มาจากกระดูกลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจากการลดอัตราการหมุนเวียนของแคลเซียมในกระดูก หมายความว่าอาหารที่มีโปรตีนสูงช่วยเพิ่มการกักเก็บแคลเซียม อาหารที่มีโปรตีนสูงจึงส่งผลดีต่อโครงกระดูก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกิดการเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ กลายเป็นอย่างนั้น

มีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าในการเสริมโปรตีนในอาหารควรระวังการได้รับอาหารแคลเซียมต่ำด้วย เนื่องจากโปรตีนที่เข้าไปช่วยสร้างกล้ามเนื้อจะไม่ได้ประโยชน์อะไรหากกระดูกขาดแคลเซียมจากอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ โดยสรุปคือเสริมโปรตีนได้ โดยแนะนำให้ร่างกายได้รับโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน แต่ไม่แนะนำให้เสริมโปรตีนให้มากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่เก็บโปรตีน หากบริโภคมากไปร่างกายย่อมขับโปรตีนออกมากับปัสสาวะในรูปยูเรีย เสียดายเงินเปล่าๆ ขณะเดียวกันต้องคอยดูแลปริมาณแคลเซียมในอาหารด้วยอย่าให้ขาด กลับไปที่เรื่องโภชนาการสมดุลเข้าจนได้