อุเทน มหามิตร ศิลปินนักเขียนผู้ได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2563 เรียนศิลปะจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำงานแผนกศิลปกรรมมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เขียนภาพสีน้ำ ทำภาพประกอบสื่อ เขียนหนังสืออย่างจริงจัง ณ อาศรมวงศ์สนิท ใช้ชีวิตในชุมชนทวนกระแส จังหวัดนครนายก เขาเขียนหนังสือควบคู่กับการวาดภาพนามธรรม (Abstract) หนังสือที่เขาทำด้วยมือ หนังสือที่เข้าเล่มโดยอุเทน มหามิตร จึงมีความหมายมากกว่าเรื่องราวที่เขานำเสนอเป็นตัวอักษร แต่หมายถึงการใช้เทคนิคทางศิลปะเพื่อสื่อถึงเรื่องราวบางอย่าง เช่น การใช้สัญลักษณ์ (Symbolic) ที่จับต้องได้ภายในเรื่องราวและแสดงสัญลักษณ์ผ่านภาพประกอบหนังสือ หรือ การจัดวางตำแหน่งตัวละครไว้ในเรื่องราวโดยใช้เทคนิคการวางองค์ประกอบศิลป์ การใช้สัญญะ (Sign) ใช้สัญลักษณ์ (Symbol) จึงมักถูกค้นพบในผลงานของเขา

นักเรียนวิทยาศาสตร์สู่นักศึกษาศิลปะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมเติบโตในครอบครัวขนาดเล็ก เป็นลูกชายคนเดียว มีแรงกดดันเพราะความคาดหวังจากครอบครัว พวกเขาอยากให้ผมประกอบอาชีพรับราชการแต่ผมเป็นเด็กดื้อ ดื้อพอที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง เมื่อนึกย้อนกลับไปในอดีตในวัยเรียน ผมไม่ใช่เด็กเรียนดี แต่สอบติดโควต้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะการสอบคะแนนทักษะวาดเขียนนั้นสูง ผมเลือกคณะคณะวิจิตรศิลป์ อาจเป็นโชคชะตาเพราะผมไม่เคยเรียนวาดรูป ไม่ได้เรียนพิเศษวาดรูปเพื่อเข้าเรียนคณะวิจิตรศิลป์ แต่ผมเป็นเด็กที่ชอบวาดรูป วันสอบโควต้าเป็นการสอบวาดภาพ “เครื่องจักสาน” ผมวาดภาพไม่เสร็จ รูปภาพของผมมีพื้นที่ว่างเหลืออีก 20 เปอร์เซ็น แต่ผมทำงานละเอียด งานค่อนข้างเนี้ยบ

หลังสอบเสร็จ ผมคิดว่า ผมคงสอบไม่ติดเพราะวาดภาพยังไม่เสร็จ กระทั่งสอบสัมภาษณ์ผมก็สอบถามอาจารย์ว่า ทำไมผมถึงสอบเรียนคณะวิจิตรศิลป์ได้ ท่านบอกว่า ผมมีแววด้านศิลปะ มีความตั้งใจและสามารถเขียนภาพลงรายละเอียดได้ดี เมื่อผมสอบติด ตอนเรียนวาดภาพ วาดหุ่นนิ่ง วาดภาพนู้ด ภาพวิวทิวทัศน์ Landscape หลายครั้ง ผมวาดภาพไม่เสร็จ แต่อาจารย์ผู้สอนท่านก็ไม่ซีเรียสเพราะการทำงานศิลปะของแต่คนไม่เหมือนกัน บางคนทำงานศิลปะ 3 วัน บางคนใช้เวลาทำงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แต่วัสดุที่เราใช้เป็นแบบวาดรูปอย่างผลไม้และดอกไม้ ผ่านไป 4-5 วันก็แห้งเหี่ยว เริ่มเน่าเสียในตอนย่อยสลาย

เพื่อนหลายคนเรียนจบอาชีวะศึกษา บางคนจบช่างศิลป์ ผมเรียนจบโรงเรียนมัธยม ทักษะการทำงานด้านศิลปะหรือ Skills ผมตามเพื่อร่วมชั้น กระทั่งเรียนถึงปี 4 ทักษะการทำงานศิลปะของผมเริ่มสูงขึ้น มีข้อได้เปรียบเรื่องความสดใหม่ ความคิดใหม่ เมื่อเรามีทักษะ ความคิดใหม่ก็ถูกนำมาใช้ในงาน คะแนนส่งงานจึงปรับเพิ่มขึ้น เพราะตัวงานและ concept แข็งแรงและลงตัวขึ้น เพราะเราพยายามปรับตัว การคบเพื่อน เพิ่มทักษะการทำงาน พูดคุยกับอาจารย์ผู้สอน ผมใช้เวลามากเลยในการปรับตัว

เดินทางตามสัญญาณชีวิตหรือหมุดหมาย

หลังเรียนจบ ผมเดินทางไปอินเดียเพื่อสมัครเรียนที่ศานตินิเกตัน (Santiniketan) เพราะได้รับแรงบันดาลใจจาก รพินทรนาถ ฐากูร กวีนิพนธ์ชาวอินเดีย ผมสอบไม่ติดจึงใช้ชีวิตที่จังหวัดพะเยา พ่อฝากผมกับคนรู้จักให้ทำงานที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ผมทำงานแผนกศิลปกรรม ทำโครงการเก็บภาพแหล่งน้ำ วาดสีน้ำทำภาพประกอบสื่อ ผมเดินทางดูเส้นทางสายน้ำที่ไหลรวมกันเป็นกว้านพะเยา รวบรวมผลงานศิลปะแสดงนิทรรศการที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ จังหวัดพะเยา ต่อมาผมพำนักที่อาศรมวงศ์สนิท ใช้ชีวิตในชุมชนทวนกระแส จังหวัดนครนายก อยู่แบบพึ่งพาตนเอง ทำงานกึ่งอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือนแน่นอน มีเงินยังชีพ เราทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน มีนักคิด นักเขียน จิตรกร เปิดมุมมองหลายอย่าง ผมเขียนภาพสีน้ำ ภาพทิวทัศน์ ทะเลหมอก เก็บภาพดอกไม้ใบหญ้าในอาศรม เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง หนังสือหลายเล่มในห้องสมุดของอาศรมทำให้ความคิดผมตกตะกอน ผมวาดภาพน้อยลงแต่ลงมือเขียนหนังสือมากขึ้น

ต่อมา ผมพำนักที่อุโมงค์ศิลปธรรม มูลนิธิที่นา (The Land ) ผู้ดูแลคืออาจารย์ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ผมทำงานเป็นศิลปินประจำแกลเลอรี่ (artist licensing) มีโอกาสทำโปรเจ็กซ์ One year ซึ่งเปิดรับสมัครศิลปินที่สนใจแนวคิดว วิถี ปรัชญาธรรมชาติ เช่น การศึกษาดูงานลุงฉลวย แก้วคง ทำพุทธเกษตร จังหวัดนครสวรรค์ ศึกษาดูงานที่วัดป่าสุคะโต ใช้ชีวิตอยู่วัด กลับมาปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ทำงานศิลปะ หลังจากนั้นเดินทางไปประเทศนอร์เวย์เพื่อสร้างบ้านไทยในโครงการศิลปะซึ่งนอร์เวย์เป็นผู้จัดขึ้น กลุ่มศิลปินไทยสร้างปฏิมากรรมเป็นบ้านเรือนไทย  บ้านเมืองน่าอยู่ทั้ง สภาพอากาศ ภูมิทัศน์ พระอาทิตย์เที่ยงคืน

ผมอยู่ในปรัชญาพุทธแต่ไม่ได้ซึมซับมากมายขนาดนั้น การศึกษาพุทธปรัชญาก็เหมือนการอ่านงานเขียนของ นักคิด นักเขียน หรือกวีนิพนธ์ที่เราชอบ เราศึกษางานของเขามากกว่าเปิดหนังสือปรัชญาศาสนาพุทธเพื่อศึกษา ผมศึกษาวิธีการเขียน จังหวะการเขียน Elements ในงานเขียน ผมเดินทางในสายวรรณกรรมมากกว่าพุทธปรัชญา

หลังกลับจากประเทศนอร์เวย์ คุณพ่อรับผมจากอุโมงค์ศิลปธรรม ซื้อรองเท้า เสื้อผ้า ตัดผม สมัครสอบสัมภาษณ์แล้วเขาก็รับผมทำงาน ผมทำหน้าที่เป็นครูสอนศิลปะเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่เชียงรายเป็นเวลา 3 ปี การทำงานกับเด็กเป็นพลังบวก เป็นพลังอีกแบบ พลังของความเป็นเด็ก ป่วน แต่คาเร็กเตอร์ส่วนตัว เมื่อผมทำงานกับเด็กจะเกิดเสียงก้องอยู่ในหัว เมื่อทำงานสัก 2-3 วันก็จะหายไป เสียงของโรงเรียน เสียงเด็ก เสียงวิ่งเล่น ตอนแรกคิดว่า เป็นปัญหาหรือเปล่า แต่เราก็คิดว่าไม่ได้เป็นปัยหาแบบปม เพียงแค่เราต้องพักหรือปรับตัว ผมทำงานในแกลเลอรี่ที่จังหวัดเชียงราย พำนักอยู่กับศิลปินอังกฤษ อัจฉริยโสภณ สถานที่เป็นห้องแถว  2 ชั้น ชั้นบนเป็นแกลเลอรี่ ชั้นล่างเป็นร้านเกาเหลาเลือดหมูชื่อ “สหรส”

ศิลปินผู้ทำงานศิลปะและต่อต้านศิลปะ

ตอนนั้น พวกเราพยายามเฟ้นหาและนำเสนอศิลปินรุ่นใหม่ ยิ่งมีชื่อเสียงเราก็ยิ่งอยากนำผลงานของเขามาแสดง ผมทำงานกับอังกฤษแกลเลอรี่เพราะการทำงานถูกกับจริตของเรา ทำงานแนวทางเดียวกัน ช่วงเวลาว่าง ผมทำงานเป็นครูสอนศิลปะโรงเรียนวิศานุสรณ์ กระทั่งอังกฤษแกลเลอรี่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ส่วนผมเป็นศิลปินประจำแกลเลอรี่อยู่ที่พัทยา ที่นั่นมีทุน มีค่าครองชีพ มีที่พัก มีสตูดิโอ การทำงานเป็นไปตามข้อตกลง แต่ผมไม่มีโอกาสได้แสดงผลงานศิลปะซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนเราสร้างภาพยนต์มาเรื่องหนึ่งแต่่ไม่มีโรงฉายภาพยนตร์ ภายหลังกลับมาอยู่บ้าน ผมทำงานเป็นศิลปินอิสระ

เวลาเขียนหนังสือ ผมพยายามเขียนไม่ซ้ำรอยกับผลงานที่เคยทำ แต่บางครั้ง เมื่อกลับมาอ่านงานของตนเอง เราก็จะรู้สึก มึน คำถามจะผุดขึ้นในสมอง เรากำลังเขียนอะไร? ทำไมเขียนแบบนี้? บางครั้งหงุดหงิด ทำไมเราต้องใช้เทคนิคเหมือนการเล่นกายกรรม เรามีเชื้อการทำงานศิลปะ แต่ในทางตรงข้าม เราก็ต่อต้านศิลปะ หมือนกับการตั้งคำถามกับงานที่เรากำลังทำอยู่ เช่น ทำไมเราต้องออกแบบของใช้เป็นรูปทรงแบบนี้ เริ่มตั้งคำถาม ต่อต้าน สงสัย อยากจะฉีกออกมาจากกรอบ เชื้อการต่อต้านศิลปะ (Anty Art) ไม่ใช่การขบถ แต่เป็นการตั้งคำถาม เราอยากให้งานพัฒนา แต่เมื่อดูลำดับงาน ผลงานลำดับที่ 2 ดีกว่าลำดับที่ 5 แต่เราก็ถือว่าเป็นขั้นตอนการพัฒนา เมื่ออายุมากขึ้นก็ทำให้เข้าใจว่า ไม่ต้องไปตัดสินงานเดิมๆ ผมทำงานเขียนหนังสือมากกว่างานวาดภาพ เราต้องพิสูจน์ตนเอง รางวัลศิลปาธรเป็นเครื่องยืนยัน เป็นข้อพิสูจน์ เป็นเครื่องการันตีความเป็นศิลปิน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะมีความมั่นคงตลอดชีวิต รางวัลเพียงบอกว่า พวกเขาเห็นเรา รู้คุณค่าสิ่งที่เราทำคืออะไร เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ

หลายปีมานี้ผมเขียนงานนามธรรม (Abstract) ส่วนงานเขียนหนังสือการเล่าเรื่องซับซ้อนขึ้นแต่อ่านง่ายขึ้น เล่มล่าสุดเป็นเรื่อง “โต๊ะทำงาน” มีความหมกมุ่นบางอย่าง ใช้สัญลักษณ์ (Symbolic) ที่จับต้องได้ มีโต๊ะทำงาน มีแสง มีเงา โต๊ะทำงานของเราอาจนั่งเขียนบนหิน หรือมีแมวนั่งบนโต๊ะทำงาน  เหมือนจับต้องได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเชิงเหนือจริง (Surrealism) การใช้ศิลปะในงานวรรณกรรม การใช้สัญลักษณ์ในงานวรรณกรรม การจัดวางองค์ประกอบตัวละคร เราไม่ได้วางองค์ประกอบตัวละครหลักไว้ตรงกลางของเฟรมเพื่อสื่อถึงบางอย่าง งานเขียนสัญลักษณ์ อย่างหนังสือเรื่อง “แมวดำ”  เป็นการเล่าเรื่องโดยเล่นกับสัญลักษณ์เดิม แต่เล่นกับมันได้มากขึ้น ช่วงวัยรุ่น ผมรู้สึกต่อต้านหลายสิ่งหลายอย่าง เวลาอ่านหนังสือ เห็นว่าเขาเขียนหนังสือดี ชอบเรื่องนี้มาก แต่เราก็รู้สึกว่า เราจะไม่เขียนแบบนี้ เพราะมีคนเขียนได้ดีอยู่ เราไม่เขียนแข่งกับเขา เราต้องค้นหาแบบฉบับของเรา ช่วงวัยรุ่นผมมีความรู้สึกต่อต้านหลายอย่าง การอ่านเป็นการบอกตนเองว่า เราจะไม่เขียนซ้ำเหมือนเขา อ่านเพื่อจะลุ่มหลง แล้วผลักออกไป ให้เหลือแต่กระดาษเปล่า

ศิลปะเด็กและศิลปะบำบัด ( Art Therapy )

เหตุการณ์สึนามิเมื่อ พ.ศ.2547 ผมลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านทำงานอาสาสมัครเต็มเวลา ที่เกาะลันตา เกาะเหลา ภูเก็ต ยังไม่ทันตื่นนอน เด็กๆ ก็จะมาปลุกให้ตื่นเพื่อออกไปทำกิจกรรม วาดรูป เล่นน้ำ งมหอย หรือ ขุดหมึก บางครั้ง พวกเราเดินทางด้วยเรือข้ามฟากจากเกาะเข้าเมืองเพื่อซื้อสีและกระดาษ ผมเริ่มต้นทำงานเป็นอาสาสมัคร มองเห็นว่าการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดยังไม่มี ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาสาสมัครวาดรูปกับเด็ก ผมมองว่า เราอาจทำงานศิลปะเพื่อบำบัดชุมชน ทำโครงการจบเป็นงานเขียนหนังสือหรือการแสดงนิทรรศการศิลปะของเด็ก ผมเขียนโครงการได้รับงบประมาณเพื่อทำกิจกรรม ตอนนั้นงบประมาณเรื่องสึนามิมีเยอะมาก ผมทำงานศิลปะกับเด็กอยู่ในพื้นที่เป็นอาสาสมัครเป็นเวลา 3 เดือน ทำโครงการ 9 เดือน อยู่ในพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม รวมเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน แล้วจึงกลับมาพำนักอยู่ที่อังกฤษแกลเลอรี่ จังหวัดเชียงราย

เด็กชาวเกาะหลายคนพูดไทยได้เล็กน้อย ด้วยความเป็นเด็กชนเผ่า เขาเป็นชาวนาอีฟ (Naive) ความเป็นนาอิฟในงานศิลปะเป็นสิ่งน่าตี่นเต้นมากๆ ผมยอมรับว่า เราวาดภาพไม่ได้แบบเขา มันเป็นช่วงจังหวะชีวิตของเขาที่กำลังรอเรือ หรือชิ้นส่วนของเรือเพื่อจะนำมาประกอบเป็นเรือออกทะเลหาปลาอีกครั้ง พวกเขาอยู่ในศูนย์อพยพฟื้นฟูคอยคนมาช่วยเหลือ รอเครื่องยังชีพ 1 วัน หรือ 2 วัน ต่อครั้ง ผมอยู่กับเขาในช่วงเวลานี้ แน่นอนว่า มันต่างจากเวลาที่เขาออกเรือหาปลาในทะเล พวกเขาเป็นยิปซีทะเล เขามีอิสระ ไม่มีรั้วบ้าน เมื่ออาศัยอยู่ศูนย์อพยพฟื้นฟู เราจะมองเห็นความกดดันเมื่อเขาไม่สามารถทำงานได้ตามวิถีชีวิตเดิมของเขา

ตัวอย่างครอบครัวหนึ่งไปหาหอยมาขายแล้วขายไม่หมด พ่อเอาเงินไปซื้อเหล้าส่วนแม่ก็ไม่พอใจ ผัวขี้เหล้าเมียติดการพนันเป็นปัญหาครอบครัว เมียด่าผัวที่กำลังเมา ผัวโกรธก็ถือมีดวิ่งไล่แทงเมียรอบบ้าน เด็กๆ ตามผมให้ไปดูครอบครัว ผมเข้าไปห้าม กระชากมีด เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดผมก็ต้องรับซื้อหอยที่ขายไม่หมด ภายหลังผมก็พบว่า หอยที่ซื้อมาเป็นหอยเน่า ผมปลอบเด็กที่เป็นลูกของเขา หลังจากนั้นผมมานั่งคิด เป็นเรื่องเสี่ยงเหมือนกัน เหตุการณ์นี้และหลายเหตุการณ์ เราทำงานเกินหน้าที่ ทั้งเรื่องดีและเรื่องเสี่ยงๆ เรื่องดีๆ ส่วนใหญ่ป็นเรื่องเด็กๆ นอกจากการวาดภาพ ผมทำสมุดทำมือเล่มเล็ก ทำเป็นสินค้าเพื่อเป็นของที่ระลึก หารายได้สำหรับเด็ก พวกเขามีความสุขมาก ตอนแรกเด็กในโครงการของผมมีเพียง 10 คน หลังจากเริ่มมีรายได้ มีเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 คน ตอนนั้นรายได้เป็นสิ่งที่เขาต้องการเพราะพวกเขาเป็นชาวประมงที่ออกเรือหาปลาไม่ได้

ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)