น้อยคนนักจะรู้จักตัวตนของ เกื้อพงษ์ ชัยดรุณ หรือ Mr.Kueaphong Chaidarun นักวิชาการอิสระวัย 63 ปี ใช้ชีวิตอย่างสมถะชอบเดินทางสำรวจแหล่งโบราณสถานในจังหวัดพะเยา. เวลา 35 ปี ของการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณคดีท้องถิ่น การค้นพบหลักศิลาจารึกโบราณเป็นงานที่เขาสนใจ เขาทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับการอ่านการแปลภาษาโบราณบนหลักศิลาจารึก ทำให้บทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมืองพะเยาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย บทความทางวิชาการที่เขียนโดยเกื้อพงษ์ ชัยดรุณได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือจำนวนกว่า 30 เล่ม บทความถูกอ้างอิงและจัดทำเป็นแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา ประเทศไทย

ศึกษาประวัติศาสตร์จากการอ่านภาษาโบราณในศิลาจารึก  

ภายหลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์. ผมกลับมาทำงานที่บ้านเกิดจังหวัดพะเยา ด้วยเหตุบังเอิญทำให้ผมรู้จัก ศ.ธวัธ ปุณโณทก ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและอดีตราชบัณฑิตของไทย ท่านได้ทำการสำรวจศิลาจารึกเมืองพะเยาใน พ.ศ.2529  ผมอาสาทำหน้าที่พาท่าน ศ.ธวัธ ปุณโณทก สำรวจศิลาจารึกตามวัดต่างๆ ได้คลุกคลีเห็นวิธีทำงาน เช่น การอ่านจารึก, การทำสำเนาจารึก, การถ่ายภาพจารึก, ทำให้ผมสนใจอยากศึกษาเรียนรู้งานด้านประวัติศาสตร์

สมัยก่อน การค้นพบหลักศิลาจารึกต้องทำหนังสือส่งเรื่องให้กรมศิลปากร เพื่อส่งเจ้าหน้าที่คัดสำเนาจารึกและแปลภาษาเป็นเอกสาร กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการใช้เวลาเป็นปี สาเหตุเกิดจากท้องถิ่นขาดบุคลากร ขาดแคลนนักวิชาการด้านจารึก จึงจำเป็นต้องพึ่งพาส่วนกลางเพื่อช่วยในการอ่านการแปล จารึกเมืองพะเยาเป็นประเภทศิลาหินทราย ส่วนใหญ่เป็นจารึกอักษรฝักขาม ยุคสมัยนั้นไม่มีผู้เชีี่ยวชาญอักษรฝักขาม ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นส่วนใหญ่อ่านอักษรธรรมล้านนา

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเกิดประกายความคิด อยากศึกษาวิธีการอ่านจารึกตัวฝักขามอย่างจริงจัง จึงนำเรียนกับท่าน ศ.ธวัช ปุณโณทก ว่าผมสนใจศึกษาการอ่านจารึก ท่านอาจารย์มอบหนังสือแบบเรียนการอ่านจารึกอักษรฝักขามให้กับผม ผู้แต่งคือ รศ.ดร.กรรณิการ์ วิมลเกษม ผมศึกษาย่างจริงจัง โดยมีครูบาอาจารย์หลายท่านให้คำปรึกษา เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ , พระวิมลญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดลี และ ศ.ธวัช ปุณโณทก

ผมมีโอกาสเรียนรู้จากจารึกของจริง คุ้นเคยกับลายมือและสังเกตความแตกต่างจากการสัมผัสศิลาจารึก การอ่านจารึกจากสำเนากระดาษสา มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ถ้าสำเนาไม่ชัดเจนอาจทำให้การอ่านเกิดข้อผิดพลาด ฉะนั้นการทำสำเนาจารึกจะต้องพิถีพิถันในการทำสำเนา วิธีการอ่านจารึกสามารถอ่านได้หลายแบบ เช่น อ่านจากสำเนากระดาษสา, อ่านจากภาพถ่าย, การอ่านจารึกที่ดีที่สุดคืออ่านศิลาจารึกจากต้นฉบับ ส่วนภาพถ่ายปัจจุบันมีเทคโนโลยีทำให้ภาพถ่ายจารึกสามารถอ่านได้ชัดเจน ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ได้

วิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองจากศิลาจารึก

การเรียนรัฐศาสตร์ช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายขึ้น บางครั้งเนื้อหาจารึกมีเรื่องของประวัติศาสตร์สอดแทรกอยู่ เราต้องวิเคราะห์หาเหตุผล จารึกบางหลักมีเรื่องราวการเมือง เช่น จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร ลพ.9 เป็นจารึกของเมืองพะเยา พ.ศ.1954 กล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในราชสำนักเชียงใหม่ เมื่อพระมหาเทวีและอาวเลี้ยงของพระญาสามฝั่งแกน พร้อมทั้งขุนนางราชสำนักร่วมรัฐประหารปลดพระญาแสนเมืองมาออกจากการเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แล้วยกพระญาสามฝั่งแกนพระโอรสพระญาแสนเมืองมาขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์มีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา พระมหาเทวีในฐานะเป็นพระมารดาจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ส่วนอาวเลี้ยงได้รับการปูนบำเหน็จแต่งตั้งให้เป็นเจ้าสี่หมื่นปกครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 1954 

เหตุผลสามารถวิเคราะห์ออกเป็นสองนัยยะ เหตุผลแรกอาจเป็นเพราะมีพระประสงค์จะตอบแทนบุญคุณอาวเลี้ยงที่มีส่วนช่วยสนับสนุนพระญาสามฝั่งแกนขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่สำเร็จ อีกเหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะพระมหาเทวีต้องการจะขจัดอิทธิพลของอาวเลี้ยงซึ่งขณะนั้นเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลสูงในราชสำนักเชียงใหม่

ตัวอย่างการวิเคราะห์จารึกผิดพลาด เช่น จารึกสมเด็จราชาอโสกราช พย. พ.ศ. 2021 เป็นจารึกที่พบในเมืองพะเยา ปัญหาเกิดจากการทำสำเนาไม่ชัดเจนและตัวอักษรในจารึกลบเลือน จึงทำให้การ อ่าน-แปล บางประโยคคลาดเคลื่อน เช่นประโยคที่ว่า สมเด็จราชาอโสกราชเจ้าเมืองพิงค์ ( ซึ่งหมายถึง พระเจ้าติโลกราช) อ่านคลาดเคลื่อนเป็น” สมเด็จพระสังฆราช เจ้าเมืองพิงค์” กลับกลายว่า มีบุคคล 2 คน คือ พระสังฆราชกับเจ้าเมืองพิงค์ ความจริงมีเพียงบุคคลเดียวคือ พระเจ้าติโลกราช ส่วนคำว่า “สมเด็จราชาอโสกราช” นั้นเป็นคำกล่าวยกย่องพระเจ้าติโลกราชเปรียบเสมือนเป็นพระเจ้าอโสกราช

ประโยชน์จากอักษรโบราณในหลักศิลาจารึก

ข้อมูลจากจารึกใช้ประโยชน์ได้หลายมิติ เช่น ถ้าจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์มีข้อมูลจารึกที่อ้างถึงโรคภัยที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณ เรื่องแรงงานมีข้อมูลจารึกเรื่องระบบการควบคุมแรงงานที่เป็นข้าวัดซึ่งมีการอธิบายอยู่ในจารึกชัดเจน แม้กระทั่งเรื่องความขัดแย้งทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ 2 นิกาย คือ นิกายคามวาสีกับนิกายอรัญวาสี ก็ปรากฏเหตุการณ์อยู่ในจารึก

ระบบการจดบันทึกจดหมายเหตุของบ้านเราไม่เหมือนจีน จีนมีการจดบันทึกที่เป็นระบบกว่าและค่อนข้างเชื่อถือได้ โดยเฉพาะความแม่นยำเรื่องศักราช ราชสำนักจีนกษัตริย์เป็นผู้คัดเลือกราชบัณฑิตให้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ แตกต่างจากไทยซึ่งเป็นบันทึกจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา เช่น ตำนาน พงศาวดาร โอกาสคลาดเคลื่อนของประวัติศาสตร์จึงมีสูง เว้นแต่จารึกซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในขณะเวลานั้น หรือเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์

พยานหลักฐานทางประวัติศาสต์พะเยาที่เพิ่งค้นพบ

พ.ศ. 2559 เกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรง ระดับน้ำในกว๊านพะเยาแห้งขอดจนสามารถเดินลงไปได้ ผมมีโอกาสเดินสำรวจแหล่งโบราณสถานที่เคยจมอยู่ใต้น้ำในกว๊านพะเยา พบซากวัดโบราณ เศษวัตถุโบราณ เช่น เครื่องปั้นดินเผา, ครกหินบดยา, ประติมากรรมหินทราย, เครื่องใช้ทำด้วยโลหะ ผมเชื่อว่า เมืองพะเยายุคแรกอยู่บริเวณกว๊านพะเยาอันเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง แต่ตอนนั้นผมยังไม่พบหลักฐานทางวัตถุสนับสนุนข้อสันนิษฐาน หลังการสำรวจปี พ.ศ. 2559 พบหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาอายุเก่าแก่ร่วมสมัยอาณาจักรหริภุญชัย

พงศาวดารโยนก กล่าวถึงลักษณะเมืองพะเยาสมัยขุนจอมธรรม บรรยายตำแหน่งที่ตั้งเมืองพะเยาตั้งอยู่บริเวณหางดอยด้วนหรือ. “สบต่ำ”หรือ “สบต๋ำ” ใกล้กับแม่น้ำอิง ทิศอีสานและพายัพมีหนองน้ำใหญ่ ขนาดเมืองโบราณกว้าง 1,000 วา (2,000 เมตร) ยาว 1,000 วา (2,000 เมตร) บริเวณที่ตั้งเมืองเคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน มีซากโบราณสถาน เศษเครื่องถ้วย เครื่องมือเครื่องใช้โลหะ ครกศิลา (ครกหินบดยา) จำนวนมากกระจัดกระจายทั่วบริเวณ

เมืองพะเยายุคแรกตั้งอยู่บริเวณกว๊านพะเยาอันเป็นพื้นที่ “สบต่ำหรือสบต๋ำ” คือ บริเวณวัดติโลกอารามจรดไปถึงโบราณสถานบ้านร่องไฮ (โลกติลกสังฆาราม) ผมยืนอยู่บนสะพานขุนเดชเพื่อมองสำรวจภูมิประวัติศาสต์พบว่า พื้นที่ผิวน้ำลาดเอียงต่ำไปทางบริเวณสบต่ำหรือสบต๋ำจริง การศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องดูภูมิศาสตร์กายภาพประกอบ หลังสร้างประตูกั้นน้ำกว๊านพะเยา พ.ศ. 2484 มีการถ่ายภาพทางอากาศพบเมืองโบราณและคูเมือง เป็นหลักฐานสำคัญว่ากว๊านพะเยาเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณ “โลกติลกสังฆาราม” ที่มีอายุร่วมสมัยอาณาจักรหริภุญชัยหรือก่อนยุคล้านนา

การขุดค้นซากวัดโบราณบริเวณ “โลกติลกสังฆาราม” ใน พ.ศ. 2560 พบว่า มีการสร้างวิหารทับซ้อนกับวิหารเก่าอายุร่วมสมัยอาณาจักรหริภุญชัย ส่วนบริเวณ “วัดติโลกอาราม” พบว่ามีการสร้างทับซ้อนวิหารร่วมสมัยอาณาจักรหริกุญชัยเช่นกัน การขุดค้นทางด้านโบราณคดีสอดคล้องทำให้เชื่อได้ว่า เมืองพะเยายุคแรกหรือยุคก่อนล้านนาอยู่ในบริเวณกว๊านพะเยา แต่น่าเสียดายที่ขาดงบประมาณสานต่อ ทำให้งานขุดค้นโบราณคดีต้องหยุดชะงักลง

วัดติโลกอาราม” กับประวัติศาสตร์ใหม่ของพะเยา

ปัจจุบันการรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์พะเยายังไม่เป็นระบบ เราต้องสร้างหอสมุดเพื่อรวบรวมข้อมูล เป็นคลังข้อมูลความรู้ด้านประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ โดยใช้เทคโนโลยีนำเสนอประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจ ตื่นตาตื่นใจ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก ผมศึกษาดูงานหลายประเทศ ประเทศไทยยังล้าเรื่องการนำเสนอ ข้อมูลบางส่วนก็ยังไม่มีการปรับปรุง นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนหนังสือ ปัจจุบันผลงานทางวิชาการของผมพิมพ์เผยแพร่กว่า 30 เล่ม เนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และข้อมูลหลักศิลาจารึกเมืองพะเยา ผมหวังว่า จะเป็นข้อมูลสำหรับคนรุ่นหลังได้สืบค้น ไม่ต้องเหมือนคนรุ่นผม ที่ต้องศึกษาค้นคว้าด้วยความยากลำบาก

สำหรับผมการสร้างวัดคือ การจรรโลงพุทธศาสนาและสนับสนุนให้คนทำความดี กิจกรรมส่งเสริม เช่น กิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำ ไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและทำให้คนฝักใฝ่ในพุทธศาสนา เป็นเรื่องดีที่เราสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม แต่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม เคารพกฎหมายและปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ให้เดือดร้อนเสียหายต่อสังคมส่วนรวม ยุคสมัยหนึ่งพระญายุทธิษฐิระสร้างวัดติโลกอาราม อีกสมัยหนึ่งเจ้าหัวแสนกัลยาณก็ฟื้นฟูวัด ถ้าเราจะฟื้นฟูวัดในยุคสมัยของเรา ก็เป็นการสืบต่อพุทธศานาอันเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรกระทำ

สิ่งที่ควรตระหนักที่สุดคือการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ควรกังวลเพราะอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศน์ศิลป์ และเจริญ มาบุตร ศิลปินคนพะเยาร่วมกันออกแบบ เมื่อสร้างวัดติโลกอารามแล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา นักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจเมืองพะเยาจะเติบโต

นักวิชาการอิสระและนักประวัติศาสตร์ของไทย

การทำงานด้านประวัติศาสตร์ แม้ทุกข์กายแต่ก็สุขใจ ผมได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่มีข้อเตือนใจคือ การเดินทางสำรวจสถานที่บางแห่งลำบากมาก กว่าจะได้ข้อมูลต้องใช้เวลาและความอดทน การรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนบทความแต่ละชิ้นใช้เวลาเป็นปี แต่มีบางคนคัดลอกผลงานไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ผมคิดว่าเป็นเรื่องของมารยาทและจิตสำนึก แม้เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยแต่ในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

นักประวัติศาสตร์ประเทศไทยส่วนใหญ่รับราชการ มีชีวิตความเป็นอยู่สมถะ ขาดการดูแลหรือให้ความสำคัญจากทางภาครัฐ แตกต่างกับนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศซึ่งได้รับทุนสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลและองค์กรเอกชน ผมโชคดีที่มีอาชีพหลักช่วยสนับสนุนจึงไม่มีผลกระทบเรื่องเงินเดือนสำหรับการดำรงชีวิต แม้ต้องใช้เงินทุนของตนเองในการทำงานด้านประวัติศาสตร์และนักวิชาการอิสระ ผมก็ยังทำงานด้วยใจรัก ผมภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศไทย ตอบแทนบุญคุณให้กับแผ่นดินที่ผมเกิด

 สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)