“โกวิท ไชยเมือง” เป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้า ตำแหน่งประธานสมาคมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และกรรมการหอการค้าจังหวัดพะเยา ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิล พื้นที่อำเภอเชียงคำ – อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา พื้นเพเป็นคนพะเยาโดยกำเนิด จบการศึกษาจากโรงเรียนพะเยาพิทยาคม ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ปริญญาโทด้านการจัดการมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของรัฐ ปี 2543 ทำงานกับโครงการพะเยาเพื่อการพัฒนา ปี 2545 ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสาร ปี 2550 ทำธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิล “โกวิท ไชยเมือง” มีมุมมองทางธุรกิจที่น่าสนใจในธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิลซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในห้วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา

ธุรกิจรีไซเคิลขยะสะท้อนเศรษฐกิจระดับประเทศ

ผมทำธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะใรรูปแบบแฟรนไชส์ของ “วงษ์พาณิชย์” ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นเวลา 12 ปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจตั้งแต่ปี 2550-2555 อันเป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมรีไซเคิล ขยะอันเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก มากจนล้นปริมาณความต้องการของตลาด หลังจากนั้นห้วงปี 2555-2560 แนวโน้มของขยะลดลงร้อยละ 40 ปี 2560-2562 ขยะลดลงร้อยละ 70 หากเรามองความเปลี่ยนแปลงเป็นภาพของกราฟจะเห็นว่า จำนวนขยะลดลงทั้งระบบ ลักษณะเป็นเส้นกราฟแนวดิ่ง เหตุผลหลักนั้นมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงแรงหนุนจากแนวคิดการรณรงค์คัดแยกขยะในห้วงปี 2555 นั่นทำให้ปริมาณขยะในอุตสาหกรรมรีไซเคิลลดลงทั้งระบบ

วัตถุดิบการรีไซเคิลประเภทใดที่ลดลงอย่างชัดเจน

มองภาพของธุรกิจอุตสาหกรรมรีไซเคิลของ อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา จากวัตถุดิบ 3 ประเภท อันดับ 1.ขยะพลาสติกที่มีจำนวนมากที่สุด สมัยก่อนขยะพลาสติกมีปริมาณมากถึง 10,000 ตัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5,000 ตัน หากศึกษาลึกลงในรายละเอียดจะพบว่า แม้ขยะพลาสติกจะลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ขยะประเภทขวดน้ำพลาสติกหรือขวด PET มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50 นั่นทำให้เรามองเห็นว่า คนดื่มน้ำมากขึ้น ดื่มน้ำประเภทขวด PET มากขึ้น

อันดับ 2 ขยะประเภทกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษหนังสือพิมพ์ ลดลงร้อยละ 80 จะพบว่าช่วงปี 2550-2555 มีการใช้กระดาษอย่างเป็นปกติ จนถึงปี 2555-2560 เกิดความเปลี่ยนแปลง กระดาษหนังสือพิมพ์ลดลงร้อยละ 50 ปี 2560-2562 ประดาษหนังสือพิมพ์ลดลงอีกเกือบร้อยละ 80

อันดับ 3 เหล็ก จำนวนลดลงร้อยละ 70 ซึ่งวัตถุดิบประเภทเหล็กค่อนข้างเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะสมัยก่อนเหล็กที่นำมาจำหน่ายเป็นเหล็กใหม่และมีขนาดใหญ่ เป็นเหล็กที่เหลือจากการก่อสร้าง แต่ปัจจุบันเหล็กในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นเหล็กเก่าเหลือเก็บ หรือเหล็กรถยนต์เก่า เหตุผลของความเปลี่ยนแปลงโดยหลักการน่าจะมาจากการประหยัดเพราะปัจจุบันแนวคิดการออกแบบเปลี่ยนแปลงสู่ยุคการประหยัดพลังงาน การรักษ์โลก ลดโลกร้อน หรือการมีพื้นที่สีเขียว การก่อสร้างจึงมีการคำนวณจนไม่มีเศษเหล็กหลงเหลือ

ปัจจัยที่ทำให้ขยะมีปริมาณน้อยลง

หากเรามองภาพรวมขยะทั้งหมดจะพบว่า ขยะร้อยละ 30 เป็นขยะของเก่าซึ่งมีราคา สามารถคัดเลือกนำมาเป็นของสะสม เช่น หนังสือเก่า นิตยสารเก่า ฯลฯ  ส่วนขยะอีกร้อยละ 50 เป็นขยะที่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมรีไซเคิล  ขยะจำนวนร้อยละ 10 เป็นขยะสามารถนำมาทำ EM หรือทำเป็นปุ๋ย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นขยะที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก ส่วนขยะอันตรายหรือขยะอิเหล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอเชียงคำและอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ขยะประเภทนี้หายไปในปี 2558

ปัจจัยซึ่งทำให้ปริมาณขยะมีจำนวนลดลง อย่างแรกคือเศรษฐกิจไม่ดี การอุปโภคบริโภคลดลง จำนวนขยะที่เกิดขึ้นเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมรีไซเคิลจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นในปี 2555 กระแสนิยมการรณรงค์การคัดแยกขยะมีมากขึ้น หลายคนเริ่มมองเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เริ่มตั้งแต่การใช้ถุงผ้า ลดการใช้กล่อง หันมาห่อด้วยพลาสติก เลือกซื้อสินค้าอุปโภคขนาดบรรจุชนิดใหญ่แทนที่จะเป็นสินค้าแบบขวดขนาดเล็ก ลดการก่อให้เกิดขยะ รวมถึงแนวคิดการออกแบบลดโลกร้อน กระบวนการก่อสร้างซึ่งมีการลดขยะอันเกิดจากการก่อสร้าง เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนทำให้เหล็กในอุตสาหกรรมรีไซเคิลลดลง

นอกจากนั้นแล้ว ปัจจุบัน ระบบการสื่อสารและระบบการเรียนการสอนลดการใช้กระดาษลง ทิศทางในอนาคตตั้งแต่ปี 2562 -2565 เชื่อว่าจำนวนขยะจะลดลงหลังจากนั้นจะเริ่มคงที่ คือ คนจำนวน 1 คน จะก่อให้เกิดขยะจำนวน 1-3 กิโลกรัมต่อวัน และหากมีการเปิดด้านการค้า การท่องเที่ยว บ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา คาดการณ์ว่าจำนวนขยะพลาสติกจะมากขึ้นเพราะมีนักท่องเที่ยวและกลุ่มของประชากรแฝงเข้ามาอาศัยอยู่ในอำเภอภูซางและอำเภอเชียงคำ เศรษฐกิจและธุรกิจของเชียงคำและอำเภอภูซางน่าจะเติบโตร้อยละ 50 ซึ่งเราสามารถมองความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ จากปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปิดด่านบ้านฮวกอย่างเต็มรูปแบบ