ฉ้อโกง – ทุกคนบนโลกอินเทอร์เน็ตล้วนมีโอกาสถูกหลอก ใช่เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ทุกคนโง่เสียรู้จนถูกหลอกลวง แต่เพราะปัจจุบันกลโกงบนโลกอินเทอร์เน็ตน่าเชื่อถือ สมเหตุสมผลจนน่ากลัว นั่นเป็นเหตุให้หลายคนเอาตนเองเข้าเกี่ยวพัน จุดสังเกตที่สำคัญมีน้อยนิด นั่นคือการจ่ายเงินประกันเป็นเงื่อนไขของการทำงาน เมื่อสังเกตการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น Nigerian money offers ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมโอนเงินเข้าประเทศ, nice review ต้องจ่ายเงินประกันการทำงาน , แยกสบู่หรือลูกปัดส่งไปรษณีย์ ต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์

เปิดบทเรียนกลโกงทางอินเทอร์เน็ต

ย้อนกลับไปในบทความ LIKE ! ธุรกิจลวงโลก เผยแพร่ 1 กันยายน 2561 คำเตือนของผู้เขียนเป็นความจริงดังคาด! nice review ธุรกิจกดไลค์ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตกลายเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องเป็นคดีพิเศษ นายณรงค์ อินลี ซีอีโอ Nice review ถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน หากปรากฏเป็นความผิดก็จะเป็นความผิดมูลฐานซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจตามกฎหมายในการยึดทรัพย์

ผู้เขียนเคยกล่าวถึงพื้นฐานแนวคิดการ “ฉ้อโกง” แบบดั้งเดิมคือ Nigerian money offers อันเป็นกระบวนการหลอกลวงโดยทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่า หากตนเองยอมจ่ายเงิน ย่อมได้รับผลตอบแทนอันคุ้มค่า เช่น ผู้เสียหายถูกหลอกลวงว่าจะมีเงินโอนเข้าบัญชีของตนจากต่างประเทศจำนวน 100 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังโอนเงินเข้าบัญชีในประเทศไทยไม่ได้เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนจำนวน 1 ล้านบาท เหยื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ ยอมโอนเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 1 ล้านให้ แต่เมื่อโอนเงินเข้าบัญชีผู้ติดต่อก็พบว่า ไม่มีเงิน 100 ล้าน โอนมาจากบัญชีของต่างประเทศแต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน Nice review หลอกลวงให้เหยื่อสนใจร่วมธุรกิจกดไลค์ โดยต้องจ่ายเงินประกันการทำงาน เมื่อผู้เสียหายตกลงร่วมธุรกิจโอนเงินให้กับ Nice review กดไลค์กดแชร์ได้รับค่าตอบแทน ผู้เสียหายจะถูกชักชวนให้เพิ่มเงินลงทุนทำธุรกิจอย่างสมเหตุสมผล สุดท้ายเจ้าของธุรกิจเชิดเงินหนี

แพ๊คสินค้าส่งทางไปรษณีย์

Nigerian money offers รูปแบบการหลอกลวงคล้ายกับ Nice review คือการได้รับค่าตอบแทนโดยมีเงื่อนไขต้องจ่ายเงินก่อน แต่มีความต่างเพราะการฉ้อโกงสมัยก่อนสังเกตง่ายหลอกได้เฉพาะคนโลภมาก ต่างกับยุคสมัยปัจจุบันที่การหลอกลวงเป็นระบบสมเหตุผลในการออกแบบลักษณะการทำงาน เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนคุ้มค่าเหมาะกับการลงทุน จนเหยื่อตกหลุมพลางหลงเชื่อ ล่าสุดพบธุรกิจแยกสบู่สีแพ๊คสินค้าส่งทางไปรษณีย์

ผู้เสียหายคือกลุ่มคนที่ทำงานพิเศษอยู่กับบ้านหลงเชื่อการประชาสัมพันธ์ทาง Facebook เมื่อผู้เสียหายศึกษารูปแบบธุรกิจ ประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนและสนใจจะติดต่อกลับตามหมายเลขโทรศัพท์  แอพพลิเคชั่น line หรือ Messenger ซึ่งให้ไว้ทาง Facebook เมื่อผู้เสียหายติดต่อ คนร้ายจะแสดงตนเป็นตัวแทนหรือเจ้าของธุรกิจ หลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร จากนั้นชักชวนเข้ากลุ่มแอพพลิเคชั่น line โดยให้สัญญาว่าหากดำเนินการแพ๊คสินค้าและจัดส่งสินค้าจะได้รับค่าตอบแทนตามที่โฆษณาชวนเชื่อทาง Facebook เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อแพ๊คสินค้าและจัดส่งสินค้าส่งกลับ ก็พบว่าตนเองถูกหลอกลวงเพราะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่ตกลง

เก็บหลักฐานก่อนดำเนินคดี

ถอยคงมิใช่ยอดกลยุทธ์สำหรับคนถูกหลอก แต่หากสู้เราควรเตรียมตัวเองพร้อมกับหลักฐาน เพราะความผิดฐานฉ้อโกงปัจจุบันต่างกับสมัยก่อน การหลอกลวง การฉ้อโกง มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง เว็บไซต์ หรือ Social Media กลายเป็นเครื่องมือของการหลอกลวง นั่นเป็นเหตุผลให้ผู้เสียหายต้องเตรียมตัวก่อนเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ประการแรก ต้องรู้คน ผู้เสียหายต้องทราบว่าบุคคลที่ตนติดต่อทำธุรกิจหรือคนที่หลอกลวงเป็นใคร ชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่ ใช้โทรศัพท์ติดต่อเบอร์ใด ใช้แอพพลิเคชั่น line  Facebook  Messenger อะไร

ประการที่สอง ต้องรู้สถานที่ สถานที่มิได้หมายถึงสถานที่จริง แต่หมายถึงเว็บไซต์ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ อาจเป็นเว็บไซต์ หรือ Facebook ส่วนการเข้าแจ้งความกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ควรทราบแน่ชัดถึงที่อยู่ด้วยการเก็บ URL , IP address  หรือ  Domain name information การเก็บข้อมูลสถานที่เกิดเหตุทำได้ง่ายเพียงคลิ๊กขวาแล้วกดปริ้นเป็นเอกสารเพื่อเก็บหลักฐาน

ประการที่สาม ต้องรู้พฤติการณ์ ผู้เสียหายต้องเก็บหลักฐานอันแสดงถึงพฤติการณ์ของการหลอกลวง เช่น การเก็บข้อมูลการสนทนาทางแชทรูม แอพพลิเคชั่น line  Facebook  Messenger โดยการบันทึกภาพหน้าจอเก็บไว้ ส่วนหลักฐานการโอนเงินทางแอพพลิเคชั่น Internet banking ก็ควรเก็บรักษาไว้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงการได้ไปซึ่งทรัพย์สินอันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ตามประมวลกฎหมายอาญา

ผู้เขียน ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)

LIKE ! ธุรกิจลวงโลก