การเติบโตของธุรกิจออนไลน์รวดเร็ว สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETAD เผยข้อมูลว่าปี 2561 มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท หลายคนบนโลกแห่งความเป็นจริงจึงหันหลังให้กับงานประจำก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจออนไลน์ ใช้ชีวิตเชื่อมต่อกับ Facbook, Line,  Messenger, Instagram นอกจากชื่นชมกับโลกอันศิวิไลซ์ พวกเขายังซื้อขายสินค้ากันอย่างบ้าคลั่ง ปัญหาอันติดตามมาคือ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น

ข้องตกลงในแชทรูมมีผลทางกฎหมาย

โลกออนไลน์มีตลาดขายสินค้าอยู่หลายแห่งนับได้มิถ้วนทั่ว อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Business Crime) เกิดกับองค์กรธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่ไม่เว้นแม้แต่ Kaidee Lazada Shopee Pantip Market ยิ่งเป็นตลาดออนไลน์ขนาดเล็ก เช่น Facbook หรือ marketplace อาชญากรรมทางเศรษฐกิจยิ่งมีมาก

ปัจจุบัน ผู้บริโภคชมชอบซื้อขายของผ่านโลกออนไลน์เพราะสะดวกสบายไม่ต้องเปลืองค่าน้ำมันรถ ไม่ต้องเดินลากแข่งลากขาช๊อปปิ้งให้มันเมื่อยตุ้ม บางครั้งเรานอนเอนอยู่บนโซฟาก็ได้สินค้าดีราคาถูก โลกออนไลน์ Spoil พวกเราจนเสียคน แต่ก็นับเป็นเรื่องดีที่มีคนเอาอกเอาใจจนพบว่า ความห่วยแตกแห่งโลกการค้ายังติดตามมาเหมือนเงาบนโลกออนไลน์  ความหลอกลวง ฉ้อฉล การคดโกงมีมากขึ้น

การซื้อขายสินค้าออนไลน์มีข้อควรระมัดระวัง คือ เวลาติดต่อซื้อขายสินค้าควรสนทนากันในแชทรูม (Chat Room) เช่น Line หรือ Messenger ซึ่งมีการระบุตัวตนชัดเจน หากยืนยันการใช้แชทรูมด้วยโทรศัพท์มือถือยิ่งเป็นการดี เริ่มต้นติดต่อด้วยหมายเลขโทรศัพท์ หลังจากนั้นเชื่อมไลน์แชทรูมด้วยหมายเลขโทรศัพท์ เพราะหมายเลขโทรศัพท์ปัจจุบันมีการลงทะเบียนสามารถติดตามสืบหาคนร้ายได้ เมื่อมีข้อตกลงเป็นถ้อยความบทแชทรูมก็ถือเป็นข้อสัญญามีผลบังคับทางกฎหมาย

ลักษณะข้อตกลงบนแชทรูม ถือเป็นการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญามีการระบุตัวตนชัดเจน เมื่อคู่สัญญาแสดงเจตนาถูกต้องตรงกันสัญญาก็เกิด ทุกถ้อยความบนแชทรูมมีผลเป็นข้อสัญญาผูกพันกันตามกฎหมาย หากผิดสัญญาถ้อยความทางแชทรูมก็ถือเป็นหนังสือ สามารถนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้ในทางแพ่ง หรือหากเป็นการกระทำผิดอาญา แชทรูมกลายเป็นแหล่งรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีเอาผิดทางอาญา  

“ฉ้อโกง” อาชญากรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์

ความผิดฐาน “ฉ้อโกง” เป็นบทกฎหมายสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ…” “ฉ้อโกง” คือการหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์  วิธีการหลองลวงคือการแสดงข้อความจริงอันเป็นเท็จหรือการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กฎหมายอาญามาตรา 341 มีผลบังคับถึงการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์

อุทาหรณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ผู้เสียหายที่ 1 ประกอบอาชีพค้ารถยนต์มือสองชาวจังหวัดน่าน โพสต์ภาพสินค้ารถยนต์กระบะมือสองในเว็บไซต์ Kaidee ต้นเดือนธันวาคม 2561 ผู้ต้องสงสัยติดต่อกับผู้เสียหายที่ 1 ทาง Messenger (ไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์) หลังจากนั้น ผู้ต้องสงสัยตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 210,000 บาท โดยให้ผู้เสียหายที่ 1 ส่งภาพถ่ายตนเองพร้อมสินค้า ภาพถ่ายเอกสารทะเบียนรถ ภาพถ่ายบัตรประชาชน ภาพถ่ายบัญชีธนาคาร เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ส่งภาพดังกล่าวให้ในแชทรูม ผู้ต้องสงสัยยุติการติดต่อ

เดือนธันวาคม 2561 ผู้ต้องสงสัยโพสต์ภาพสินค้ารถยนต์กระบะมือสองคันเดิมของผู้เสียหายที่ 1 ลงบนเว็บไซต์ Kaidee กำหนดราคาขาย 120,000 บาท ผู้เสียหายคนที่ 2 ประกอบอาชีพพ่อค้ารถยนต์มือสองชาวจังหวัดเชียงราย ติดต่อขอซื้อรถยนต์กระบะคันเดิมผ่านแชทรูม Line เชื่อมต่อด้วยไลน์ไอดี (ไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์) ผู้ต้องสงสัยส่งภาพถ่ายให้กับผู้เสียหายที่ 2  ประกอบด้วย 1 ภาพถ่ายของผู้เสียหายกับรถยนต์คันเดิม  2.ภาพถ่ายเอกสารทะเบียนรถที่ถูกตัดต่อ 3.ภาพถ่ายบัตรประชาชนที่ถูกตัดต่อ 4.ภาพถ่ายบัญชีธนาคาร ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อโอนเงินมัดจำให้ 2,000 บาท ระหว่างเดินทางผู้ต้องสงสัยขอให้โอนเงินเพิ่มอีก 15,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธ ผู้ต้องสงสัยยุติการติดต่อ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ผู้ต้องสงสัยโพสต์ภาพสินค้ารถยนต์กระบะมือสองคันเดิมของผู้เสียหายที่ 1 ลงบนเว็บไซต์ Kaidee กำหนดราคาขาย 110,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 พ่อค้ารถยนต์มือสองชาวจังหวัดพิษณุโลก ติดต่อขอซื้อรถยนต์กระบะคันเดิมผ่านแชทรูม Line ผู้ต้องสงสัยส่งภาพให้กับผู้เสียหายที่ 3 ประกอบด้วย 1 ภาพถ่ายของผู้เสียหายที่ 1 กับรถยนต์คันเดิม 2.ภาพถ่ายทะเบียนรถที่ถูกตัดต่อ 3.ภาพถ่ายบัตรประชาชนที่ถูกตัดต่อ 4.ภาพถ่ายบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น ผู้เสียหายที่ 3 หลงเชื่อโอนเงินมัดจำให้ 5,000 บาท ระหว่างเดินทางมารับรถยนต์ผู้เสียหายที่ 3 โอนเงินเพิ่มให้อีก 15,000 บาท รวม 20,000 บาท ผู้ต้องสงสัยยุติการติดต่อ

พยานหลักฐานบนโลกออนไลน์

จากการศึกษาพยานหลักฐานอันปรากฏในแชทรูม (Chat Room) ๑.ภาพถ่ายบัญชีธนาคาร สำเนาภาพถ่ายบัญชีธนาคาร หรือหมายเลขบัญชีธนาคาร พบว่าเป็นบัญชีธนาคารของบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ของผู้ต้องสงสัย  ๒.ภาพถ่ายบัตรประชาชน ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน เป็นภาพตัดต่อโดยมีการตัดต่อเปลี่ยนชื่อบนภาพถ่ายบัตรประชาชนให้เป็นชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร ๓.ภาพถ่ายสินค้า เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์

หลักการสังเกตเบื้องต้น ๑.ควรตรวจสอบภาพถ่ายสินค้าว่าถูกคัดลอกมาจากแห่งใด ด้วยการเข้า  images.google.com จากนั้นอัปโหลดภาพถ่ายสินค้าลงบนเว็บแล้วกดค้นหา หากเป็นภาพซึ่งถูกคัดลอกมาจากเว็บไซต์จะปรากฏแหล่งที่มาบนเว็บไซต์ อีกวิธีการคือเข้าเว็บไซต์ jeffrey’s image metadata viewer เพื่อตรวจสอบรายละเอียดภาพถ่าย วันเวลาถ่ายภาพ วันเวลาตกแต่ภาพ วันเวลาอัปโหลดภาพ หากมีการถ่ายภาพนานเกินสมควร นั่นส่อให้เห็นว่าผู้จำหน่ายสินค้ามีเจตนาหลอกลวง

๒. การตรวจสอบภาพถ่ายบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน สามารถตรวจสอบด้วยสายตาโดยสังเกตสีตัวอักษรบนบัตรประชาชน สีของหมายเลขบัตรประชาชน สีของตัวอักษรชื่อนามสกุล สีของตัวอักษรบอกบ้านเลขที่ ควรเป็นสีเดียวกัน ไม่มีควรมีตัวอักษรสีดำเข้มอ่อนกว่ากัน หรือหากไม่มั่นใจก็สามารถใช้โปรแกรม  jeffrey’s image metadata viewer ตรวจสอบ หากภาพถ่ายถูกบันทึกมานานก็แสดงว่าเป็นภาพถ่ายบัตรประชาชนถูกตัดต่อ

๓. หมายเลขบัญชีธนาคาร ภาพถ่ายบัญชีธนาคาร ภาพถ่ายสำเนาบัญชีธนาคาร เป็นเหมือนประตูปิดเกมส์ของผู้ต้องหา บัญชีธนาคารหาได้ง่ายด้วยการจ้างคนอื่นเปิดบัญชี จากการตรวจสอบพบว่า บัญชีธนาคารเป็นของบุคคลอื่นมิใช่ของผู้ต้องสงสัย โดยเงินมักจะถูกถอนหรือโยกย้ายในทันทีที่เงินถูกโอนเข้าบัญชี

การตรวจสอบพยานหลักฐานเป็นการตรวจสอบถึงเจตนา “ทุจริต” ของผู้ต้องสงสัยว่า มีเจตนาหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จจนได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ครบองค์ประกอบความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 หรือไม่ หากตรวจสอบไม่พบพิรุธในพยานหลักฐานและคู่สัญญายังคงติดต่อทางโทรศัพท์ แต่อาจไม่สามารถส่งมอบสินค้า หรือชำระราคาได้ตามตกลง ก็ถือเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง                                                                  

ผู้เขียน ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)