ใครจะคิดว่าชีวอินทรีย์ (living organism) ที่อยู่ในอาณาจักรฟังใจ (fungi kingdom) กลุ่มเดียวกับยีสต์และรา จะกลายเป็นสินค้าส่งขายให้กับคนทุกชนชั้น ทุกสัดส่วนโครงสร้าง เช่น ก้าน (stipe) หมวก (pileus) ครีบ (lamella) หรือท่อ (tube) สามารถนำมาประกอบอาหารให้รสอร่อยถูกปาก เพียงตัดแต่งทำความสะอาดให้ปลอดภัยเพราะเห็ดบางชนิดเป็นพิษโดยสายพันธุ์ นอกจากนั้นยังอาจมีสารเคมีเพราะกระบวนการผลิต ส่วนเห็ดสดที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติก็อาจพบสารพิษตกค้างจากการเกษตร ความปลอดภัยจึงกลายเป็นจุดขายสินค้าเกษตรยุคใหม่ แต่จะมีกี่คนที่สามารถเพาะพันธุ์และบริหารจัดการเห็ดให้เป็นธุรกิจมั่นคงเช่นเดียวกับ รัตน์มนูญ บุญธรรม และครอบครัว  

Mushroom Management : รัตน์มนูญ บุญธรรม

ผมเป็นเกษตรกรเพาะเห็ดเป็นเวลา 20 ปี เดิมทำงานตำแหน่งพนักงานไปรษณีย์ ลาออกจากงานมาเป็นเกษตกร ผ่านประสบการณ์การผลิต การทำการตลาด การจำหน่าย ได้รับบทเรียนด้านการค้าขายมากมายเพราะเราเป็นเกษตรกร ไม่เคยทำงานด้านการตลาด ผมเริ่มต้นเพาะเห็ดโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะเราคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและผู้บริโภค ถ้าเราใช้สารเคมีมันส่งผลเสียต่อสุขภาพเพราะเราต้องทำงานในโรงเรือน ทำงานในโรงบ่มเพาะเชื้อเห็ด นอกจากนั้นยังส่งผลต่อธุรกิจเพราะเราทำสินค้าเห็ด วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าซึ่งต้องมีการตรวจหาสารเคมีและสารพิษอยู่ตลอด

สำหรับหน้าที่ในธุรกิจครอบครัวธุรกิจของผมคือ ดูแลเรื่องการผลิตให้ดี ผลิตเห็ดได้ให้ได้ตามความต้องการของตลาด เครื่องมือก็คือระบบการบริหารจัดการ ต้องมีการวางแผนการผลิตตามตาราง มีกำหนดระยะเวลาเป็นปี โดยกำหนดแผนแยกย่อยไว้ 12 เดือน แต่ละเดือนเราต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องขึ้นก้อนเชื้อเห็ดชนิดใด เปิดก้อนเห็ดชนิดไหนเพื่อจำหน่ายดอกเห็ด เราต้องรู้และกำหนดวันเวลาของเห็ด รู้ว่าเห็ดป่าออกดอกและวางขายในตลาดช่วงไหน ต้องมีการบริหารจัดการการผลิตให้ดีในช่วงนั้น

ตัวอย่างเช่น ต้นปีอากาศเย็นต้องเน้นเพาะเห็ดลมเนื่องจากความต้องการของตลาดมีจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายในราคาสูง ส่วนเห็ดนางฟ้าจะหยุดออกดอกหรือออกน้อย ต่อมาฤดูเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบออกเดือนปลายเมษายนถึงมิถุนายน ส่วนเห็ดป่าชนิดอื่นออกดอกช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ในช่วงเวลานั้นเราจะไม่เปิดก้อนเห็ดใหม่ทุกชนิด แต่จะเหลือก้อนเชื้อเห็ดเดิมที่เปิดไว้แล้วเพื่อเก็บบรรจุส่งห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ศักยภาพด้านการผลิตเห็ดของพวกเรามีโรงเพาะเห็ด 5 โรง มีก้อนเห็ดเปิดจำนวน 32,000 ก้อน มีโรงบ่มจำนวน 1 โรง สามารถบ่มก้อนเชื้อเห็ดได้จำนวน 36,000 ก้อน ต่อใช้พื้นที่ในการผลิตเพียง 1 ไร่

Mushroom Marketing : ภาวรีย์ บุญธรรม ภรรยา

ฉันเป็นอดีตข้าราชการสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา ทำงานด้านการผลักดันสินค้าเกษตรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้ได้มาตรฐานและส่งเสริมพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จึงมีประสบการณ์ ทราบขั้นตอนวิธีการดำเนินการส่งเสริมและวิธีการนำสินค้าสู่ห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งว่าต้องดำเนินการอย่างไร เราจึงกลับมามองสินค้าที่หลายคนมองข้ามนั่นคือเห็ด พวกเรามั่นใจว่าเห็ดเป็นสินค้าคุณภาพ รัตน์มนูญ บุญธรรม สามีฉัน ทำการเกษตรเพาะเห็ดมานานกว่า 20 ปี มีโรงเรือนเพาะเห็ดมีกระบวนการผลิตซึ่งมีมาตรฐาน เรามองเห็นศักยภาพการผลิต จึงตัดสินใจเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเพื่อทำธุรกิจเห็ด การเพาะเห็ดเป็นการทำการเกษตรใช้พื้นที่น้อย ใช้แรงงานไม่มาก ทำงานในโรงเรือน คิดว่าน่าจะเป็นงานที่เหมาะสมกับเรา พวกเราตั้งเป้าหมายว่าต้องวางจำหน่ายสินค้าเห็ดบนชั้นวางสินค้าในโมเดิร์นเทรด

พวกเราเริ่มติดต่อห้างสรรพสินค้าท็อปซุปเปอร์มาเก็ตกับแม็คโคร พวกเขาส่งพนักงานเข้ามาดูสินค้าและกระบวนการผลิตเห็ดของเรา พวกเรานำเสนอสินค้าซึ่งมีมาตรฐานการผลิตสินค้าปลอดภัย (GAP) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรฐาน SDGsPGS ของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา ยังนึกถึงตอนเริ่มต้นช่วงนั้นเราพยายามประสานงานกับฝ่ายจัดซื้อ ขอเวลาพวกเขา 10 นาทีเพื่อนำเสนอสินค้า ข้อคิดสำคัญคือเราเป็นเกษตรกรรายเล็กไม่ใช่กลุ่มเกษตรกรที่มีพลังอำนาจในต่อรอง เมื่อมีพื้นที่วางขายสินค้าขายในโมเดิร์นเทรด เราควรบริหารจัดการให้ได้ผลิตเห็ดตามใบสั่งซื้อ การบริหารจัดการด้านการผลิตจึงสำคัญมาก

เห็ดเป็นสินค้าที่ทุกชนชั้นรับประทานได้ เห็ดสามอย่างมีประโยชน์ เห็ดทอดเป็นสินค้าแปรรูปที่ได้รับความนิยม เห็ดของเราปลอดสารเคมีเพราะเราทำสินค้าเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่แรก พวกเรากำหนดวงจรชีวิตของเห็ดแต่ละปี ทั้งเห็ดร้อน เห็ดเย็น ศึกษาทดลองทำการตลาดซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีแม่ค้าในหมู่บ้านของเราหลายรายเดินทางมารับเห็ดของพวกเราไปขายครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าพวกเรามองข้ามตลาดเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งที่ตลาดใกล้บ้านสินค้าเห็ดก็สามารถวางขายได้

Mushroom Inovation : ลภัสหทัย บุญธรรม บุตรสาว

สำหรับฉันดูแลธุรกิจเห็ดของครอบครัวเรื่องการศึกษาวิจัยและใช้นวัตกรรมในธุรกิจ โดยมีการศึกษาวิจัยร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง นวัตกรรมการจัดการระบบอุณหภูมิและการให้ความชื้นที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเห็ดอินทรีย์ พวกเรามีโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ดเพื่อเป็นการบ่มก้อนเชื้อเห็ดช่วงฤดูหนาว โดมี ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย และมี ผศ.ดร.วาสนา พิทักษ์พล เป็นนักวิจัยผู้ควบคุมดูแล ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา สู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม โดยได้รับงบประมาณวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

งานวิจัยเกิดจากปัญหาการบ่มเชื้อเห็ดซึ่งมีความยาก ก้อนเห็ดที่ผลิตไม่ออกดอก มีอัตราการสูญเสียจำนวนมาก พวกเราจึงมีการสร้างโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ดอันเป็นการแก้ปัญหาและสร้างศักยภาพด้านการผลิต เป็นการฉวยโอกาสทางการตลาดในช่วงฤดูหนาว เดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ ก้อนเห็ดเมื่อผ่านการบ่มจำนวน 100 ก้อน ไม่มีการสูญเสียใช้ได้ 92 ก้อน ส่วนอีก 8 ก้อนมีตำหนิ ห้วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ สามารถผลิตเพาะดอกเห็ดลมออกสู่ตลาดได้จำนวน 700 กิโลกรัม ขายในราคาสูงกว่าท้องตลาด 200 -250 บาท คุณภาพดอกเห็ดหนาและสมบูรณ์ดีกว่าช่วงปกติ

สำหรับการทดลองทำตลาดออนไลน์ พวกเราเน้นขายก้อนเห็ดเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า โดยทดลองจำหน่ายสินค้าก้อนเห็ดผ่าน https://shopee.co.th โดยการส่งก้อนเห็ดผ่านทางไปรษณีย์มีคู่มือการเพาะก้อนเห็ด ข้อดีสำหรับการขายก้อนเห็ดเป็นประชาสัมพันธ์ธุรกิจ แต่การขายก้อนเห็ดมีกำไรน้อยเพราะต้องคอยรับผิดชอบความเสียหายต่อลูกค้า เช่น ก้อนเชื้อเห็ดเสียหายเพราะการขนส่ง เปิดก้อนเชื้อเห็ดแล้วไม่ออกดอก ซึ่งหากคิดถึงความคุ้มค่าในการลงทุนแล้วการขายสินค้าดอกเห็ดถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด โดยผู้สนใจสามารถเดินทางมารับดอกเห็ดได้ที่ โรงงานบ่มเห็ด อำเภอภูกามยาว พิกัด 19.215767256798181,99.981882758438587

เรื่อง /ภาพ ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)  เรียบเรียง  ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ