ตลาดน้ำดื่มประเทศไทยมูลค่า 43,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 10  และในมูลค่าการเติบโต น้ำดื่มชนิดขวดแก้วเติบโตร้อยละ 10 น้ำดื่มชนิดขวด PET เติบโตร้อยละ 90  โดยห้วงเวลา 3 ปี การแข่งขันในตลาดน้ำดื่มเพิ่มสูงขึ้น น้ำดื่มแบรนด์ยักษ์ใหญ่เช่นน้ำดื่มตราสิงห์เริ่มกลับกลยุทธ์โคแบรนด์กับร้านอาหารขนาดใหญ่

เหตุผลเพราะช่วงหลายปี น้ำดื่ม Local Brand  เกิดขึ้นกว่า 100  แบรนด์  ธุรกิจและสินค้าหลายรายการเลือกผลิตน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ของตนเองเพื่อประโยชน์ด้านการสร้างภาพลักษณ์ (Branding) นอกจากนั้นการผลิตน้ำภายใต้แบรนด์ของตนเองยังมีต้นทุนต่ำกว่าท้องตลาดและสามารถต่อยอดทำกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ได้อีก

ประการสำคัญคือ ปัจจุบันมาตรฐานการผลิตน้ำดื่มของโรงน้ำดื่มขนาดเล็ก สามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงงานขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของคุณภาพการผลิตน้ำซึ่งได้รับการรับรอง รวมถึงความสามารถในการออกแบบและผลิตขวดบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย

เช่น วิสาหกิจชุมชนโรงน้ำดื่ม “เวียงลดา” บ้านพระนั่งดิน ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา วิสาหกิจชุมชนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539  ด้วยงบประมาณ 201,000 บาท  ปี พ.ศ.2545 ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม 765,500  บาท ต่อมาปี พ.ศ.2547 ได้รับงบประมาณเพิ่มเติม 440,000 บาท

บัวหลี ขันทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนโรงน้ำดื่ม “เวียงลดา”  เล่าว่า  “เวียงลดา” ก็เหมือนวิสาหกิจชุมชนทุกแห่งที่ได้รับงบประมาณจากทางภาครัฐ แต่ก็ประสบปัญหาเหมือนวิสาหกิจชุมชนทุกแห่งที่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการและด้านงบประมาณ จนวันหนึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขจังหวัดพะเยาเข้ามาตรวจโรงน้ำดื่มและให้คำแนะนำหลายประการ

“ท่านบอกว่าโรงน้ำดื่มเวียงลดาไม่เข้าข่ายโรงงาน ถ้าไม่ปรับตัวไม่รอดแน่ เพราะมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการบริหารจัดการ ท่านแนะนำให้เรารับสมัครตัวแทนจัดจำหน่ายประจำหมู่บ้าน พวกเรารับสมัครตัวแทนจัดจำหน่ายน้ำดื่มจำนวน 10 คนจาก 10 หมู่บ้าน เพียงเดือนแรกวิสาหกิจซึ่งขาดทุนอยู่ตลอดทุกเดือน กลับมามีกำไร ๗,๐๐๐ บาท”

หลังจากนั้นโรงน้ำดื่ม “เวียงลดา” ปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันโดยพัฒนาคุณภาพการผลิตน้ำดื่มจนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อ.ย.) และ ได้รับการรับรองระบบประกันคุณภาพ GMP แต่ติดปัญหาเรื่องการผลิตน้ำดื่มด้วยระบบ RO. (Reverse Osmosis System) ซึ่งนักวิชาการหลายท่านมองว่า เป็นระบบการกรองน้ำที่สะอาดเกินไป ทำให้น้ำดื่มขาดแร่ธาตุ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เพิ่ม Post Carbon นั่นทำให้น้ำดื่มจากโรงน้ำดื่ม “เวียงลดา” เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพดีที่สุดของวิสาหกิจชุมชน

นอกจากพัฒนาคุณภาพน้ำ โรงน้ำดื่ม “เวียงลดา” ยังผลิตน้ำดื่มตามความต้องการของลูกค้า ด้วยการผลิตน้ำดื่มแบบขวด PET ซึ่งมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย ใช้ตราสัญลักษณ์ หรือ แบรนด์ของลูกค้า ปัจจุบัน มีลูกค้าสั่งให้ผลิตน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ต่างๆ เช่น น้ำดื่มภายใต้แบรนด์โครงการหลวงปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา, น้ำดื่มภายใต้แบรนด์พะเยาทีวี, น้ำดื่มภายใต้แบรนด์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธกส.) หรือ น้ำดื่มภายใต้แบรนด์ สปป.ลาว แขวงไชยบุรี

เราพบว่า ศักยภาพด้านการผลิตสินค้าของวิสาหกิจชุมชนเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การผลิตน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ธุรกิจท้องถิ่น สินค้าท้องถิ่น หรือ Local Brand มีการเติบโต แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น น้ำดื่มตราสิงห์ก็ยังต้องปรับกลยุทธ์โคแบรนด์กับแบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอด

ฉะนั้นแล้วกระบวนการ (Branding) สร้างภาพลักษณ์ แบรนด์สินค้าท้องถิ่น (Local Brand) ด้วยวิธีการผลิตน้ำดื่ม จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ดีในท้องถิ่น เพราะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสามารถต่อยอดทำกิจกรรมทางการตลาด หรือใช้น้ำดื่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)

Branding ด้วยน้ำดื่ม ติดต่อ  บัวหลี  ขันทอง  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโรงน้ำดื่ม “เวียงลดา” หมายเลขโทรศัพท์  086 185 2725 หรือ 093 136 3567