เกมส์การขายบนโลกออนไลน์เหมือนเงามายา ราคาสินค้า (Price) ถูกกำหนดให้เห็นจากราคาต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด ในการแข่งขันทางการตลาด เรามักจะเจอกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าเรียกว่า Loss Leader เทคนิคการกำหนดราคาสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อเรียกร้องความสนใจของลูกค้า พูดง่ายให้ง่ายคือ “เจ๊งไม่ว่าขอเรียกลูกค้าไว้ก่อน” เมื่อลูกค้าสนใจแล้วติดต่อกลับ จึงเริ่มใช้เทคนิคการขายแบบ Bait and Switching Pricing โน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้าตัวอื่นแทน

วิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง ต้องพบกับปัญหาการขายในตลาดออนไลน์เพราะการแข่งขันสูงมาก นางสาวมนัสนันทร์ พระวิสัตย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เล่าว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วิสาหกิจชุมชนยังต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการแข่งขันทางการตลาด ผู้ประกอบการค้าข้าวในตลาดหลายคนใช้กลยุทธ์ Loss Leader หรือการขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อแย่งลูกค้า นอกจากนั้นยังพบว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าข้าวเปลี่ยนแปลง จากเคยเดินตลาดเลือกซื้อข้าวคุณภาพ เปลี่ยนเป็นสั่งซื้อข้าวราคาถูกในตลาดออนไลน์

ห้วงเวลาสามปีผ่านมา ยอดขายข้าวของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน อันเคยขายส่งให้กับพ่อค้าจากกรุงเทพและสมุทรปราการเดือนละ 10 ตันหดหาย ส่วนการขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเคยประสบความสำเร็จ สามารถขายข้าวได้สูงสุดถึง 13 ตัน ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชน ต้องปรับตัว ปรับภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์สินค้า “ข้าวหอมสร้อยศรี” เพื่อรุกตลาดออนไลน์

นางสาวมนัสนันทร์ เล่าต่อว่า ข้าวหอมสร้อยศรี คือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นที่บ้านสร้อยศรี ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา รวมกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยพื้นที่เพาะปลูกบริเวณทุ่งสร้อยศรีเป็นผืนนาน้ำฝน ผืนดินเพาะปลูกมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะสำหรับการปลูกข้าวจ้าว อีกทั้งธาตุอาหารในดินยังมีธาตุเหล็กสูงเหมือนกับดินภูเขาไฟดับสนิท ผลผลิตข้าวจากทุ่งสร้อยศรีจึงมีความนุ่มหอม ต่างจากเมล็ดข้าวของทางภาคอีสานที่มีความแกร่งแข็งแต่หุงขึ้นหม้อ ผลผลิตเมล็ดข้าวจากทุ่งสร้อยศรีจะมีลักษณะพิเศษแม้จะเป็นข้าวสายพันธุ์เดียวกัน เช่น ข้าวสายพันธุ์ไรส์เบอรี่จากที่อื่นจะมีเมล็ดข้าวที่แข็งร่วน ส่วนข้าวไรส์เบอรี่ซึ่งได้จากการปลูกในทุ่งสร้อยศรี จะนุ่มเหนียวมีความหอม

แต่เดิม ผลผลิตข้าวส่วนหนึ่งจากทุ่งสร้อยศรี ถูกจัดจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดพะเยา อีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาทำการตลาดเองซึ่งลูกค้าหลักอยู่กรุงเทพและสมุทปราการ แต่เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ การแข่งขันในตลาดข้าวซึ่งมีการแข่งขันสูง นอกจากนั้นยังมีปัญหาไวรัสโควิด ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ผู้ค้าข้าวรายใหญ่มียอดจำหน่ายข้าวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคงดการเดินทางจับจ่ายซื้อของในตลาด แต่เลือกที่จะสั่งสินค้าออนไลน์แทน วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน จึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างแบรนด์สินค้า เน้นการขายข้าวแบบออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดทุน

นางสาวมนัสนันทร์ กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วตลาดสินค้าเกษตรเริ่มย่ำแย่ตั้งแต่ พ.ศ.2557 ตอนนั้นวิสาหกิจชุมชนฯ มีข้าวสารค้างสต๊อกจำนวนกว่า 90 ตัน เราพยายามแก้ปัญหาขาดทุนด้วยการแปรรูปข้าวให้กลายเป็นสินค้า ตอนนั้นข้าวสร้อยศรีเป็นข้าวปลอดภัยไม่มีสารพิษ เราเริ่มทำการตลาดคนพะเยา ให้คนพะเยาได้กินข้าวจากทุ่งสร้อยศรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน คนพะเยาสั่งซื้อสินค้าข้าวจากภาคกลาง พวกเราคิดถึงเรื่องของสารพิษตกค้าง จึงมีการตรวจเลือดของสมาชิกพบว่าปีแรก สมาชิกมีสารเคมีตกค้างอยู่ในเลือด 53 คน ผ่าน 4 คน ปีทีสองสมาชิกมีสารเคมีตกค้างในเลือกจำนวน 42 คน ผ่าน 15 คน ปีที่สามพบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดจำนวน 6 คน ผ่าน 51 คน กลุ่มสมาชิกเกษตรกรหลายคนมีปัญหาสุขภาพ หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง ผู้คนจึงหันมารักสุขภาพมากขึ้น

วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอจุน เกษตรจังหวัดพะเยา สนับสนุนความรู้ในการใช้สารชีวภัณฑ์ทำการเกษตร เชิญหน่วยงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาตรวจหาสารกัมมันตภาพรังสี เริ่มเปลี่ยนกรรมวิธีการเพาะปลูกจากข้าวปลอดภัยเป็นข้าวอินทรีย์ (organic rice) โดยได้รับการรับรองจากสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS พะเยา วิสาหกิจชุมชนฯพยายามทำการตลาดแบบออนไลน์ ขายสินค้าผ่าน A Farm Mart ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ทำกาตลาดแบบออนไลน์ขายสินค้าผ่าน www.thailandmall.com นอกจากนั้นยังมีการขายสินค้าผ่าน Shopee และ Lazada มีการประชาสัมพันธ์สินค้าและจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟสบุ๊คข้าวหอมสร้อยศรี ตอนนี้เราเริ่มมองเห็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ