ชินพัฒน์ หงส์อัมพร หรือ แชมป์ Crescendo วงดนตรีของประเทศไทยซึ่งมีบทเพลงเป็นที่นิยมของนักฟังเพลงจำนวนมาก เขาเรียนดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มทำงานเป็นนักดนตรีอาชีพตั้งแต่วัยเรียน เริ่มทำงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น บอย โกสิยพงษ์ ขณะเรียนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำเพลงเป็นอัลบั้มของตนเองในชื่อวง Crescendo เล่นแบ็คอัพดนตรีให้กับศิลปินนักร้อง แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข แม้ว่า ชินพัฒน์ หงส์อัมพร ไม่ใช่นักแต่งเพลง แต่เขาคือคนทำดนตรีที่สร้าง Lick & Riff  หรือวลีในภาษาดนตรีที่เต็มไปด้วยความรู้สึก เสียงกีตาร์ของเขามีเสน่ห์และถูกบันทึกลงในบทเพลงของศิลปินไทย เขาทำให้กีตาร์ Fender ส่งเสียงก้องอยู่ในความรู้สึกของนักฟังเพลงคนไทยหลายคน

ลูกชายที่ถูกปลูกฝังดนตรีไว้ในหัวใจ

คุณพ่อของผมชื่อว่าสมชัย หงส์อัมพร ทำงานเป็นครูสอนดนตรีในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ คุณพ่อผมเรียนจบศิลปะเป็นครูสอนศิลปะ แต่ช่วงเวลานั้นโรงเรียนขาดแคลนครูสอนดนตรี ผู้บริหารโรงเรียนจึงส่งคุณพ่อเข้าอบรมดนตรีกับสถาบันสอนดนตรียามาฮ่า หลังจบการอบรมคุณพ่อก็สอนวิชาดนตรีให้กับเด็กๆ เวลาว่างก็รับงานเล่นดนตรี คุณพ่อของผมมีพื้นฐานด้านการเล่นดนตรี สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชิ้น คุณพ่อชอบเล่นคีย์บอร์ด ตอนผมเป็นเด็ก ผมนั่งฟังเพลงที่วงดนตรีของคุณพ่อเล่น ผมไม่ถูกใจคีย์บอร์ดแต่ชอบเสียงกีตาร์มากกว่า มองเห็นมือกีตาร์เล่นกีตาร์แล้วรู้สึกชอบ ผมชอบเสียงของกีตาร์ ชอบวิธีการเล่นกีตาร์ อยากเล่นกีตาร์ให้ได้เสียงแบบเดียวกับที่นักดนตรีเล่น ผมจึงเริ่มหัดเล่นกีตาร์โปร่งของคุณพ่อ

คุณพ่อสอนดนตรีให้กับผมตั้งแต่เด็ก สอนพื้นฐานด้านบันไดเสียง สอนท่องตัวโน๊ตบนสายกีตาร์ทุกเส้น หลังจากนั้นให้ตารางคอร์ดกีตาร์ให้ผมลองหัดจับคอร์ดกีตาร์ คุณพ่อสอนผมเล่นเพลงง่ายๆ ให้ตำราพื้นฐานการเล่นกีตาร์กับผมเล่มหนึ่งของ อาจารย์อมร แม้นเมืองแมน เป็นตำราพื้นฐานการเล่นกีตาร์ ผมเล่นกีตาร์ตามตำรา โดยมีคุณพ่อสอนอ่านโน๊ต บันทัด 5 เส้น ตัวดำ ตัวขาว มีค่าเท่าใด ผมเข้าใจดนตรีจากการสอนของคุณพ่อ พื้นฐานด้านทฤษฎีดนตรีผมจึงรู้มาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นผมก็ศึกษาดนตรีด้วยตนเอง ยุคสมัยก่อนมีหนังสือเพลง The Guitar ผมก็หัดเล่นตามหนังสือ เมื่อมีเวลาผมก็เดินทางจากเพชรบูรณ์เข้ากรุงเทพเพื่อซื้อวีดีโอสอนเล่นกีตาร์เพื่อศึกษา ช่วงมัธยมปลายผมเรียนกีตาร์คลาสิคกับอาจารย์สุรัตน์ อมราภรณ์พิสุทธิ์ ก่อนจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) คณะศึกษาศาสตร์ เอกดุริยางคศาสตร์สากล กีตาร์คลาสสิค

ช่วงปี 3 ของการเรียนมหาวิทยาลัย ผมเปลี่ยนจากการเรียนกีตาร์คลาสสิค เป็นเรียนกีตาร์ Jazz เพราะผมมีพื้นฐานด้านการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าอยู่แล้ว เวลากลางคืนผมทำงานเล่นดนตรี วันหนึ่งมหาวิทยาลัยจัดประกวดวงดนตรี กรรมการตัดสินท่านหนึ่งคือ “นอ” หรือ นรเทพ มาแสง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวง Crescendo หลังจบการประกวด วงดนตรีของผมประกวดได้อันดับที่ 1 หลังจากนั้น นรเทพ มาแสง ชวนผมทำงานเล่นดนตรีแบ็คอัพให้กับศิลปิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ บอย โกสิยพงษ์ ทำอัลบั้ม Million Ways to Love ผมจึงมีโอกาสทำงานเล่นดนตรีเป็นแบ็คอัพและทัวส์คอนเสิร์ตกับ บอย โกสิยพงษ์  ทีมแบ็คอัพประกอบด้วย นรเทพ มาแสง , เอกพงศ์ เชิดธรรม ต่อมาพวกเราก็ร่วมกันก่อตั้งวง Crescendo ผมลาออกจากงานนักดนตรีกลางคืน ทำงานเพลงอย่างจริงจังและเซ็นสัญญากับ Bakery Music หลังจากนั้นผมทำงานกับ บอย โกสิยพงษ์ เกือบตลอด ทำเพลงให้กับศิลปิน ทำเพลงโฆษณา เล่นแบ็คอัพคอนเสิร์ตให้กับศิลปิน บันทึกเสียงกีตาร์ให้กับศิลปิน

ผมเล่นแบ็คอัพให้ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข บันทึกเสียงกีตาร์ให้กับศิลปินหลายคน เช่น ตู่ ภพธร สุนทรญาณกิจ , ลิปตา (Lipta) , นิวจิ๋ว , เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ,พลพล ฯลฯ การทำงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงต้องเตรียมตัวให้ดี มีการซ้อม เพื่อให้การเล่นกีตาร์มีมาตรฐาน ส่วนสุขภาพร่างกายก็พร้อมจะทำงานได้ตลอดเวลา ประการที่สำคัญคือต้องเป็นนักฟังเพลง ต้องหาสิ่งใหม่ฟัง สิ่งใหม่อาจไม่ใช่เพลงใหม่ อาจเป็นเพลงเก่ายุค 70 แต่เป็นเพลงที่เราไม่เคยฟังมาก่อน หรือเป็นศิลปินหน้าใหม่ อะไรก็ตามที่เราไม่เคยฟัง เพื่อให้เสียงเหล่านั้นอยู่ในคลังความจำของเรา เมื่อถึงเวลาทำงานเราก็สามารถนำสิ่งที่เราเคยฟังมาปรับใช้ในการทำงาน

ดนตรีที่ไร้ความหมายแต่เต็มไปด้วยความรู้สึก

ผมไม่เคยแต่งเพลงแต่เป็นคนทำดนตรี ผมมีพื้นฐานจากการเรียนดนตรี การฝึกแกะเพลงหรือการศึกษาวิธีการเล่นกีตาร์ในเพลง ฝึกสร้าง Lick สร้าง Riff สะสมจนกลายเป็นสไตล์การเล่นของตนเอง เวลาคิดจะสร้างวลีทางดนตรี พวกเรามักจะได้รับอิทธิพลจากเสียงเพลงที่เราฟัง วิธีการทำดนตรี ผมแบ่งเพลงออกเป็น 2 ประเภท บทเพลงประเภทแรกคือ บทเพลงสำหรับการโชว์ เป็นการสร้างสรรค์ผสมผสานทักษะการเล่นดนตรี ใช้เทคนิคทางดนตรี สร้างสัดส่วนของดนตรี พวกเราไม่คำนึงว่าผู้ฟังจะจดจำเนื้อหาได้หรือไม่ จดจำทำนองได้หรือไม่ หรือติดหูคนฟังหรือไม่ เป้าหมายของพวกเราคือการนำเสนอสิ่งที่พวกเราอยากทำ เนื้อเพลงอาจเป็น Riff Guitar ที่ฟังค่อนข้างยาก หรือมีการใช้สเกลโหมดแปลกๆ เป็นการนำเสนอความสร้างสรรค์ ความสดใหม่ทางดนตรี

บทเพลงประเภทที่ 2 คือ บทเพลงที่พวกเราสร้างสรรค์เพื่อให้อยู่ในความทรงจำของผู้ฟัง เป็นบทเพลงแต่งขึ้นสำหรับผู้ฟังจำนวนมาก เป็นบทเพลงฟังง่าย ฟังแล้วติดหู พื้นฐานการทำเพลงต้องมีลักษณะที่ฟังแล้วเกิดความไพเราะ รื่นหู ขั้นตอนการทำดนตรีเกิดจากบันไดเสียง เมเจอร์สเกล (Major scale) หรือไมเนอร์สเกล (Minor Scale) ลักษณะการเล่นไม่มีความแปลกต่าง ไม่มีความซับซ้อน

สำหรับอารมณ์หรือความรู้สึกในบทเพลง ผมคิดว่า คนแต่งเพลงกับคนฟังเพลงคงจะรู้สึกคล้ายกัน ภายในความรู้สึกอาจไม่เหมือนกันทุกประการ แต่เป็นอารมณ์เดียวกัน แต่บางครั้งความรู้สึกของคนฟังก็แตกต่างกัน เวลาที่ผมทำเพลงโดยใช้บันไดเสียงแปลกๆ ฟังยากๆ นักดนตรีฟังแล้วอาจจะรู้สึกทึ่ง รู้สึกถึงความแปลกใหม่ แต่ในบทเพลงเดียวกันเมื่อเปิดให้คนมีอายุมากกว่า 60 ปีฟัง เขาอาจไม่เข้าใจอารมณ์ที่เราต้องการสื่อสาร ฉะนั้น อารมณ์ของบทเพลงที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศิลปินผู้ประพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับผู้ฟังด้วย

ส่วนพื้นฐานความรู้ด้านดนตรี อาจไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งเพลง นักแต่งเพลงบางคนไม่มีความรู้ในทฤษฎีทางดนตรี แต่สามารถแต่งเพลงได้ดี ผู้คนชื่นชอบเพลงของเขา แต่การที่เรามีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีมากก็ทำให้เราสามารถทำอะไรได้มาก ทุกคนมีโน๊ตดนตรี โด เร มี ฟา ซอล ลา ที แต่คนไม่พื้นฐานความรู้ทางดนตรีอาจสามารถกำหนดทิศทางของตัวโน๊ตได้ถูกใจคนฟังได้ดีกว่าคนที่รู้ทฤษฎีดนตรี คนมีพื้นฐานทางดนตรีสามารถจัดเรียงตัวโน๊ตเพื่อให้เข้าลักษณะดนตรีที่ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน แต่คนไม่มีพื้นฐานทางดนตรีใช้เพียงหูฟัง แต่งเพลงโดยไม่คำนึงถึงทฤษฎี แต่คนฟังชอบเพลงของเขา เราไม่สามารถรับประกันได้ว่า เพลงที่แต่งได้ถูกต้องตามทฤษฎีทุกประการจะประสบความสำเร็จ ธรรมชาติของดนตรีก็เป็นแบบนี้

ฝึกซ้อมดนตรีเพื่อมาตรฐานการทำงานดนตรี

Crescendo แต่งเพลงชุดแรก ด้วยการเดินทางไปยังบ้านของ บอย โกสิยพงษ์ เล่นกีตาร์โปร่งให้ บอย โกสิยพงษ์ ฟังแล้วทำเมโลดี้ ผมนั่งเล่น มีการปรับเปลี่ยนโน๊ตบางตัวในบทเพลง สร้างเมโลดี้หรือวลีในภาษาดนตรีแล้วจึงเขียนเนื้อเพลง เพลงแรกคือ “แค่เพียงเขาไม่เคย” หลังจากนั้นผมร่วมงานกับพี่บอย มาตลอด มีโอกาสบันทึกเสียง เล่นคอนเสิร์ต บอย โกสิยพงษ์ เป็นคนใจดี ให้โอกาสผมทุกอย่าง

การเล่นดนตรีให้ประสบความสำเร็จ นอกจากเล่นดนตรีคือเรื่องนิสัย ระเบียบวินัย การรักษาเวลา การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อให้เราเล่นกีตาร์เก่งขนาดไหน แต่เมื่อไม่มีคนชักนำเรา ไม่มีคนที่เรารู้จักในวงการ เราก็คงไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ สิ่งสำคัญคือ เราสามารถต่อยอดการทำงานได้หรือไม่ มันเป็นตัวชี้วัดการทำงาน การทำงานครั้งแรกเขาประทับใจหรือไม่ ถ้าประทับใจเราก็จะมีงานอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเราต้องพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่ตลอด รักษามาตรฐานการเล่น ยืนระยะการเล่นดนตรีให้ได้ต่อเนื่อง  

ศิลปินที่เป็นแบบอย่างการทำงานของผมคือ ชาตรี คงสุวรรณ และ ป๊อบ The Sun ผมเคยทำงานกับ ชาตรี คงสุวรรณ ตอนทำรายการ AF ตอนนั้นเขาทำงานตำแหน่ง Music Director เขาทำงานเก่งมาก แต่งเพลงเก่ง แต่งเพลงดังมากมาย ตอนนี้เขาอายุหกสิบกว่าปีแต่ทักษะการเล่นดนตรียังดีเหมือนเดิม การจะยืนระยะการทำงานได้แบบนี้ต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก ซ้อมอยู่ตลอดเวลาจึงจะรักษามาตรฐานการเล่นไว้ได้ ผมต้องเป็นแบบนี้ เป็นนักดนตรีต้องซ้อมดนตรี ถ้าผมไม่ได้ซ้อมดนตรีการเล่นของผมจะติดขัด ถ้าซ้อมอย่างต่อเนื่องการเล่นกีตาร์จะราบรื่น ทุกอย่างคล่องตัว ถึงแม้เราเล่นกีตาร์  Lick หรือ Riff แบบเดิม แต่ลักษณะการเล่นจะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น จังหวะดีขึ้น

ส่วน ป๊อบ The Sun เป็นศิลปินที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเขายังสามารถรักษามาตรฐานการเล่นได้ตลอดเวลา เพลงของ The Sun เล่นยาก การเล่นเพลงยากอย่างต่อเนื่องจะต้องซ้อมอย่างหนัก ป๊อบเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “มันมีทางเดียวที่จะเล่นกีตาร์ให้เก่ง” ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ ชาตรี คงสุวรรณ และ ป๊อบ The Sun อยู่ในวงการดนตรีได้ยาวนานก็เพราะความสามารถ ผมเล่นดนตรีมานานกว่า 20 ก็คงเป็นเพราะความสามารถ

สอนดนตรีในสิ่งที่นักเรียนดนตรีต้องการ

ผมไม่คิดว่าตนเองรอบรู้ทุกด้านของดนตรี การเป็นนักดนตรีต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนการสอนดนตรีก็ไม่จำเป็นต้องรอบรู้ทุกด้านของดนตรี การสอนมีหลายระดับ เราสอนคนมีความรู้น้อยกว่าเรา ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ตนเองเรียนรู้ดนตรีครบทุกเรื่องแล้วถึงเริ่มสอนดนตรี ใครก็สอนดนตรีได้ แต่ต้องดูผู้เรียน ดูว่าเราสอนใคร ถ้าสอนเด็ก เราต้องสอนดนตรีระดับไหนถึงเหมาะสม ผมเริ่มสอนดนตรีตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันผมก็หาความรู้ทางดนตรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผมสอนพื้นฐานทางดนตรีเบื้องต้น สอนเด็กเล่นกีตาร์ สอนบทเรียนการไล่นิ้ว สอนการไล่สเกล สอนการเล่นเพลง นักเรียนดนตรีมีหลายระดับ ลูกศิษย์บางคนอยากรู้เรื่อง Improvisation ก็จะพูดถึงเรื่องแนวคิด ซึ่งมีความแตกต่างกัน แนวคิดการ improvisation ก็จะเป็นแนวคิดในเรื่องที่เรากำลังเรียน  เช่น  Improvisation 12 บาร์บลูส์ใช้สเกลไหนบ้าง ใช้โหมดอะไรบ้าง อิมโพไวด์อย่างไร ซึ่งจะมีหลักการทางดนตรีที่เชื่อมโยงถึงเรื่องทฤษฎีทางดนตรี เรียนรู้โครงสร้างคอร์ด ต้องรู้ว่าเล่นอยู่บนคอร์ดอะไร คีย์อะไร ทางเดินคอร์ดใช้บันไดเสียงใด องค์ประกอบคอร์ดใช้โน๊ตตัวใดบ้าง ใช้โน๊ตตัวใดแล้วเกิดความกลมกลืนหรือไม่กลมกลืนในดนตรี

ผมสอนดนตรีออนไลน์ การเรียนการสอนไม่มีการกำหนดเนื้อหาการเรียน เพราะนักเรียนดนตรีออนไลน์แต่ละคนมีพื้นฐานทางดนตรีไม่เท่ากัน บางคนเล่นสเกลไม่แข็งแรง เราต้องย้อนกลับไปเริ่มสอนกันใหม่ เริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมือซ้ายกับมือขวา ตอนเริ่มเรียนเราก็จะคุยกับนักเรียนว่า ชอบการเล่นแบบใด ถ้านักเรียนอยากเล่นบลูส์ก็สอนเนื้อหากีตาร์บลูส์ (Blues) อยากเล่นฟังก์ (Funk) ก็สอนเนื้อหาที่เป็นฟังก์ ผมมีแนวทางการสอนที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนแต่ละคน ถ้านักเรียนชอบเหมือนกัน มีทิศทางการเรียนเหมือนกัน ก็สามารถใช้รูปแบบการสอนเหมือนกันได้

ส่วนประสบการณ์การทางดนตรี การเล่นบนเวที การควบคุมการเล่นดนตรีบนเวที ตอนผมเป็นเด็กผมก็ควบคุมการเล่นบนเวทีไม่ได้ โดยเฉพาะความตื่นเต้น เด็กต้องเล่นดนตรีบนเวทีต่างๆ ยิ่งมีประสบการณ์การเล่นบนเวทีมากก็จะมีความได้เปรียบ สิ่งที่เราสามารถควบคุมการเล่นบนเวทีได้ก็คือต้องซ้อมให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด อาจจะต้องลองเล่นหลายเวที ลองเล่นบนเวทีใหญ่ให้เกิดความเคยชิน

การเล่นบนเวที นักดนตรีต้องเตรียมตัวให้ดี เราต้องเล่นกีตาร์อย่างไม่ผิดเพี้ยน ต้องซ้อมดนตรีให้ดีกว่าการเล่นบนเวที เพราะหากเพิ่งเริ่มเล่นบนเวทีมาตรฐานการเล่นของเราจะลดลง นอกจากนั้น ต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ดนตรี ขณะที่เล่นดนตรีอยู่ที่บ้านหรือห้องซ้อม การปรับเสียงกีตาร์ดีมาก แต่เมื่อขึ้นเล่นบนเวทีเสียงแตกของกีตาร์กลายเป็นเสียงรบกวนที่ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ผมบอกนักเรียนไม่ได้หรอกว่า การเล่นบนเวทีเราต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง แต่ปัญหาที่เราเจอจะกลายเป็นประสบการณ์ให้เราเรียนรู้แล้วแก้ไข  

วิถีแห่งการสร้างตัวตนในเสียงดนตรี

การสร้างสรรค์ดนตรีมีหลายรูปแบบ บางครั้งฟังเพลงแล้วก็นึกท่อนโซโลกีตาร์ออก บางทีตั้งใจนั่งแต่งเมโลดี้ บางครั้งแต่งเพลงคนเดียวมาจากที่บ้าน หรือบางทีแต่งเพลงในห้องซ้อมร่วมกับสมาชิกวง ส่วนการแต่ง Lick  Riff หรือท่อนโซโล่กีตาร์ มีข้อคิดคือ นักดนตรีต้องอยู่กับเพลง ฟังเพลงแล้วคิดว่าเราอยากเล่นอย่างไร บางครั้งผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน เรานั่งฟังเพลงไปเรื่อยๆ แล้วเล่นกีตาร์ตามแบบที่เราชอบ ส่วนการเล่นกีตาร์ให้มีสำเนียงเฉพาะตน เล่นกีตาร์ให้คนจดจำ ผมคิดว่าเมื่อเราเล่นกีตาร์ถึงจุดหนึ่ง มันจะเกิดลักษณะเฉพาะในการเล่น เหมือนพ่อครัวที่ปรุงอาหารซึ่งจะมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ สำเนียงการเล่นกีตาร์ก็เช่นกัน

ส่วนการพัฒนาการเล่นกีตาร์ เกิดจากการฝึกหัดเล่นตามเทคนิคในการเล่นเพลงหรือการแกะเพลง แต่เราจะลอกเลียนรูปแบบการเล่นทั้งหมดไม่ได้ เวลาเล่นกีตาร์อย่าคิดหรือจินตนาการว่าเราเป็นศิลปินคนอื่น เพราะสำเนียงหรือการเล่นจะเหมือนคนอื่น เวลาเล่นกีตาร์ผมจะนึกอยู่เสมอว่า ผมเป็นคนเล่น ผมจะเล่นอย่างไร เมื่อเล่นได้สักระยะก็จะรู้ว่าแนวทางการเล่นของเราเป็นอย่างไร นั่นรวมถึงการออกแบบเสียงหรือซาวด์กีตาร์ ซึ่งนักดนตรีแต่ละคนจะมีเสียงอยู่ในความคิด เสียงที่เขาอยากได้ยิน เสียงกีตาร์ของศิลปินแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมก็มีเสียงกีตาร์ในความทรงจำที่ผมอยากได้ยิน ผมเล่นกีตาร์ตัวไหน อุปกรณ์แบบไหน ผมจะปรับเสียงที่ผมอยากได้ยิน สิ่งเหล่านี้น่าจะก่อให้เกิดความเป็นตัวตน แต่เราต้องมีหลักก่อนว่า เราอยากได้ยินเสียงกีตาร์แบบไหน เล่นกีตาร์อย่างไรให้เป็นตัวเรา สำหรับผมกีตาร์ Fender ปิ๊กอัพ single coil บอดี้ Stratocaster ตอบสนองเสียงที่ผมต้องการได้มากที่สุด

ผมเชื่อใน Tone Wood หากคุณไม่เชื่อให้ทำทดลอง โดยใช้กีตาร์ที่มีไม้ชนิดเดียวกัน เช่น บอดี้เอลเดอร์ คอเมเปิล ฟิงเกอร์บอร์ดโรสวู๊ด ซึ่งมีกีตาร์ตั้งแต่ราคาหลักพันบาทถึงแสนบาท นำมาทดลองเปรียบเทียบโดยถอด Pickup หรืออุปกรณ์รับสัญญาณเสียงของกีตาร์ไฟฟ้าแล้วนำ Pickup ของกีตาร์ Fender Custom Shop ใส่ในกีตาร์แล้วตั้งค่าอุปกรณ์ให้เหมือนกันทุกประการ คุณจะรู้ว่า ไม้แต่ละชิ้นให้เสียงแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร  ….. เกรดไม้มีจริงหรือไม่ ทำไมราคาของไม้จึงมีความแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องทดลองทำเอง

ส่วนเอฟเฟคกีตาร์ ผมเคยใช้มัลติเอฟเฟค ( Multi-effect ) แต่ผมยังเลือกใช้เอฟเฟคก้อน ( Stompbox )เพราะการเล่นมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า เวลาเราลดเสียงกีตาร์แล้วเหยียบมัลติเอฟเฟค เปรียบเทียบกับเวลาที่เราลดเสียงกีตาร์แล้วเหยียบเอฟเฟคก้อน เสียงเบาหรือเสียงดังในน้ำหนักการดีดกีตาร์ เอฟเฟคก้อนจะให้ความรู้สึกที่ผมชอบมากกว่า โดยเฉพาะเอฟเฟคเสียงแตก ( Overdrive ) หรือเสียงรีเวิร์บ (Reverb) เอฟเฟคก้อนเสียงดีกว่า หากนำอุปกรณ์เปรียบเทียบกันเราจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ประการสำคัญคือผมไม่ชอบการตั้งค่าที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่วนตู้แอมป์ผมเลือกใช้ Cab Sim หรือ Cabinet Simulator ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของเอฟเฟคขนาดพกพาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนตู้แอมป์ มีขนาดเล็กและสะดวกในการใช้งาน

Fender กีตาร์ที่สื่อถึงอารมณ์ของ แชมป์ Crescendo

ผมสัมผัสกีตาร์ Fender ครั้งแรกตอนเรียนชั้นมัธยมปลาย รุ่นพี่ที่โรงเรียนใช้ Fender American Standard ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลที่ผมเล่นกีตาร์อย่างจริงจัง ผมซื้อกีตาร์ของตนเองคือรุ่น Fender American Hot Rod เป็นกีตาร์ที่ใช้บันทึกเสียงตอนทำเพลงกับวง Crescendo ใช้เล่นดนตรีแบ็คอัพทัวส์คอนเสิร์ตให้กับ บอย โกสิยพงษ์ ผมก็ใช้ Fender มาตลอด ปัจจุบัน ผมใช้ Fender Michael Landau 1968 relic เพราะผมชื่นชอบศิลปิน Michael Landau ชอบวิธีการเล่น ชอบเสียง ชอบซาวด์กีตาร์

การตัดสินใจซื้อกีตาร์เป็นเรื่องความชอบ เราถูกใจกีตาร์ ถูกใจศิลปิน สำหรับเสียงของ Fender ผมมองว่ากีตาร์รุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ให้เสียงได้ตามแบบที่เราต้องการ เพราะเทคโนโลยีการผลิตกีตาร์ในปัจจุบัน สามารถผลิตกีตาร์ที่มีลักษณะต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการผลิต ปัจจุบัน ผู้ผลิตกีตาร์สามารถผลิตกีตาร์ให้เสียงได้ตามแบบที่ผู้เล่นต้องการ

ผู้ผลิตกีตาร์สามารถสร้างกีตาร์ vintage กำหนดขนาดคอกีตาร์ เพื่อให้ได้อารมณ์การเล่นแบบ vintage สำหรับกีตาร์เก่าราคาสูง ผมคิดว่าเป็นคุณค่าทางจิตใจ เหมือนการสะสมพระเครื่องในเมืองไทย เมื่อเกิดการสะสม มูลค่ากีตาร์เก่าเสียงดีก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกีตารใหม่ แบรนด์ใหม่ ตัวอย่างเช่น Rangka ผู้ผลิตพัฒนามาตรฐานการผลิต พัฒนาคุณภาพของกีตาร์ เทียบเท่ากีตาร์ที่ผลิตจากสหรัฐเมริกา ผมจึงตัดสินใจทำ signature guitar กับแบรนด์ Rangka ซึ่งขายหมดแล้ว ผมมั่นใจคุณภาพเพราะเราเป็นคนควบคุมคุณภาพ นั่นทำให้ผมมั่นใจว่า กีตาร์แบรนด์ไทยมีคุณภาพเทียบเท่ากับกีตาร์แบรนด์ต่างประเทศ

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)