สร่างศัลย์ เรืองศรี (SRANGSAN RUENGSRI) หรือ “หนูมิเตอร์” คือตัวอย่างศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการดนตรีของประเทศไทย เขาเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก เรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เชี่ยวชาญการเล่นเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลเกือบทุกชนิด เริ่มทำงานดนตรีจากการชักชวนของอาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

“หนูมิเตอร์” ขับร้องเพลงลูกทุ่งโบราณ ด้วยวิธีการขับร้องและการสร้างสรรค์ดนตรีสมัยใหม่ เขาได้รับรางวัลมากมาย จากการขับร้องและประพันธ์เพลง เช่น พ.ศ. 2554 รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย จากเพลง สัญญาก่อนนอน ,พ.ศ. 2556 รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย จากเพลง สาวยโสธร , พ.ศ. 2557 รางวัลชมเชย จากเพลง สัญญาณรัก สัญญาใจ ,พ.ศ. 2554 รางวัลชมเชย การประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง จากเพลง สัญญาก่อนนอน , พ.ศ. 2556 รางวัลชมเชย การประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง จากเพลง ลูกทุ่งลูกไทย “หนูมิเตอร์” ทำงานดนตรีนานกว่า 30 ปี ทำงานบันทึกเสียงมากกว่า 10,000 เพลง เขาเป็นที่จดจำของแฟนเพลงเพราะการเป่าขลุ่ยและเล่นกีตาร์ สร้างวลีทางดนตรี ( Malody ) จากดนตรีไทย ทำให้เกิดสำเนียงการเล่นดนตรีมีอัตลักษณ์ สำหรับการสร้างสรรค์ศิลปิน (Producer) หนูมิเตอร์สร้างสรรค์ศิลปินนักร้องเพลงภาษาใต้ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศ เช่น บ่าววี ,หลวงไก่ และ บิว กัลยาณี

รากฐานของคนดนตรี

ผมเป็นคนจังหวัดลพบุรี เล่นดนตรีไทยตั้งแต่เด็ก จำความได้ว่า ตอนเป็นเด็กผมไปเที่ยวงานฤดูหนาวจังหวัดลพบุรีกับคุณแม่ (ลำใย เรืองศรี) แม่ซื้อจะเข้สากลให้ผมเล่น ผมฝึกเล่นจนชำนาญ เมื่อวงดนตรีทำการแสดงใกล้บ้าน ผมก็จะฟังดนตรีแล้วเล่นตาม ผมชอบทุกอย่างที่เป็นดนตรี เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ฯ ผมศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผมเจอรุ่นพี่เรียนหลายคน เช่น อาจารย์เรืองยศ พิมพ์ทอง , อ๊อด โอภาส ทศพร ,“อ๊อด” ทวี ศรีประดิษฐ์ วงเรนโบว์ ผมคลุกคลีกับรุ่นพี่เพราะอาคารเรียนดนตรีของมหาวิทยาลัยและของโรงเรียนสาธิตอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผมตั้งเป้าหมายว่า อยากประกอบอาชีพนักดนตรี

ผมรู้สึกว่า อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่สนุก เป็นตัวผมมากที่สุด ผมมุ่งมั่นที่จะเรียนดนตรี ผมศึกษาต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ผมรู้จักนักดนตรีมากขึ้น ยุคสมัยก่อน มีนักดนตรีจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ประกอบอาชีพนักดนตรีเยอะมาก หล่อหลอมให้ผมมีความเป็นนักดนตรีมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หลังเรียนจบอาจารย์ธนิสร์ ชักชวนมาทำงานดนตรี ขณะนั้น (พ.ศ.2532) วงคาราบาว แยกวงดนตรีเพื่อทำงานอิสระ แอ๊ด คาราบาว ทำอัลบั้ม “ทำมือ” เล็ก ปรีชา ชนะภัย  ทำอัลบั้ม “ดนตรีที่มีวิญญาณ”  เทียรี่ เมฆวัฒนา , พี่เป้า (อำนาจ ลูกจันทร์ ) และธนิสร์ ศรีกลิ่นดี  ทำอัลบั้ม “ขอเดี่ยวด้วยคนนะ” ผมมีโอกาสเล่นวงดนตรีแบ็คอัพ เมื่อ เทียรี่ เมฆวัฒนา ทำอัลบั้มเดี่ยว ผมจึงมีโอกาสทำงานดนตรีอย่างจริงจัง ผมมีโอกาสรู้จักกับ สนอง โสตถิลักษณ์ , ธนิต เชิญพิพัฒนสกุล ,อิทธิ พลางกูร โปรดิวเซอร์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผมทำงานในห้องบันทึกเสียง เล่นแบ็คอัพให้กับ เทียรี่ เมฆวัฒนา ทำงานดนตรีอย่างจริงจัง

เส้นทางนักดนตรีสู่การเป็นศิลปิน

ผมทำงานห้องบันทึกเสียง 30 ปี บันทึกเสียงในห้องอัดจำนวนนับหมื่นบทเพลง ยุคสมัยก่อนศิลปินเกือบทั้งหมดผมเป็นผู้บันทึกเสียงให้ ผมบันทึกเสียงเครื่องดนตรีหลายประเภท เช่น ขลุ่ย ซอ กีตาร์ ฯลฯ เมื่อทำงานในห้องบันทึกเสียงมากขึ้น ผมเริ่มทำงานโปรดิวเซอร์กับ บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด โดยมีคุณระย้า หรือ ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร เป็นผู้บริหาร ความจริง ผมไม่มีความฝันจะเป็นนักร้อง ตอนนั้น (พ.ศ.2538) ผมทำงานเรียบเรียงดนตรีโปรดิวซ์งานเพลงให้ศิลปิน ผมเป็นคนร้องไกด์ให้กับศิลปิน แต่ศิลปินถูกยกเลิกสัญญา คุณระย้าบอกกับผมว่า “เสียดายอัลบั้มชุดนี้ อยากนำอัลบั้มออกวางแผงจัดจำหน่าย” ผมก็ถามคุณระย้าว่า “คุณระย้าได้ศิลปินนักร้องแล้วเหรอ” คุณระย้าบอกว่า “เอาเสียงของหนูที่ร้องไกด์ไว้ออกเทปวางแผงเลย”

ผมมีความสุขกับการทำงานเบื้องหลัง แต่บทเพลง “ข้างหลังภาพ” ได้รับความนิยม ผมจึงกลายป็นศิลปินซึ่งต้องสร้างผลงานอย่างสม่ำเสมอ ชีวิตผมเปลี่ยน หลังจากทำงานกับ บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด ผมก็ทำงานกับบริษัท อาร์ สยาม จำกัด ผมสร้างศิลปินหลายคน เช่น บ่าววี, หลวงไก่, กุ้ง สุทธิราช วิธีการทำงานของผมคือ ผมจะเลือกศิลปิน หลังจากนั้นแต่งเพลง ทำเพลง เขียนเพลงตามแนวทางของศิลปิน  ไม่นำบทเพลงยัดเยียดให้กับศิลปิน  แม้ว่าผมจะทำเพลงเก็บไว้ในคลังและแต่งเมโลดี้ไว้จำนวนมาก

ดนตรีมีหลากหลาย คนไทยฟังดนตรีทุกแนว ยุคสมัยก่อนผมเล่นดนตรีกลางคืน นักดนตรีจะนำสมุดโน๊ตเป็นแฟ้มนั่งดูแล้วเล่นตาม นักร้องทำหน้าที่ร้องเพลงอย่างน้อย 45 นาที  การแสดงในหนึ่งวันมีนักร้อง 5 คน บทเพลงมีหลายกหลาย ทั้งเพลงจีน เพลงสากล เพลงป๊อป เพลงแจ๊ส ฯลฯ ทำให้ผมมีประสบการณ์เล่นดนตรีจากการอ่านโน๊ต บางบทเพลงผมข้องใจว่าจะใช้เสียงดนตรีแบบไหน เราก็ต้องฟังต้นฉบับ ยุคสมัยก่อนเพลงต้นฉบับหาฟังยากมาก ยิ่งเป็นยุคเพลงเทปคาสเซ็ท เพลงสากลหาฟังยาก เราต้องค้นคว้าหามาฟัง

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมทำเพลงลูกทุ่ง เกิดจากการคลุกคลีกับครูเพลงลูกทุ่ง คลุกคลีนักเรียบเรียงดนตรีลูกทุ่ง โปรดิวเซอร์เพลงลูกทุ่ง ผมมีโอกาสบันทึกเสียงเพลงลูกทุ่งเยอะมาก ผมเป็นคนต่างจังหวัด ชอบฟังเพลงลูกทุ่งฟังเพลงของ สายัณห์ สัญญา ผมมีชื่อเสียงเพราะบทเพลงลูกทุ่ง นักฟังเพลงส่วนใหญ่จึงจดจำว่า ผมคือนักร้องลูกทุ่ง ความจริงแล้ว ผมทำงานหลากหลาย ผมเรียบเรียงดนตรีหลายเพลง  เช่น บทเพลง ไม่อาจเปลี่ยนใจ ของเรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ หรือกรณีบันทึกเสียงกีตาร์เพลง เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ , เป้ ไฮร็อค, วิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร , ผมก็ทำหน้าที่บันทีกเสียงกีตาร์ ผมถูกจุดประกายให้ทำเพลงลูกทุ่ง ร้องเพลงลูกทุ่ง นำเพลงเก่ามาร้องใหม่กับบริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด (พ.ศ.2543 ) บทเพลงที่ได้รับความนิยมคือ “พบรักที่ปากน้ำโพ” ผู้คนจึงจดจำว่า “หนูมิเตอร์” คือ นักร้องเพลงลูกทุ่ง ความจริงผมชอบดนตรีทุกแนว ผมมีความสุขกับดนตรี

การสร้างสรรค์ผลงานในห้องบันทึกเสียง

การสร้างสรรค์ดนตรี เกิดจากการทำงานในห้องบันทึกเสียง เกิดจากการทดลอง ขณะนั่งทำงานในห้องบันทึกเสียง ผมจะนำเสียงในความทรงจำมาประยุกต์สร้างเมโลดี้ใหม่ๆ คิดรูปแบบการเล่น Instrument  เช่น เราฟังเสียง Saxophone ผมจะเล่นกีตาร์ในรูปแบบเสียงของแซกโซโฟน เล่นกีตาร์เหมือนเสียงระนาด กลอง หรือ เครื่องดนตรีชนิดอื่น นั่นคือเสียงดนตรีที่ผมสร้างและหล่อหลอม ก่อให้เกิดเป็นสำเนียงกีตาร์ของตนเอง หลายคนจดจำว่า สำเนียงกีตาร์แบบนี้ต้องเป็นสำเนียงกีตาร์หนูมิเตอร์

ปี 2535 เป็นยุคที่รถโดยสาร (Taxi) เริ่มติดมิเตอร์เพื่อคำนวนค่าโดยสาร พี่เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ บอกกับผมว่า “วันหนึ่งบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงหลายที่ คุณหนูน่าจะเอามิเตอร์มาติดกีตาร์เลยดีกว่า” ผมจึงได้ฉายาที่พี่เสือธนพล อินทฤทธิ์ ตั้งให้ว่า “หนูกีตาร์มิเตอร์” ส่วนคุณระย้า บริษัท รถไฟดนตรี (1995) จำกัด บอกว่า ฉายาเก่ายาวเกินไปจึงตั้งชื่อให้เป็น “หนูมิเตอร์”

สำหรับสำเนียงขลุ่ย ผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ตอนเรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม อาจารย์ธนิตสอนเรื่องวิชาการ ทฤษฎีทางดนตรี สอนหลักการเบื้องต้นของกลุ่มเครื่องลมไม้ (WoodWind Instrument) เพื่อนำไปสอนเด็กนักเรียน แต่ผมเล่นดนตรีไทยและมีโอกาสได้ทัวส์คอนเสิร์ตกับอาจารย์ธนิสร์จึงมีโอกาสเรียนรู้การเล่นของอาจารย์ธนิตซึ่งจะมีความเป็นสากล มีลักษณะการเล่นเหมือนการเป่า Saxophone มีลวดลายการเล่นเป็นสากล (ตัวอย่างบทเพลงนางนวล)

ผมจดจำเสียงขลุ่ยและนำวิธีการเล่นของศิลปินหลายท่านมาปรับเป็นสำเนียงการเล่นของตนเอง หลายท่านก็บอกว่า สำเนียงขลุ่ยของหนูมิเตอร์เหมือนอาจารย์ธนิสร์ ผมบอกกับเขาว่า สำเนียงขลุ่ยของผม บางครั้งก็เหมือนอาจารย์ธนิสร์ บางครั้งก็ไม่เหมือน เพราะผมฟังเสียงขลุ่ยของครูขลุ่ยหลายท่านโดยเฉพาะครูขลุ่ยของกรมศิลป์ ผสมผสานบนพื้นฐานและสำเนียงขลุ่ยอันเป็นรากเหง้าของคนขลุ่ย ผมนำวิธีการเล่นมารวมกันเพื่อเป็นตัวผม

ความเป็นอิสระและเงื่อนไขของศิลปิน

การทำงานเป็นศิลปินอิสระ (Freelance) เราต้องให้เวลากับการทำงาน เมื่อก่อนผมทำงานเป็นพนักงานบริษัทถูกคาดคั้นทำให้เราเหนื่อย การทำงานของผมมีทีมเพลงที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันหาข้อมูล แต่สุดท้ายเราต้องปรับให้เป็นแนวทางหรือรูปแบบ เช่น  การวางคำ วางประโยค วางเมโลดี้ การเป็นศิลปินไม่มีสูตรสำเร็จ ผมไม่เคยคิดว่าจะทำงานเป็นนักร้อง ผมรู้สึกว่า “ตกบันไดพลอยโจน” หรือ เป็นจังหวะชีวิตของผมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  แต่ผมคิดว่า ถ้าเรารักสิ่งไหนแล้วเราทำด้วยความรัก ทำด้วยความสุข ผลตอบแทนจากการทำงาน อาจจะไม่มีเสมอไป แต่สิ่งที่เราได้คือ “ความสุขใจ” 

เมื่อผมเกิดความคิดสร้างสรรค์ ผมจะทำมันออกมา สิ่งสำคัญคือต้องใช้เวลาและความเป็นอิสระ ทำให้ตัวเรามีอิสระกับงาน ปล่อยอารมณ์ที่อยากจะทำงานศิลปะ บางวันเราก็อยากพัก ไม่อยากทำอะไร ผมไม่บีบคั้นตนเองให้ต้องทำงาน งานศิลปะไม่ต้องเค้นสมองมากเกินไป ควรให้อิสระกับความคิด สนุกกับการทำงาน แล้วผลงานจะออกมาดี การทำงานไม่มีสูตรสำเร็จ ผลงานจะเป็นที่ตอบรับจากสังคมหรือไม่ ประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นสิ่งไม่แน่นอน เพลงที่ผมแต่งไม่เป็นที่นิยมทุกเพลง เพลงที่ผมร้องกว่า 200 เพลง  นักฟังเพลงไม่รู้จักทุกเพลง ขณะทำเพลงเราอาจรู้สึกว่า “บทเพลงนี้ช่างดีเลือเกิน ฉันชอบเหลือเกิน” แต่อย่าคาดหวังว่า เพลงจะเป็นที่นิยม หรือคาดหวังว่า คนฟังเพลงจะชอบเหมือนเรา

ถ้าผมร้องเพลงลูกทุ่ง ผมจะพยายามเก็บรายละเอียดแบบไทยๆ มีความเป็นสากลผสมผสาน พยายามร้องเพลงโดยเก็บลูกเอื้อนลูกคอแบบเพลงลูกทุ่ง ใส่ความเป็นตัวตนของเราลงไป ผมเคยทำงานเบื้องหลังแล้วมาเป็นนักร้อง ผมไม่ต้องปรับตัวมาก แต่การเป็นนักร้องต้องฟังเพลงจำนวนมาก ถ้าเราชอบเพลงแนวใด อยากทำเพลงแนวไหน ก็ทำเพลงแบบนั้นจำนวนมาก มันจะเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าฟังทุกวันก็จะติดเป็นนิสัยเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเป็นนักดนตรี ฟังเครื่องดนตรีชนิดไหนบ่อยๆ ก็จะเล่นเครื่องดนตรีชนิดนั้นได้โดยอัตโนมัติ ส่วน ทำนอง เมโลดี้ของบทเพลง ก็จะอยู่ในความทรงจำ

การปรับตัวของศิลปินในธุรกิจดนตรี

ผมมีรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงและรายได้จากการแสดงดนตรี การทำงานอิสระมีความสบายใจคือเราสามารถรับงานเอง ยืดหยุ่นราคา ตามความต้องการของผู้จ้างทำการแสดง แต่ละปีผมจะปรับเปลี่ยนแผนการแสดง แฟนเพลงแต่ละพื้นที่ชอบไม่เหมือนกัน ต้องดูภาพรวมความนิยมของแฟนเพลงที่เข้าชมการแสดง ผมพยายามเล่นเพลงของศิลปินท่านอื่น เช่น รางวัลแด่คนช่างฝัน สาวดอย สอยดาว เพื่อทำให้คนได้ยินได้ฟังแล้วเขาก็จะจำได้ คนส่วนใหญ่จำได้

ธุรกิจดนตรีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จากยุคเทปคาสเซ็ทเป็นแผ่นซีดี เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม การมีอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ เราสามารถส่งอีเมล ส่งไฟล์ข้อมูล สามารถโปรแกรมเพลงจากอินเทอร์เน็ต เมื่อวงการดนตรีมีวิวัฒนาการ เราต้องยอมรับ ระบบการสื่อสารทำให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวได้เร็ว เวลามีคอนเสิร์ตแฟนคลับจะมาต้อนรับ ข้อเสียคือ ศิลปินไม่มีส่วนแบ่งกำไรจากการขายเทปคาสเซ็ทหรือแผ่นซีดี ศิลปินขาดรายได้เยอะมาก แต่ไม่มีผลกับการทำงานสร้างสรรค์

สิ่งที่ผู้คนยังโหยหาคือการแสดงสด (Concert) ผมเชื่อว่า การแสดงสดทางโซเชียลมีเดี่ยจะเติบโต แต่คนก็อยากจะดูการแสดงสดที่เล่นต่อหน้า เดียวนี้เก็บตังค์ค่าเข้าชมการแสดงแล้วไม่มีคนดูเพราะผู้คนมีความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ สำหรับผม ก่อนการแสดงผมเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมการแสดง เต็มที่กับงานทุกการแสดง  เวลาขึ้นเวทีผมจะรู้สึกว่าผมมีความสุข เพราะเวลาเราอยู่ห้องบันทึกเสียงเราเล่นดนตรีคนเดียว แต่เวลาแสดงสด มีทีมงาน เหมือนการเล่นดนตรีกับเพื่อนนักดนตรีซึ่งทำให้เรารู้สึกสนุก การเป็นศิลปินเมื่อขึ้นเวทีแสดงสดก็เหมือนนักมวย ต้องใช้ประสบการณ์ในการขึ้นเวที ผมโชคดีที่ผมเรียนดนตรีและเล่นดนตรีกลางคืน ทำให้เรามีประสบการณ์ เมื่อยู่บนเวทีการแสดงเราจะรู้ว่า ทำแบบนี้คนชอบ ทำแบบนี้คนไม่ชอบ เราก็จะแยกแยะได้ ศิลปินต้องขึ้นเวทีบ่อยๆ สัมผัสแฟนเพลง แสดงตัวตนออกมา ตัวตนเราเป็นอย่างไร ก็เอาตัวตนออกมาอย่างนั้น พูดคุยพบปะกับแฟนเพลงด้วยตัวตนที่เราเป็น  

แนวคิดการสร้างผลงานเพลง

การเป็นโปรดิวเซอร์ เบื้องต้นจะเหมือนกับการทำงานดนตรีคือ ต้องเขียนเพลง แต่งเพลง แต่โปรดิวเซอร์มีหน้าที่ดูแลการผลิตทั้งหมด เหมือนผู้กำกับภาพยนต์ โปรดิวเซอร์เป็นผู้วางแนวคิดของอัลบั้ม ดูแลศิลปิน แนวคิดควรเป็นอย่างไร แนวเพลงควรเป็นอย่างไร ต้องเข้าที่ประชุมของบริษัทว่า อยากให้ภาพรวมผลงานเพลงเป็นไปในทิศทางใด เมื่อทำเพลงครบ 10 เพลง ก็นำผลงานเพลงเข้าที่ประชุมบริษัทอีกครั้ง การทำงานไม่มีสูตรสำเร็จ เราไม่รู้หรอกว่าเพลงไหนจะได้รับความนิยม แต่เมื่อเราทำงานมากๆ ประสบการณ์จะสอนเราว่า ทำเพลงแบบไหนถึงจะเป็นที่นิยม นั่นเกิดจากการวางแผนงาน

ผมเจอเรื่องไม่ดีหลายเรื่อง สำหรับผมคงเป็นเรื่องการผิดสัญญาไม่จ่ายค่าตอบแทน เพราะยุคสมัยก่อน การทำงานเพลงไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาเพราะเราทำงานอิสระ วงการดนตรีไทยไม่ได้แย่ แต่เราเจอคนไม่ดี ตอนนั้นผมต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตผลงานเพลง ต้องเช่าห้องบันทึกเสียง ผมต้องทำงานใช้หนี้ ทำงานชดเชยให้เจ้าหนี้

สำหรับการทำงานสร้างสรรค์ผลงานเพลง ผมไม่เคยติดขัด ทำงานสุดความสามารถ มั่นใจว่าเราทำดีที่สุด ส่วนผลงานเพลงจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ประชาชนผู้ฟังเป็นคนตัดสินว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ตัวอย่างเพลง “ไร่อ้อยคอยรัก” เพลงต้นฉบับของ แหวนเพชร วงทอง ซึ่งใช้วิธีขับร้องแบบเพลงลูกทุ่งยุคเก่า ร้องช้าๆ เหมือนเพลงลูกทุ่งโบราณ แต่เมื่อเรานำเพลง “ไร่อ้อยคอยรัก” มาทำใหม่ มันก็เป็นแนวเพลงของเรา

ภาษาบทเพลงในวลีดนตรีของ “หนูมิเตอร์

ศิลปินสามารถสร้างได้ทุกคน เพียงแต่การต่อยอดของศิลปินจะสามารถทำงานต่อไปได้ขนาดไหน ศิลปินต้องเป็นที่พี่งของตนเอง เราสามารถหยิบใครมาสร้างเป็นศิลปิน แต่สิ่งที่แสดงออกมาจะถูกใจแฟนเพลงหรือไม่ เราทำเพลงในห้องบันทึกเสียงของศิลปินออกมาดี แต่เมื่อขึ้นเวทีการแสดงสดศิลปินกลับทำอะไรไม่เป็น ศิลปินเท่านั้นที่จะพิสูจน์ตนเองว่า เขาจะเป็นตัวจริงหรือไม่ เป็นที่รักของแฟนเพลงได้ยาวนานขนาดไหน ถ้าเขามีความสามารถ เขาก็จะเติบโต เราส่งเขาถึงฝั่งฝันแล้วเขาจะเดินต่อไป

การเป็นศิลปินไม่ได้หมายความว่า เขาต้องแข่งขันชิงรางวัลได้อันดับที่ 1 หรือชนะเลิศ เพราะการได้ที่ 1 หรือการชนะเลิศเป็นการลงความเห็นของกรรมการ ไม่ใช่ความชอบของคนทั้งหมด กรรมการตัดสินอาจมองเรื่องของความถูกต้อง แต่มวลชนจะตัดสินที่ความชอบ กรรมการไม่ไต้มองว่า นักร้องคนนี้สามารถต่อยอดให้เป็นศิลปินได้ กรรมการตัดสินมองว่า เขาทำได้ดี ทำได้ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ แต่สำหรับมุมมองเพื่อค้นหาศิลปิน ศิลปินไม่ต้องชนะเลิศ แต่ต้องเป็นตัวเองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของศิลปิน เขาจะมีความเป็นตัวตน ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ 100 เปอร์เซ็น แต่ศิลปินจะมีอะไรในตัว สามารถนำมาสร้าง หล่อหลอม ปั้น  หรือเจียรไน แล้วจึงกลายเป็นเพชร

เดิมที บ่าววี ไม่ได้ร้องเพลงสไตล์นี้ บ่าววีเป็นทหารแต่เขาก็ร้องเพลงเพื่อชีวิตในผับบาร์ มีประสบการณ์ทางดนตรี เราสร้างสรรค์บ่าววีจากเสียงร้อง สร้างจากตัวตนของเขา หล่อหลอมเป็น “บ่าววี” (ตัวอย่างเพลงนกหาฟ้า) สำหรับ “หลวงไก่” ก็เป็นอีกสไตล์ เขาร้องเพลงหลากหลายเพราะเคยทำงานเป็นมือกลองในวง เอกชัย ศรีวิชัย ก็ต้องคิดงานสร้างสิ่งที่เป็นตัวของเขา แต่เขามีความสามารถในตัวตน สามารถแสดงโชว์ ส่งผ่านความรู้สึก เบื้องต้นของการหล่อหลอมสร้างสรรค์ศิลปิน คือคิดงาน คิดจากตัวศิลปิน สร้างบทเพลงให้เขาขับร้อง ศิลปินอาจไม่เก่งกว่าคนอื่น แต่เขาเป็นแบบฉบับของตนเองซึ่งไม่มีใครเหมือนเขาได้ งานกอปปี้โชว์สามารถทำให้คล้ายกันแต่ไม่เหมือน

เพลงภาษาใต้ได้รับความนิยมมานาน เช่น มาลีฮวนน่า , ด้ามขวาน ฯลฯ เป็นภาษาใต้แบบต้นตำหรับ ยังไม่มีเพลงภาษาใต้สำเนียงคนภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน เพลงภาษาใต้ยุคสมัยก่อนจะฟังเฉพาะคนภาคใต้ อัลบั้มหลวงไก่เป็นอัลบั้มแรกของการทดลอง ผมบอกกับหลวงไก่ว่า ผมเป็นคนลพบุรีฟังภาษาใต้ไม่เข้าใจ ขอให้นำภาษาใต้เฉพาะบางคำมาขยายความในบทเพลง ส่วนสำเนียงการร้องไม่จำเป็นต้องเป็นสำเนียงใต้เสมอไป (ตัวอย่างเพลงขวัญใจพี่หลวง)

สำเนียงการร้องของหลวงไก่ เป็นเมโลดี้หรือวลีดนตรีที่ผมคิดขึ้นมา หลวงไก่จึงร้องเพลงสำเนียงใต้แปลกๆ แต่คนภาคเหนือ คนภาคอีสาน คนภาคกลาง ฟังแล้วเข้าใจ สำเนียงการร้องเพลงของหลวงไก่แปลกต่าง แต่เป็นภาษาที่สื่อสารกับผู้คนจำนวนมาก ตอนแรกผมยังคิดว่า เราจะถูกคนภาคใต้ตำหนิ แต่เมื่อบทเพลงถูกเผยแพร่กลับพบว่า สิ่งที่เราทำกลายเป็นสิ่งที่น่ารัก คนใต้เริ่มหลงรักบทเพลงใต้ในสำเนียงภาคกลาง เพราะเป็นภาษาดนตรีที่เผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนภาคใต้ให้กับคนภูมิภาคอื่นได้รับรู้ หลังจากนั้นก็มีศิลปินภาคใต้ก็เติบโตขึ้นอีกหลายคน

สำหรับเพลงลูกทุ่งไทยคือสิ่งที่เราคุ้ยเคย การคิดงานสร้างสรรค์จะแตกต่างจากการสร้างผลงานเพลงภาคใต้ ส่วนเพลงภาษาอีสานผมจะดูแลเรื่องซาวด์ดนตรี ไลน์ดนตรี การเรียงเรียง ผมชอบบทเพลงของผมทุกเพลง เพราะบทเพลงทุกเพลงแสดงออกถึงความรู้สึก บทเพลงทุกเพลงมีความสมบูรณ์ในตัวตนแล้ว ถ้าบทเพลงใดไม่สมบูรณ์ เราจะปรับปรุงแก้ไขจนกว่าจะเป็นที่พอใจ การจะประสบความสำเร็จ ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงาน เราต้องทราบสถานการณ์ทางการตลาด แฟนเพลงต้องการเพลงอะไร หรือเพลงอะไรที่ยังไม่มีในตลาด

สัจธรรมของการทำงานดนตรี

เป้าหมายการใช้ชีวิตของผมคือการเล่นดนตรี ผมอยากทำ Academy ตอนนี้กำลังหาทีมงานที่มีความคิดอ่านในทิศทางเดียวกัน เราจะรับสมัครเด็กมาจากทุกสารทิศ อยากทำดนตรี รูปแบบแบรนด์ วงเนตรี หรือศิลปินเดี่ยว โดยไม่จำกัดอายุ เพราะอายุไม่ใช่ข้อจำกัดของการเป็นศิลปิน ทุกคนสามารถทำเพลงให้เป็นที่ยอมรับ เราจะสอนเขาให้มีความมุ่งมั่น ทำงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากคนที่มีความมุ่งมั่น สอนสัจธรรมของการอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นคนดัง อยากให้เขารู้ว่า มันไม่ง่ายและไม่ยาก อยู่ที่เราจะสร้างความยอมรับในตนเองได้มากขนาดไหน อยากให้ทำด้วยความรัก อยากสร้างศิลปินตัวจริงที่รักงานจริงๆ

สัจธรรมของการทำงานเพลงคือการทำงานศิลปะ ผลงานเพลงสร้างสรรค์โดยตัวบุคคล ฉะนั้น เราต้องยอมรับก่อนว่า เราสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่พึงพอใจของตนเอง เราไม่ควรคาดหวังว่า จะทำให้ทุกคนพึงพอใจในผลงานเพลง นั่นเป็นสัจธรรมในตัวตนของศิลปิน ผมใช้วิธีคิดแบบนี้ ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ทำผลงานเพลงแล้วชอบมากที่สุด โดยไม่คำนึงว่า เขาจะชอบกับเราหรือไม่ สัจธรรมในการทำงานดนตรี คือ อย่าแคร์และอย่าคาดหวัง

การทำงานศิลปะโดยเฉพาะงานดนตรี ผมทำงานจากรากเหง้าของตัวตน ทำงานด้วยความรัก ผมรักดนตรี เล่นดนตรีก่อนที่จะเริ่มศึกษา ผมทำความรู้จักกับ Instrument เรียนรู้เครื่องดนตรี ก่อนจะศึกษาว่า เครื่องดนตรีจะทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน ผมสัมผัส จับ คลุกคลี ผมเล่นกีตาร์โดยที่ยังอ่านโน๊ตไม่เป็น ไม่รู้ว่าทุกเส้นสายเสียงดนตรีมีตัวโน๊ตอะไรบ้าง หลังจากนั้นผมจึงหาความรู้เพิ่มเติม หาวิธีการเล่น ศึกษาดนตรีจากตำราดนตรี

ถ้าอยากเล่นดนตรีให้ทำด้วยความรัก สัมผัสเครื่องดนตรี คลุกคลีกับเครื่องดนตรี ศึกษาเครื่องดนตรี นั่นเป็นรูปแบบการเริ่มเล่นดนตรีของผม ทำแบบนี้ทุกวัน ถ้าอยากเป็นนักเรียบเรียงดนตรี เรียบเรียงเสียงประสาน ควรฟังเพลงมากๆ ฟังเสียงของเครื่องดนตรี ฟังเสียงความเคลื่อนไหวของเครื่องดนตรีในบทเพลง บางครั้งผมไม่ได้ฟังเสียงคนร้อง แต่ผมฟังเพลงเพราะอยากได้ยินเสียงอะไรบางอย่างในบทเพลงนั้น ฟังเพียงสิ่งเดียวในบทเพลง นั่นคือวิธีการศึกษาดนตรี ฟังแล้วเราจะได้ความรู้ บทเพลงสอนเรา การฟังสอนเรา หลังจากนั้นเราจึงนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างบทเพลงใหม่ ฟังดนตรีแต่ละชิ้นศึกษาในแต่ละ Intrument ทำงานอย่างไรในบทเพลง  แล้วนำมาหล่อหลอมในบทเพลงใหม่ ถ้าคุณฟัง คุณจะเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานที่เก่งขึ้นทุกวัน เก่งขึ้นจากการฟัง

สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)