กอล์ฟ ทีโบน หรือ นครินทร์ ธีระภินันท์ คือมือกีตาร์วงทีโบน (T BONE) วงดนตรีระดับตำนานที่ทำให้คนไทยรู้จักดนตรี เร็กเก้ สกา กอล์ฟ ทีโบน มีพื้นฐานด้านการเรียนศิลปะ มีประสบการณ์ทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสามารถด้านการประพันธ์เพลงและการอิมโพรไวส์ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว (Improvisation) ลักษณะการนำเสนอดนตรีบนเวทีของทีโบนจึงคล้ายกับการเล่นดนตรีแจ๊ส ที่มีความสดและสนุก แต่ใช้วิธีคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ทำให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลงานเพลงของทีโบนถูกพัฒนาให้มีลักษณะร่วมสมัย เป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล
ผมเติบโตมากับเพลง ครอบครัวของผมชอบฟังเพลง พ่อผมชอบฟังเพลงฝรั่ง อย่างเช่น แฟรงค์ ซินาตรา, แอนดี วิลเลียมส์ ,เอลวิส เพรสลีย์ ส่วนคุณแม่จะฟังเพลงลูกกรุง ชรินทร์ นันทนาคร , ศรีไศล สุชาตวุฒิ , ดาวใจ ไพจิตร เพลงสตริงเช่น The Impossible ช่วงเรียนประถมศึกษา ผมเริ่มเล่นกีต้าร์จากการหัดตามเพื่อนข้างบ้าน ผมได้ฟังเพลงดีๆจากน้าของผมซึ่งเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศ มีแผ่นเสียงเยอะมาก เราอยู่ในสภาพแวดล้อมของการฟังเพลง เมื่อเปิดวิทยุจะมีเพลงหลากหลายมาก นักจัดรายการวิทยุจะเปิดเพลงอย่างอิสระ ถือเป็นโชคดีที่ผมเติบโตมาในยุคนั้น
สมัยนั้น ผมฟังเพลงเพื่อความบันเทิง ฟังไม่ละเอียด แต่ผมได้ฟังเพลงเยอะมาก เมื่อเริ่มศึกษาดนตรีก็จะรู้จักเพลงได้เร็วเพราะโตมากับสภาพแวดล้อมของนักฟังเพลง การหัดเล่นดนตรีจึงไม่เป็นเรื่องยาก ผมไม่ได้ประกวดแข่งขันอะไร ผมเล่นดนตรีเพื่อความพอใจและความสุขใจในการเล่น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นนักดนตรีเลย ชึ่งในช่วงนั้นผมกำลังไปได้ดีกับการเรียนศิลปะ ส่วนการเรียนดนตรีก็จริงจังขึ้นตามอายุ แต่ไม่คิดว่าการเล่นดนตรีจะเป็นอาชีพได้ ผมเรียนกีตาร์คลาสสิคเพื่อเพิ่มทักษะการเล่น (Skill) แต่ทำไปทำมาความอยากเล่นดนตรีก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังเรียนจบช่างศิลป ผมจึงตัดสินใจเรียนดนตรีอย่างจริงจัง ชีวิตเริ่มเปลี่ยนเป็นนักดนตรี หลังจากนั้นจึงเดินทางไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกา ข้อดีของการเรียนต่างประเทศคือเราสามารถเลือกทำในสิ่งที่เราสนใจ เป็นแหล่งที่มีช่องทางในการหาความรู้เพิ่มเติมที่ดีมาก ผมได้ดูดนตรีดีๆ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หลังจากกลับมาประเทศไทยผมก็ทำวงทีโบน ความจริงทีโบนมีตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนจบจากช่างศิลป เมื่อผมเดินทางไปเรียนต่างประเทศ แก๊ป ทีโบน น้องชายของผมก็เข้ามาแทนและเป็นคนที่นำดนตรี เร็กเก้ สกา เข้ามานำเสนอในประเทศไทยเป็นวงแรก ลืมเล่าไปว่า ก่อนหน้านั้นช่วงที่เรียนช่างศิลป์ผมก็มีวงดนตรี มีสมาชิกอย่างเช่น ภควัฒน์ ไววิทยะ (เมย์ คิดแน็ปเปอร์ส) น้องชายพี่ ธเนศ วรางกูรนุเคราะห์ ชื่อเก๋ พวกเราทำวงดนตรี เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายกันไป ผมก็มาทำวงใหม่คือทีโบน เล่นตามเกสเฮ้าส์ เล่นเพลงบลูส์ อาร์แอนด์บี
ทำดนตรีจากตัวตนศิลปิน
ผมทำดนตรีเหมือนการวาดรูป เหมือนการทำงานศิลปะ มันทำให้วิธีการต่างออกไป ผมคิดว่าทำแบบนี้ผมจะทำได้ดีกว่า ทำให้ผมมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเพลงและวิธีเล่นได้ดีกว่า การเล่นกีตาร์ของผมก็เหมือนการต่อเลโก้ เหมือนซื้อเลโก้มาชุดหนึ่ง แต่ไม่มีคู่มือในการต่อเลโก้ หน้ากล่องอาจเป็นรูปรถ แต่เวลาต่อเลโก้ ผมไม่ได้ต่อแบบหน้ากล่องของเขา ผมต่อเลโก้เป็นรถของผม พอเป็นรถของผมวิธีการนำเสนอของผมก็จะแตกต่าง แต่ก็ต้องแลกกับการไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปสักพักหนึ่ง เพราะมันไม่อยู่ในวิธีปกติ ผมเรียนศิลปะ ผมอาจเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยการลอกเลียนแบบ แต่เพื่อการพัฒนาด้านเทคนิค การลอกเลียนแบบเพื่อสร้างงานไม่อยู่ในความคิดของผมเลย แต่ถ้าถามว่าทำให้เหมือนแบบเขาเลย มันก็ทําได้ แต่ผมไม่ชอบ มันมีบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาเล่นหรือวาดมันไม่สบาย มันไม่เป็นตัวเรา
แต่เอาเข้าจริง ในช่วงเริ่มต้นบางครั้งผมก็จำเป็นต้องเล่นแบบเหมือนๆบ้าง เพราะผมต้องทำมาหากินด้วยการเป็นนักดนตรีกลางคืนอยู่ช่วงหนึ่ง ผมพยายามเล่นเพลงของคนอื่นแต่มีแอบเปลี่ยนบ้างนิดหน่อย เช่นเมื่อเวลาเข้าท่อนโซโล่ก็โซโล่แบบผม เปลี่ยนคอร์ด เปลี่ยนวิธีการเรียบเรียงนิดหน่อยพองาม
ผมทำดนตรีด้วยการอิมโพรไวส์ (Improvisation) พอได้เป็นไอเดียก็จะนำมาแต่งเป็นเพลง รวมถึงเพลงทีโบนที่ผมแต่ง แม้แต่การแสดงสดถ้าได้ดูวงทีโบนเล่นบนเวทีจะพบว่า ลักษณะการเล่นดนตรีของพวกเราคล้ายกับวงแจ๊ส เพราะการแสดงบนเวทีโดยการอิมโพรไวส์จะได้รสชาติของดนตรีที่สดและสนุก ทุกครั้งที่เล่นมันมีสีสัน ผู้เล่นและผู้ฟังจะไม่รู้สึกเบื่อ มันมีพลังงาน เวลาเรานำเสนอในแต่ละครั้งมันจะมีความแตกต่าง ไม่เหมือนกับการเปิดซีดีที่เปิดร้อยรอบก็เหมือนกัน มันกลายเป็นรากฐานการคิดที่แตกต่าง ทำให้ดนตรีแตกต่าง ดนตรีของทีโบนไม่อยู่ในระบบของแฟชั่น เรามีสไตล์ที่ชัดเจนไม่ฝืนตัวตน ปรับตัวได้แต่ไม่มากเกินไป ให้อยู่ได้ทั้งการใช้ชีวิต การทำมาหากิน มีความสุขแต่พอตัว
ผมคิดว่า การทำงานของผมมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การเขียนภาพ การทำดนตรี มันช่วยพัฒนางานโดยรวมให้มีเอกลักษณ์และสไตล์เฉพาะตัว ทำให้มันเป็นอีกแบบหนึ่งในการนำเสนอ แต่มันก็ไม่ได้เป็นการพัฒนาแบบไม่มีพื้นฐานเอาเลย คือเราต้องศึกษาเพิ่มเติม ต้องเพิ่มความลึกในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบันทึกเสียง การทำงานพวกการแต่งเพลง มันเป็นหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกัน ผมมองทุกอย่างค่อนข้างแตกต่างจากคนทั่วไป งานบางอย่างที่ผมทำก็ทำมาหากินไม่ได้เลย แต่การเริ่มต้นจากตัวเองมากๆ เมื่อรู้สึกตึงเราจะขยับได้ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยความที่ไม่เป็นตัวของเรา มันไปไหนไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่วิถีของเราในการเริ่มฟอร์มไอเดีย
สำหรับการถ่ายภาพ (Street Photography) ผมถ่ายภาพประมาณ 8 ปี ผมเลือกที่จะถ่ายภาพเพราะใช้เวลาค่อนข้างน้อย ถ้าวาดภาพต้องใช้เวลานาน แล้วผมก็มีงานประจำวันที่ต้องทำ ถ้าต้องมานั่งวาดภาพคงไม่มีเวลา แต่การถ่ายภาพผมทำได้ง่าย ผมได้เดินทางบ่อย เวลาจะไปไหนก็พกกล้องถ่ายภาพ แล้วเราก็ถ่ายภาพได้ เราต้องการมองให้มันเป็นศิลปะขนาดไหน ก็หัดปรับแค่วิธีการมอง ผมจริงจัง คิดว่าภายใน 3 ปี- 5 ปี เราจะขึ้นไปในระดับแนวหน้าของการถ่ายภาพได้ขนาดไหน ซึ่งในศิลปะที่ผมสนใจผมก็คิดว่าผมสามารถทำได้ค่อนข้างดี (หัวเราะ) เมื่อทำได้ถึงจุดหนึ่งผมก็รู้สึกพอใจ รู้สึกได้ลอง เพราะทักษะการถ่ายภาพ ค่อนข้างแข็งแรง เวลาจับกล้องทำให้รู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลยในการถ่ายรูป เพราะเราเคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแบบนั้นมาแล้ว คล้ายกับการเล่นดนตรี
ความจริงผมไม่ได้นำหลักการทางศิลปะมาใช้ แต่ศิลปะอยู่กับผม ศิลปะไม่ใช่เป็นส่วนอื่นของชีวิต เวลาทำงานผมจะรู้สึกว่า เราทำในลักษณะนี้อยู่แล้ว เมื่อเราทำงานได้ดีก็ทำให้ผมคิดว่า ผมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตนเอง ผมทำงานในรูปแบบที่ผมทำ เพราะมันได้งานเร็วกว่าวิธีอื่น คือกระบวนการคิดให้เป็นงาน บางคนนำหลักการอะไรบางอย่างมาใช้กับตัวเอง บางทีมันไม่ใช่วิถีของเขา เขาก็นำเอามาได้แบบผิวเผิน เพราะศิลปะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา
ปัญหาทางธุรกิจดนตรีเริ่มคลี่คลาย
ศิลปินที่ผมรู้จักหลายคนแต่งเพลงเก่งมาก ผมทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมรู้ว่าวิธีที่ผมจะทำได้ ต้องเริ่มต้นอย่างไร เมื่อเราทำงานโดยไม่ฝืนตัวเอง ศิลปะจะมาก่อน และมันก็ไม่เลื่อนลอย ผมพิสูจน์ได้ว่า ผลงานที่เกิดจากการเริ่มต้นด้วยศิลปะก็สามารถเป็นที่ต้องการได้ หรือเช่นเดียวกับวิธีการเล่นกีตาร์ในรูปแบบของผมก็สามารถเป็นเทรนด์ได้ แม้แต่กีต้าร์ที่ผมเลือกใช้ยังเป็นเทรนด์ คนที่ชื่นชอบ เขาจะชื่นชมในวิถีของเรา ผมคิดว่า เราควรเดินทางไปในวิถีนี้โดยไม่ฝืนความเป็นตัวตน
เวลาที่ผ่านมาผมเคยทำเพลง และเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงดนตรี เช่น ไคโจ บราเธอร์ส , The Super Glasses Ska Ensemble , ส้ม อัมรา , Skalaxy , Day tripper , เป็นต้น ไม่ได้ทำแค่ทีโบนเป็นหลัก แต่เราทำอยู่เรื่อยๆ ทีโบนทำงานแยกกัน ระหว่างผมกับแก็ป แต่ภาพรวมเราคือเป็นทีม มาถึงวันนี้เรากำลังจะปล่อยเพลงใหม่ และอัลบั้มใหม่ ในอนาคต เราจึงต้องจัดการและรวบรวมผลงานทุกอย่างที่เป็นของเราให้เรียบร้อยเพื่อง่ายต่อการติดตาม เช่นเพลงของทีโบนใน Spotify , Apple Music , Joox , youtube นำทุกอย่างที่กลับมารวมกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน คิดว่าหลังจากเรียบร้อยเราก็จะปล่อยผลงานใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ทีโบนก็กำลังจะปล่อยเพลง “พราว” ซึ่งเป็นเพลงอคูสติก
อีกอย่างที่อยากจะสารภาพ จุดอ่อนที่ผมเรียนรู้ อาร์ตมากๆก็อยู่ยาก (หัวเราะ) ผมเคยทำค่ายเพลง ลงทุนด้วยเงินส่วนตัวแบบเรียกว่าสุดตัว แต่สุดท้ายก็หยุด เพราะเจ๊ง คิดว่าเพลงมันล้ำเกินไปหน่อย แต่เพลงดีมากผมชอบ ช่วง20กว่าปีที่แล้ววงการเพลงกำลังปรับเปลี่ยน วิธีการฟังเพลงเปลี่ยน คนไม่ซื้อซีดี , mp3 ระบาด วัฒนธรรมการโหลดเพลงฟรีจากอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ผมก็เลยคิดว่า เราควรหยุดตรงนั้น เพื่อไม่สร้างหนี้สินมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะผมต้องจ่ายคนเดียว
ทีโบนทำอัลบั้มล่าสุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราละเลยเรื่องธุรกิจมานาน เมื่อทำเพลง “พราว” คิดว่าถึงเวลาที่ผมจะเข้ามาจัดการ ไม่งั้นเวลามีคอนเสิร์ตมันก็ค่อนข้างยุ่ง และประกอบกับช่วงนี้ว่างผมก็เลยเอาเวลามาจัดการธุรกิจให้มากขึ้น ทำให้เป็นระบบธุรกิจมากขึ้น วงทีโบนมี full band และ Acoustic เรามีเพลงอะคูสติกแต่ไม่ได้เล่น พอวงเต็มก็จะเล่นเพลงสกา ก็เลยทำวงอะคูสติก พอทำแล้วชอบก็เลยทำเพลงอะคูสติก
ยุคสมัยก่อนช่วงทีโบนเริ่มต้นเราไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็เลยทำให้ดนตรีของทีโบนแปลก มีความน่าสนใจสูงมาก แต่ทีโบนก็มีจุดอ่อนเยอะเพราะเราเล่นเพลงที่ไม่เป็นที่นิยม มันไม่ใช่เพลงป๊อปที่คนทัวไปฟังกัน มีข้อจำกัด แต่ก็มีข้อดีก็คือถ้าคนที่ชอบจะชอบเรื่อยๆ แฟนเพลงเหนียวแน่นมาก เพลงทีโบนมีความร่วมสมัย ปัจจุบันนี้ผมยังเล่นดนตรีให้นักฟังเพลงรุ่นลูกฟัง บางคนเด็กมาก แปลกมากที่เขาร้องเพลงเราได้ เป็นอีกเจนเนอเรชั่น ผมว่าเราทำเพลงในช่วงที่มันยังไม่มีใครทำ ถือเป็นโชคดี เพลงเรามีเยอะ ก็เลยทำมาหากินได้ทุกวันนี้
การถ่ายทอดพลังงานบวกทางดนตรี
ผมเคยทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมไม่มีวุฒิการศึกษาด้านดนตรี แต่อาจจะด้วยความสามารถก็เลยได้สอนครับ ตอนเรียนต่างประเทศ อาจารย์ที่สอนผมเขาถ่ายทอดแนวคิดที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเหมือนกันเพราะแนวคิดและการปฏิบัติที่ได้ผลกับตัวเอง ก็เลยนำมาถ่ายทอด ผมเป็นนักดนตรีที่เรียกกว่าไม่มีใครเหมือนก็ได้นะ [หัวเราะ] อย่าเพิ่งหมั่นไส้ เพราะสิ่งที่ผมทำมันเป็นจุดที่เรียกว่าเลยจุดของการแข่งขันกับคนอื่นนอกจากตัวเอง ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยศิลปากรให้เกียรติเชิญผมไปสอนเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ผมหยุดสอนในปี 2566 เพราะผมต้องการเริ่มต้นใหม่ ถ้าเราอยู่อย่างสบายเราจะตายไปกับสิ่งที่เรามี เราต้องสร้าง ต้องทำ ถ้าอยู่กับความสบายตลอดเวลา ชีวิตก็จะหมดไปกับความเคยชิน ผมสอนนักศึกษามานาน เมื่อถึงเวลาก็ควรหยุด เพื่อเอาเวลามาเรียนรู้หรือทำอย่างอื่นที่ผมอยากทำ
ผมสอนดนตรีเด็กวัยรุ่น ผมอยู่กับเด็กวัยรุ่นแล้วมีความสุข เหมือนเขาต่อชีวิตผม ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากเขา เราเรียนรู้เรื่องเทรนด์ของเขา เราได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เขาได้ทำต่อ เรามีพลังงานบวกที่ดี ผมทำงานกับเด็กตลอด ลูกศิษย์เก่งๆ ของผมมีหลายคนเช่นวง เรโทรสเปกต์ , Telex Telex , The kopyCat ,ฯลฯ ผมสอนให้เขาคิด ผมบอกอยู่เสมอว่า เรียนดนตรีไม่แต่งเพลงไม่ได้นะ ต้องแต่งเพลง ต้องทำทุกอย่างให้ได้ ทำทุกอย่างให้เป็น เหมือนการต่อเลโก้ ต่อเลโก้เป็นรถในแบบที่เขาคิด กระบวนการก็จะเป็นการประกอบอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นของเขา ซึ่งไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาเลียนแบบ ผมว่ามันหมดสมัยกีตาร์ฮีโร่ แต่กีตาร์ฮีโร่ก็ยังมีอยู่จริง แต่ต้องถามว่าคุณจะเล่นกีตาร์ให้เก่งที่สุดในโลกเพื่ออะไร ถ้าทำแล้วอยู่ในจริตของคุณ คุณก็ทำให้ถึงที่สุด มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำ แต่การเล่นดนตรีเราต้องเติบโตไปด้วยกัน ทั้งการแต่งเพลง ความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์การทำงาน Producer
สิ่งแรกที่คุณจะเรียกตนเองเป็นศิลปินได้ ประการแรกเพลงต้องมาจากเรา ผมชอบจะทำงานกับคนที่มีเพลงเป็นของตนเอง ผมคิดว่าเขาก็มีความสุขที่ได้เห็นงานของเขาเป็นรูปเป็นร่าง ผมก็จะช่วยให้เขาเป็นตัวเขามากที่สุด แต่ในแง่ของความเป็นตัวตน ผมก็ช่วยทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ส่วนเรื่องของซาว์ดดนตรี ผมอาจช่วยทำให้แรงขึ้นนิ่มนวลขึ้นลงตัวขึ้นได้ บางที่ต้องระวังเหมือนกันเพราะงานของเขาเราก็ต้องเคารพในความเป็นตัวเขาให้มากที่สุด
กระบวนการฝึกและวิธีคิดทางดนตรีที่แตกต่าง
ปัจจุบันเด็กถูกสอนดนตรีในรูปแบบคล้ายๆกัน ถ้าเราส่งลูกเรียนดนตรีเพื่อจุดประสงค์คือให้พื้นฐานการเรียนดนตรีดีขึ้น มีสมาธิดีขึ้น ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อความบังเทิง ผมคิดว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าเด็กสนใจอยากเป็นนักดนตรีจริงๆ อยากแนะนำให้มีจุดมุ่งหมายสักนิดก่อนตัดสินใจเข้ามาเรียน ควรทำการบ้านที่เกี่ยวกับสถานที่ศึกษาให้มากขึ้น ไป open house ไปดูก่อนตัดสินใจ ผมว่ากระบวนเรียนมีผลต่อการสร้างงานเยอะมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีใครช่วยให้คุณเก่งได้ถ้าไม่ช่วยเหลือตัวเอง
กีตาร์คือเครื่องดนตรีที่แตกต่าง กีตาร์ต่างจากเปียโน เพราะเปียโนมีการวางนิ้วที่มีระเบียบมีแบบแผน แต่กีตาร์ไปทิศไหนก็ได้ กีตาร์เป็นเครื่องมือดนตรีที่ผมคิดว่ายาก วีธีมอง มันจะเป็นวิธีที่เราเล่น ถ้าเรามองอย่างทีมันควรจะเป็นเราจะรู้ว่า การเล่นกีตาร์ควรเหมือนการขับรถแบบมีแผนที่ เราจะต้องรู้ว่าบนคอกีตาร์มีตัวโน๊ตกี่ตัว ตัวโน๊ตประกอบด้วยอะไรบ้าง เมื่อเล่นกีตาร์ก็ให้นึกถึงการเดินทางจากบ้าน โดยเริ่มจากโน๊ตตัว C เดินทางไปที่ตัวโน๊ต E เราจะเดินทางไปทางไหนได้บ้าง เราจะพบว่าโน๊ตตัว C มีอยู่หลายตำแหน่ง เราจะสร้งสรรค์หรือจินตนาการอย่างไรก็ได้ เพราะเรารู้ว่าโน๊ตบนคอกีตาร์มันประกอบด้วยอะไรได้บ้าง ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่า คอเป็นยังไง โน๊ตเป็นยังไง ก็สามารถดีไซน์การเล่นกีตาร์ เหมือนกับการออกแบบเส้นทางกลับบ้าน (Mapping)
ถ้าใช้วิธีฝึกที่ผมแนะนำ ภายใน 6 เดือน ผู้ฝึกหัดจะรู้ว่า กีตาร์มันจะเป็นแผนที่แผ่นเดียวกัน มองเห็นโน็ตบนคอกีตาร์ทั้งหมด จะย้ายคอร์ดไปตรงไหนก็ได้ บางคนมองสเกลเป็นภาพเพียงอย่างเดียว แต่ผมมองทุกอย่างเป็นโน๊ตและภาพของสเกล เวลาที่เรามองเห็น มันก็จะช่วยขยายรูปแบบการเล่นหลายอย่างออกไป โดยเฉพาะขอบเขตหรือวิธีการนำเสนอ คอร์ดก็จะมีสไตล์ที่เราคิดเอง แต่เวลาสอนก็ต้องดูเหมือนกันว่าเด็กนักเรียนมีพื้นฐานวิธีการเรียนโดยปกติแบบไหน อย่างเด็กนักเรียนจากโรงเรียนทางเลือกอาจถูกสอนด้วยวิธีแบบหาเหตุผลและตั้งคำถาม ให้คิดให้ลองถูกลองผิด เมื่อเขาเรียนกีตาร์ในแบบของผมอาจจจะรุ่ง แต่ถ้าเรียนแบบทั่วไปคือท่องจำ เรียนแบบผมเขาอาจจะต้องปรับตัวเพราะบางครั้งการท่องจำจนเป็นติดเป็นนิสัยก็เป็นจุดอ่อน ผมก็ต้องช่วยเค้าเพิ่มความมั่นใจเพื่อให้กล้าลองกล้าทำ ผมว่ากระบวนการคิดมันทำให้เราฉลาดขึ้น
แต่ถ้าเราเล่นแบบเดิมเราจะวิ่งหาผลลัพธ์ตามแฟชั่น การเล่นดนตรีคนอื่น แบบที่เขาเป็นกันอยู่ ใช้ในการทำมาหากินในแง่ความบังเทิงได้ แต่ถ้าอยู่ในสังคมฝรั่งและอยากเป็นศิลปิน การจะเป็นศิลปินได้มันต้องมีความเป็นตัวตน เช่น น้าแอ๊ด คาราบาว ฟังร้อยรอบก็ป็นน้าแอ๊ด เพราะน้าแอ๊ดสามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่า นั่นเป็นตัวตนของเขา สำหรับมองแบบคนมีการศึกษาด้านดนตรี เขาอาจไม่ชอบเพราะดูธรรมดาเกินไป แต่ความจริงนั่นโคตรเจ๋งเลย เพราะมันมีสไตล์ ผมว่าในมุมมองของความเป็นตัวตน ความเป็นตัวตนก็สามารถทำมาหากินได้โดยไม่ต้องมีความซับซ้อนทางดนตรีใดๆ
ความจริงวิธีที่เราซ้อม ที่เราคิด หลักการคือ อิมโพรไวส์ (Improvisation) ถ้าผมเล่นเพลงแจ๊ส สำหรับผมแจ๊สมันท้าทายมาก เพราะการเล่นแจ๊สแบบไม่มั่วกับการเล่นมั่ว อยู่เส้นเดียวกัน เพราะถ้าเล่นมั่วโอกาสที่คนจะเข้าใจว่าเล่นแจ๊สก็จะสูงมากเพราะมันฟังงงเหมือนกัน แต่คนที่เล่นถูกต้องมันก็ฟังดูมั่วได้เหมือนกัน [หัวเราะ] ดังนั้น การเล่นดนตรีแจ๊ส เป็นการแยกตัวเองให้ออกว่า สิ่งที่ผมกำลังเล่นมันไม่ได้มั่ว มันเป็นสิ่งที่ผมศึกษา เพราะแจ๊ส 1 เพลง เปลี่ยนคีย์บ่อยมาก มันท้าท้าย มันมีเรื่องของเอียเทรนด์นิ่ง (Ear Training) มีเรื่องของการอิมโพรไวส์เพื่อให้เพลงน่าฟัง เราจะทำอย่างไรให้เกิดภาษาดนตรีแบบนี้ได้ แต่คือการสร้างสรรค์ตลอดเพราะอิมโพรไวส์คือการคิดสดเวลานั้น คือเราฝึกตนเองเพื่อจะอิมโพรไวส์ให้แข็งแรงขึ้น น่าฟังขึ้น หรือโหดร้ายขึ้น
การอิมโพรไวส์จะฝึกให้เรามีไหวพริบดี สร้างข้อจำกัดในสิ่งที่ไม่มีข้อจำกัดได้ดี มันยากที่จะสอนอิมโพรไวส์ แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องคิด ต้องฟัง ต้องเล่น เอามาประกอบเพื่อกับเข้ากับตนเอง อย่างใครที่ได้เรียนดนตรีแจ๊สแล้วเริ่มเรียนอิมโพรไวส์ เขาจะสามารถพัฒนาระดับของการสร้างสรรค์ ระดับการสร้างสรรค์จะถูกดันขึ้นทันที ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าดนตรีประเภทนี้ดีกว่าประเภทอื่น แต่ผมพูดในฐานะนักดนตรีแจ๊สเพราะเป็นแนวที่ผมถนัดและสอนอยู่ครับ
สุดท้ายเวลาเล่นก็จะพยายามลืม พอเล่น Improvisation ก็ต้องฟังเยอะ บางอย่างถ้าเรารู้มากเกินไปก็จะไม่เป็นธรรมชาติ เราต้องใช้หูให้เป็นธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องฟังออกหมด อีกอย่างที่ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือ การฟังดนตรี อย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในการสอนดนตรีแจ๊สของผมคือ เด็กนักเรียนดนตรีแจ๊สแต่ไม่ฟังแจ๊ส มันจะเป็นสิ่งที่ยากมากในการเรียนอย่าลืมว่าดนตรีเป็นเหมือนภาษาประเภทหนึ่ง ต้องเรียนแบบหัดพูดภาษาเพราะถ้าไม่ฟังเราจะไม่มีไอเดีย เราจะพูดไม่ได้ เราหัดเพลงมาจากยูทูปเราก็เล่นได้ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานด้านการฟังก็จะเกิดปัญหาคล้ายๆกัน เช่นเดียวกัน คนสมัยนี้ใช้การมองเห็นมากกว่าการฟัง เวลาฟังเพลงก็ต้องเปิดยูทูป ผมแนะนำฟังอย่างเดียวไม่ต้องดูครับ
ถ้าเราฟังอะไรนานๆ เราเหมือนถูกสกดจิต พอสะสมนานวัน ทักษะการฟังเราพัฒนา เรื่องภาษาดนตรีเราพัฒนา ดนตรีมันก็คือภาษา ภาษาร็อค ภาษาเร็กเก้ ภาษาแจ๊ส ถ้าจะเรียนดนตรีต้องคิดเหมือนการเรียนภาษา เหมือนคนใต้พยายามพูดภาษากลาง คุณก็จะพบว่า พูดอย่างไรก็เป็นภาษาทองแดงหรือเป็นภาษาไทยสำเนียงคนภาคใต้ นั่นหมายความว่า คุณมีรากของภาษาใต้ดีแล้ว ถ้าเราอยากเรียนดนตรีแจ๊ส เราก็ต้องฟังเพื่อจะได้ซึมซับภาษา มันเป็นวิธีที่ดีมาก เหมือนเราเปิดเพลงให้เด็กฟัง อยากให้เด็กชอบเพลงแจ็สก็เปิดเพลงแจ๊สทุกวัน ผมว่า ถ้าจะเป็นนักดนตรี สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ฟังมากขนาดไหนถ้าฟังเยอะก็จะเจริญเติบโต
สร้างพื้นที่ปลูกฝังศิลปะตั้งแต่เด็ก
เด็กไม่สามารถนำศิลปะเข้ามาหาตัวเขาได้ ถ้าครอบครัวไม่มีศิลปะ มันไม่ใช่เรื่องความแตกต่างเรื่องรายได้ของแต่ละครอบครัว มันเป็นเรื่องของข้อมูลที่พ่อแม่จะมีให้ลูก ถ้าเป็นครอบครัวที่เขาใจเรื่องการนำเสนอ มีศิลปะในครอบครัว มีการปรับใช้ศิลปะในครอบครัว ถ้าครอบครัวอยู่ห่างศิลปะ ประเทศไทยหลายครอบครัวไม่เอาศิลปะ ศิลปะไม่อยู่ในตัวตนเลย ทั้งที่เมื่อก่อนเมืองไทยเป็นเมืองศิลปะ ตอนนี้เราตามสื่ออย่างเดียว ผมคิดว่าเราควรทำให้ศิลปะเป็นส่วหนึ่งของครอบครัว ทำให้ดินสอสีกับกระดาษเป็นเรื่องปกติที่เด็กต้องใช้ในการดำเนินชีวิต ในเวลาว่างนอกจากใช้โทรศัพท์ก็ให้กระดาษกับดินสอสีสอนให้เด็กคิดเอง วาดเอง เพื่อปลูกความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กๆ เดียวนี้เราเอากระดาษกับดินสอให้เด็ก เด็กมันจะเบื่อ แต่อาจจะต้องนำเสนอทางเลือกศิลปะให้มากขึ้น พาออกไปดูอะไรหลายอย่างที่เป็นงานศิลปะมากขื้น ทำให้เด็กรู้สึกว่า หันไปทางไหนตรงไหนในบ้านก็จะมีปากกาและกระดาษให้เขาวาดภาพ
ผมเคยสอนวิชา คลาสลิสนิ่ง หรือ การฟังแบบมีศิลปะ คือ ลึกลงไปในมิติต่างๆในดนตรี แนะนำความคิดเป็นแบบศิลปะ ซ้อมแบบมีศิลปะ ไม่ฝึกดนตรีเหมือนสับอีโต้ อย่าลืมว่าดนตรีเป็นเรื่องของพลังงานที่มองไม่เห็นนอกจากได้ยินเสียง มันมาแล้วมันก็หายไปเหมือน สถาปัตย์ไร้เงา ผมก็นำเรื่องที่ละเอียดอ่อนมานำเสนอมากขึ้น เช่น Dynamic , Space , Shape เป็นต้น เหมือนกับการอ่านหนังสือนิยาย ถ้าเราอินกับหนังสือเล่มนั่นมากๆ เรามีจินตาการภาพมากมายในหัวเข้าไปร่วมกับการอ่านหนังสือ เพลงก็ทำได้เหมือนหนังสือ ผมคิดว่า ต้องทำให้การเรียนดนตรีเป็นศิลปะมากขึ้น ตรงนี้คงไม่ต้องพูดว่าแก้ไขที่ใครและจะแก้ไขตรงไหน ถ้าเป็นนักดนตรีที่ไม่มีศิลปะก็จะผลิตนักดนตรีที่ไม่มีศิลปะ
เป้าหมายของการเล่นดนตรี เป้าหมายของการเป็นที่ยอมรับ มันต่างกัน ต้องคิดก่อนว่า เราอยากทำมาหากินได้ในระดับไหนในการเป็นนักดนตรี ถ้าเป้าหมายของเราคือรวยและดัง ต้องดูคนอื่น ถ้าจะดูวงทีโบน ก็ต้องดูว่า ถ้าเมื่อไหร่พวกผมตายไปแล้ว คนจะยังพูดถึงทีโบน มีคนทำแบบนี้ เคลื่อนไหวแบบนี้ มีคนเล่นกีตาร์แบบนี้ คนคิดแบบนี้ นำเสนอแบบนี้ เหมือนกับเราได้วางรากฐานอะไรบางอย่างว่า มันมีทางเลือกต่างกัน อย่างแรกเราต้องเปิดกว้างในสิ่งที่เราต้องการ ดนตรีเป็นอาชีพที่ ต้องมีระเบียบวินัยเรื่องเวลา การซ้อม เมื่อเราลงมือทำมันคือการสะสมความสามารถ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่มันจะ เราจะรู้ว่า เราเล่นได้ขนาดไหน แล้วมันจะกลับมาเป็นรางวัล เป็นโบนัสให้คุณ
เมื่อวงดนตรีมีมาตรฐาน การเป็นที่ยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ช่วงที่ยังไม่ถึงจุดนั้น เราต้องไม่ท้อ ทำไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์มันไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว เหมือนการประกวดดนตรี แต่ทุกวันที่เราทำ มันก็จะทำให้เราเล่นได้ดีขึ้น เหมือนกับการแข่งวิ่ง เราซ้อมทุกวัน กล้ามเนื้อเราพร้อม โอกาสในการนำเสนอมีมากขึ้น เพราะความสามารถเรามีมากขึ้น มีความพร้อมในการนำเสนออย่างมาก การโชว์ก็จะง่ายขึ้น ผลมันจะกลับมาแต่อาจจะช้า เราต้องมีความอดทน
พรมแดนของการนำเสนอดนตรีสู่ต่างประเทศ
ทีโบนเคยมีโอกาสได้ไปเล่นคอนเสิร์ตต่างประเทศบ่อย เช่น Glastonbury Festival ทีโบนทำการแสดงมาแล้ว 2 รอบ ปัจจุบัน ทีโบนยังได้รับคำเชิญแต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะเราเป็นวงดนตรีวงใหญ่ ผู้จัดเทศกาลให้ตั๋วเครื่องบินกับเราเพียง 6 ใบ พร้อมกับค่าตัว แต่ทีโบนมีนักดนตรี 9 คน ซาวด์เอ็นจีเนียและผู้จัดการวงดนตรี รวม 11 คน เราต้องนำเงินค่าตัวมาซื้อตั๋วเครื่องบิน การแสดง Glastonbury Festival ครั้งแรก ผมได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ครั้งที่ 2 ผมได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ส่วน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็สนับสนุนเรื่องตั๋วเครื่องบิน สำหรับปี 2566 เรามีโปรแกรมทัวส์คอนเสิร์ตที่ฮ่องกง ในงาน ฟรีสเปส แจ๊ส เฟสติวัล ทีโบนเคยเล่นต่างประเทศบ่อยมาก เล่นให้ต่างชาติดูก็ท้าทายดี มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะเวลาเราไปเราจะเห็นวงดนตรีที่เล่นดนตรีเก่ง วงดนตรีที่สนุก วงดนตรีที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น ผมคิดว่าเป็นโชคดี
ปัจจุบัน การข้ามพรมแดนเพื่อเล่นดนตรีในต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ วงดนตรีไทยยุคปัจจุบันทำบทเพลงสากลพราะเขาอาจจะคิดว่า เมื่อมีเพลงภาษาอังกฤษ คนจะฟังเยอะขึ้น ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย ความจริงอยู่ที่วิธีการนำเสนอ เหมือนวงดนตรีหมอลำไปเล่นต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็สนุก ชาวต่างชาติเมื่อฟังเพลงสากลมากๆ เขาเลือกที่จะไม่ฟังเพราะรู้สึกว่า ชาติของเขาสามารถทำเพลงสากลได้ดีกว่า “ทีโบน” เป็นวงดนตรี สกา เรกเก้ แต่เนื้อหาเป็นภาษาไทย เป็นเพลงไทย มันกลายป็นสิ่งใหม่ แต่ถ้าเราร้องเพลงภาษาอังกฤษแนวนีโอโซล เขาก็จะรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่เขาทำอยู่ ประเทศของเขาทำอยู่ ทางเลือกก็จะน้อยลง
ยุคสมัยปัจจุบัน พรมแดนการนำเสนอไม่มี ผมว่าการนำเสนอดนตรีเราไม่ต้องพยายามเปลี่ยนสัญชาติตนเอง อย่าดูถูกภาษาของตนเอง อย่าคิดว่า ความเป็นไทยเป็นสิ่งล้าสมัย ต้องนำเอาสิ่งที่เรียกว่าชนชาติของตนเองนำเสนอให้ร่วมสมัยขึ้น ไม่ควรเอาความเป็นฝรั่งมาขายให้ฝรั่ง ดนตรีคือส่วนผสมเหมือนการทำอาหาร test หรือรสชาติมีทางเลือกเยอะ บางทีก็ต้องผสมผสานให้คนต่างชาติเขากินง่ายขึ้น สิ่งนี้เป็นโจทย์ ผมอยากให้ดูวงดนตรีหมอลำทำการแสดงในต่างประเทศ สนุกสนานมาก มันส์สุด เต้นรำกันอย่างสุนกสนาน การเดินทางไปเล่นดนตรีที่ต่างประเทศลำบากมาก ผมอยากมีกีตาร์เล็กๆ แต่เสียงดี เพราะช่วงหลังการเดินทาง ผมเดินทางไปอังกฤษปรากฎว่าระหว่างการเดินทาง ลูกบิดพัง หัก ตอนเล่นโตเกียวสกา ก็มีปัญหาเรื่องกีตาร์
ช่วงหลังผมอยากได้กีตาร์ตัวเล็ก ผมมีเพื่อนชื่อฮาวเวส เป็นมือกีตาร์อยู่นิวยอร์ค แนะนำให้ซื้อกีตาร์ตัวที่ผมเล่นอยู่ คือ กีตาร์ไอซ์แลนด์ตัวสีฟ้า บอดี้ ทำจากไม้ในคอกม้ามีอายุร้อยกว่าปี การสั่นสะเทือนของไม้ดีมาก เป็นกีตาร์ที่เสียงดีมาก มีช่างทำกีตาร์ชาวไทยพยายามเลียนแบบเยอะมาก แต่ก็ทำไม่เหมือน เพราะช่างทำกีตาร์ลืมนึกไปว่า เสียงของกีตาร์ไม่ใช่เรื่องของการดีไซน์แต่เป็นเรื่องของไม้ ผมมีกีตาร์เยอะมาก แต่เมื่อรู้สึกว่าเล่นแล้วไม่สบาย ผมก็ขายแล้วใช้กีตาร์ตัวเดิม ซึ่งทำให้ผมพบว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของกีตาร์ที่เราเล่น เมื่อเราหากีตาร์ตัวนั้นเจอ มันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ผมพบกีตาร์ตัวนั้นมานาน ผมใช้กีตาร์ Klein มันออกแบบสำหรับสรีระของการยืน ดังนั้น เมื่อผมแคร์เรื่องนี้ ผมก็ไม่แคร์เรื่องกีตาร์หน้าตาปกติ
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)