สุวิทย์ ใจป้อม คือศิลปินวาดภาพเครยอง เขาเติบโตจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เขาชื่นชอบศิลปะตั้งแต่เด็กจึงเลือกเรียนศิลปะ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง และจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำงานตำแหน่ง บรรณาธิการฝ่ายศิลป์หนังสือพิมพ์โลกเศรษฐกิจ ทำงานตำแหน่งคลีเอทีฟบริษัทโฆษณา นานกว่า 20 ปี เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อทำงานศิลปะอย่างจริงจัง ปัจจุบัน สุวิทย์ ใจป้อม ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) องค์กรสำคัญทำหน้าที่ผลักดันให้งานศิลปะกรรมนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ (Thailand Biennale) เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างตื่นตาตื่นใจ

ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของเชียงราย

ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) หมายถึงสะพานเชื่อมศิลปะสู่สังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2552 แต่ต้องกล่าวย้อนถึงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ศิลปินเชียงรายยุคแรกหรือ “เก้าสล่า” ประกอบด้วย ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, จำรัส พรหมมินทร์, สมพงษ์ สารทรัพย์, สมพล ยารังษี, สุเทพ นวลนุช, ฉลอง พินิจสุวรรณ, ยอดชาย ฉลองกิจสกุล และเรวัตร ดีแก้ว ศิลปินเชียงรายรวมตัวกันมานานและมีจำนวนมากขึ้น กิจกรรมทางศิลปะจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทบาทของศิลปินในสังคมจึงมีมาก ยุคต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลงานศิลปะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า โดยมีศิลปินคือ สมพงษ์ สารทรัพย์, สมลักษณ์ ปันติบุญ, พานทอง แสนจันทร์ ,ทรงเดช ทิพย์ทอง และศิลปินอีกหลายท่าน

ภายหลังกลับจากนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ ศิลปินหลายท่านก็เกิดแนวคิดที่จะสร้างหอศิลป์ของตนเอง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มอบงบประมาณ 500,000 บาท และมีการระดมทุนหุ้นละ 2,000 บาท รวบรวมงบประมาณได้ 10 ล้านบาท ก่อตั้งสมาคมขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) มีการเลือกตั้งอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ เป็นนายกสมาคมคนแรก อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง เป็นนายกสมาคมคนที่สอง ผมถูกรับเลือกเป็นนายกสมาคมคนที่สาม

พันธกิจของขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) คือการเชื่อมโยงผู้คน ศิลปะและวัฒนธรรม เราใช้ศิลปะเชื่อมโยงกับทุกสิ่ง ใช้ศิลปะทำงานกับสังคม ทำงานกับภาครัฐ กิจกรรมสำคัญของขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) เช่น กิจกรรมวาดภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช , กิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเพื่อกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” ,กิจกรรมการภาพวาดเดอะฮีโร่โดยศิลปินกว่า 300 ชีวิต , กิจกรรมครั้งต่อไปคือ งานศิลปะกรรมนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ (Thailand Biennale)

ผมถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า เหตุใดจึงสามารถรวมตัวศิลปินได้จำนวนมากมายขนาดนั้น ทั้งที่การรวมตัวศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย ผมไม่ใช่นักบริหารจัดการศิลปะที่ดีที่สุดเพราะศิลปินมีความละอียดอ่อน มีอัตตา ผมตอบกับทุกคนเสมอว่า พวกเรามีพี่น้อง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นพี่ที่คอยดูแลศิลปินรุ่นน้องที่เติบโต

ศิลปินทุกคนรักกัน เอางานศิลปะมาดูให้คำแนะนำแก่กัน รุ่นพี่คอยแนะนำรุ่นน้อง หลายคนกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) มีสมาชิกทั่วประเทศ 700 – 800 คน ศิลปินในพื้นที่มีประมาณ 300 คน ศิลปินหลายคนย้ายถิ่นมาอยู่จังหวัดเชียงรายพราะเขาเห็นว่าเชียงรายมีกิจกรรมทางศิลปะให้เล่นให้ทำ การทำงานศิลปะอาจดูโดดเดี่ยวในจังหวัดอื่น แต่ที่จังหวัดเชียงราย เรามีสังคมของคนทำงานศิลปะ ศิลปินแทบจะเดินชนกัน ใกล้ชิดกัน รู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน สมาชิกขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) จึงเพิ่มพูนมากขึ้น

ศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

เดือน พฤศจิกายน 2566 งานศิลปกรรมนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ จะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ระยะเวลาการแสดงผลงานศิลปะใช้เวลา 4-5 เดือน เราเรียนรู้เรื่องการจัดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ ครั้งที่สองนครราชสีมา ประเด็นสำคัญของการจัดงานคือการมีส่วนร่วมของศิลปินในกิจกรรม เชียงรายเป็นแม่แบบของศิลปินที่มีจำนวนมาก เราต้องเอาศิลปินเชียงรายเป็นแนวหน้า เราต้องออกแบบเพื่อให้ผู้คนเดินมาหาเราที่เชียงราย

เราต้องสร้างเพื่ออัตลักษณ์ของศิลปินภาคเหนือ หรือศิลปินไทย ศิลปกรรมนานานชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ คือความเป็นสากล มีศิลปินต่างประเทศร่วมกิจกรรม เราต้องการให้ศิลปินไทยอยู่ในระดับสากล เราต้องผลักดันทำให้คนรู้จักศิลปินไทยให้มากที่สุด

ชุมชนต้องได้อะไรจากผลงานศิลปะ ชุมชนต้องมีการรับรู้ความหมายศิลปะ ต้องมีการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับศิลปิน ผลงานศิลปะที่สรรค์สร้าง ชุมชนต้องอธิบายให้ได้ว่า ผลงานศิลปะมีความหมายอย่างไร รอบอาณาบริเวณแสดงผลงานในชุมชนจะมีศิลปิน ร้านค้าท้องถิ่น นักท่องเที่ยวจะมองเห็นชุมชนเป็นคนดูแล ศิลปิน ศิลปะ เศรษฐกิจชุมชน จะบูรณาการพร้อมกัน ตอนนี้เราค้นหาข้อมูลพื้นที่แสดงผลงานศิลปะในพื้นที่ 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย เราต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่อง ข้อมูล ทิวทัศน์ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม สถานที่พัก ร้านอาหาร เมนูอาหาร เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการทำงานของศิลปินระดับโลก โดยศิลปินเป็นผู้เลือกว่า อยากให้ผลงานของเขาถูกแสดงในสถานที่ใด เราสามารถใช้ศิลปินสร้างสัมพันธ์กับส่วนราชการ ศิลปินจะมีคุณค่าเพราะเขาได้ทำประโยชน์ต่อสังคม นั่นคือแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้

เรากำลังประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เราต้องการสื่อสารการรับรู้กับผู้นำชุมชน เราต้องการสื่อสารกับเด็กและเยาวชนโดยมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นผู้นำ เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องความงามสุนทรียะ ตอนนี้ศิลปินเชียงรายกำลังร่วมกัน ทำธงไทยแลนด์เบียนนาเล่ โดยจะเปิดแถลงข่าว จัดนิทรรศการวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ณ หอศิลป์แทนคุณ วัดร่องขุ่น หลังจากนั้นจะเปิดตัวภัณฑารักษ์หรือคณะผู้ดูแลไทยแลนด์เบียนนาเล่ ซึ่งเราใช้ภัณฑารักษ์คนไทย มีการเชิญศิลปิน Site visit ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ศิลปินจะเริ่มปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ช่วงมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2566 ศิลปินสร้างงานและนำผลงานมาติดตั้งจัดแสดง พฤษจิกายน พ.ศ.2566 จะมีผลงานศิลปะถูกจัดแสดงทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงราย

บทบาท ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) ในไทยแลนด์เบียนนาเล่

ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) เป็นแกนกลางของการนำเสนองานศิลปกรรมนานานชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ พื้นที่จังหวัดเชียงรายมีบ้านศิลปินตั้งอยู่จำนวน 60 หลัง บ้านศิลปินจะเป็นส่วนหนึ่งในงาน บ้านศิลปินบางหลังเป็นที่พัก เป็นสถานที่สร้างผลงานศิลปะ เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราทำมาแล้ว จะเห็นว่า ผู้ประกอบการโรงแรมอยากให้ผลงานศิลปะไปจัดแสดง เช่น โรงแรม The Riverie by Katathani และโรงแรม  Le Méridien นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขายผลงานโดยติดต่อผ่านศิลปินโดยตรงผ่านคิวอาร์โค้ด ตอนนี้เรากำลังขอพื้นที่สนามบินเพื่อจัดแสดงผลงานทางศิลปะ ผลงานศิลปะอาจถูกจัดแสดงหลายพื้นที่ เช่น ไร่เชิญตะวัน โรงแรม โรงพยาบาล มาหาวิทยาลัย และสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย

นับเป็นโอกาสอันดีเพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายคนชื่นชอบผลงานศิลปะแต่ไม่เคยเห็นหน้าตาศิลปิน หรือบางคนเคยเห็นหน้าตาศิลปินแต่ไม่เคยเห็นผลงาน ศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จะมีการนำเสนอควบคู่กันระหว่างตัวตนศิลปินและผลงานศิลปะ แต่สิ่งที่เราต้องการนำเสนอให้ชัดเจนมากที่สุดคือ ภาพของการรวมตัวศิลปินไทยการบริหารจัดการ ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสามารถรวมตัวศิลปินได้มากที่สุดของประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับ ภาครัฐ ชุมชน สถานการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนศิลปินไทยให้เติบโตสู่สากลได้ดีที่สุด

สิ่งที่เราต้องการคืองบประมาณ ขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiangrai) มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ เราเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ดีและมีคุณภาพ เรามีบทเรียนจากศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale ซึ่งจัดขึ้น จังหวัดกระบี่และจังหวัดนครราชสีมา  ภาครัฐมีระเบียบการใช้จ่ายเงิน ส่วนราชการถูกตรวจสอบ กลายเป็นข้อจำกัดต่อการทำงานศิลปะ ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานบางอย่างได้ หรือสามารถทำได้แต่ทำได้อย่างไม่เต็มที่ ผมคิดว่าภาครัฐควรให้กลุ่มศิลปินบริหารงบประมาณ ให้ศิลปินทำงานจากความคิดอันสุดยอดของเขา

ชุมชนได้อะไรจาก ศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

เมื่อมีผลงานศิลปะระดับโลกอยู่ในพื้นที่เชียงราย เชียงรายจะไม่เงียบเหงา ผลงานศิลปะจะมีคนคอยเข้าไปดูแล มีคำอธิบาย ผลงานศิลปะที่ตั้งไว้จะอยู่อย่างถาวร ชาวบ้านจะช่วยกันดูแล ความยั่งยืนจะเกิดขึ้น ศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เป็นงานครั้งแรกและอาจเป็นครั้งสุดท้าย มันอาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในเชียงราย ผมเคยเดินทางไปดูงานศิลปะเบียนนาเล่ในอิตาลีและสิงคโปร์ พวกเขาทำได้ดีมาก พวกเขาช่วยกันสร้างเทศกาลศิลปะกันทั้งเมือง ทั้งประเทศ เริ่มตั้งแต่ที่พัก ร้านอาหาร การประชาสัมพันธ์ ประเทศไทยกำลังจะเป็นแบบนั้น จังหวัดเชียงรายจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว

ผลงานศิลปะซึ่งถูกสร้างสรรค์ต้องเป็นของชุมชน ชุมชนสามารถนำผลงานศิลปะไปใช้ประโยชน์อย่างไร ใช้อย่างพอเหมาะพอควร ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลงานศิลปะหรือตัวศิลปิน ศิลปินระดับโลกในงานเบียนนาเล่ ด้วยชื่อเสียงของศิลปินผลงานศิลปะมีราคา 4-5 ล้านบาท การเลือกศิลปินเราดูจากประวัติการทำงานของศิลปิน ก่อนจะเลือกศิลปินเรามีต้องข้อมูลส่วนตัว เรียนรู้รูปแบบการทำงานของเขา ตรวจสอบอารมณ์ของเขา ศิลปินก็เหมือนนักรบที่เรานำเข้ามาทำงานในประเทศ บางคนชอบธรรมชาติป่าไม้เราก็จะจัดหาสถานที่อันเหมาะสมให้เขาเลือกให้เขาทำงาน ศิลปินบางคนชอบโบราณสถานเราก็ให้เขาเลือกทำงานตามแนวทางที่ใกล้เคียงกับเขา ศิลปินบางคนอาศัยอยู่เมืองเราจัดให้พักอาศัยอยู่บนดอยศิลปินก็คงไม่ชอบ

หลังเสร็จสิ้นงานศิลปะกรรมนานานชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ ผลงานศิลปะจะกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐและชุมชน แต่ทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ยังคงเป็นของศิลปิน ภายหลังจากการสร้างสรรค์ผลงานเสร็จสิ้น จะต้องมีตัวแทนการลงนามในสัญญาเพื่อบันทึกไว้ว่า ผลงานสร้างสรรค์แต่ละชิ้น รัฐหรือชุมชนสามารถนำสิขสิทธิ์ของผลงานศิลปะไปใช้ประโยชน์ได้ในด้านใดบ้าง เพราะผลงานของศิลปินระดับโลกได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยในช่วงระหว่างเวลาที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในประเทศ เราก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับศิลปินด้วยว่า ศิลปินอนุญาตให้ชุมชนนำลิขสิทธิ์ในผลงานของเขาไปใช้ประโยชน์อันใดได้บ้าง ผมเชื่อว่านั่นจะกลายเป็นภาพรวมของศิลปินเบียนนาเล่คอยติดตามชม ศิลปกรรมนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่ยิ่งใหญ่ ที่เหนือสุดสยามนามเชียงรายครับ

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)