พานทอง แสนจันทร์ คือศิลปินเชียงราย ผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยด้วยการนำเสนอภาพความรู้สึกบนใบหน้าพระพุทธรูป นักสะสมผลงานศิลปะชาวต่างชาติชื่นชมและนิยมเก็บสะสมผลงานของเขา นั่นทำให้พานทอง แสนจันทร์ มีชื่อเสียงและมั่นใจว่า เขาสามารถเลี้ยงตนเองด้วยอาชีพศิลปินอิสระ เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ กลับมาทำงานศิลปะอย่างจริงจังที่บ้านเกิดของตน สร้างเครือข่ายศิลปิน ทำงานศิลปะเชื่อมโยงสังคม สร้างการมีส่วนร่วม ทำให้ผู้คนได้เห็นประโยชน์ของศิลปะ เขาใช้ศิลปะในการทำกิจกรรมและเทศกาลสำคัญของประเทศไทยได้อย่างตื่นตาตื่นใจ

ภาพความรู้สึกบนใบหน้าพระพุทธรูป

ผมเป็นคนเชียงราย เกิดที่อำเภอพาน ชอบเรียนศิลปะและสอบได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะตั้งแต่เด็ก ผมเรียนศิลปะจนจบการศึกษา ปวส. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ,ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน เริ่มประสบการณ์ทำงานจากฝ่ายโฆษณาบริษัทเอกชน ทำหน้าที่วางแผนการตลาด การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา หลังจากนั้นทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนวิชาศิลปะ วาดภาพและแสดงผลงานในแกลเลอรีร่วมกับกลุ่มศิลปินต่างๆ

ผมนำเสนองานศิลปะผ่านเรื่องราวปฏิมากรรมพุทธคยา วัดเจ็ดยอด (โพธารามวิหาร) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานของผมจึงประกอบด้วย พระพุทธรูป ความเก่าแก่ ความขลัง แสง สีและเงา เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ผู้ที่ชื่นชมและนิยมเก็บสะสมผลงานของผมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ผมเคยมีรายได้จากผลงานศิลปะถึงเดือนละหนึ่งแสนบาท นั่นทำให้ผมมั่นใจว่า อาชีพศิลปินสามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีวิต

ผมทำงานศิลปะอย่างจริงจัง จัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะที่ 9 Art Gallery ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ช่วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ผลงานศิลปะของผมถูกเลียนแบบและวางจำหน่ายอยู่ทั่วทุกมุมถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ หลายปีต่อมา ผมเดินทางชมงานนิทรรศการศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศจีน ผมยังพบงานเลียนแบบผลงานของผม ผมรู้สึกภูมิใจและเห็นใจผู้ที่เขียนภาพเลียนแบบ เพราะเขาก็ต้องการเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตเหมือนกับผม ช่วงหลัง ผมจึงพัฒนาผลงานให้มีความเป็นตัวตนมากขึ้น

การเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ เป็นผลจากความพยายามสร้างหอศิลป์เชียงราย แม้โครงการจะถูกล้มเลิก แต่เราก็ผลักดันโครงการบ้านศิลปินและโครงการแสดงผลงานศิลปะที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงราย การรวมตัวเรียกร้องเพื่อให้เกิดหอศิลป์ไม่ไร้ประโยชน์ แต่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้รวบรวมศิลปินเชียงรายและบริจากเงินงบประมาณเพื่อก่อตั้งขัวศิลปะเชียงราย ส่งผลให้ศิลปินมีบทบาทต่อสังคมมากขึ้น

มุมมองทางศิลปะนอกเฟรมเขียนรูป

ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ศิลปินมีบทบาทต่องานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา หรือมีบทบาทในกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การวาดภาพให้กับวัด วาดภาพให้กับโรงเรียน กลุ่มศิลปินสมทบเงินเป็นกองทุนสำหรับทำงานศิลปะ พวกเราทำโครงการสร้างหอศิลป์ประจำอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทำโครงการบ้านศิลปินอันมีลักษณะเหมือนหอศิลป์กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ นักเรียน นักศึกษา ผู้คนที่สนใจ สามารถศึกษาดูงานหรือร่วมกิจกรรม ศิลปะจึงอยู่ใกล้ผู้คน อยู่ในชุมชน ผู้คนทั่วไปสามารถมองเห็นศิลปะได้ง่ายๆ ศิลปะจึงมิใช่ของสูง ยากเกินกว่าจะเข้าใจ

ตัวอย่างเช่น เทศกาลเครื่องจักสานซึ่งเป็นงานแสดงศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นประเทศไทย ศิลปินออกจะเป็นผู้ออกแบบโครงร่างเครื่องจักสาน เช่น สัตว์ประหลาด (แมงสีหูห้าตา) วัด สัตว์ นักกีฬา ฯลฯ เมื่อทำโครงร่างไม้ไผ่แล้วเสร็จ ศฺิลปินจะให้ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญจักสานไม้ไผ่ตามรูปแบบ หลังจากนั้น ส่งผลงานเข้าประกวดจนได้รับรางวัลที่ 3 ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะชาวบ้านรู้สึกหวงแหนผลงานศิลปะ เขาเริ่มมองเห็นความสำคัญของศิลปะ เข้าใจความดีงามของศิลปะ

เดี๋ยวนี้ เมื่อใกล้เวลางานเทศกาล ชาวบ้านจะนึกถึงศิลปิน อยากให้ศิลปินมีส่วนร่วมกับเทศกาล ตัวอย่างเช่น เทศกาลปลา ชาวบ้านก็อยากให้ศิลปินทำผลงานศิลปะเกี่ยวกับปลาเพื่อนำไปแสดงในเทศกาล หรือ เทศกาลฤดูหนาว พวกเราทำงานศิลปะได้รับรางวัลที่ 1 ของจังหวัด โดยชาวบ้านสร้างหุ่นไล่กากว่า 200 ตัว นำไปแสดงในงานกาชาติจังหวัดเชียงราย หุ่นไล่กามีความงดงามมีลักษณะเฉพาะตน เมื่อนำหุ่นไล่กาจำนวนมากแสดงในงานเทศกาลพร้อมกัน ก็ทำให้เกิดพลังและความสะเทือนใจ ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจศิลปะ แต่พวกเขาทำงานศิลปะได้เป็นอย่างดี

สร้างถนนศิลปะเชื่อมโยง Thailand Biennale 2023

อีกไม่นาน เราจะทำโครงการถนนศิลปะซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอำเภอพาน ระยะทาง 3 กิโลเมตร ตั้งแต่บริเวณวัดไชยมงคลถึงหกแยกอำเภอพาน สมัยก่อนบริเวณนี้เรียกว่า “ถนนสายมังกร” พื้นที่ว่างบนตึก สิ่งก่อสร้าง จะกลายเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ ผมกำลังหางบประมาณโครงการด้วยการจัดการประมูลผลงานศิลปะ

ศิลปินจะมีพื้นที่แสดงความสามารถและตัวตน พื้นที่ระยะทาง 3 กิโลเมตร จะสร้างจุดสนใจให้กับนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านทาง ตอนนี้ โครงการได้รับการอนุมัติจากนายอำเภอพาน อยู่ระหว่างประชุมระดมความคิดซึ่งถนนศิลปะจะเชื่อมโยงกับเทศกาล Thailand Biennale 2023 ถนนศิลปะจะเป็นสิ่งดึงดูดศิลปินระดับโลกมาทำงานกับพวกเรา ศิลปะจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ผมอยากให้อำเภอพานเป็นที่กล่าวถึงในกลุ่มนักท่องเที่ยว

ผมยังมองหาความช่วยเหลือจากภาครัฐในการทำโครงการ สำหรับ Thailand Biennale 2023 เขามีประงบประมาณแต่ถูกใช้จ่ายเป็นค่าจ้างศิลปินระดับโลก หากภาครัฐมีงบประมาณสนับสนุนโครงการ เพื่อให้ศิลปินท้องถิ่นได้ทำงานก็เป็นเรื่องดีมาก เพราะศิลปินไม่ต้องดิ้นรนหางบประมาณเพื่อทำโครงการเอง ตอนนี้ผมพูดคุยกับผู้อำนวยการสถานศึกษา ขอให้เด็กนักเรียนมาร่วมกิจกรรมศิลปะ โดยกลุ่มศิลปินจะใช้เงินกองทุนสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ค่ากับข้าว ค่าขนม พร้อมทั้งให้ศิลปินที่ร่วมโครงการช่วยสอนศิลปะ ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนไปด้วย

กระบวนการพัฒนาศิลปะของนักศึกษา

อาจารย์สอนหลักพื้นฐานศิลปะ เรื่องทัศนธาตุ (Visual Elements) ตรรกะ (Logic) ทฤษฎีสี (Color Theory) การวาดเส้น (Drawing) สอนให้รู้ว่าเส้นนำความรู้สึกของเราอย่างไร การเขียนภาพความเศร้าทำอย่างไร ลายเส้นแบบไหนที่ทำให้คนรู้สึกเศร้า หม่นหมอง หรือบางครั้งเราอยากเขียนความรู้สึกโดดเดี่ยว การแสดงออกถึงความโดดเดี่ยวเป็นภาพวาด อาจมีเพียงสิ่งเล็กๆ ซึ่งถูกจัดวางบนพื้นที่กว้างๆ ทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว 

ความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติถูกสอนให้กับนักศึกษา หลังจากนั้น นักศึกษาจึงนำความรู้มารวมกันเพื่อสร้างผลงานของตนเอง การทำงานศิลปะคือการคำนวนสัดส่วน รูปทรงโดยไม่มีการวัด เป็นการคำนวนด้วยสมอง ประสบการณ์ ทักษะ สิ่งเหล่านี้ทำให้งานศิลปะเป็นที่ยอมรับ เมื่อมองลงลึกในผลงานศิลปะ ความเป็นตัวตนของศิลปินจะแสดงออกในผลงาน เรื่องเหล่านี้นักศึกษาไม่มีทางเข้าใจ จนกว่าเขาจะพัฒนาไปจนถึงขั้นที่สามารถทำงานเป็นตัวตนแล้ว

ศิลปินที่มีประสบการณ์ ทำงานศิลปะจำนวนมาก เมื่อเกิดความคิดหรือมีภาพบางอย่างเกิดขึ้น เราต้องรีบจดบันทึก หลังจากนั้นจึงนำเรื่องราวมาเขียน ตัวอย่างเช่น บางครั้งมองเห็นนกบินอยู่บนท้องฟ้า ก็รู้สึกได้ถึงความโดดเดี่ยว เราก็คิดว่า เราจะนำความรู้สึกโดดเดี่ยวแบบนี้มาเขียนเป็นภาพวาดได้อย่างไร ศิลปะเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก  

ผมไม่สามารถสอนนักศึกษาศิลปะให้เก่งขึ้นภายในวันเดียว แต่ผมสอนหัวใจของความรู้ เพื่อนำไปพัฒนา ทำให้เขากลายเป็นคนที่สร้างผลงานศิลปะที่ดีได้ ยุคสมัยก่อนเราต้องฝึกฝนอย่างมากเพื่อวัดสัดส่วนและแรเงา แต่ปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การฉายโปรเจ๊กเตอร์เพื่อให้เห็นสัดส่วนรูปภาพบนเฟรม เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องแล้วจึงค่อยเขียนโครงร่าง หลังจากนั้นจึงใช้ทักษะด้านศิลปะในการเขียน การลงสีแสงเงาซึ่งเป็นเรื่องทักษะและประสบการณ์

เทคนิคทางศิลปะมีหลากหลาย การใช้เทคนิคทางศิลปะสามารถเป็นความเฉพาะตัวได้ เช่น ศรีใจ กันทะวัง ศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ ( Woodcut ) นักเรียนศิลปะที่ค้นพบตัวตนด้วยเทคนิค ปัจจุบันผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับของกลุ่มศิลปินและเป็นรู้จักอย่างแพร่ในกลุ่มนักเก็บสะสมผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะอีกประเภทคือการนำเสนอความคิดทางศิลปะ เช่น มณเฑียร บุญมา นำเสนองานศิลปะด้วยการสร้างสื่อผสม จัดวางผลงานศิลปะไว้บนสถานที่เฉพาะเจาะจง เช่น นำกระถางดอกไม้มาจัดวาง หลังจากนั้นทุบกระถางเหล่านั้นทิ้ง เพื่อบอกเล่าการก่อเกิดและการสูญสลาย เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ หรือตัวอย่างผลงานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช นำเสนอผลงานศิลปะด้วยการเอาผัดไทยไปแสดงในงานศิลปะระดับโลก

ศิลปินทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพ

การทำให้คนไทยเข้าใจศิลปะเป็นเรื่องยาก ผู้คนจำนวนมากยังหิวโหย มีฐานะยากจน บางคนแม้ร่ำรวยแต่ไม่เห็นความสำคัญของศิลปะ เขาไม่เห็นประโยชน์ของศิลปะ เพื่อนคนหนึ่งของผมเป็นนักสะสมกลองมโหระทึกซึ่งเป็นกลองโบราณ บางครั้งเขาก็ขายกลองโบราณได้กำไรเพียงเล็กน้อย ผมแนะนำให้เขาสะสมผลงานศิลปะ ตอนนี้หัวใจของเขารู้สึกได้ถึงความงาม รู้สึกถึงความแตกต่าง เข้าใจมูลค่าของงานศิลปะ ปัจจุบัน งานศิลปะหลายชิ้นที่เขาเก็บสะสมราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว

นักสะสมงานศิลปะคนไทยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นนักสะสมเพื่อขายเก็งกำไร นักสะสมผลงานศิลปะอย่างเช่น คุณบุญชัย เบญจรงคกุล หรือ คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี มีน้อยมากในเมืองไทย แม้แต่หอศิลป์ระดับโลก ก็ไม่นิยมซื้อผลงานศิลปะเก็บสะสมไว้ เพราะงานศิลปะราคาสูงเป็นภาระในการดูแลรักษา การจัดนิทรรศการผลงานศิลปะในหอศิลป์ทั่วโลก จึงมีลักษณะเป็นงานกิจกรรม

ผมทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำงานศิลปะด้วยสิ่งที่มีในตัวตน ทำงานศิลปะด้วยสิ่งที่ซ่อนไว้ในตัวตน แต่คนทั่วไปจะมองเห็นหรือไม่ บางคนยอมซื้อผลงานศิลปะตามราคาที่กำหนดไว้ นั่นแสดงว่า เขามองเห็นคุณค่าผลงานศิลปะของเรา หากถามผมว่า ผลงานศิลปะเป็นสินค้าหรือไม่ คำตอบก็คือ ศิลปะเป็นสินค้า อย่าคิดมาก คิดเสียว่าการทำงานศิลปะเป็นการทำงานเลี้ยงชีพ เราขายภาพจำนวน 1 ภาพ การขายนั้นก็ทำให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้ อย่าคาดหวังไว้สูง คาดหวังว่าตนจะประสบความสำเร็จเป็นศิลปินแห่งชาติ นอกเสียจากว่า เราจะมีชีวิตอยู่แล้ว จะทำอะไรให้กับสังคมได้มากกว่าเดิม

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)