ความนิยมรับประทานเนื้อโคมีมายาวนาน ด้วยคนไทยใช้เนื้อโคประกอบอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ลาบขม ต้มอ่อม จิ้นนึ่ง ลิ้นย่าง เรียกว่าวัฒนธรรมการรับประทานแบบ “เนื้ออุ่น” หรือการใช้เนื้อสดประกอบอาหาร ส่วนวัฒนธรรมการรับประทานแบบ “เนื้อเย็น” คือวัฒนธรรมยุโรปซึ่งเนื้อโคจากโรงเชือดต้องแช่แข็งประมาณ 10-14 วัน เพื่อให้เนื้อมีจุลินทรีย์ย่อยทำให้เนื้อแช่เย็นนุ่ม แต่คนไทยจำนวนน้อยคนนักจะทราบว่า เนื้อโคที่รับประทานกันส่วนหนึ่งมาจากโคปลดระวางซึ่งเดินทางไกลจากอินเดียและปากีสถาน

โคจากอินเดียและปากีสถาน

วัฒนธรรมชาวอินเดีย เคารพโคผู้เป็นพาหนะของพระผู้เป็นเจ้า ชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่ฆ่าและรับประทานเนื้อโค โดย พ.ศ. 2519 อินเดียร่างกฎหมายห้ามฆ่าแม่โคและลูกโค ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายห้ามมิให้ฆ่าโคทุกประเภท กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในหลายรัฐของอินเดีย เหลือเพียงบางรัฐที่มีชาวมุสลิมหนาแน่น ที่ยังได้รับอนุญาตให้ฆ่าโคเพื่อเลี้ยงชีพ ส่งผลให้โคอินเดียซึ่งมีจำนวนมากถึง 245 ล้านตัว แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว

ย้อนกลับไปเรียนรู้พื้นฐานของโคซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1. โคใช้งาน (Draft type) เลี้ยงเพื่อเป็นพาหนะและใช้แรงงาน

2. โคเนื้อ (Beef type) โคเนื้อในระบบเลี้ยงขุนเพื่อใช้เป็นอาหาร

3. โคนม (Dairy type) เป็นโคที่ให้นมมาก

4. โคกึ่งเนื้อกึ่งนม (Dual Purpose type) เป็นโคกึ่งกลางระหว่างโคเนื้อกับโคนม

“โค” คือสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศอินเดียและปากีสถาน โคใช้งานหรือโคปลดระวาง (Draft type) จะถูกเชือดใช้ประโยชน์จากหนังในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ส่วนเนื้อที่เหลือจากอุตสาหกรรมเครื่องหนัง จะถูกลำเลียงส่งออกต่างประเทศ ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่สั่งเนื้อโคคุณภาพต่ำหรือเนื้อที่เหลือจากอุตสาหกรรมเครื่องหนังของอินเดีย โดยเนื้อโคจะถูกบรรทุกในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งเทียบท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย หรืออาจขนส่งทางบกผ่านทางชายแดนประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านเบตง จังหวัดยะลา ประเทศไทย

การนำเข้าเนื้อโคถือว่าผิดกฎหมาย หลายปีที่ผ่านมา มีการจับกุมเนื้อโคแช่แข็งจากอินเดียและปากีสถานจำนวนมาก ด้วยเนื้อโคมีคุณภาพต่ำผ่านโรงเชือดไม่ได้มาตรฐาน ตรวจพบเชื้อโรคระบาด ภาครัฐจึงเร่งรัดให้มีการจับกุมเนื้อโคผิดกฎหมายอยู่เสมอ แต่ยังมีพ่อค้าชาวไทยหลายคนนิยมสั่งซื้อเนื้อโคคุณภาพต่ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานผลิตลูกชิ้นหรือซื้อเพื่อนำส่งให้กับเขียงเนื้อตามตลาดสด

นอกจากส่งออกเนื้อโคสดแช่แข็ง ประเทศอินเดียยังส่งออกโคมีชีวิต โดยโคมีชีวิตที่ส่งออกส่วนใหญ่คือโคใช้แรงงานหรือโคปลดระวาง (Draft type) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความอดทน ใช้เวลาเดินทางขนส่งด้วยรถยนต์ผ่าน อินเดีย บังกลาเทศ ถึงพม่า ใช้เวลาอย่างน้อย 27 วัน ตลอดระยะเวลาการเดินทางจะมีการหยุดพักใช้เส้นทางธรรมชาติเพื่อให้โคกินอาหารและผ่อนคลาย บางครั้งโคอินเดียอาจต้องเดินเท้าโดยใช้เส้นทางธรรมชาติเพื่อผ่านพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ

นับเป็นความยากลำบากของโคปลดระวาง โคหลายตัวอดอาหารและเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง น้ำหนักของโคจะลดลงจำนวนมาก ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงโครงกระดูก แต่ด้วยเป็นโคใช้แรงงาน (Draft type) สายพันธุ์โคพื้นเมืองของอินเดียและปากีสถาน อันเป็นต้นสายของโคสายพันธุ์บราห์มันจึงมีความทนทาน คาราวานฝูงโคจากอินเดียจึงเดินทางไกลจากอินเดียถึงประเทศพม่าโดยปลอดภัย แต่กระนั้นก็ตรวจพบร่องรอยของการเดินทางที่ปรากฏบนกีบเท้าที่ผุพัง โคบางตัวใส่เกือกลักษณะคล้ายกับเกือกม้าก็จะมีรูปร่างครบสมบูรณ์

ที่ประเทศพม่า พ่อค้าชาวไทยใหญ่รอรับซื้อโคมีชีวิตจากอินเดีย จากนั้นขายต่อให้กับพ่อค้าชาวเวียดนามซึ่งจะนำไปเลี้ยงขุนเพื่อส่งออกให้กับประเทศจีน ส่วนพ่อค้าชาวไทยจะรับซื้อโคปลดระวางเพื่อนำมาเลี้ยงขุนเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้น จำหน่ายในตลาดนัดโคกระบือ ส่งเข้าโรงเชือด หรือส่งออกต่างประเทศให้กับประเทศจีนหรือประเทศมาเลเซีย

เหตุผลที่พ่อค้าเลือกซื้อโคเนื้อจากประเทศไทย เพราะโคประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโคเนื้อ (Beef type) อยู่ในระบบการเลี้ยงขุนซึ่งมีมาตรฐาน แม้ประเทศไทยจะนำเข้าโคใช้งานปลดระวางจากพม่า แต่โคก็ผ่านกระบวนการคัดกรอง การตรวจโรค เข้าสู่ระบบการเลี้ยงขุนโคที่มีมาตรฐาน นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีนและมาเลเซียมายาวนาน ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงมีมาก   

มูลค่าตลาดเนื้อโคประเทศไทยคือ 41,810 ล้านบาท

ปัจจุบันตลาดเนื้อโคประเทศไทยมีมูลค่า 41,810 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ตลาดระดับล่าง, ตลาดระดับกลาง, ตลาดระดับสูง, แบ่งตามเกรดคุณภาพของเนื้อโดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ Prime Choice Select ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งจะดูลักษณะไขมันแทรกในเนื้อโคขุนที่มีอายุประมาณ 2 ปี  

ตลาดระดับล่างคือเนื้อโคเกรดต่ำสายพันธุ์โคพื้นเมือง – บราห์มัน เป็นโคใช้แรงงานมีอายุมากต้องปลดระวาง (Draft type) ลักษณะเนื้อโคเหนียวเกรดต่ำ มักนำส่งโรงงานทำลูกชิ้นหรือจำหน่ายตามเขียงเนื้อตลาดสด มีส่วนแบ่งทางการตลาด 40 เปอร์เซ็นต์

ตลาดระดับกลาง คือโคเนื้อที่ผ่านระบบการเลี้ยงขุนคุณภาพเนื้อระดับปานกลาง เนื้อมีความนุ่มแต่ไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับระยะเวลาการขุนหรืออายุของโคเนื้อ การจำหน่ายมีทั้งจำหน่ายแบบเนื้อสดหรือจำหน่ายแบบเนื้อแช่แข็งซึ่งมีกระบวนการบ่มเนื้อ เนื้อโคขุนตลาดระดับกลางเป็นเนื้อคุณภาพ ลักษณะเนื้อนุ่มสามารถประกอบเมนูอาหารไทยได้รสอร่อย นอกจากนั้นเนื้อโคขุนตลาดระดับกลางสามารถแช่แข็งบ่มเนื้อเพื่อทำเมนูอาหารแบบตะวันตกหรือเมนูอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี เนื้อโคตลาดระดับกลางเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 58 เปอร์เซ็นต์

ตลาดระดับสูง คือเนื้อโคจากต่างประเทศ ลักษณะเนื้อนุ่มมีไขมันแทรกตามเกรดมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา กระบวนการเลี้ยงขุนใช้เวลาขุนนาน 6 – 8 เดือน มีมาตรฐานการเลี้ยงขุน โรงเชือดได้มาตรฐาน มีการแช่แข็งบ่มเนื้อ มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลพ่อแม่พันธุ์และลักษณะการเลี้ยง ตลาดระดับสูงกำลังเติบโตเพราะความต้องการเนื้อโคขุนระดับพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น โรงแรมและร้านอาหารไทยนิยมเลือกซื้อเนื้อพรีเมียมเพื่อประกอบอาหารมากขึ้น ปัจจุบันตลาดเนื้อโคขุนพรีเมี่ยมเติบโตจาก 1 เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเกษตรกรชาวไทยสามารถผลิตเนื้อโคระดับพรีเมี่ยมป้อนสู่ตลาดได้มากขึ้น

จีนคือตลาดหลักของการส่งออกโคเนื้อ

จากข้อมูลกองสารวัตรและกักกันกรมปศุสัตว์ พบว่า การส่งออกโคเนื้อผ่านด่านจังหวัดเชียงรายมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เดือนมกราคม พ.ศ.2563 จำนวน 6,439 ตัว กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 4,102 ตัว มีนาคม 2563 จำนวน 4,425 ตัว เมษายน 2563 จำนวน 4,730 ตัว  พฤษภาคม 2563 จำนวน 2347 ตัว มิถุนายน 2563 จำนวน 700 ตัว เดือน กรกฎาคม 2563 – มีนาคม 2564 ไม่มีการส่งออกโคเนื้อให้ต่างประเทศผ่านด่านจังหวัดเชียงราย เพราะติดปัญหาไวรัสโควิท 2019

คาดการณ์เมื่อพ้นวิกฤตไวรัสโควิท 2019 ระบบการค้าชายแดนจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 มีการแถลงข่าวโดย กรมผลิตกสิกรรม สังกัดกรมใหญ่พลาธิการ กระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว ลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทสางเจี่ยง จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกสิกรรมครบวงจรเพื่อทำธุรกิจผลิตอาหารจากสัตว์ใหญ่ครบวงจรส่งขายกลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดตั้งบริษัททำฟาร์มและโรงงานแปรรูปเนื้อวัวครบวงจรมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ พร้อมขอโควตาส่งออกวัวไปจีนปีละ 4 แสนตัว

สอบถามข้อมูล อุทัย ตันกูล เจ้าของฟาร์มโคเนื้อ“คุณไทฟาร์ม” พ่อค้าโคเนื้อรายใหญ่จังหวัดพะเยา ให้ข้อมูลว่าตนเองเป็นพ่อค้าชาวไทยซึ่งส่งออกโคเนื้อให้กับพ่อค้าชาวจีนเดือนละ 500-600 ตัว แต่ตอนนี้ติดปัญหาวิกฤตไวรัสโควิท 2019 จึงต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจโดยเน้นการทำเครือข่ายเกษตรกร สร้างความร่วมมือในธุรกิจด้วยการประกันราคารับซื้อโคเนื้อ เพื่อส่งออกให้กับพ่อค้าชาวจีนโดยใช้โควต้าปลอดภาษีของ สปป.ลาว

ส่วนนายจำนงค์ มาคำ หรือ “นายฮ้อยเมืองเหนือ”เจ้าของทรัพย์จำนงค์ฟาร์ม พ่อค้าโคเนื้อรายใหญ่จังหวัดพะเยา ให้ข้อมูลว่า เมื่อพ้นวิกฤตไวรัสโควิท 2019 ประเทศไทยสามารถส่งออกโคเนื้อคุณภาพให้กับประเทศใดก็ได้เพราะโคเนื้อของประเทศไทยเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศจีน ประเทศมาเลเซีย ไม่ควรคาดหวังกับการค้าขายกับประเทศจีนมากนักเพราะหลายครั้งการค้าขายกับชาวจีนมีความยุ่งยาก ทั้งการเดินทางข้ามประเทศ มาตรการปราบปรามการลักลอบน้ำเข้าโคเนื้อผิดกฎหมาย รวมถึงผลประโยชน์ทางการค้าชายแดนที่ไม่ลงตัว สำหรับทรัพย์จำนงค์ฟาร์ม ตลาดที่สำคัญคือตลาดมาเลเซีย มีการสั่งสินค้าโคเนื้อนำเข้าอย่างต่อเนื่อง บางเดือนมียอดนำเข้าโคมีชีวิตสูงถึง 3,000 ตัว

เรื่อง  ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ เรียบเรียง ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)