ต๋อง เมธวัชร์ (เทวัญ) ทรัพย์แสนยากร นักดนตรีวัย 75 ปี คือตำนานดนตรีของประเทศไทย เพราะเมื่อ 50 ปีก่อน เขาเป็นนักดนตรีผู้บุกเบิกการแสดงเดี่ยวแซกโซโฟนและไวโอลินบนเวทีการแสดง เขาเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงทำให้ผู้คนรู้จักแซกโซโฟนในวงการดนตรีไทย นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้นำเสนอวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยต่อโลก ด้วยการนำเครื่องดนตรีไทยออเร้นจ์บทเพลงทำการแสดงดนตรีใน เอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา กระทั่งได้รับรางวัลวงดนตรียอดเยี่ยมของเอเชีย
การฟังเพลงก็เหมือนการทำความรู้จักกับใครสักคน
ผมเป็นเด็กที่ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ผมผิวปากเป็นเสียงพิเศษ ทำได้เองโดยธรรมชาติ เพื่อนในวัยเด็กของผมชอบฟังเสียงผิวปากของผม ผมนำวัสดุหลายอย่างมาทำเครื่องดนตรี เช่น การผิวปาก เคาะโต๊ะเป็นจังหวะ การฟังเพลงสำหรับผมในตอนเด็ก ก็เหมือนการทำความรู้จักกับใครสักคนที่เราไม่เคยรู้จัก ผมฟังเพลงจากวิทยุของคุณพ่อ บทเพลงเหมือนใครคนหนึ่งที่เรากำลังทำความรู้จัก เราจดจำใบหน้าของเขา เสียงของเขา แล้ววันหนึ่ง เมื่อเราพบเจอเขาอีกครั้งก็จะจดจำได้ ผมฟังดนตรีครั้งแรกเพื่อทำความรู้จัก แยกสำเนียงการเล่นแต่ละสำเนียงดนตรี จดจำสำเนียงดนตรีนั้นไว้ในความทรงจำ
เมื่อเติบโตขึ้น ผมสนใจดนตรี เริ่มฟังเพลงบรรเลง เฝ้าฟังเสียงดนตรีบางท่อนในบทเพลง มีสุนทรียรมณ์กับบทเพลงที่กำลังฟัง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็นึกทบทวน แสดงว่าในช่วงวัยเด็ก เราเสพเดนตรีหรือเข้าถึงอารมณ์ของผู้เล่นดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก เป็นความละเอียดอ่อนในตัวตนซึ่งคนทั่วไปฟังแบบเผินๆ ส่วนผมเมื่อฟังเพลงแล้วจะเกิดความไพเราะ เกิดอารมณ์ร่วม สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสอน มันเป็นไปโดยธรรมชาติ เวลาสัมผัสเครื่องดนตรีผมจะรู้สึกถึงสุนทรียรมณ์โดยอัตโนมัติ ผมไม่เคยคิดถึงตัวโน๊ตในเวลาทำการแสดง แต่ผมจะคิดถึงอารมณ์ในเสียงดนตรี เมื่อเล่นดนตรีผมจะใส่อารมณ์ ใส่จิตวิญญาณลงในดนตรี
ผมแยกแยะแต่ละสำเนียงการเล่นดนตรีของศิลปินแต่ละคนแล้วเก็บไว้ในความทรงจำ เวลาเล่นดนตรีผมไม่ต้องแกะสำเนียงหรือซ้อมดนตรีของศิลปินคนนั้นอีก ผมปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในการเล่นดนตรี ทุกครั้งที่ฟังดนตรีผมมักสงสัยหรือมักตั้งคำถามว่า ทำไมนักดนตรีไทยจึงไม่เป็นที่รู้จักในระดับสากล แต่เมื่อเราลองฟังเพลงไทยมันเป็นจิตวิญญาณอีกแบบหนึ่ง ที่มีความเป็นไทย
เพลงไทยเดิมและเพลงลูกทุ่งเป็นดนตรีแนวเดียวกัน เพลงไทยเดิมเป็นรากฐานพัฒนาสู่เพลงลูกทุ่ง เราคิดว่า ทำไมเพลงไทยเดิมถึงหายไป แต่มีเพลง เขมร ลาว พม่า แขก เช่น เพลงพม่าแทงกับ เพลงแขกเชื้อเจ้า เพลงมอญ เมื่อเติบโตเราถึงเข้าใจว่า ความจริงแล้ว บทเพลงเหล่านั้นคนไทยเป็นผู้ประพันธ์เพราะคนไทยมีหลายเชื้อชาติ เราฟังเพลงไทยเราจะรู้สึกว่า เพลงไทยเทียบกับเพลงชาติอื่นไม่ได้ แต่เมื่อเราเข้าใจจะรู้ว่า บทเพลงคือภูมิปัญญา ลวดลายลีลาเพลงไทยที่ประพันธ์ไว้ยอดเยี่ยมมาก เมโลดี้เพลงไทยเดิมหากนำมาพัฒนาจะมีมาตรฐานและน่าฟัง
แซกโซโฟนหนุ่มของวง “เดอะไวท์เฮ้าส์”
ผมเล่นดนตรีวงนวงโยธวาทิต ผมเรียนรู้เรื่องสำเนียงการเล่นดนตรีและการเดินแถว ผมแต่งเพลงมาร์ช (March) แยกเพลงมาร์ชแต่ละประเภท ขณะที่เล่นดนตรีในวงโยธวาทิต เพื่อนคนหนึ่งชวนเข้าศูนย์เยาวชนจังหวัดนครราชสีมา เพื่อนบอกผมว่า ที่นั่นมีเครื่องดนตรีจำนวนมาก ผมเข้าศูนย์เยาวชน หยิบเครื่องดนตรีขึ้นมาเล่นเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีเป็นบทเพลง ผมหัดเป่าแซกโซโฟน พัฒนาตนเองเพื่อเป็นนักดนตรีประจำศูนย์เยาวชน หลังจากนั้นก็มีคนชวนผมเล่นดนตรีในคณะรำวง
ผมเล่นดนตรีในคณะรำวง มีเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น กลอ กีตาร์ ผมเป่าแซกโซโฟน เล่นตามธรรมชาติ หลังจากนั้นก็มีคนชวนผมเล่นดนตรีในภัตตาคารจีน ผมเล่นดนตรีสักพักเจ้าของภัตตาคารก็ซื้อแซกโซโฟนให้และตั้งผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี ผมมีพื้นฐานด้านการอ่านโน๊ตสากล เราอ่านโน๊ตดนตรีไทย ทฤษฎีดนตรีผมพอมีความรู้บ้าง พวกเราก็คิดสูตรการเล่นดนตรีของเราเอง
ผมเล่นดนตรีในไนต์คลับ เป็นหัวหน้าวงดนตรีตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนผมเป็นหัวหน้าวงดนตรีก็ทำโน๊ตแกะโน๊ตในสไตล์ของตนเอง พ.ศ.2510 นักดนตรีประเทศไทยยังไม่แตกฉานเรื่องโน๊ตดนตรี พวกเราก็ทำสัญลักษณ์แทนตัวโน๊ตเพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจระหว่างนักดนตรี เพื่อให้นักดนตรีรู้ว่าต้องเล่นดนตรีกันอย่างไร ผมเล่นดนตรีในไนต์คลับที่นครราชสีมา หลังจากนั้นก็รับงานเล่นดนตรีที่ สปป.ลาว เราทำวงดนตรีเพื่อเล่นดนตรีในไนต์คลับอันดับ 1 ของเวียงจันทน์ หลังจากหมดสัญญาเมื่อกลับถึงเมืองไทยก็เล่นดนตรีกับวง “เดอะไวท์เฮ้าส์” วงดนตรีชนะการประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบ้แห่งประเทศไทย ตอนแรกเล่นในไนต์คลับจังหวัดนครราชสีมา ต่อมา “เดอะไวท์เฮ้าส์” ได้รับการติดต่อให้เล่นที่ “โลลิต้าไนต์คลับ” กรุงเทพฯ
ยุคเริ่มต้นดนตรีแจ๊ส (jazz) ประเทศไทย
“โลลิต้าไนต์คลับ” เป็นไนต์คลับอันดับหนึ่งของประเทศไทย ช่วงกลางวัน “โลลิต้า” คือห้องอาหารที่มีนักร้องที่มีชื่อเสียงมาแสดง ส่วนเวลากลางคืนจะเป็นสถานที่เต้นรำลีลาศ มีนักร้องเพลงลูกกรุง เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์ ,ดาวใจ ไพจิตร, เป็นผู้ขับร้องเพลง นับเป็นยุคเพื่องฟูของนักดนตรี ผมมีโอกาสเล่นดนตรีให้กับนักร้องที่มีชื่อเสียง เช่น รวงทอง ทองลั่นธม , จินตนา สุขสถิตย์ , รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส “โลลิต้าไนต์คลับ” มีกลิ่นอายแห่งความสุข ความบรรเทิง ทั้งการเต้นรำ การฟังเพลง การขับร้อง มันคือสุนทรียรมร์ของคนเมืองกรุง ทุกคนมีอารมณ์ร่วมทำให้พวกเราอยากเล่นดนตรีให้พวกเขาฟัง
ยุคสมัยก่อน บทเพลงยังมีจำนวนน้อย นักฟังเพลงชอบมาฟังเพลงซึ่งเป็นที่นิยม ยกตัวอย่างบทเพลง My Way – Frank Sinatra วงดนตรีของเราเล่นดนตรีแนวคอมโบเชยนิดๆ เพราะบทเพลงยุคสมัยนั้นเป็นเพลงสตริง นักดนตรีจะมีโน๊ตเพลง เพลงทุกเพลงจะอยู่ในนั้น นักดนตรีที่เล่นเพลงแจ๊ส (jazz) ยุคนั้นคือนักดนตรีฟิลิปปินส์ ตอนนั้นผมเล่นดนตรีแจ๊สกับเพื่อนนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ นักดนตรีไทยยังเล่นดนตรีแจ๊สกันไม่เป็น พวกเราอิมโพรไวน์(Improvise) ในสเกลที่เราถนัด
พ.ศ.2514 ขณะทำงานอยู่โรลิต้าไนต์คลับ ผมมีโอกาสเรียนดนตรีที่สยามกลการ เรียนออเร้นจ์เพลงสไตล์ Big band เป็นหลักสูตรดนตรีจาก เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา โดยอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เปิดโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ผมเป็นหนุ่มใหญ่เริ่มมีอนาคต การเป็นนักดนตรีทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย แล้ววันหนึ่ง เรวัต พุทธินันทน์ ,วินัย พันธุรัตน์, สราวุธ สุปันโญ เดินทางมาพบผมแล้วบอกว่าจะทำวงดนตรี The Oriental Funk
เปลี่ยนวิถีนักดนตรีเพื่อการเติบโตทางความคิด
ตอนนั้น เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ทำสัญญาทัวส์คอนเสิร์ตต่างประเทศ แต่วงดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossible) ยุบวง เต๋อ เรวัต ค้นหานักดนตรีเพื่อเล่นแซกโซโฟนทำวงดนตรี The Oriental Funk ผมตกลงรับข้อเสนอ แต่ก็ต้องปรับตัวเพราะสไตล์การเล่นดนตรีของผมเป็นแบบเชยๆ ผมต้องพยายามปรับตัวให้เร็วที่สุด พวกเราใช้เวลาซ้อมดนตรีเพียงสองเดือน เล่นดนตรีหลายรูปแบบ ดิสโก้เทค ฟังก์ เล่นดนตรีให้กับคนหลายกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เล่นดนตรีในหลายสถานที่ เช่น งานปาร์ตี้กลางหุบเขา ฯลฯ
การทัวส์คอนเสิร์ตในต่างประเทศทำให้เรามีโอกาสชมคอนเสิร์ตใหญ่ ทำให้เรามองเห็นโลกกว้างขึ้น ตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ต THE EAGLES ที่ทำการแสดงที่ประเทศสวีเดน ผมรู้สึกประทับใจมาก แม้การแสดงของเขาไม่แอ็กชั่น แต่เสียงของการเล่นดนตรีดีมากๆ หลังเดินทางกลับจากทัวส์คอนเสิร์ตต่างประเทศ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ เริ่มทำค่ายเทปแกรมมี่ ,สราวุธ สุปันโญ อยู่กับวงแกรนด์เอ็กซ์ , วินัย พันธุรัตน์ ทำเพลงของตนเองชื่อ “สิ้นกลิ่นดิน”
พ.ศ.2521 เมื่อกลับประเทศไทย ผมริเริ่มการเป็นนักดนตรีเดี่ยวแซกโซโฟน ทำการแสดงภายใต้ชื่อว่า “ต๋องโชว์” ผมเล่นดนตรีที่โรงแรมมณเฑียร ทำงานอิสระเป็นนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนให้กับนักร้อง ตอนนั้น นักดนตรีไทยยังอิมโพรไวน์สร้างลูกโซโล่แซกโซโฟนไม่ได้ ตอนนั้นผมทำได้ เพียงมีคอร์ด อินโทร โซโล่ และท่อนจบ ผมก็โซโล่แซกโซโฟนให้ได้ เช่น การบันทึกเสียงเพลง “อย่าหยุดยั้ง” ให้กับวงดิโอฬาร ศิลปินที่จ้างให้ผมบันทึกเสียงมักจะเลือก Track 1 ส่วน Track 2-3 จะเพิ่มเมโลดี้ โน๊ตจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ศิลปินส่วนใหญ่จะเลือก Track 1
การเล่นแซกโซโฟนยุคสมัยนั้น เราปรับตามวิธีการ หลายเพลงแซกโซโฟนรั่ว เครื่องดนตรีไม่สมบูรณ์ แต่เราปรับวิธีการเล่นเพื่อให้ได้เสียงที่ไพเราะ ตัวอย่างเพลง “เชื่อฉัน” ของ แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ เพลงนี้แซกโซโฟนรั่ว แต่เราใช้ความรู้สึกในการเป่า แม้ว่าเสียงจะไม่สมบูรณ์ แต่มันทำให้เราอยากจะพัฒนาการเล่นให้ดีขึ้น เครื่องดนตรีของเราอาจไม่เหมือนเครื่องดนตรีคนอื่น นักดนตรีแต่ละคนถนัดการเล่นดนตรีไม่เหมือนกัน
สมัยก่อนนักดนตรีเครื่องเป่าของประเทศไทยน้อยคนที่จะออกแบบดนตรีได้ดี ผมออกแบบดนตรี ผลงานของผมมีความสมดุลทางดนตรี หลายคนจึงจับตามอง ผมถูกยกย่องให้เป็นมือแซกโซโฟนลำดับต้นๆ ของประเทศ ต่อมาผมทำวงดนตรีของตนเองโชว์ 45 นาที เหมือนศิลปินคนหนึ่ง ผมริเริ่มทำโชว์ เพราะยุคสมัยก่อนไม่มีนักดนตรีโซโล่ หลายคนเป็นเพียงนักดนตรีเล่นให้กับนักร้อง แต่เรามองเห็นนักดนตรีโซโล่เครื่องดนตรีชิ้นเดียวมาตั้งแต่เด็ก เวลาสร้างเมโลดี้เราต้องมองคอร์ด ต้องคล้อยไปกับลีลาที่ศิลปินเพื่อให้เกิดความพอดี
องค์ประกอบการสร้างสรรค์ที่มากกว่าความไพเราะ
หลายคนสามารถเล่นโน๊ตดนตรีได้รวดเร็ว โน๊ตดี หลายอย่างดี แต่ไม่มีความสร้างสรรค์ การเล่นดนตรีแข็งกระด้าง ขาดความลึก บางคนจะนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร เปรียบเทียบศิลปินวาดภาพสวย รูปภาพบางรูปภาพขาดความลึก ศิลปะดนตรี เราต้องรู้จักความไพเราะ เราสังเกตการเล่นดนตรี บางคนเล่นดนตรีได้อย่างคล่องแคล่ว สร้างเสียงดนตรีได้แต่ขาดความไพเราะ การเล่นดนตรีควรมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ช่องว่างของการเล่นอันเหมาะสม (ช่องไฟ) และ จังหวะอันเหมาะสม , Dynamic การเล่นหนักเบา ทำให้เกิดความน่าฟังและเป็นระเบียบ หลังจากนั้น เอาความรู้สึกใส่ลงไป เอาจิตวิญญาณใส่ลงไปให้ได้อารมณ์ที่พอเหมาะพอดี
การเล่นดนตรีของผมไม่เข้าหลักการทางทฤษฎีดนตรีทั้งหมด แต่อาจเพราะเหตุผลนี้จึงทำให้การเล่นดนตรีของผมแตกต่าง เล่นด้วยจิตวิญญาณของตนเอง การเล่นดนตรีพื้นฐานทางดนตรีควรต้องมี แต่ต้องเล่นดนตรีในแบบที่เราถนัดด้วย เมื่อนักศึกษาจบหลักสูตรเขาจะนำไปใช้ได้ทั้ง 2 แนวทาง ถ้าเรียนตามเบสิคพื้นฐานดนตรี นักดนตรีทุกคนจะเหมือนกันหมด แม้แต่การย้ายตัวโน๊ตก็ต้องคิดของตนเอง สเกลมีตัวโน๊ตอะไรบ้าง มันถึงจะเกิดสำเนียงของตัวเอง เราถึงจะออกแบบความไพเราะได้
การออกแบบความไพเราะ เมโลดี้ในคำร้องต้องเกิดความพอดี มีอารมณ์ในคำร้องซึ่งจะบอกถึงเรื่องราว เมโลดี้จะบอกความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง จะเป็นลีลาที่จินตนาการในเสียงเมโลดี้ที่มีความไพเราะ มีความหนักเบาแตกต่าง มีความสนุกสนาน มีความไพเราะหรืออ่อนหวาน การจะทำแบบนี้ได้ ต้องมีนักดนตรีที่มีประสบการณ์ช่วยกวดวิชาให้นักเรียนกลายเป็นนักโซโล่ ต่างประเทศเขาสอนดนตรีตัวต่อตัว นักเรียนจะเลือกเรียนเพื่อได้ความรู้ที่เขาต้องการ อยากเรียนสเกลก็ไปเรียนกับครูสอนดนตรีที่เก่งสเกล อยากเล่นดนตรีให้ไพเราะก็ไปหาครูที่สอนเล่นดนตรีให้ไพเราะ ถ้าไม่อย่างนั้น เขาต้องค้นหาอีกหลายปีกว่าจะเจอ
มือกีตาร์ที่มีฝีมือของประเทศไทยก็เช่น โอ้ โอฬาร พรหมใจ ,กิตติ กาญจนสถิตย์ ส่วนวงเครื่องสายซิมโฟนี (Symphony) ก็ยังไม่ฉายแววนักโชว์ระดับโลก ทั้งที่ความสามารถของนักดนตรีชาวไทย สามารถเล่นแบคอัพให้กับนักดนตรีระดับโลก ลองคิดดูว่าคนพิการมี 1 นิ้ว เล่นอะไรได้หลายอย่าง ต้องมีอะไรบางอย่างที่เขาถนัด
ผมเล่นดนตรีนานกว่า 50 ปี มองเห็นนักดนตรีในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันนักดนตรีเข้าใจทุกสำเนียงการเล่นดนตรีเพราะโลกเปิดกว้าง แต่การเปิดกว้างของโลก มันทำให้ดนตรีมีเพียงสำเนียงหลัก เป็นท่วงทำนองเดียวกันหมด ปรับเปลี่ยนกันแต่เพียงภาษา แม้แต่ภาษาก็มีลีลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น R&B หรือ Hip-hop สำเนียงดนตรีเดียวกัน มันผสมผสาน หรือกลืนกัน หรือ บางคนไม่เข้าใจก็เล่นดนตรีฝืนๆ ตอนนี้นักดนตรีเล่นดนตรีสากลได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลง ภาษาดนตรีเป็นอันเดียวกัน เราไม่แบ่งแนวดนตรี
ปัจจุบัน ดนตรีจากภาคอีสานของประเทศไทยทำได้น่าสนใจมาก เขาทำดนตรีออกแนวสมัยใหม่ ใช้วิธีการขับร้องแบบผสมผสาน หรือสามารถขับร้องเนื้อร้องอื่นลงในดนตรีเดิมได้ ยุคสมัยก่อนผมเคยใช้วิธีนี้ แต่ผู้คนมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด ผมเข้าใจดนตรีละเอียดกว่านักดนตรีหลายคน ผมทำความเข้าใจด้วยตนเองแล้วก็อธิบาย แต่การสร้างสรรค์ดนตรีเป็นเรื่องที่สอนกันยาก การสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่ติดตัว นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติการ หากยึดติดกับพื้นฐานด้านดนตรีโดยไม่ให้เขาทำดนตรีด้วยตนเอง เขาจะขาดความสร้างสรรค์
ดนตรีไทยสู่สากลในสไตล์ Tewan Novel Jazz
ครั้งแรกในการทำดนตรีไทย บรูซ แกสตั้น เขาทำวง “ฟองน้ำ” (Fong-Naam) เขาบันทึกเสียง ผมเป็นคนเป่าแซกโซโฟน ถ้าเป็นงานแสดงที่สำคัญผมมักจะเป็นแขกพิเศษรับเชิญอยู่เสมอ พวกเราเล่นดนตรีแจ๊สผสมผสานกับดนตรีไทย บรูซกับผมไม่ต้องปรับตัวในเรื่องการเล่นดนตรี เราเข้าใจภาษาดนตรี ไม่ต้องซ้อมอะไรมาก หลังจากนั้นบรูซ ก็ลาออกจากบริษัท ผมเป็นคนเข้ามาทำวงดนตรี
ผมทำวงดนตรีกังสดาล (KANGSADAN) เราใช้เครื่องดนตรีไทยร้อยละ 90 ของเครื่องดนตรีทั้งหมด แต่เราปรับวิธีการเล่นเป็นแบบเทวัญเพราะผมจะทำดนตรีเป็นแนวศิลปะ คิดสร้างรูปแบบของดนตรีขึ้นใหม่ในสไตล์ Contemporary เรามองเห็นเครื่องไทยที่มีพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ถามนักดนตรีคนไทยเขาบอกว่า คือ “กังสดาล” เราเล่นดนตรีต่างประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นเป็นยุคแรก เราไม่ปรับเครื่องดนตรีไทยเป็นสากล แต่ปรับวิธีการเล่นแซ็กโซโฟน กลองชุดใช้เพียงส่วนหนึ่งเพื่อสผมผสานดนตรีให้เกิดเศิลปะ เพลงไทยเดิมบางเพลงก็ปรับเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้เป็นศิลปะร่วมสมัย
เรานำเสนอการเล่นเครื่องดนตรีไทยสู่ต่างประเทศ ตอนนั้นเราประสานกับต่างประเทศได้ดี ผู้ชมการแสดงใจต่างประเทศรู้สึกตื่นตาตื่นใจ (surprise) กับการแสดง เพราะยุคสมัยนั้นการผสมผสานระหว่างดนตรีไทยและดนตรีสากลยังไม่แพร่หลาย เราใช้เครื่องดนตรีไทย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง ปี่ ขลุ่ย ซอ จะเข้ ออเร้นท์เปลี่ยนวิธีนำเสนอ ช่วงแรกครูเพลงดนตรีไทยต้องปรับตัว พวกเราใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสื่อสารกันได้
หลังจากทำวง “กังสดาล” ผมทำ Tewan Novel Jazz เล่นดนตรีกับสามพี่น้องตระกูลปานพุ่ม จิระศักดิ์ ปานพุ่ม ,วิบูลย์ ปานพุ่ม ,วิทยา ปานพุ่ม มีวินัยการซ้อมดนตรี แมว จิระศักดิ์ ปานพุ่ม เป็นมือกีตาร์ที่เก่งมาก ผมบอกให้เล่นอะไรเขาสามารถเล่นได้ตามที่ต้องการทั้งหมด ช่วงแรกการเล่นดนตรีของพวกเขายังลึกไม่พอ แต่พี่น้องทั้งสามคนเล่นดนตรีเก่งมาก มีวินัยในการเล่นดนตรี การซ้อมดนตรี เล่นดนตรีมีความไพเราะ สามารถเล่นไพเราะ คล่องตัว แต่ศิลปะมีความลึกซึ้งมากกว่าดนตรี หลังทำการแสด พวกเราก็เป็นที่รู้จัก มีผู้ชมเข้าชมการแสดงของพวกเราจำนวนมาก เราจึงตัดสินใจเทำการแสดงในต่างประเทศ หลังจากนั้น Tewan Novel Jazz ถูกยกย่องเป็นวงยอดเยี่ยมเอเชียแจ๊สแฟสติวัล
ความลุ่มลึกของบทเพลงพระราชนิพนธ์ในหลวงรัชการที่ 9
ผมมีโอกาสเล่นดนตรีถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระราชวังดุสิตดาลัย ช่วงแรก พวกเราเล่นดนตรี 2 เพลง ผมเล่นแซกโซโฟน มีนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายคนขับร้องบทเพลง ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญ บุคคลที่มีชื่อเสียง ช่วงดึกข้าราชบริภารในพระองค์เชิญพวกเราอีกห้องหนึ่งซึ่งมีฟลอร์เต้นรำสำหรับลีลาส ในหลวงทรงแซกโซโฟน ผมเล่นเทนเนอร์แซกโซโฟน พี่น้องปานพุ่มเล่นดนตรีแบ็คอัพ (backup) เมื่อจบการแสดง ข้าราชบริพารทุกคนก็นั่งกับพื้น แล้วในหลวงรัชการที่ 9 ตรัสว่า ทรงติดตามผลงานของผมมาตลอด
สำหรับผมแล้ว ในหลวงรัชการที่ 9 คือนักประพันธ์ที่ละเอียดละออ บทเพลงพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นบทเพลงสไตล์บลูส์ (blues) พระองค์ท่านพาสซิ่งโน๊ตด้วยความละเอียด รูปแบบพระราชนิพนธ์ทรงเกลาเมโลดี้และทำนองทำให้ดนตรีเกิดความละเมียดละไม บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมประทับใจมากที่สุดคือ “แสงเทียน” เป็นเพลงแรกที่ในหลวงรัชการที่ 9 พระราชนิพนธ์ โดยใช้โน๊ตตัวละเอียด ใช้โน๊ตอย่างสละสลวย
สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)