แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม คือศิลปินนักร้องเพลงร็อกของประเทศไทย เขาเติบโตในบรรยากาศการเล่นดนตรี Jazz ในไนต์คลับ เล่นดนตรีอาชีพกับครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก เรียนดนตรีจากสมาชิกของครอบครัว ยามเติบโตสู่วัยหนุ่ม เขาทำงานบันทึกเสียงกีตาร์ให้กับศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง เล่นดนตรีตำแหน่งมือกีตาร์แจ๊สของวงเทวัญ ทรัพย์แสนยากร ซึ่งเป็นวงดนตรีแจ๊สยุคแรกของประเทศไทย ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งโปรดิวเซอร์ของบริษัทแกรมมี่และเป็นศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง เขาใช้กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเพลงแบบแดนตรีแจ๊ส เรื่องราวชีวิตและกระบวนการคิดสร้างสรรค์ดนตรีของ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จึงแปลกต่างอย่างน่าสนใจ

นักเรียนดนตรีของครอบครัว “ปานพุ่ม

ผมไม่ได้เรียนหนังสือชั้นมัธยมของกรมสามัญศึกษา ผมสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนแต่ไม่ได้เรียน แต่ผมเริ่มเล่นดนตรีกับครอบครัวที่หาดใหญ่ แม้ครอบครัวของผมจะประกอบอาชีพเล่นดนตรี คุณพ่อสีไวโอลิน แต่ตอนนั้น ผมอาศัยอยู่กับแม่ ไม่ได้อยู่กับเสียงเพลงเล่นดนตรี ผมยังเล่นดนตรีไม่เป็น แต่เมื่อพี่ชายชวนผมไปเล่นดนตรีแล้วบอกว่า “ไปเล่นดนตรีมั้ยได้เงิน” เป็นคำที่ผมคิดว่าน่าสนุกเพราะครอบครัวของเราไม่ร่ำรวย พอได้ยินคำว่า “หาเงิน” ก็สนใจทั้งที่ยังเล่นดนตรีไม่เป็น เมื่อเดินทางถึงหาดใหญ่ ผมคิดว่าจะฝึกดนตรี 1 ปี แต่พอเริ่มทำงาน โดยมีพี่เป็นคนสอนโน๊ตดนตรี ผมฝึกเล่นกีตาร์เป็นเวลา 3 ปี

ตอนนั้นพวกเขาเล่นดนตรีที่ไนต์คลับชื่อ พาเทียไนต์คลับ ไนต์คลับยุคสมัยก่อน ให้ลองนึกถึงภาพบรรยากาศผู้คนรื่นเริงในงานเต้นลีลาส โน๊ตเพลงมีจำนวนนับร้อยเพลง แนวดนตรีมีหลากหลาย ผมเริ่นนำโน๊ตเพลงมาฝึกเล่นที่บ้าน ยุคสมัยก่อนจะมีนักดนตรีแกะโน๊ตเพลงแล้วพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ใต้โน๊ตว่า “กิ้ว” เพราะคนทำชื่อ กิ้ว-ชาญ ชินนภาแสน ทุกคนก็เลยเรียกโน๊ตเพลงนั้นว่า “โน๊ตกิ้ว”  ยุคสมัยก่อนเป็นโน๊ตที่ขายดีที่สุด

แรงบัลดาลใจในการเล่นดนตรีของผมมากที่สุดคือ บทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชการที่ 9 ผมใช้เพลงพระราชนิพนธ์ฝึกโน๊ต ฝึกคอร์ด ผมไม่ได้เรียนดนตรีในโรงเรียนเพราะพี่เป็นนักดนตรี พวกเราสอนดนตรีกันเอง เรียนรู้กันเอง สอนจากสถานการณ์จริง ตอนแรกพี่จะพาไปดูไนต์คลับว่านักดนตรีทำงานกันอย่างไร

งานแรกที่ผมทำคือการเป็นเด็กจัดโน๊ตดนตรี เด็กจัดโน๊ตดนตรีจะต้องเรียงแผ่นโน๊ตให้กับนักร้องและนักดนตรี ซึ่งแต่ละคนจะมีโน๊ตเป็นของตนเอง เราจะวางโน๊ตดนตรีของแต่ละคนแยกไว้เป็นกอง แต่ละกองเป็นของใครบ้าง นักดนตรีเริ่มเล่นดนตรี 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืน ตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย ต้องเรียงเพลงอะไรบ้าง เราต้องรู้ว่า เพลงนั้นคือเพลงอะไร จังหวะอะไร ความเร็วเท่าไหร  แทงโก้ (Tango) กัวราช่า (Guaracha) รุมบ้า (Rhumba) ควิ๊กเสต็ป (Quickstep) ร็อก (Rock) เรียนรู้เรื่องตัวเพลงเพราะเราต้องฟังทุกเพลง ถ้าเราอ่านโน๊ตอย่างเดียว เราก็จะเล่นแบบแมชชีนหรือการเล่นแบบทื่อๆ บางทีเราไม่รู้ว่าเวลาเล่นดนตรีจริงๆ เขาดันสายกีตาร์หรือเปล่า เขาเอื้อนเสียงช้าแค่ไหน

บรรยากาศทั้งหมดหลอมรวมให้เราเป็นนักดนตรีโดยไม่รู้ตัว ผมทำงานเรียงโน๊ตอยู่ 3 เดือน มือกีตาร์มีปัญหา แล้วเขาก็ลาออกซึ่งตามสัญญาของวงดนตรีกับไนต์คลับต้องมีนักร้องนักดนตรีรวมกัน 15 คน เป็นวงดนตรีบิ๊กแบนด์ (Big Band) มีเครื่องเป่า เมื่อสมาชิกหายไปหนึ่งคน เขาก็จะไม่จ่ายตังค์หรือหักเงิน ผมก็เลยต้องยืนประดับอยู่บนเวที เล่นดนตรีไม่เป็น ทำท่าทางเล่นดนตีให้ครบคน ถึงเวลาโซโลก็จะเอาโน๊ตไปให้มือคีย์บอร์ด ทำเป็นเสียงกีตาร์โซโล่แทนเรา เราก็รู้สึกว่า ต้องเล่นดนตรีให้ได้ จากที่เราฝึกเล่นดนตรีอยู่แล้ว พอเจอสถานการณ์แบบนั้น ก็มีความอยากฝึกมากขึ้น เวลาเที่ยงคืนหลังไนต์คลับปิด ผมหอบโน๊ตไปฝึกที่ห้องพักถึง 7 โมงเช้า ทำแบบนี้ทุกวันต่อเนื่องกัน 3 ปี

ผมไม่รู้สึกแย่หรือเสียดาย แต่รู้สึกมุ่งมั่นกับดนตรีมาก ผมฝึกซ้อมดนตรีทุกแนว หลังเล่นดนตรีก็ซ้อมดนตรีถึงเช้า ตื่นนอนเที่ยงวัน กินข้าวแล้วก็นั่งฟังเพลง ไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นเพราะผมไม่มีเพื่อน ผมสนุกสนานกับดนตรี ถึง 6 โมงเย็น แล้วก็เล่นดนตรีไนต์คลับ ผมไม่เคยเสียดายชีวิตช่วงวัยรุ่น เพราะผมมีความสุขมากกับการเล่นดนตรี

มือกีตาร์ Free Jazz ยุคแรกของเมืองไทย

ผมเล่นดนตรีกับครอบครัวในพื้นที่ภาคใต้ กระทั่งเกิดพายุเกย์ พี่เล็กมือกลองติดอยู่บนอุโมงค์รถไฟ 2 วัน พวกเราย้ายกลับมาทำงานกรุงเทพฯ หลังจากนั้นพวกเราได้งานที่ห้องบันทึกเสียง “จาตุรงค์” ผมทำงานบันทึกเสียงกีตาร์ให้กับวงลูกทุ่งทั่วไป เช่น ยอดรัก สลักใจ, สายัณห์ สัญญา, ยิ่งยง ยอดบัวงาม, เอกชัย ศรีวิชัย  สังคมลูกทุ่งน่ารักมาก เวลาบันทึกเสียงกีตาร์ ทำงานเป็นโปรดิวซ์ เขาจะให้ความเคารพนอบน้อมกับนักดนตรีมากๆ ผมจำได้ว่าพี่เอกชัย ซื้อโอเลี้ยงให้ผมแล้วบอกอาจารย์ดื่มน้ำก่อน ตอนนั้นผมก็ยังเด็ก แต่ด้วยวัฒนธรรมลูกทุ่งที่น่ารัก คนสร้างสรรค์ผลงานให้เขา เขาเรียกอาจารย์ ผมทำงานกับโปรดิวซ์เซอร์ พี่ประยงค์ ชื่นเย็น , จิตรกร บัวเนียม , ลพ บุรีรัตน์ 

นักดนตรีแจ๊สประสบความสำเร็จกับพลงลูกทุ่ง? ก็แล้วแต่ความชอบ บางคนชอบเขาก็ขอบคุณที่ทำให้ดนตรีลูกทุ่งแตกต่าง แต่บางคนที่ชอบสิ่งเดิมๆ เขาให้เหตุลผลว่าแจ๊สฟังหรูเกินไป แต่ผมมองว่าดนตรีก็เหมือนกับการวาดรูป เราวาดรูปโมนาลิซา เราใช้สีอะคริลิค สีพาสเทล สีฝุ่นคาร์บอน เราใช้วัสดุและประเภทของสีที่แตกต่าง ก็เหมือนกับนักดนตรีเล่นเพลงเดิม วันนี้เราเล่นแจ๊ส พรุ่งนี้เล่นร็อก วันต่อไปเล่นเพลงลูกทุ่ง เงาเพลงเปรียบเสมือนประเภทของสี เราไม่ควรปฏิเสธประเภทของสี นักวาดรูปไม่ควรปฏิเสธประเภทของสี นักดนตรีไม่ควรปฏิเสธประเภทของเพลง

ผมทำงานในห้องบันทึกเสียงได้เงินค่าจ้าง เริ่มมีเงินเก็บ ผมอัดไลน์กีตาร์ ไลน์ละ 100 บาท ถ้ามีโซโล่ก็ 200 บาท แต่เราอัดเสียงครั้งหนึ่ง 10 เพลง ได้เงินประมาณ 1,000 บาท พอมีเงินก็นึกถึงการเรียน ผมกลับไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ทำงานและเรียนไปด้วย สอบเทียบวุฒิการศึกษาด้วยวิชาพิมพ์ดีดภาษาไทย สอบเทียบมัธยามปลายด้วยวิชาพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ หลังเทียบโอนก็เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่ออายุ 17 ปี ผมเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่เราไม่มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ต้องจ้างอาจารย์สอนพิเศษ เมื่อเป็นนักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัย เราก็รู้สึกดี เพราะเราได้เรียนเรื่องปากท้อง เศรษฐศาสตร์เป็นการทำมาหากิน แต่จะละเอียดในเรื่องตัวเลขและการคิดวิเคราะห์

เมื่อทำงานในห้องบันทึกเสียง ผมรู้สึกว่า ผมต้องเล่นดนตรี เพราะพวกเราเป็นนักดนตรี พวกเรารวมตัวกันเล่นดนตรีที่ร้านบลาชูก้า ถนนหลังสวน แขวงลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านร้านอาหารดนตรีแจ๊ส ตอนนั้นผมเล่นดนตรีกับพี่ต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร เราเล่นดนตรีแจ๊สแบบไทยผสมโมเดิร์น แนวอวกาศ เป็น Free jazz ดนตรีฟรีแจ๊สมีศิลปะ มีหลักการของมัน คนฟังยุคสมัยนั้น เวลาฟังเรา บางคนก็จะฟังยิ้มมีความสุข บางคนก็เครียด

ผมทำงานกับพี่ต๋องด้วยความสนุก เพราะเขามีนิสัยคล้ายกับผมคือ ชอบด้น หรือ Improvisation พอเริ่มเล่นพี่ต๋องไม่บอกเลยว่า คีย์อะไร จังหวะอะไร อยู่ดีๆ จะเล่นก็เล่น ผมพยายามจำบันไดเสียง (DIATONIC) ว่ามันคือคอร์ด คีย์อะไร พอเริ่มจับบันไดเสียงได้ สักพักก็เริ่มเปลี่ยนคีย์ แต่เวลาที่จะอยู่ในระเบียบวินัย พี่ต๋องค่อนข้างชัดเจนและเข้มงวด พี่ต๋องบอกกับผมว่า “คนเรามันอิสระได้ไม่ตลอดเวลาหรอก มันจะต้องมีบางช่วงเวลาที่มีระเบียบวินัยบ้างเพื่อให้เกิดสมดุล” หลังจากนั้น เราก็แต่งเพลงให้กัน มันเป็นช่วงเวลาที่สนุก มีภาพศิลปินที่เป็นนามธรรม ดนตรีไม่มีคำว่าดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง มีแต่คำว่าชอบหรือไม่ชอบ ตอนที่เล่นดนตรีกับพี่ต๋อง มีคนที่ชอบ มีคนเห็นอรรถรสของความเป็น Free jazz

ตอนผมเล่นไนต์คลับ ผมฝึกจากเพลงพระราชนิพนธ์ ผมเริ่มต้นจากดนตรีแจ๊ส ในหลวงท่านทรงแซคโซโฟนเป็นที่ยอมรับในสายตาของนักดนตรีระดับโลก ผมก็ชื่อนชอบ ในหลวงเราเก่งมาก  เราก็เล่นมาตั้งตอนเล่นดนตรีแจ๊สตั้งแต่หัวค่ำ พวกเราจะเล่นแจ๊ส ตั้งแต่ Bossa ,Swing ,ballad ,fusion สมัยนั้นมี โกรเวอร์ วอชิงตัน จูเนียร์ กำลังดัง พวกเราก็เหมือนเริ่มต้นโดยปริยายจากดนตรีแจ๊ส แล้ววันหนึ่งเราก็มีโอกาสได้เล่นดนตรีแจ๊สถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ในงานเลี้ยงส่วนพระองค์ ผมตื่นเต้น สั่นมาก เมื่อเล่นดนตรีสักพัก พระองค์ท่านก็ขึ้นเวทีร่วมเล่นดนตรีกับพวกเราด้วย พวกเราเล่นเพลงแจ๊สอย่างมีความสุข ผมไม่เคยคิดว่า การที่เราเล่นดนตรีแบบ Free Jazz จะมีคนเห็นว่าเราไม่ได้เล่นมั่ว เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก

ก้าวสู่เวทีวงการดนตรีไทยสากลอย่างเฉิดฉาย

พ.ศ. 2536 ตอนทำงานเล่นดนตรีกับพี่ต๋อง ผมได้เจอกับพี่ตี่ กริช ทอมมัส ตอนนั้นเขาทำงานโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายแกรมมี่ เขาชวนผมบันทึกเสียงให้กับศิลปินแกรมมี่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการเพลงป๊อป ผมทำงานอยู่ 3 ปี คลุกกับพี่ตี่ กริช ทอมมัส เขาสอนเรื่องการโปรดิวเซอร์ ส่วนพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ สอนเรื่องการคุมร้อง การร้องเพลงต้องทำอย่างไร อักขระ การเอื้อน ภาษาไทยมีวรรคยุกต์ พี่เต๋อใช้คำว่า ภาษาไทยมีเมโลดี้ คำบางคำในภาษาไทยเราบิดเมโลดี้ไม่ได้ อย่างคำว่า รัก ไข่ ใจ คำเหล่านี้มีเมโลดี้ที่ถูกต้องของภาษา บางประโยคบางประโยคมีเมโลดี้ที่ตายตัว อย่างเช่น “วันนี้กินข้าวหรือยัง” 

แกรมมี่ป็นบ้านหลังแรกที่ผมทำงานโปรดิวเซอร์ ผมเริ่มทำงานหลายอย่างที่แกรมมี่ แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็บันทึกเสียงให้กับศิลปินหลายท่าน เช่น พี่ติ๊ก ชีโร่ , พี่แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ , เมื่อทำงานกับแกรมมี่ผมก็โปรดิวซ์งานให้กับ อ่ำ อัมรินทร์ นิติพน , อ้อม  สุนิสา สุขบุญสังข์ , X3 Super Gang ผมทำงานกับพี่เต๋อ สอนคุมร้อง ทำงานกับพี่ตี่ สอนโปรดิวเซอร์ การวางคอร์ด การวางโครงสร้างเพลง ผมทำหน้าที่ร้องเพลงไกด์ให้กับศิลปิน พี่เต๋อบอกให้ผมร้องชัดๆ เพราะนักร้องบางคนเขาจะร้องตามไกด์หรือคนออกแบบการร้อง ยุคสมัยก่อนก็มี มิคกี้, ปาน ธนพร, โบ สุนิตา เมื่อผมพอมีวิชาความรู้ ผมก็ขอทำอัลบั้มของตนเอง

Catarock  ผลงานอัลบั้มแรกกับ เทโร เรคคอร์ด นั่นเป็นยุคการปลี่ยนแปลงทางดนตรี เริ่มต้นแนว Alternative ตอนนั้นมีวง พราว, โมเดิร์นด็อก, เดอะมัส, มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร ยุคที่เพลงค่อนข้างปลดแอกมีความหลากหลาย มีการแบ่งโซนดนตรี โซนอังกฤษก็จะชอบ Oasis โซน อเมริกาก็จะชอบ Nirvana

นั่นเป็นจุดเริ่มต้น Catarock สัดส่วนด้านดนตรีผมมีความเข้มข้นเรื่องน้อยกว่าศิลปินในกลุ่มเดียวกัน อย่างโมเดิร์นด็อก จะมีความเป็นโมเดิร์นอย่างชัดเจน เสียงกีตาร์ กลอง อารมณ์เพลง ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องโซโลกีตาร์หรือสาดเสียงกีตาร์มากมายก็มีความเป็นในอารมณ์อยู่เต็มเปี่ยม แต่สำหรับผมจะมีกลิ่นอายของดนตรี ตอนนั้นผมไม่ได้เป็นแต่เราถูกจัดอยู่ในกลุ่มดนตรีร็อก ตอนชุดแรกก็จะทำเป็นร็อก ชุด 2 ตั้งใจจะทำเป็นแบบวง โตโต้ ที่เป็นแจ๊ส  เพราะเรามาจากแจ๊ส แต่พอทำงานเราก็เริ่มรู้สึกว่า ดนตรีแจ๊สดูมืดมนในทางการตลาดมากสำหรับเมืองไทยในขณะนั้น ผมจึงเปลี่ยนทำเพลงป๊อป เพื่อทำมาหากิน เราต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่ดนตรีร็อกเเข้มข้น 

อัลบั้ม Burn มาจากการผสมเหล้าซึ่งผมคิดสูตรเอง , อัลบั้ม AWAKE  มีความเติบโตทางความคิด ทุกคนมีความคิด มีความฝัน ถ้าไม่ทำจริงฝันก็คือฝันไม่มีวันเป็นความจริง นั่นเป็นที่มาของ AWAKE มีเพลงมุมมืด ราตรีสวัสดิ์ คนของเธอ ผู้คนรู้จักผมในวงกว้างมากกว่าเดิม, อัลบั้ม get up higher มีผลงานเพลง “เลิกรา” เป็นผลงานเขียนเพลงแจ้งเกิดนักแต่งเพลง “แสนคม สมคิด” เขียนเพลงวแรกแล้วก็ดังเลย , อัลบั้ม Get Up Higher ผมใช้ชีวิตเหมือนการเอาคืนสิ่งที่เคยขาดหายเมื่อวัยเด็ก ใช้ชีวิตเกินเลย ดื่มเหล้า ใช้ชีวิตเสเพล เมื่อเราพบ สีสัน เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง มันทำให้เราใช้ชีวิตอย่างประมาท แต่ในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท ก็มักจะมีอะไรมาเหล่อเลี้ยง เช่น ทำงานเพลงหลายคนก็ชอบ มีรายได้ มีความหลงระเริง ซึ่งก็ต้องระมัดระวัง ภาษาธรรมทางพุทธศาสนาเรียกว่า “มานะ” เป็นตัวกิเลส เป็นตัวถือตัวถือตน ทำให้เกิดอัตตา ผมเรียนรู้ เมื่อเข้าใจเราก็ถอยกลับมามองตัวเอง หยุดการดื่มเหล่าและใช้ชีวิตเสเพล

Jazz ส่วนผสมในผลงานดนตรีของ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม

ถ้าลองวิเคราะห์ผลงานเพลงของผม จะเห็นว่า ผมใช้ทางคอร์ดที่แตกต่างจากคอร์ดทั่วไป “เพลงนักโทษประหาร” ท่อน Intro ใช้วิธีคิดแบบ 1เปลี่ยนคีย์จาก C เปลี่ยนเป็น Eb ซึ่งก็คือจาก C เป็น Cm พอเปลี่ยนก็จะมีทางคอร์ดที่เปลี่ยนไป มีความเชื่อมโยงในคีย์ใหม่ แล้วก็จะกลับมาคีย์ซีเมเจอร์เหมือเดิม เพลงทั่วไปเขาไม่ทำกัน แต่ผมทำ

การยืมคอร์ด 2วอโล่คอร์ด (Borrow Chord) หรือ ภาษาที่ลึกเข้าไปอีกเรียก แบ็คดอร์ ฮาโมนี่ หรือ ทางลัดของการรีโซล หรือการกลับมาสู่คอร์ดโทนิก ซึ่งไม่มีใครคิดในตอนนั้น หรือบางทีก็มีการนำหลักการ คอร์ด 2-5-1 มาใช้ เพลงที่ใช้ก็ “รับได้ไหม” ซึ่งอยู่ในท่อนโซโล่ หลักการก็คือ เอาคอร์ดที่ 2 คอร์ดที่ 5 ส่งไปคอร์ดที่ 1  อย่างเพลงรับได้ไหมอยู่ในคีย์ C ผมอยากเปลี่ยคีย์ท่อนโซโล่มาเป็นดีคีย์ A ผมก็เลยใช้ 2-5-1 ของ A คือ Bm7 และ E7  ส่งมา A แล้วมองซ้ำ เปลี่ยนจาก A คือ Am D7 ไป G อีก หลังจากนั้นก็  Gm  C7 ส่งไป F ผมนำหลักการของดนตรีแจ๊สมาใช้ในการทำเพลง

สิ่งเหล่านี้เราทำจากความเคยชิน เวลาเราเรียบเรียงก็จะมีแจ๊สโผล่ออกมา เราต้องการทำให้คอร์ดนำอารมณ์เหล่านั้นมา คือ 3คอร์ด 2-5-1 หรือ ii-V-I เปลี่ยนคีย์ เป็นการย้ายอารมณ์ พอมีท่อนโซโล่ มันมีความบันเจิด มีความสว่าง เป็นการย้ายอารมณ์ของคน เป็นการย้ายจุดของอารมณ์เดิม พอโซโล่เสร็จย้ายกลับมาเมโลดี้ ผมคิดในเชิงอารมณ์ในเชิงทฤษฎี กระทั่งท่อนจบเพลง นักโทษประหาร ก็เป็น แบล็กดอร์ฮาโมนี่

สำหรับผมหากเป็นแจ๊สสู่ร็อกหรือร็อกสู่แจ๊ส ความหมายเหมือนเดิมเพราะว่า ผมเอาทั้งสองอย่างมาอยู่ด้วยกัน อยู่ที่ว่า จะเริ่มต้นจากอันไหนก่อน มันนำมาซึ่งงานในชุดหลัง เช่น Cat In The Mood  ผมนำเพลงของผมเพลงของแกรมมี่ทำเป็นเพลงแจ๊ส ซึ่งก็เป็นเพลงแจ๊สที่ไม่ยาก เป็นเพลงแจ๊สเบาๆ บาลาส บอสซ่า แต่จะมีเรื่องของทางคอร์ด เรื่องของแนวทำนองการโซโล่ มีหลายคนบอกว่า สอนโซโล่เพลง ก้อนหินก้อนนั้น ผมบอกว่า ผมจำไม่ได้เพราะตอนโซโล่ผมอิมโพรไวส์ในรอบเดียว อิมโพรไวส์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้กับเพลงร็อก ถามว่าเราเตรียมไว้หรือไม่ เราเตรียมไว้ แต่เมื่อถึงเวลาโซโล่ เราเล่นบางส่วนที่เราคิดไว้ แต่ส่วนที่เหลือเราอิมโพรไวส์ การรักษาท่อนโซโล่มีแค่ 10 เปอร์เซ็น แต่บางเพลงก็ต้องกำหนดไว้ชัดเจน เช่น เพลงรับได้ไหม

กระบวนการสร้างสรรค์ดนตรี

เวลาผมฝึกกีตาร์ ผมเริ่มจากการฝึกคิด แล้วก็พูด แล้วก็เล่น ผมเคยเขียนหนังสือ “ฟัง ฝึก เล่น กว่าจะเป็นนักดนตรี” กระบวนการเล่นดนตรีจะมีการ คิด พูด ทำ ดนตรีออกจากใจหรือสิ่งที่เราคิด ความจริงเราคิดด้วยใจ สมองเรามีเอาไว้จำหรือประมวลผลอะไรบางอย่าง แต่ความคิดเชิงสร้างสรรค์ออกมาจากใจ คือ เราคิดเมโลดี้อะไร ร้องมันออกมา แล้วก็โซโล่ออกมาตามที่ร้อง มันคือหลักการฝึกของผมหรือหลักการฝึกของนักดนตรีแจ๊ส ผมคิดว่า ผมคิดดนตรีจากใจ เพราะถ้าคิดจากสมอง มันจะเป็นเหตุเป็นผลมากๆ แต่ถ้าคิดจากใจมันจะเป็นเรื่องของอารมณ์ (Emotional) เราจะกำหนดความ หนัก เบา สั้น ยาว ของโน๊ตแต่ละตัวในความรู้สึกของเรา

เวลาผมโซโลกีตาร์ ผมจะโซโล่ตามที่ปากผมร้อง แต่บนเวที ผมจะไม่ร้องออกมา ถ้าชินแล้วผมก็จะเล่นออกมา แต่ถ้าร้องออกมาด้วย ผมจะใช้เป็นบางครั้งในกรณีที่ต้องการกำหนดอารมณ์ของตัวโน๊ต การฝึกในช่วงแรกๆ เราจะทำไม่ค่อยได้ เราก็จะร้องก่อน หลังจากนั้นค่อยเล่นกีตาร์ แต่เราก็ต้องคิดแล้วฝึกร้อง เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะกระชั้นใกล้ชิดกันแทบจะเป็นเวลาเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากแจ๊สแล้วนำมาใช้ในดนตรีร็อก

เรากำหนดอารมณ์จากสิ่งที่เรารู้สึก คิดจากใจ ดนตรีไม่ใช่เสียงที่ออกมาจากวัตถุ แต่เป็นเสียงที่มาจากหัวใจ เสียงของวัตถุคือเสียงกีตาร์ แต่เสียงจากใจคือดนตรี มันจะไม่น่ารำคาญ เหมือนเวลาที่เราจะคุยกับใคร เราจะเข้าหาเขาตอนไหน พูดคุยด้วยกาลเทศะแบบไหน เขาเสียใจเราต้องเข้าไปพูดอย่างไร เขามีความสุขเราควรคุยด้วยอะไร ถ้าเราใช้ใจคิดเราจะรู้ แต่ถ้าเราเล่นดนตรีจากวัตถุ มันจะไม่มีกาลเทศะ 

ถ้าเราเล่น เราจะรู้ว่า เราจะแบ่งพื้นที่ให้มือกีตาร์เล่น มือเปียโนจะเบาลง ฉันจะแบ่งทำให้มือกีตาร์เล่นอย่างเฉิดฉาย เหมือนเรากำลังนั่งล้อมวงคุยกัน ถ้า 5 คน แย่งกันคุย ก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเราแบ่งกันคุยในมุมมองที่แตกต่างในหัวข้อเดียวกัน มันจะเกิดความสนุกในการพูดคุย การเล่นดนตรีก็เหมือนการพูดคุย เราคุยกันเรื่องเดียวกันคือ เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร เพลงนั “กโทษประหาร” มือกลองรู้สึกอย่างไร มื่อเป็นนักโทษประหาร ถึงท่อนโซโลกีตาร์ เขาอาจไม่ลดความดังแต่เขาจะคอยสอดรับ เขาจะฟังกีตาร์โซโล่ แล้วเออออตาม การเล่นดนตรีก็เหมือนกับการคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน บางทีก็มีท้าทายกัน (Battle) แต่ทั้งหมดมีความเป็นมิตรภาพรองรับ มันไม่ได้เกิดจากความต้องการอวด หรือ ประกวดประขัน นี่คือ อรรถรสของดนตรี ของการเล่นดนตรี ของการแต่งเพลง

มุมมองเรื่องศิลปะกับดนตรี

ดนตรีเป็นภาษาสากล การที่เรากำหนดว่าเป็น คลาสสิค ,แจ๊ส ,เรกเก้ , ร็อก เป็นบริบททางสังคมในแต่ละพื้นถิ่น เหมือนกับ ภาษากาย ถ้าเรามองเห็นใครน้ำตาไหล เรารู้ว่าเขากำลังเสียใจ มองเห็นเขายิ้ม เรารู้ว่าเขามีความสุข แต่ภาษาพูดไม่ใช่ภาษาสากล ภาษาเหนือพูดแบบหนึ่ง ภาษาใต้พูดอีกแบบ ภาษาอีสานพูดอีกแบบ เรื่องภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละพื้นถิ่นแตกต่างกัน แล้วแต่ประเภทหรือแนวดนตรี เช่น เร็กเก้ คืออะไร ร็อก คืออะไร  มันมาจากพื้นถิ่นกำเนิดแนวดนตรี ถิ่นหนึ่งซึ่งเกิดมาจากแอฟริกา ร็อกก็มาจากฝั่งตะวันตก ดนตรีเป็นภาษาสากล คนฟังคลาสสิค ถึงตอนที่เศร้าเราจะรู้สึกเศร้า ยามห้าวหาญเราจะรู้สึกได้ว่าเขาห้าวหาญ แจ๊สก็เช่นกัน ถึงตอนเศร้าเราจะรู้สึก ดนตรีเป็นสิ่งที่สื่อออกมาจากอารมณ์ข้างใน

ดนตรีมีอีกหลากหลาย เสียงลมพัด เสียงแมลงจิ้งหรีด บางทีมันก็ไพเราะ จะฟังให้รำคาณก็รำคาญ จะฟังให้เพราะมันก็ไพเราะ อย่ายึดติดกับแนวเพลง แล้วมันจะทำให้ดนตรีเกิดพัฒนาการ ถ้าเราไม่เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างทางดนตรี ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ผมว่า พัฒนาการทางศิลปะ ส่วนทฤษฎีดนตรีไม่มีอะไรมากกว่าเดิมอีกแล้ว เรื่องของโหมด (Modes) สเกล (Scale) คอร์ด(chord) ไม่มีอะไรมากกว่านี้แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือคำศัพท์ เช่นคำว่า Inversion หรือการปรับคู่โน๊ต วันนี้เราเรียกว่า , Drop 2  , Drop 3 แล้วบางทีเราเอาคำศัพท์เหล่านี้มาถกเถียงกัน ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน ผมไม่ได้บอกว่าผมรู้หมดแล้ว แต่ผมกำลังดูว่ามันมีอะไรมากกว่านี้อีกหรือไม่ ผมคิดว่าอยู่ที่การนำทฤษฎีเอาไปใช้ ถ้ารู้ทฤษฎีดนตรี 100 เปอร์เซ็น นำไปใช้ 50 เปอร์เซ็น เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเรารู้ 50 เปอร์เซ็น แล้วนำไปใช้ 100 เปอร์เซ็น ไม่น่าจะดี คุณต้องพยายามรู้ 100 เปอร์เซ็น  เพื่อใช้ 100 เปอร์เซ็น  คนที่จะตัดสินคือคนฟัง

ผมขบคิด เราจะเล่นดนตรีที่เราชอบเหรือเล่นดนตรีที่เขาชอบ ถ้าเราจะเล่นสิ่งที่เราชอบบางทีเราอาจต้องเล่นอยู่คนเดียว แต่ถ้าเล่นดนตรีที่เขาชอบ เราจะไม่มีคำว่าขาดเพื่อน แต่มันก็จะมีวันหนึ่งที่เราเล่นดนตรีที่เขาชอบและเราชอบด้วย เราจะมีความสุขและเพื่อน มันก็จะลงตัวมาก แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เพลงเดิม คนฟังคนเดิม คนเล่นคนเดิม แต่คนฟังอาจจะฟังไม่เหมือนเดิม องค์ประกอบต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เวลาเราเล่น เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องทฤษฎีดนตรี ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนอยู่ข้างล่างเวที เมื่อขึ้นเวทีคุณต้องเล่นสิ่งที่คุณฝึกมาแล้วอย่างเคยชิน เล่นทฤษฎีโดยไม่ต้องคิดเรื่องทฤษฎี เวลาเล่นดนตรีอยู่บนเวทีให้ใช้อารมณ์เยอะๆ เพราะมันเป็นเส้นแบ่งระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ บางทีเราเอาเหตุผลไปใช้บนเวทีไม่ได้ ดนตรีไม่ใช่เรื่องของเหตุและผล แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ที่กลั่นกรองมาจากเหตุผลและทฤษฎีที่ได้ฝึกฝนมาแล้ว กลั่นออกมาเป็นอารมณ์บนเวทีการแสดง

เป้าหมายความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในทรรศนะของผม เรียกว่า “พึงพอใจ” ตอนนี้ผมพึงพอใจกับการรักษาสมดุล เราปรับเปลี่ยนแก้ไข รักษาสมดุลในชีวิตในผลงานเพลงที่ผสมผสานด้วยแจ๊ส การครองงาน กับการครองตน ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำความเข้าใจ กว่าจะเรียนรู้ความลงตัว ชีวิต ดนตรี ก็ต้องใช้เวลาผ่านฤดูกาล ผ่านร้อน ผ่านหนาว สิ่งที่ทำให้เรายืนอยู่ตรงนี้ได้เพราะเราหาความสมดุลเจอ อย่าไปติดกับชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมชาติ ได้มาแล้วก็ต้องหายไป วิชาเศรษฐศาสตร์ยังมี curve รุ่งเรือง ตกต่ำ ทำให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจังหรือไม่แน่นอน ถ้าเราเข้าใจแล้วเราจะไม่เป็นทุกข์

ตอนนี้ผมหันมาทางเทคโนโลยีดนตรี คือผมใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน Blockchain ทำมิวสิค NFT เนื่องจากสังคมดนตรีขยับสู่ระบบดิจิตอลเพื่อพัฒนาเรื่องลิขสิทธิ์ ผมทำหน้าที่เป็นผู้บริหารฝ่ายผลิต นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในดนตรี

สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) อรรถาธิบายโดย เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

1. แนวคิดการเปลี่ยนคีย์ คือ เปลี่ยนคีย์จากกุญแจเสียงที่สัมพันธ์กัน มีแนวคิดที่ได้รับความนิยม 2 รูปแบบ คือ Relative กับ Parallel ซึ่งต้องดูองค์ประกอบจากทางเดินคอร์ดเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าควรเป็นแบบไหน ซึ่ง คีย์ C เมเจอร์ เป็น Eb เมเจอร์ ( มีความสัมพันธ์กันคือ Eb เมเจอร์ สามารถคิดได้ว่าเป็น Relative กับคีย์ C ไมเนอร์) ซึ่งจะเป็นแนวคิดแบบ Relative กับ Parallel ต้องดูทางเดินคอร์ดร่วมด้วย

Relative เช่น คีย์ C เมเจอร์ เป็น Relative กับคีย์ A ไมเนอร์ หรือคีย์ Eb เมเจอร์ เป็น Relative กับคีย์ C ไมเนอร์ (ดูตัวอย่างจากลิงก์)

Parallel เช่น คีย์ C เมเจอร์  เป็น Parallel กับคีย์ C ไมเนอร์ สังเกตว่าจะเป็นคีย์เดียวกันคือ C (ดูตัวอย่างจากลิงก์)

2. Borrow Chord (ตัวอย่างจากลิงก์) เป็นแนวคิดการยืมคอร์ดมาจากคีย์ที่สัมพันธ์กัน ส่วน แบ็คดอร์ เป็นแนวคิดหนึ่งสำหรับการเกลาเข้าหาคอร์ดโทนิกของคีย์ คือ การใช้คอร์ด b7 เข้าหาคอร์ดโทนิกของคีย์ หรือเกลาเข้าหาคอร์ด I เช่น คีย์ C เมเจอร์ ถ้าใช้แนวคิดคอร์ด V เกลาเข้าหาคอร์ด I จะได้เป็น G7 เข้าหาคอร์ด C ส่วนแนวคิดแบ็คดอร์จะได้เป็น Bb7 เข้าหาคอร์ด C ตัวอย่างตามลิงก์

3. ทางเดินคอร์ด 2-5-1 หรือ ii-V-I พบได้บ่อยในเพลงแจ๊ส เป็นการนำคอร์ด 2-5-1 มาจากคีย์ที่สัมพันธ์กัน (ดูจากลิงก์) เช่น ทางเดินคอร์ด 2-5-1 คีย์ A เมเจอร์ จะได้เป็น Bm7-E7-A หรือคีย์  G เมเจอร์ จะได้เป็น Am7-D7-G หรือคีย์ F เมเจอร์ ก็จะได้เป็น Gm7-C7-F (ตามตัวอย่างที่พี่แมวกล่าวยกตัวอย่างในบทสัมภาษณ์จะเป็น Gm-C7 แม้คอร์ด Gm จะไม่มีเลข 7 ก็ยังคงเป็นแนวคิดทางเดินคอร์ด 2-5-1 ) สังเกตดู ทางเดินคอร์ด 2-5-1 ทั้งคีย์ A,G, F ด้านบนนี้ จะสัมพันธ์กับที่พี่แมวให้สัมภาษณ์ เพียงแต่เอาทางเดิน 2-5-1 มาซ้อนและสัมพันธ์กับคีย์ที่ต้องการ