แนวคิดพื้นฐานทางนิ้วระบบเคจด์ สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า หรือ Basic Concept The CAGED Fingering System for Electric Guitar คือหนังสือดนตรีเล่มหนึ่งซึ่งหากดูอย่างผิวเผินคงเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ แต่เมื่อได้เปิดอ่านและลองหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นตามแบบฝึกหัด คุณจะรู้ว่า หนังสือเล่มนี้สามารถทำให้คุณพัฒนาทักษะและความรู้ด้านดนตรีได้อย่างรวดเร็ว นั่นทำให้หลายคนเริ่มสนใจว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือใคร?  

มองโดยผิวเผิน จตนิพิฐ สังข์วิจิตร เป็นชายผิวขาวร่างสัดทัดสวมแว่นตาไว้หนวดเครา ลักษณะเหมือนผู้ฝึกสอนกีฬา แต่เมื่อได้พูดคุย ถอดความคิด คุณจะพบว่า ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร คือผลผลิตทางการศึกษาด้านดนตรีแจ๊สในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย เขาเป็นนักวิจัย นักทฤษฎีดนตรีวิเคราะห์ นักประพันธ์เพลง ลุ่มลึกในมุมมองด้านการวิเคราะห์ผลงานเพลง ด้วยทฤษฎีและหลักการทางดนตรีที่แม่นยำ ทำให้เขาเป็นนักทฤษฎีดนตรีวิเคราะห์คนสำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นมือกีตาร์ฝีมือดีและมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการวารสารดนตรีรังสิต

การเติบโตของวัฒนธรรมดนตรีประเทศตะวันตกในประเทศไทย

ตามมุมมองของผม เมื่อเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ดนตรีสากลโดยเฉพาะดนตรีร็อกในประเทศไทย เราอาจจะนึกถึงยุคสงครามเวียดนาม ค่าย GI และการเล่นดนตรีสไตล์ตะวันตกที่เล่นโดยศิลปินไทยระดับตำนาน เช่น กีตาร์คิง แหลม มอริสัน หรือกีตาร์ปืน กิตติ กาญจนสถิตย์ พวกเขาเป็นนักดนตรียุคบุกเบิก เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นหลัง ดนตรีเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงกัน เช่นเดียวกันกับนักดนตรีต่างประเทศ ถ้าไม่มี จิมมี เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) ก็อาจไม่มีริตชี แบล็กมอร์ (Ritchie Blackmore) และส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังอิงเว มาล์มสทีน (Yngwie Malmsteen) ศิลปินเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจส่งต่อให้แก่กัน

ดนตรีที่เราเล่นเป็นดนตรีฝั่งอเมริกัน ซึ่งในยุคฮิปปี้สไตล์การเล่นดนตรีค่อนข้างดิบ นักดนตรีไทยเล่นดนตรีในค่าย GI พวกเขาไม่ธรรมดาเลย ยุคสมัยก่อนนักดนตรีมักเล่นดนตรีจากการฟังเพลง บ้างต้องแกะเพลงจากตู้เพลงหรือแผ่นเสียง นักดนตรียุคสมัยนั้นมีความจำและโสตทักษะที่ดีมาก เทคโนโลยีต่างๆ ไม่สะดวกสบายเหมือนยุคนี้ เขาใช้ประสบการณ์จากการฟังสะท้อนออกมาผ่านเสียงดนตรี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมมาอย่างโชกโชน ต้องให้เครดิตนักดนตรีเหล่านี้ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจมาสู่รุ่นพวกเรา

สำหรับพัฒนาการของดนตรีแจ๊สในประเทศไทยตามมุมมองของผม ปัจจุบันนี้เราต้องให้เครดิตกับสถาบันการศึกษาที่เห็นคุณค่าของดนตรีแจ๊ส เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรังสิต และอีกหลายแห่งได้สอดแทรกดนตรีแจ๊สเข้าไปในการเรียนการสอน ร่วมกันเป็นแม่พิมพ์ผลิตบุคคลากรทางดนตรีแจ๊ส ถ้าย้อนกลับไปยุคก่อนที่ดนตรีแจ๊สจะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษานั้น การเรียนการสอนมักจะเป็นการศึกษานอกระบบ บุคคลกรสำคัญ เช่น อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ อาจารย์อานนท์ ศิริสมบัติวัฒนา อาจารย์สำราญ ทองตัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรของยามาฮ่าที่เกี่ยวกับ Harmony ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาดนตรีแจ๊สในยุคนั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีแจ๊สมีจุดเด่นคือ Improvisation เสมือนเป็นการเติมคำในช่องว่าง จำเป็นต้องมีข้อมูลมากพอถึงจะสามารถเติมคำในช่องว่างนี้ให้ได้ใจความ อีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นคือดนตรีแจ๊สเป็นครูที่ดีด้านการเรียนรู้เรื่อง Harmony เมื่อเราศึกษาควบคู่กันกระทั่งมีข้อมูลและประสบการณ์มากพอการ Improvisation ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับของโลกใบนี้อีกต่อไป ถ้าเราจับหลักได้แล้วก็สามารถนำไปใช้กับดนตรีแบบอื่นได้อีกมาก ผมเองต้องขอบคุณดนตรีแจ๊สถ้าไม่เช่นนั้น ผมคงเป็นมือกีตาร์ร็อกที่ใช้เทคนิคเล่นเร็วเพียงอย่างเดียว เทคนิคเป็นส่วนหนึ่งในการเล่นดนตรีต้องรู้จักใช้รู้จักควบคุมอย่าให้เทคนิคควบคุมหรือกักขังเรา ต้องขอบคุณดนตรีแจ๊สจริงๆ

สถาบันการศึกษาดนตรีแจ๊สของประเทศไทยในปัจจุบันที่โดดเด่น เช่น มหวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำระบบการศึกษาดนตรีแจ๊สเข้ามาเมื่อการเรียนดนตรีแจ๊สอยู่ในระบบการศึกษา สิ่งแรกที่เห็นอย่างชัดเจนคือนักศึกษามีพัฒนาการขึ้นตามลำดับใช้ระยะเวลาน้อยลง คำแนะนำของอาจารย์ส่งผลเป็นอย่างมากต่อความเข้าใจ การฝึกซ้อม และความรักในดนตรีแจ๊ส ผมโชคดีเจอครูดีมาโดยตลอด

ช่วงสมัยผมเรียนกีตาร์แจ๊สกับอาจารย์แดน ฟิลลิปส์ นั่นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ดนตรีแจ๊สที่เปิดโลกทัศน์มาก มีวิธีการฝึกซ้อมแบบนี้ด้วยเหรอ? หลังจากเรียนกีตาร์ชั่วโมงแรกจำได้ว่าเป็นการเล่นเพลง Blues ในลีลาแบบ Jazz กัน เมื่อเรียนเสร็จก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนๆ และได้ข้อสรุปว่ากีตาร์แจ๊สไม่นิยมการดันสาย (Bending) แต่นิยมการการสไลด์ (Slide) ซึ่งต้องหักห้ามใจพอสมควร เพราะเราเองก็มาจากพื้นเพความเป็นร็อกที่นิยมการดันสาย การศึกษากีตาร์แจ๊สตรงนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ได้เรียนรู้ แจ๊สเป็นครูที่ดีมาก

พัฒนาการทางดนตรีจากร็อกสู่ดนตรีแจ๊ส

ก่อนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล เล่นกีตาร์สไตล์ร็อกมาโดยตลอด ชอบมากทั้งพวกกีตาร์ฮีโร่และพวกร็อกหนักๆ กีตาร์เสียงแตก กลองตีสองกระเดื่องยิ่งชอบ เคยคิดทำวงเพื่อไปออดิชันลงผับแต่ก็ติดปัญหาหลายอย่างเลยต้องยกเลิกไป ก็แกะเพลงไปเรื่อยเลยบางเวลาก็อยากแกะเพลงแจ๊สบ้าง เราแกะเพลงได้แต่ปรากฏว่าเล่นตามต้นฉบับไม่ได้ เกิดคำถามขึ้นบางอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น พยายามฝืนแต่ก็เป็นไปได้ยากรู้สึกฝืนมาก เพิ่งเข้าใจหลังจากที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ดนตรีแจ๊สว่าที่ผมรู้สึกแบบนั้นในการเล่นดนตรีแจ๊สเพราะมันเป็นเรื่องของภาษา แจ๊สคือดนตรีภาษาหนึ่ง เช่นเดียวกับร็อกหรือบลูส์

ช่วงนั้นรู้จักนิตยสาร The Quiet Storm ผมติดตามอ่านหลายคอลัมส์เลยครับ นิตยสารนี้มีหน้าโฆษณารับสอนดนตรีหลายแห่ง บอกกับตัวเองว่าจะต้องไปเรียนแล้วละ กระทั่งได้มีโอกาสไปเรียนที่แรกกับอาจารย์กิตติ กีตาร์ปืนถ้าจำไม่ผิดน่าจะใช้ชื่อ “บ้านประชาชน” แต่เรียนได้ไม่นานเพราะทุนทรัพย์ไม่อำนวย จากนั้นก็เริ่มเก็บเงินอีกกระทั่งได้ไปเรียนที่ “จนัธ’ 79” ที่นี่เรียนได้หลายเดือนเลย แต่ก็ปัญหาเดิมคือเรื่องทุนทรัพย์ ผมเก็บเงินอีกครั้งตั้งใจว่าอยากไปเรียนกับ อ.แดง อ่านคอลัมส์ที่เขียนใน The Quiet Storm แล้วรู้สึกว่าสอนพวก Harmony ตอนนั้นเราก็เริ่มสนใจ Harmony มากขึ้น ก็เลยมีโอกาสได้ไปเรียนกับ อ.แดง อยู่ช่วงหนึ่ง  

จากนั้นเราเริ่มสนใจแนวคิดทางดนตรีอื่นๆ มากขึ้น ทั้งการเล่นกีตาร์หรือพวก Harmony จุดเปลี่ยนสำคัญเลยคือการเข้าไปเรียนปริญญาตรีทางดนตรีที่มหิดล ผมเรียนรุ่น 1 โชคดีมากเจอครูดี เพื่อนดี รุ่นพี่-รุ่นน้องดี ช่วงสองปีแรกได้เรียนกีตาร์คลาสสิกกับ อ.สุวิช กลิ่นสมิทธิ์ ผมไม่เคยคิดว่าจะได้มีโอกาสเรียนกีตาร์คลาสสิกเลย ได้เรียนรู้เทคนิคมือขวา ทุกวันนี้ยังเอามาใช้อยู่เลยครับ เมื่อเข้าไปเรียนที่มหิดลก็ได้มีโอกาสไปเรียนกับ อ.ปราญ์ หลักสูตร 1 ปี ตอนนั้นยังสอนที่บ้าน ผมเหมือนเปิดโลกทัศน์เลยได้เรียนหลายวิชา บางครั้งยังได้มาช่วยงานช่วงแรก ๆ ที่ อ.ปราชญ์ จัด Work Shop เล่นดนตรี หรือประกวดกีตาร์ด้วย   

ช่วงนี้จะมีกลุ่มเพื่อนที่มหิดลที่พักด้วยกันเรียนดนตรีแจ๊ส เราก็เห็นเขาฝึกซ้อมกันหรือเปิดเพลง เราก็ซึมซับตรงนี้มาเรื่อยๆ ช่วงเข้ามหิดลเริ่มคุ้นเคยกับเสียงเครื่องเป่ามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้โดยมากฟังแต่ร็อกไม่ค่อยมีเครื่องเป่าบวกกับที่ได้เรียนกับ อ.ปราชญ์ ด้วยเริ่มฟังดนตรีแจ๊สมากขึ้น ช่วงแรกๆ ฟังเพลง Standard Jazz แบบ Swing ไม่ค่อยได้นานครับ เลยหาฟังพวก Fusion Jazz ก่อน เช่น Yellowjackets, Spyro Gyra, T-Square, Casiopea เป็นต้น แล้วก็ค่อยๆ เข้าใกล้พวก Standard Jazz มากขึ้น       

น่าจะช่วงปีสองได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ไปหา อ.เด่น อยู่ประเสริฐ (ปันจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับ รองศาสตราจารย์ และตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต) เพื่อขอเปิดวิชารวมวงเป็นพวก Fusion Jazz ซึ่งตอนนั้นวิชาในคณะมีแต่รวมวงแจ๊สหรือไม่ก็คลาสสิก โชคดีที่ อ.เด่น ให้โอกาสและเข้าใจพวกผมก็เลยได้เล่นรวมวง Fusion Jazz กัน พวกผมโชคดีสองชั้นครับได้พี่โก้ เศกพล อุ่นสำราญ (Koh Mr.Saxman) มาดูแลวงยิ่งได้รับความรู้และประสบการณ์มากขึ้นครับ พี่โก้ชวนออกไปแจมไปรู้จักพี่ๆ นักดนตรีในวงของพี่เขาและก็ส่งประกวดวงดนตรีของเราด้วย ได้รางวัลติดมือมาด้วยครับครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญทางดนตรีแจ๊สของผมเลย    

นักศึกษาดนตรีในมหาวิทยาลัย

ผมสนใจอยากเรียนดนตรี แต่ยุคสมัยก่อนทางเลือกในการศึกษามีน้อยมาก ช่วงใกล้จบมัธยมต้นก็หาข้อมูลบ้างถ้าจำไม่ผิดมีจากดุริยางค์ทหารที่ผมได้ข้อมูลมา แต่สุดท้ายผมเลือกเรียนต่อสายวิชาชีพ ปวช.-ปวส. และเรียนต่อวิศวกรรมศาสตร์แต่เรียนไม่จบนะครับ ตอนนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยออกมาด้วยเหตุผลบางประการ ระหว่างนั้นก็ช่วยแม่ทำงาน ครอบครัวของเราทำธุรกิจร้านขายของชำ แม่ของผมต้องเดินทางไปซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย ผมทำหน้าที่คนขับรถพาแม่ไปตลาด ขณะที่ผมรอแม่กำลังเลือกซื้อสินค้าก็มักจะอ่านนิตยสารดนตรี The Quiet Storm ช่วงเวลานี้ก็คิดว่าเราไม่น่าจะเอาใบปริญญามาให้แม่ได้แล้วละ แต่ก็มีจุดเปลี่ยนจนได้

มีอยู่วันหนึ่งขณะผมเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า ผมเห็นโรงเรียนดนตรีของมหิดลมีเอกสารประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาตรีดนตรีรุ่นแรก ผมตัดสินใจหยิบเอกสารนี้ติดกลับบ้านไปด้วย และบอกกับที่บ้านว่าจะไปสมัครเรียนที่นี่ แต่ผมไม่ทราบเลยว่า การสอบเข้าวิชาดนตรีต้องเตรียมตัวกันอย่างไร มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงโสตทักษะ ที่ผมไม่เคยเรียนเป็นระบบมาก่อนเลย ผลการสอบครั้งแรกเป็นไปตามคาดคือไม่ผ่าน ผมกลับไปเตรียมตัวมาอีกครั้ง ซึ่งพอรู้แนวทางจากการสอบครั้งแรกมาแล้ว ผมฝึกฝนเตรียมตัวทุกวันทำเป็นกิจวัตรหลังจากการผิดหวังจากการสอบเข้าครั้งแรก จัดตารางซ้อมทุกอย่างที่ใช้สอบเพื่อรอเวลากลับไปสอบอีกครั้ง จำได้ว่าการสอบเข้าครั้งที่สองนี้มี อ.เด่น เป็นกรรมการสอบ ผมเตรียมเพลง Easy to Love แต่งโดย Cole Porter เป็นเพลง Standard Jazz เอามาทำเป็น Chord Melody โดยอาศัยแนวคิดจากคอลัมส์ของ อ.แดง ที่เขียนไว้ในนิตยสาร The Quiet Storm มาเป็นแนวทาง พอถึงช่วง Improvisation มีแต่งทำนองไว้บ้างแต่เล่นจริงลืมทุกอย่าง ก็โชคดีที่สอบผ่านในครั้งนี้ ทุกวันนี้ผมทำงานกับ อ.เด่น ที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต อ.เด่น ยังจำวันที่ผมไปสอบได้อยู่เลยครับ ว่าผมเล่นเพลงสอบเพลงอะไร   

ผมได้เข้าเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นรุ่นแรก (เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดนตรี) แต่ก็เกือบจะไม่ได้เข้าเรียนแม้ว่าจะสอบผ่านแล้ว ปัญหาเดิมคือเรื่องการเงินครับ โชคดีที่ได้พี่สาวช่วยไว้ต้องขอบคุณพี่สาวผมที่ช่วยไว้คราวนั้นผมถึงมีวันนี้ได้ ตอนเรียนมหิดลตอนนั้นยังเรียนที่ตึกคณะ Inter ย้ายไปเรียนที่ตึกดนตรีตอนปีสาม ตอนนั้นอาคารเรียนยังสร้างไม่เสร็จ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม ลิฟท์ยังไม่เสร็จ ก็รวมเงินกันซื้อพัดลมหรือบางคนหิ้วพัดลมไปเปิดในห้องเรียนด้วย สังคมมหาวิทยาลัยมหิดลช่วงที่ผมเรียนเป็นสังคมที่ดีมาก มีสิ่งแวดล้อมดี  มีเพื่อนที่ดี ช่วงเวลาผ่านไปเร็วมากเมื่อใกล้เรียนจบปริญญาตรี ผมเริ่มรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนกัน ตั้งคำถามกับตนเองว่า เรียนดนตรีจบแล้วจะทำงานอะไร?  

ต้องขอบคุณตัวเองที่ไม่ถูกกักขังด้วยอีโก้ เปิดใจเรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่น กีตาร์คลาสสิก เรียนดนตรีแจ๊ส ผมมีพื้นฐานจากดนตรีร็อก เรายิ่งเรียนรู้หลายด้านยิ่งพบว่าตัวเราเล็กมากเมื่อเทียบกับโลกของดนตรี ไม่รู้ว่าจะพก   อีโก้ติดตัวไปมากทำไม ถ้าเรารู้จักดนตรีเพียงสไตล์ใดสไตล์หนึ่งในมุมมองของผมเราเพียงเปิดใจเรียนรู้ อย่าถูกกังขังด้วย อายุ หน้าที่การงาน หรือชื่อเสียงในสังคม มาย้อนดูตัวเองรู้สึกว่าเราเหมือนกับกบที่อาศัยอยู่นกะลาแคบๆ เพียงใบเดียวแฝงไปด้วยอีโก้มากมาย เพราะพื้นที่ของตนเองมีเพียงเท่านี้ ผมพยายามพลิกกะลาเหล่านั้นออก เมื่อมีโอกาสเรียนรู้จงทำ

อาจารย์สอนดนตรีและงานวิชาการทางดนตรี

ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต สอนทั้งปริญญาตรี-โท ที่ผ่านมามีโอกาสได้เล่นดนตรีกับ อ.เด่น อยู่ประเสริฐ บนเวทีทั้งระดับชาติและนานาชาติ จากที่เราเคยนั่งดูสมัยเรียนกระทั่งได้มีโอกาสเล่นร่วมกัน บางครั้งก็เล่นเพลงแต่งของผมด้วยเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก นอกจากนี้ยังได้ทำวงดนตรีและ     แต่งเพลงของตนเองด้วย ด้านการทำงานเชิงวิชาการดนตรี เริ่มชัดเจนจากช่วงการเรียนปริญญาโทเพราะก่อนหน้านั้นแทบจะไม่เคยทำงานวิชาการดนตรีเลย สอนดนตรี เล่นดนตรี หรือแต่งเพลง เสียมากกว่า

ย้อนกลับไปช่วงปี 2552 ผมได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านดนตรีแจ๊ส การเรียนระดับปริญญาโทแตกต่างจากปริญญาตรีอยู่พอสมควร มีการบ้านที่ต้องส่งเป็นเอกสารเชิงวิชาการ หรือต้องนำเสนอเชิงวิชาการ หรือต้องหาข้อมูลจากห้องสมุด รายวิชาที่ต้องส่งงานแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่จะไปยากตรงการทำวิทยานิพนธ์ ต้องอยู่กับคอมพิวเตอร์และหนังสือนานมาก รู้สึกอึดอัด ให้ผมซ้อมกีตาร์ทั้งวันทั้งคืนยังรู้สึกดีกว่าเยอะเลยครับ แต่ก็เป็นความโชคดีของผมที่ อ.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์) กลับจากเรียนเมืองนอกมาพอดี แกก็บอกว่าจะช่วยสอนการทำวิทยานิพนธ์ให้กับเรา ได้ความรู้เยอะมากต้องขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ วิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโทผมทำเรื่องเกี่ยวกับวิเคราะห์เพลงของนักกีตาร์ 2 คน คือ แพท เมธินี (Pat Metheny) และไมค์ สเติร์น (Mike Stern) โดยนำแนวคิดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบในเพลง Giant Steps ของ จอห์น โคลเทรน  (John Coltrane) ผมได้ข้อมูลเยอะมากและกลายเป็นคลังข้อมูลให้ไปต่อยอดเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย  

กระทั่งเรียนจบปริญญาโทปี 2555 ก็ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานวารสารดนตรีรังสิต จากการชักชวนของ อ.วิบูลย์ ผมก็ค่อย ๆ เรียนรู้งานวิชาการไปตามลำดับ กระทั่งได้รับโอกาสเป็นบรรณาธิการวารสารในปี 2559 ปัจจุบันวารสารอยู่ในกลุ่ม TCI กลุ่ม 1 และมีแนวโน้มพัฒนาคุณภาพต่อไปอีก นอกจากนี้ยังได้เข้ามาสอนวิชาดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์ในระดับปริญญาโทด้วยก่อนหน้านี้ อ.เด่น เป็นคนสอนวิชานี้ ตอนแรกก่อนจะเข้าไปสอนวิชานี้ก็กังวลว่าเราจะสอนได้ไหม? จะทำเสียชื่อไหม? จะโดนลองของไหม? ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็ได้เรียนรู้ทั้งงานวิชาการ การสอนกีตาร์ การวิเคราะห์ การเล่นดนตรี การแต่งเพลง เริ่มได้มีโอกาสทำงานวิจัยชิ้นแรกเรื่อง “ความทรงจำสำหรับวงดนตรีแจ๊สวงเล็ก (Memory for Small Jazz Ensemble)” สนับสนุนทุนวิจัยโดยมหาวิทยาลัยรังสิต วิจัยชิ้นแรกนี้เสร็จเมื่อปี 2558 เป็นวิจัยสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจจากสถานที่ 8 แห่งของวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนจะย้ายไปสู่ตึกใหม่ในปัจจุบันนี้ งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นวิจัยสร้างสรรค์ชิ้นแรกๆ ในประเทศไทยที่เน้นมิติแจ๊สวงเล็ก ผมทำออกมาทั้งหมด 8 เพลง เวลารวมทั้งหมดเกือบ 1 ชั่วโมง ต้องขอบคุณน้องๆ นักดนตรีที่มาร่วมเล่นกับผมในวิจัยชิ้นนี้ครับ

หลังจากจบปริญญาเอกในปี 2563 ก็ได้ทำวิจัยสร้างสรรค์เพื่อระลึกถึงนักดนตรีแจ๊สคนสำคัญที่พัฒนาดนตรีแจ๊สไปตามยุคสมัย ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ชื่อเรื่องวิจัยคือ “บทประพันธ์เพลง เดวิสฟินอมินอน (Davis Phenomenon)” สนับสนุนทุนวิจัยโดยมหาวิทยาลัยรังสิต วิจัยสร้างสรรค์ชิ้นนี้นำเสนอด้วยมิติวงแจ๊สขนาดใหญ่หรือ Big Band เพลงประกอบด้วย 3 ท่อน แต่ละท่อนก็นำอิทธิพลทางดนตรีที่เชื่อมโยงกับ ไมล์ส เดวิส มาเป็นวัตถุดิบให้กับการแต่งเพลง ผมได้ประสบการณ์จากการแต่งเพลงให้กับ Big Band มากยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้แตกต่างจากตอนทำวิทยานิพนธ์ของปริญญาเอก ซึ่งเป็นการแต่งเพลงสำหรับกลุ่มเครื่องจังหวะ (Rhythm Section) ผสมผสานกับไวโอลิน เชลโล แซ็กโซโฟน และคลาริเน็ต

จากนั้นปี 2564 ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่อง “บทประพันธ์เพลง หัตถยุทธ ลีลา (Hattayut Leela)” เป็นการแต่งเพลงสำหรับวงแจ๊สขนาดใหญ่หรือ Big Band อีกครั้ง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของศิลปิน 4 คน คือ เอ็ดวาร์ด มูงค์ (Edvard Munch) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) วาสซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) และแอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) เป็นประสบการณ์ที่ดีด้านการทำงานวิจัยสร้างสรรค์อีกหนึ่งงานเลยครับ ช่วงที่เก็บข้อมูลภาพวาดของศิลปินทั้ง 4 คนนี้ ผมพบว่าได้จุดเชื่อมโยงทางแนวคิดหรือหลักการทางดนตรี สำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบการประพันธ์ไปได้หลายประเด็นเลยครับ ดนตรีกับศิลปะมีหลายอย่างเชื่อมโยงกันจริงๆ

ปัจจุบันนี้ก็ยังมีงานวิจัยที่กำลังทำอยู่อีก 1 ชิ้น โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เช่นกันเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับแต่งเพลงสำหรับกีตาร์ไฟฟ้าจำนวน 10 เพลง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาการเล่นกีตาร์ไฟฟ้า 5 สไตล์ และศึกษาเรื่องการ Improvisation ด้วย วิจัยชิ้นนี้เน้นการศึกษากีตาร์ไฟฟ้าหวังว่าจะมีประโยชน์ รอติดตามผลงานกันนะครับ   

เส้นทางสู่การทำงานเชิงวิเคราะห์ทางดนตรี  

การทำงานวิชาการทางดนตรี เช่น งานวิจัย หรือบทความวิชาการ ฯลฯ สำหรับผมเริ่มศึกษามากขึ้นตั้งแต่ช่วงเรียนปริญญาโทต้องขอบคุณ อ.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น ที่เปิดโลกทัศน์ให้ผมสำหรับมิติงานวิชาการทางดนตรีหลายรูปแบบทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง หลังจากผมได้เข้ามาสอนวิชาดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์ต้องทำการบ้านให้ตัวเองมากพอสมควร แต่ก็คุ้มค่ากับคลังความรู้ที่ได้มา ในชั้นเรียนวิชานี้มักจะให้นักศึกษาส่งการบ้านเป็นงานเชิงวิชาการ หรืออาจต้องนำเสนอในชั้นเรียนด้วย รวมถึงต้องทำโปรเจคต่างๆ ซึ่งการสอนวิชานี้เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับการทำงานเชิงวิเคราะห์ทางดนตรีให้กับผม

นอกจากนี้หลังจากเรียนปริญญาเอกได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรือกรรมการให้กับนักศึกษาปริญญาโท รวมถึงได้มีโอกาสพิจารณาผลงานทางวิชาการมากขึ้น เช่น บทความ หนังสือ/ตำรา งานวิจัยทางดนตรี หรือเป็นกองบรรณาธิการให้กับวารสารทางวิชาการ ก็ยิ่งเห็นมิติการทำงานเชิงวิชาการมากขึ้น ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมงานวิชาการถึงสำคัญ ทำไมต้องระวังการใช้คำศัพท์เทคนิคทางดนตรี ถ้าจะใช้ต้องมีความเข้าใจและใช้ให้ถูกต้อง ในชั้นเรียนวิชาดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์เป็นตัวอย่างที่ดีผมมักถามนักศึกษาว่า คำศัพท์ที่นำมาใช้มีความหมายอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจความหมายหรือทำให้ประเด็นต่างๆ กำกวมควรนำมาใช้หรือไม่ อย่างไร บางครั้งเป็นคำศัพท์ที่ได้จากการพูดต่อๆ กันมาตรงนี้ยิ่งต้องระวัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเราได้เรียนรู้มากขึ้นการใช้ศัพท์เทคนิคทางดนตรีจึงต้องระมัดระวัง

การทำงานวิชาการเชิงวิเคราะห์ ต้องมีความรู้เชิงทฤษฎีเข้ามาอย่างปฏิเสธไม่ได้ สำหรับผมสิ่งสำคัญคือต้องมีประเด็นที่วิเคราะห์ให้ชัดเจน จากประสบการณ์ผมพบว่า การวิเคราะห์สามารถพิจารณาได้หลายมุมมองด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับหลักการและเหตุผล นักทฤษฎีดนตรี 3 คน ให้วิเคราะห์เพลงเดียวกันก็อาจวิเคราะห์ต่างกันได้ เราอาจเชื่อถือทั้ง 3 คนเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้ผมมองเป็นข้อดีที่ทำให้เห็นหลักการและเหตุผลหลากหลายมุมมอง หรืออีกกรณีตัวอย่าง เช่น C Major Scale มีสมาชิกโน้ตทั้งหมดเหมือน A Minor Scale แต่อะไรที่เป็นปัจจัยชี้ให้เห็นว่าเป็น Scale เหล่านี้บ้าง ถ้าเรามีความรู้ทฤษฎีดนตรี แต่งเพลงได้ เล่นได้ วิเคราะห์ได้ และสามารถอธิบายเชิงวิชาการได้จะมีส่วนช่วยให้สะสมประสบการณ์หลายมิติ และสามารถตอบได้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง

จากการสอนวิชาดนตรีแจ๊สและการวิเคราะห์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผมมีข้อมูลหลากหลาย กระทั่งนำองค์ความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดลงในหนังสือของตัวเอง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับการเรียนการสอนวิชานี้และเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจ เมื่อปี 2565 ก็ได้ออกหนังสือของตัวเองเล่มแรกชื่อ “หนังสือโมเดิร์นแจ๊ส (Modern Jazz)” เป็นการนำดนตรีแจ๊ส 6 ยุค มากล่าวถึงเชิงประวัติศาสตร์และนำเพลงในยุคเหล่านั้นมาวิเคราะห์

ผลพวงจากการทำงานเชิงวิเคราะห์ที่ผ่านมากระทั่งออกหนังสือเล่มแรก สำหรับปีนี้ผมได้นำเสนออีกรูปแบบหนึ่งจากองค์ความรู้ทางกีตาร์ไฟฟ้าด้วย “หนังสือแนวคิดพื้นฐานทางนิ้วระบบเคจด์ สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า (Basic Concept The CAGED Fingering System for Electric Guitar)” เป็นการแสดงแนวคิดพื้นฐานทางนิ้วระบบ CAGED ทั้ง Scale, Arpeggio, Chord และนำแนวคิดเหล่านี้มาสร้างเป็นแบบฝึกทักษะ โดยแบบฝึกทักษะสามารถสแกน QR Code เพื่อรับชมคลิปสาธิตการบรรเลงและคลิปสำหรับฝึกซ้อมได้ หนังสือเล่มนี้ผมได้นำความรู้ทั้งด้านกีตาร์ไฟฟ้า การแต่งเพลง การวิเคราะห์ และการทำงานวิชาการ นำมาผสมผสานกัน ซึ่งบางแบบฝึกทักษะแต่งขึ้นมาเพื่อเป็นแบบฝึกที่ซับซ้อนขึ้นและต้องสอดคล้องกับทางนิ้ว ต้องขอบคุณการไม่กักขังตัวเองอีกครั้งครับ ไม่อย่างนั้นผลงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาและตั้งใจผลิตผลงานเหล่านี้ออกมาอีกเรื่อยๆ   

การนำเรื่่องโหมดในทฤษฎีดนตรีมาใช้วิเคราะห์บทเพลง

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมหิดลผมก็ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ปราชญ์ อรุณรังสี ด้วย เรียนกันทั้งวัน มีแบ่งเป็นชั่วโมง เรียนเรื่องทฤษฎี เรียนเรื่องการ Improvisation เรียนเอียเทรนนิ่ง (Ear Training) การเรียนโหมดเป็นเหมือนพื้นฐานว่าแนวคิดของโหมดนี้เป็นแบบใด ความจริงเรารู้เรื่องโหมด เช่น ซี เมเจอร์สเกล มีโหมดต่างๆ ซ่อนอยู่ 7 โหมด แต่มันก็จะถึงทางตัน แล้วทำอย่างไรต่อ เอาไปสร้างสรรค์อย่างไรได้อีกมั้ย กระทั่งเราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทั้งการวิเคราะห์ การแต่งเพลง การ Improvisation ผมเอาทั้ง 3 เรื่องมาผสมผสานกัน ทำให้เห็นทิศทางของโหมดมากยิ่งขึ้น แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นประเด็นต่างๆ เอามาใช้ในชั้นเรียน หรือสร้างงานตนเอง

ผมฝึกการ Improvisation ได้เรียนรู้เรื่องโหมด แจ๊สเป็นครูที่ดีทำให้ผมเห็นแนวคิดโหมดและสามารถทดลองได้หลายอย่าง เช่น เราจะใช้โหมดให้สอดคล้องกับคอร์ดได้อย่างไรบ้าง เพราะคอร์ดเปลี่ยนไปตามวาระต่างๆ ทริคของโหมดมีอะไรบ้าง รวมถึงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดกับสเกล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อเห็นคอร์ดหนึ่งคอร์ด เราสามารถใช้สเกลใดได้บ้าง เปิดโลกทัศน์มาก คอร์ดสามารถใช้โหมด สเกล อะไรได้เยอะมาก แจ๊สสอนผมในเรื่องเหล่านี้ ย้อนกลับไปในวัยที่เรายังนั่งดู VDO สอนกีตาร์ของ Scott Henderson ไปหาซื่อที่ร้าน Rex แถวประตูน้ำ ตอนนั้นเกิดคำถามทำไมไอเดียเขาเยอะเหลือเกิน ต้องขอบคุณดนตรีแจ๊สครับทุกวันนี้ผมได้คำตอบจากประสบการณ์ของผมแล้ว  

เพลงที่บอกคีย์ตามหนังสือเพลง ผมจะไม่เชื่ออีกต่อไป หลายเพลงมีเปลี่ยนคีย์เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะเพลงแจ๊ส คีย์ที่บอกนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เราต้องดูบริบทอื่นประกอบด้วย เช่น คอร์ด เพราะบางทีคีย์ในเพลงอาจมีการเปลี่ยน ซึ่งจุดนี้ทฤษฎีเข้ามามีส่วนช่วย ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ คนที่เรียนแจ๊ส จะได้เรียนรู้เรื่องฮาโมนี่ หากทำไม่ได้ก็จะวิเคราะห์ดนตรีไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องฮาโมนี่การ Improvisation ก็จะสนับสนุนกัน นั่นเป็นข้อดีของคนเรียนแจ๊ส ทุกวันนี้ผมสอนกีตาร์นักเรียนโปรดักชั่น ผมบอกเสมอว่าถ้ามีโอกาสเรียนแจ๊สจงเรียนรู้ ถ้าคนไหนเปิดใจผมก็ยินดีด้วย ตรงนี้ไม่ได้ตามกระแสหรือต้องเรียนแจ๊สแล้วจะได้เอาไปพูดกับคนอื่นได้ อันนั้นไม่ใช้ประเด็นสำคัญ สำหรับผมถ้ามีโอกาสเรียนจงเรียนเก็บความรู้เอาไปต่อยอดสร้างงานตนเอง หรือเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ก็เพียงพอแล้ว การเรียนดนตรีร็อกก็ดีนะครับผมเองก็มาจากจุดนี้ แต่ถ้ายอมรับและมองโลกให้กว้างขึ้นเรารู้เพียงมิติเดียวของดนตรีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราอยู่ในวงการดนตรี ผมมีความเชื่อว่าต้องเรียนรู้ให้รอบด้าน เช่น เรื่องฮาโมนี่ หรือต้องเล่นกีตาร์ให้ได้ทั้งเสียงแตกและเสียงคลีน มีโอกาสศึกษาทั้งชีวิตทำไมจะทำไม่ได้ อย่าโกหกตัวเอง ยิ่งสวมหัวโขนเป็นครู อาจารย์ ยิ่งต้องทำให้ได้ อย่าถูกกักขังด้วยอีโก้ของตนเอง

คอลัมนิสต์และบรรณาธิการวารสารดนตรี

ผลงานหนังสือ แนวคิดพื้นฐานทางนิ้วระบบเคจด์ สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า : Basic Concept The Caged Fingering System for Electric Guitar อาจต้องเล่าย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อน เด็กสมัยนี้หัดเล่นกีตาร์หาข้อมูลได้ง่ายมากทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลมีเยอะมาก แต่เป็นข้อมูลที่มีทั้งถูกและไม่ถูกต้อง นักศึกษาบางคนไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้มาจากอินเทอร์เน็ตนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร บางคนอาจนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมสอบเข้าสถาบันทางดนตรี จดจำเพียงเพื่อใช้ในการสอบ สอบเสร็จก็ลืม ผมคิดว่าป็นสิ่งที่ไม่ควรลืมควรเอาไปต่อยอดได้ เราในฐานะอาจารย์ควรมีสิ่งชี้นำทางให้กับเขา นั่นเป็นเหตุผลให้ผมทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

มีคนถามผมว่า ฝึกไล่สเกลแล้วเอาไปทำอะไรได้ ผมตอบคำถามพวกเขาโดยเปรียบเทียบกับการเล่นฟุตบอลในสนามแข่งขัน ทำไมต้องฝึกทักษะหลายอย่าง ทำอย่างไรให้ทีมชนะ? ก็เพียงแค่รอให้บอลมาถึงเท้าแล้วยิงให้เข้าประตูจากนั้นก็รอให้หมดเวลาการแข่งขันเท่านั้นหรือ? ทักษะที่ฝึกฝนมาต้องใช้ควบคู่กับกลยุทธ์อีกหลายอย่าง ไม่ใช่รอให้บอลมาถึงเท้าแล้วสักแต่ยิงเท่านั้น การเล่นกีตาร์ก็เช่นเดียวกัน การเล่นเราต้องฝึกทักษะหลายอย่าง การไล่สเกลก็เป็นการฝึกแบบหนึ่งเปรียบเสมือนแผนที่หรือทางเดิน คุณจะเดินมั่วๆ ไปก็ได้แต่อาจต้องแลกด้วยเวลา แต่ก็อย่าไปยึดติดกับการฝึกทักษะมากนักจนไม่กล้าสร้างสรรค์อะไร เวลาที่จะใช้ทักษะทางดนตรีก็คือช่วงเวลาการสร้างสรรค์งานหรือการเล่นบนเวที เราสามารถประยุกต์ทักษะและเทคนิคเพื่อนำมาใช้ได้ ดนตรีเป็นเรื่องของเวลาและกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังเล่น Improvisation เรารู้ว่าเรากำลังเล่นสไตล์แจ๊สนะต้องดูสไตล์เพลงและต้องดูงานที่ไปเล่น ถ้าเล่นตามเทศกาลดนตรีก็อาจปล่อยของได้เยอะ แต่ถ้าเล่นงานบันทึกเสียงให้คนอื่นหรืองานแต่งงานก็ต้องพิจารณาให้ดี กาลเทศะเป็นเรื่องสำคัญ การนำความรู้ไปใช้ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมทำหนังสือทางนิ้วขึ้นมา ไม่อยากให้เล่นแต่ทางนิ้วตามแบบฝึกหัดเท่านั้นต้องเอาไปต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้ หรือนำมาสร้างสรรค์งานตนเองได้

ตั้งแต่เรียนจบปริญญาโท ผมเรียนรู้หลายอย่างตั้งแต่การทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์ผลงานดนตรี เขียนบทความ เขียนงานวิเคราะห์ ทำวารสารดนตรีรังสิต กระทั่งเรียนจบปริญญาเอกก็มีโอกาสประเมินคุณภาพงานวิชาการและวิทยานิพนธ์ หรือด้านการสอนวิชาวิจัยหรือวิชาเกี่ยวกับการเขียนระดับปริญญาโท ต้องขอบคุณโอกาสที่เข้ามาด้วยผมได้ประสบการณ์หลายอย่าง ตอนนี้ผมต้องการส่งต่อองค์ความรู้ผ่านหนังสือหรือถ้ามีโอกาสก็อยากทำอะไรคืนให้กับสังคมบ้าง ยุคสมัยก่อนเราวิเคราะห์ดนตรีได้แต่เราถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือไม่ได้ ตอนนี้เราสามารถเขียนหนังสือและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ได้บ้างแล้วก็เลยตั้งใจทำครับ  

กระบวนการวิเคราะห์ดนตรีมีหลายแนวทาง สำหรับผมจะต้องมีประเด็นที่อยากนำเสนอก่อนจากนั้นจะวางโครงการดำเนินเรื่องราว การทำงานวิเคราะห์นี้เหมือนการแต่งเพลงเลยครับ นอกจากมีประเด็นแล้วต้องวางโครงเรื่องราวก่อน ผมแต่งเพลงมาหลายวิธีและค้นพบว่าวิธีนี้เป็นอีกแนวทางที่ตอบสนองเราได้มาก การเลือกใช้คำศัพท์เทคนิคทางดนตรีสำหรับการวิเคราะห์ก็สำคัญ อาจดูนิยามศัพท์จากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ แต่อย่าเชื่อถือทันทีควรหาจากหลายแหล่งข้อมูลแล้วนำมาพิจารณาร่วมกัน มุมมองการวิเคราะห์ก็สำคัญ ควรมีมุมมองหลากหลาย คอร์ดเดียวกัน องค์ประกอบคอร์ดเหมือนกัน กดสายกีตาร์ตำแหน่งเดียวกัน นักวิเคราะห์ดนตรี 2 คนก็อาจตีความแตกต่างกันได้ การวิเคราะห์นั้นมีประโยชน์มากมายสามารถช่วยให้สะท้อนถึงตัวตนทำให้มองเห็นดนตรีเชิงลึกมากขึ้น เข้าใจว่าสิ่งที่ทำในเพลงของตนเองหรือเพลงจากศิลปินที่ชื่นชอบว่าคืออะไร ก็อาจส่งต่อองค์ความรู้ แรงบันดาลใจ ให้กับผู้อื่นผ่านมุมมองการวิเคราะห์เหล่านี้

ผลจากการทำหนังสือ แนวคิดพื้นฐานทางนิ้วระบบเคจด์ สำหรับกีตาร์ไฟฟ้า : Basic Concept The Caged Fingering System for Electric Guitar ทำให้ผมได้รู้จักคนเยอะขึ้น กระทั่งได้รู้จักกับพะเยาบิส ต้องขอขอบคุณที่ชักชวนผมมาทำคอลัมส์ทางดนตรี ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่าจะทำได้ไหม แต่พอเริ่มทำไปแล้วกับ EP.1-2 พอจะเห็นแนวทางบ้างแล้วก็เริ่มสนุกมากขึ้น ผมจะนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาถ่ายทอดลงบทความในหลายมิติติดตามอ่านคอลัมส์ Music Know How ครับ