STORY OF MUSIC : เรื่องเล่าชีวิตศิลปินนักร้อง รักแต่งเพลง พยัต ภูวิชัย

ท่วงทำนองการขับร้อง ประสานกับเสียงกีตาร์ของศิลปินนักร้อง รักแต่งเพลง พยัต ภูวิชัย ถ่ายทอดความเศร้า ความเหงา ยียวน เคล้าคลึงความรู้สึกผ่านภาษาเพลง เสียงอันเศร้าสร้อยเนิ่นช้าอย่างตั้งใจในการขับร้อง เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้นักฟังเพลงจดจำสุ้มเสียงของเขา แต่ผลงานการขับร้องมิอาจเทียบเทียมกับเส้นทางศิลปินนักแต่งเพลง หลายผลงานการประพันธ์เพลงของเขา เป็นตำนานบทเพลงของประเทศไทย หมาเศร้า , ยังยิ้มได้ , กรุณาฟังให้จบ ยังคงถูกผู้คนกล่าวขานและขับร้อง บนเส้นทางนักแต่งเพลงหลายสิบปีจึงเรื่องราวนำเสนอเป็นบทสัมภาษณ์ ดังนี้

บทเพลง “หมาเศร้า” สร้างชื่อ แก้ว ลายทอง ให้เป็นที่รู้จักในวงการเพลงเพื่อชีวิต

Stairway to Heaven บทเพลงแห่งแรงบัลดาลใจในวัยเด็ก

ผมได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากครอบครัว ผมมีพี่น้อง 5 คน เล่นดนตรีทุกคน ตอนผมเป็นเด็กผมมองเห็นพี่ชายเล่นกีตาร์เพลง Stairway to Heaven ตอนนั้นผมยังเล่นกีตาร์ไม่เป็น แต่ผมมองรูปร่างนิ้วมือ การจับคอร์ดกีตาร์ มือของเขาแปลกดี ตอนพี่ชายออกไปเที่ยวตามประสาวัยรุ่น ผมจับกีตาร์ขึ้นมาจับคอร์ด Em พี่อีกคนเดินเข้ามาแล้วสอนผมว่า จับคอร์ดกีตาร์ให้แน่น เสียงไม่บอด แล้วใช้มือขวาดีดกีตาร์เป็นจังหวะ นั่นเป็นพื้นฐานการเล่นกีตาร์ ทำให้ผมมี Timing ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเล่นดนตรี

วัยเด็กผมชอบอ่านหนังสือ ชอบฟังเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์ (Transistor) ตอนผมอายุประมาณ 6 ขวบ ที่ศาลากลางจังหวัดเขาจัดประกวดร้องเพลง ผมเดินเท้าไปศาลากลางเพื่อเข้าประกวด ผมเลือกเพลง “เป็นไปไม่ได้” ของวง The impossible ได้รับรางวัลเป็นดินสอ 1 กล่อง ผมคิดว่า ดนตรีอยู่ในสายเลือดของพวกเรา แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่ว่าเราอยากเติบโตเป็นอะไรเพราะตอนอายุ 9 ขวบ ผมชอบเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เป็นนวนิยายเรื่องราวจำนวน 12 เล่ม ผมอ่านจนจบ ส่วนพี่สาวก็จะอ่านนิยายประโลมโลก

ผมอายุ 13 ปี เรียนหนังสืออยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผมมีวงดนตรี ตีคอร์กีตาร์เล่นกับวงดนตรี เพลงที่ผมแกะเป็นเพลงแรกคือ Stairway to Heaven เพราะเราเคยได้ยิน เคยเห็นวิธีการเล่น พวกเราเล่นดนตรีด้วยกันแต่ก็ไม่นึกว่าเล่นดนตรีเป็นอาชีพ หลังเรียนจบผมศึกษาต่อปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันหนึ่ง ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราคำแหง เพื่อนคนหนึ่งของผมเสียชีวิต ผมร่วมงานศพซึ่งบำเพ็ญกุศลที่วัด หลังจากเสร็จงานบำเพ็ญกุศลที่วัด พวกเรากลับบ้านนั่งล้อมวงกินเหล้าเล่นดนตรี ขณะกำลังเล่นดนตรี มีชายคนหนึ่งถามว่า เพลงที่กำลังเล่นใครเป็นคนแต่ง ผมบอกเขาว่า ผมเป็นคนแต่งเอง แล้วเขาก็ชวนผมมาทำเพลงด้วยกัน

หลังจากเสร็จสิ้นงานศพประมาณเกือบเดือน ชายคนนั้นเดินทางมาหาผมที่บ้าน เขานั่งคุยกับคุณพ่อของผม พ่อของผมเป็นอดีตนักการเมือง ชอบประพันธ์ กวี กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ทำหนังสือ พวกเขาคุยกันเข้าใจ ชายคนนั้น บอกกับพ่อผมว่า “จะชวนพยัดไปจนด้วย” พวกเราหัวเราะ แต่หลังจากนั้น พวกเราก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมานานหลายปี

ผมออกจากบ้าน เขียนเพลง เรียบเรียง ทำดนตรี กระทั่งบทเพลง “หมาเศร้า” สร้างชื่อให้กับ “แก้ว ลายทอง” พี่ชายให้กลายเป็นที่รู้จักในวงการดนตรีเพื่อชีวิตของประเทศไทย นั่นเป็นงานดนตรีชิ้นแรกในชีวิตของผม ผมชอบเขียนกลอนตั้งแต่เด็ก เติบโตเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขียนเพลง เขียนร้อยแก้ว เริ่มเขียนในสมุดเรียน เขียนกลอนจีบสาว เราชอบเขียนหนังสือ ชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนก็อยู่กับเพื่อนไม่ค่อยได้แต่งเพลง แต่หลังจาก แก้ว ลายทอง ชวนไปทำดนตรี ผมก็ฟังเพลงทุกวัน พวกเราเติบโตกับการฟังเพลง ซึ่งในช่วงนั้นผมอยู่กับกวี ได้อ่านหนังสือหลากหลาย เริ่มรู้จักใจตนเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ช่วงเวลาที่ผมทำเพลง ผมรับทำงานดนตรีให้กับ พิบูลศักดิ์ ลครพล เพราะผมออกงาน กวี ดนตรี ศิลป์ พวกเรากับเหล่ากวีรู้จักคุ้นเคย กระทั่งผมถูกชวนให้เป็นหนึ่งในสมาชิกวง “มาชารี” ผมและชูเกียรติ ฉาไธสง ทำหน้าที่เรียบเรียงบทกวีของ พิบูลย์ศักดิ์ ลครพล เป็นบทเพลง

“ยังยิ้มได้” บทเพลงชีวิตที่มอบให้ไว้กับภรรยา

ผมกลับไปใช้ชีวิตที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทำงานเป็นนักดนตรีกลางคืน 2 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำเพลง พวกเรามีอุปกรณ์เครื่องดนตรี เราทำเดโมเสร็จก็เดินทางเข้ากรุงเทพ เพราะในช่วงเวลาที่เราทำเพลงให้แก้ว ลายทอง มีคนชอบวิธีการทำงานของเรา ซื้อลิขสิทธิ์เพลงของเรา ว่าจ้างพวกเราให้ทำงานดนตรี พวกเราทำงานเบื้องหลังมานาน อยากทำงานเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เราทำงานเป็นนักดนตรีกลางคืน เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานให้กับ ศุ บุญเลี้ยง เราทำดนตรีบันทึกเสียงในห้องอัดเล็กๆ เป็นเวลาที่ผู้บริหารค่ายเพลงได้ยินบทเพลงที่เรากำลังเล่น ทำให้ผมมีโอกาสทำอัลบั้มของตนเอง

น้องคนหนึ่งชวนผมมาทำงานให้กับ บริษัท แกรมมี่ ตอนนั้นผมจะฝึกเขียนเพลงเพราะบริษัทแกรมี่มีนักร้องในสังกัดนับร้อยคน ผมจะได้ฝึกเขียนเพลง แต่การทำงานกับบริษัทแกรมมี่ ไม่เหมือนกับการเขียนบทกวีหรือทำงานศิลปะ บริษัท ต้องมีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปิน เราจะขายให้กับใคร ใครเป็นคนฟัง การทำงานมีหลักการบางอย่างที่เราไม่เคยสัมผัส กว่าผมจะทำความเข้าใจก็ใช้เวลา 1 ปี เขียน 100 เพลง ผลงานผ่านเพียง 2 เพลง

ผมนั่งเขียนเพลงให้กับวงกะลาค่ายจินนี่เร็คคอร์ด ผมแก้ไขงานเขียนเพลงหลายวัน เขียนตลอดทั้งคืน ชีวิตผมในยามนั้น ไม่มีอะไรโดดเด่นในชีวิต มีเพียงเพลงกวีฟังยาก เพลงชาวร็อคที่ไม่มีชื่อเสียง ผมทำงาน 3 เดือน มีรายได้ 3,000 บาท ผมนั่งเขียนเพลง ส่วนภรรยาก็กลับจากการทำงาน ล้มตัวลงนอนบนโซฟาด้วยเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อ ผมหันมามองภรรยาแล้วคิดว่า ผมจะเลี้ยงเธอได้อย่างไร ผมจึงตัดสินใจเลิกเขียนเพลงให้กับวงกะลา

หลังจากนั้น ผมก็พบกับทางออก  “หลายครั้งที่ชีวิตเจอกับปัญหา ทำให้ใจเธออ่อนล้าลงบ้างไหม ฉันถามด้วยความรัก ถามด้วยความห่วงใย ไม่ได้ดูถูกเธอ…“  บทเพลงมาพร้อมกัน ทั้งเนื้อร้องและท่วงทำนอง หลังจากผมแต่งเพลงเสร็จ ผมปลุกภรรยาขึ้นมาฟัง ภรรยาของผมห้ามไม่ให้ขายเพลงนี้กับใคร แต่เมื่อผ่านเวลาประมาณหนึ่งปี พวกเราก็ทนกับความจนไม่ไหว ผมจึงบอกกับภรรยาของผมว่า ผมให้ พลพล ร้องเพลงนี้เพราะเสียงของเขาเหมาะ แล้วบทเพลง “ยังยิ้มได้” กลายเป็นบทเพลงพลิกชีวิตของผม

บทเพลง “ยังยิ้มได้” สร้างชื่อ พลพล ให้เป็นที่รู้จักในวงการเพลงและเป็นบทเพลงพลิกชีวิตของ พยัต ภูวิชัย

ผมเขียนเพลง 100 เพลง ผลงานผ่าน 10 เพลง งานบางชิ้นแม้ไม่ผ่านแต่ก็ถูกเรียกให้แก้ไข ปรับปรุง ผมเขียนเพลงตามใบสั่ง เหมือนสั่งกับผมว่า เพลงที่ผมเขียนต้องได้รับความนิยม กฎเกณฑ์บังคับคงเป็นเรื่อง ความสดใหม่และคมคาย (Piquant) แต่เรื่องราวในบทเพลงยังเป็นการบอกเล่า ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง อีกหัก จีบสาว คิดถึงบ้าน ส่วนกลวิธิเล่าเรื่อง (Plot) ก็คล้ายกับการเล่าเรื่องในบทภาพยนตร์หรือบทละคร ผมค้นพบวิธีทำงานของตนเอง การเขียนเพลงเหมือนกับการเขียนลายเซ็น เราต้องมีวิธีจับปากกาในแบบของตนเอง มีมุมมองในการเล่าเรื่อง มีอุปกรณ์การเล่าเรื่อง ต้องคิดอยู่เสมอว่า เราจะมองต่างมุมในเรื่องเดียวกันได้อย่างไร การเขียนเพลงก็เหมือนกับการศึกษา เริ่มจากโรงเรียนอนุบาล เขียนเพลงจนได้ปริญญา เมื่อเขียนเพลงกระทั่งผู้คนชื่นชอบผลงานเพลงก็เปรียบเสมือนเราเรียนจบปริญญาเอก (ดร.)

ตอนผมเริ่มทำงานกับบริษัท แกรมมี่ ชีวิตยังลำบาก ผมได้รับค่าตอบแทนจ่ายเป็นเช็ค 3,000 บาท เขียนเพลงให้เขา เรียบเรียงเพลงให้เขา ได้ค่าเนื้อร้องทำนอง แต่ระหว่างทาง เพื่อนพี่น้องก็ขอให้ช่วยเขียนเพลงบ้าง จ้างเรียบเรียงบ้าง เพลงยังยิ้มได้ก็พลิกชีวิต เราก็ได้ส่วนแบ่งเป็นกอบเป็นกำ เรามีแรง มีความหวัง คนก็อยากให้เขียนให้เยอะขึ้น ผมทำงานกับแกรมมี่ 10 ปี ผมลาออกมาสร้าง บริษัท บัตเตอร์ฟลาย มิวสิค ทำเพลงเพื่อชีวิตลูกทุ่ง ทำเพียงปีเดียวก็ลาออก เพราะมีทีมอื่นมาทำงานต่อ เราสร้างศิลปิน 2 คน ตอนนั้นเราทำเอง ลงมือเอง หลังจากนั้น แกรมมี่โกลด์ ชวนผมทำดนตรีให้กับ โกไข่กับนายสน ผมกลับไปช่วยแล้วเพลงก็เป็นที่นิยม “ความคิดถึงกำลังเดินทาง” ตอนนั้น ผมอยากเขียนเพลงลูกทุ่ง แล้วผมก็เขียนเพลงให้กับ ตั๊กแตน ชลดา

บทเพลง “ความคิดถึงกำลังเดินทาง” สร้างชื่อ โกไข่กับนายสน ให้เป็นที่รู้จัก

สร้างสรรค์บทเพลงให้สดใหม่ไม่ซ้ำใคร

การเขียนเพลงเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เราทำซ้ำไม่ได้ ผลงานเขียนเพลงจึงใหม่อยู่ทุกวัน แต่วันหนึ่งเผมก็กลับไปใช้ชีวิตในชนทบทเพื่อจะมีเวลาให้กับการเขียนเพลง ไม่ต้องหมกมุ่นอยู่การกับค้าขาย แต่สิ่งที่ติดตัวเรามาในช่วงเวลาของการทำงานกับแกรมมี่คือ พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) ผมไม่รู้สึกย่ำแย่ ทุกคนที่ผมทำงานด้วยดูแลผม แต่ยุคสมัยก่อนการทำงาน การทำเพลง ผมไม่มีเงิน อย่างซื้อกางเกงยีนส์ตัวละ 500  บาท ไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาทำวง “มาชารี” เราก็เอาเพลงไปขาย เอาเพลงไปร้อง ขายเทปได้เราก็ได้ส่วนแบ่งจากการขายเทปม้วนละ 5 บาท ผมเคยเปิดหมวกขายเทป แก้ว ลายลอง วันแรกขายได้ 99 ม้วน ได้เงิน 4,950 บาท เราก็รู้สึกดี

ยุคเล่นดนตรีเปิดหมวก ความจริงกระจอก พวกเรารวยด้วยวิธีแบบนั้นไม่ได้ แต่ใจเราใหญ๋มาก มันเป็นเพียงการเดินทาง มันไม่ใช่อาชีพยั่งยืน ไม่มีใครเปิดหมวกทุกวัน คนสร้างงานต้องมีเวลาไปเรียนรู้อยางอื่น เพราะมันเปลี่ยนทุกขณะ มันเหมือนดอกไม้ ระหว่างทางชีวิตก็ถูกหล่อหลอม เราโชคดี เมื่อถึงวันที่เราเข้าใจฟ้าก็สว่างแล้ว ทั้งดนตรี วิธีทำงาน เคี่ยวเข็ญกัน มันเป็นการฝึก เป็นการหาสิ่งหนึ่งที่เราชอบ ตัวอย่างเช่นเพลง “ยาใจคนจน” ถ้ามองให้เห็นมุมอื่นก็ถือเป็นแรงบัลดาลใจ เป็นแฟนคนจนแล้วเป็นยังไง หรือชมแฟนคนจน สร้างทำนองเป็นป๊อป แต่ถามว่าเขาเป็นแรงบัลดาลใจมั้ย ตอบว่า เป็น  วิธีการวางความคิด เพลงก็ไม่ซ้ำ บางทีเราจะหาแรงบันดาลใจจากลมฟ้าอากาศมันไม่มีหรอก มันเบื่อ มันซ้ำ แต่บางทีเพลงก็ลอยลมมา เหมือนคนเล่นต่อมุขกัน ต่อกันจบไม่ลง แต่มันคือการฝึกวิธีคิดวิธีเขียนเพลงอยู่ทุกวัน

ในชีวิตของผม ถ้าจะมีอะไรประสบความสำเร็จก็คงเป็นเรื่องเพลง เพลงเป็นสิ่งที่เรารัก เป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มมีการจ้าง พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง จ้างทำเพลง ศรีเผือก คนด่านเกวียน ขอซื้อลิขสิทธิ์เพลง วงโฮป ขอให้เราเขียนเพลง เราก็สนุกมากขึ้น มันอาจไม่พอเลี้ยงตัวเองทั้งปี แต่ก็มีมาเรื่อยๆ เราก็คิดว่าสามารถเลี้ยงตนเองได้ ความคิดของเราเปลี่ยนไปหมด สำหรับการเขียนเพลงแต่ละแนวเพลง สำหรับนักแต่งเพลง เราสามารถเขียนเพลงได้ทุกแนว สำหรับคนเขียนเพลงมันเป็นวิธีคิดเดียวกัน เปลี่ยนเพียงการเสิร์ฟ เปลี่ยนอุปกรณ์ เปลี่ยนภาษา

พล็อตการเขียนเพลง ก็คือ ใคร ทำอะร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร สามารถเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนกลวิธีเล่าเรื่อง เราจะเล่าเรื่องจากหลังมาหน้า หรือจะตัดกลับไปกลับมา เพราะภาษาไม่เหมือนกับภาพยนตร์ แต่ภาษามีเวลาได้ เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้ เวลาอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่บางคนเขาเขียนถึงอารมณ์ แต่ลืมเรื่องของ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร การเล่าเรื่องยังต้องมีฉาก มีอุปกรณ์ เช่น เราถูกคนรักบอกเลิกที่ห้างสรรพสินค้า บรรยากาศการเล่าเรื่องก็ต่างจากการถูกค้นรักบอกเลิกกลางทุ่งนา 

“เพลง คือ เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะ  ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ คำร้อง คือ ผู้โดยสาร, ทำนอง คือ พาหนะ, จังหวะ คือ เส้นทาง เพลงคือการสื่อสารของอารมณ์ที่ไม่ต้องใช้เท้าเดิน เราร้องเพลงอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เราร้องเพลงทางโทรศัพท์สามารถสื่อสารออกไปทั่วโลก หากเราไม่มีท่วงทำนอง ก็ให้คนอื่นสร้างทำนองลงในคำร้องของเรา ถ้อยความคิดจะมีกี่ประโยคก็มีท่วงทำนองได้ บทเพลงคือครู เราแกะลูกโซโล่กีต้าร์ กลอง ถ้าเราแกะคำร้อง แกะความคิด เราจะเข้าใจด้วยตนเองโดยใช้บทเพลงเป็นครู มิว่าจะเป็นชุดคำ ชุดความคิด ชุดดนตรี มันคือการสื่อสารอารมณ์ที่ถูกส่งออกนอก ถ้าเพลงมีลักษณะเป็นก้อน อาจเป็นก้อนความคิด ก้อนอารมณ์ ตัวอย่างเช่น เรานึกถึงบ้าน องค์ประกอบของบ้านมีอะไรบ้าง รั้ว หลังคา หน้าต่าง เพดาน สารพัดที่เชื่อมโยงกัน เราต้องตั้งธงว่า เพลงของเราจะเดินทางไปไหนในความรู้สึก อันไหนไม่สำคัญเราตัดออก เป็นอุปกรณ์ความรู้สึกเราคัดทิ้ง วิธีสื่อสารของบทเพลงคือ การเขียนน้อยแต่ได้มาก เขียนเพลงด้วยเวลาน้อยแต่ได้เยอะ

เขียนความรู้สึกลงในบทเพลง

บทเพลงต้องมีความรู้สึก แต่เราจะพูดอย่างไร จะเล่าอย่างไรให้คมคาย ถ้าพูดถึงเรื่องพล็อต (Plot) มันกว้างมาก แต่หากเขียนเพลงเรื่อยๆ มันจะเป็นไปตามสันดาน คล้ายกับเวลาที่เราฟังเรื่องตลก เราก็จะรู้ว่า คนนี้เล่าเรื่องตลก คนนี้เล่าเรื่องไม่ตลก นั่นคือความคมคาย เรื่องเดียวกันแต่เล่าไม่เหมือนกัน ลีลาการกใช้ภาษา ลีลาการขยายความ ดนตรีไม่มีความแตกต่างในเรื่องเล่า แต่เราต้องรู้ว่า เรากำลังทำอะไร เรากำลังเสิร์ฟอาหารให้กับใคร

ดนตรีก็คือสันดาน แต่ละแนวดนตรีมีความไพเราะ ผมทำในสิ่งที่ผมชอบ ศิลปินกับนักดนตรี ก็เหมือนกับเด็กท่องอาขยาน คนขับอาขยานกับคนที่ท่องอาขยาน คนขับอาขยานออกมาจากวิญญาณ มันคนละอย่าง ดนตรีก็เหมือนกัน เราก็เล่นตามสันดานตนเอง เล่นตามสิ่งที่ตนเองชอบ เล่นให้สนุก เล่นให้เศร้า เวลาแกะเพลงเป็นยังไง ความรู้สึกต้องเป็นแบบนั้น เพราะตอนสร้างบทเพลงมามันเป็นแบบนั้น หรือบางวันนึกสนุกก็แปลงอารมณ์ของเพลง มันก็เป็นเรื่องของอารมณ์ แต่เราก็ต้องจริงกับมัน รักมัน

เราสอนเขียนเพลง เราไม่ได้สอนให้เป็นแบบ พยัต ภูวิชัย เราสอนวิธีคิด ส่วนจะคิดอย่างไรก็เป็นไปตามสันดาน เพราะมีประตูอีกเป็นล้านๆ บาน หากุญแจให้เจอ ถ้าเปิดประตูบานนี้ไม่ได้ ไม่โดน ไม่สวย ไม่สนุก ก็เปิดประตูบานใหม่ อย่าซ้ำซากอยู่กับทางเข้าออกเดิมๆ ถ้าคิดได้ ก็เหมือนกับการใช้ชีวิต แต่ถ้าใจไเราไม่นำทาง เราก็ย่ำซ้ำอยู่ที่เดิม เราบอกอยู่ตลอดว่า ทำให้ใหม่อยู่เสมอ ใหม่สำหรับตัวเรา เช่น คำบางคำเราไม่เคยใช้เราก็ทดลองใช้ ผมเขียนเพลงทุกวัน ผมดูออกว่าบทเพลงเหมาะกับใคร เพราะเราถูกฝึกให้มอง เช่น นักร้องคนนั้นเสียงเป็นแบบนี้ แฟนคลับของเขาชอบกินลาบ หรือแฟนคลับเขากินสเต็ก แต่งตัวแบบนี้ มีนิสัยแบบนี้ มันบอกอยู่แล้วว่า เขาต้องการทำอะไรในสันดานของเขา ถ้าไม่มีสันดานเราก็ต้องปั้นให้เขา อย่างเช่นเ ราบอกกับศิลปินว่า จีบหนุ่มอีสานหน่อยสาวเหนือ แค่นี้เขาก็ไม่เคยแล้ว เป็นความรู้สึกใหม่ แต่ก็ใช้วีธีการที่เป็นตัวเขา เคลื่อนย้านมูฟเม้นต์ความคิด

บทเพลง “กรุณาฟังให้จบ” ถูกเขียนขึ้นโดย พยัต ภูวิชัย ขณะที่รถติดบริเวณแยกไฟแดงและเขาต้องเขียนเพลงให้จบก่อนไฟเขียว

การเขียนเพลงการเขียนบทกวีคือการเดินทาง

ผมเขียนเพลงประมาณ 1,000 เพลง เขียนวันละ 1 เพลงเป็นอย่างน้อย ซึ่งบางเพลงเป็นเพลงที่โลกไม่รู้จัก ถ้าย้อนกลับไปในวันเริ่มต้น เรามองเห็น พิบูลศักดิ์ ลครพล เขียนบทกวี มองเห็น เนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนบทกวี เราก็อยากเขียน เราอยากเป็นนักเขียน แต่เราเขียนเพลง แต่เราไม่ได้ฝักใฝ่การออกหนังสือ แต่เรายังเขียนอยู่ บางวันมีอารมณ์ก็ยังเขียนอยู่ บางวันก็บอกตนเองว่า เขียนสักบท จะเขียนอะไร ส่วนใหญ่ก็พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องงานศพ เขียน 60 ศพ ก็จะไม่ซ้ำกัน

บทกวีหรือบทเพลง เป็นการนึกสนุกเขียน จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเป็นเรื่องข้างหน้า แต่เราต้องมีเป้าหมายว่าจะไปไหน เช่น อยากไปเชียงใหม่ เดินไป ขึ้นรถไฟ ขึ้นเครื่องบิน ปั่นจักรยาน แต่ต้องมีความคิดก่อน เฮ้ย ! อยากไป ร่างแผนที่ เตรียมอุปกรณ์การเดินทาง เราไม่ได้เขียนพล็อต กวีใครเขียนพลีอต? ตั้งแต่เล่น Facebook เราเขียนบทกวีในโทรศัพท์ตลอด เพราะมันแก้ไขง่าย สดใหม่ เห็นอารมณ์ทันที ผมว่ามันโชว์สันดาน โชว์สิ่งที่รู้สึก

เราฟังเพลงตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนมีแต่วิทยุ สมัยก่อนเพลงไม่ดังวิทยุไม่เปิด เราก็โชคดีที่ได้ฟังเพลงซึ่งเป็นที่นิยมหลายเพลง ความดังคือป๊อปเซ้นต์ที่ติดตัวอยู่ เมโลดี้ฝังอยู่โดยไม่ต้องไปเรียน แต่บางคนก็ชอบโฟร์ค เขาสามารถหยิบสิ่งที่เขาเคยได้ยินมาอยู่ในโฟร์คของเขา ภาษาเพลง ภาษากวี ภาษาสื่อ เหมือนกัน ใครมีลายมือแบบไหนก็ลายมือแบบนั้น สำหรับการสร้างเมโลดี้แล้วนำเนื้อเพลงใส่ เป็นปัญหาของนักแต่งเพลงที่เขาต้องเรียนรู้ ตอนอยู่แกรมมี่ มีคนจำเมโลดี้แล้วเขียน แต่สำหรับผม ใครร้องเพลงนี้ เราสามารถเล่าเรื่องอะไรในบทเพลงได้ ดนตรีเขาแบบไหน Rock หรือ Pop

ดนตรีกับการเขียนเพลงเป็นอาชีพของผม เพราะผมประกอบอาชีพอื่นไม่เป็น ความจริงจัง การกัดฟันสู้ ทุกเพลงที่ทำาคือเดิมพันชีวิต แต่เราต้องเอาชนะตนเองก่อน คือต้องเขียนเพลงให้ตนเองชอบก่อน ต้องให้คนที่สั่งให้เราเขียนเพลงชอบ แต่เราคิดถึงนักร้อง เขาต้องชอบเพลงที่เราเขียน ถ้าคนฟังไม่ชอบก็ถือเสมอตัว แต่จะมีกี่คนมานั่งทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นสันดาน (นิสัย) มองให้ถ้วน มองให้สุด ค่อยเขียน ขัดเกลาถ้อยความระหว่างเขียน

สำหรับสันดาน (นิสัย) การเขียน ไม่เกี่ยวกับการเขียน เพราะสันดานมีมาแต่เดิม ไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกเขียน เปรียบเทียบสันดานเเหมือนกับการที่แม่ใช้เราตำข้าวคั่วเวลาทำอาหารในวัยเด็ก ตำข้าวคั่วไม่ละเอียดแม่ก็ด่า คนเขียนเพลงก็เช่นเดียวกัน ถ้าคนเขียนเพลงไม่ละเอียด หั่นหอมไม่ละเอียดหรือตำข้าวคั่วไม่แหลก เมื่อทำอาหารก็ไม่อร่อย ถ้าข้าวคั่วตำแหลก รสชาติอาหารก็นัว อร่อย นั่นละคือสันดาน ไม่มีใครสอนใครได้ เพราะยุคปัจจุบัน ใครมีโทรศัพท์ก็เป็นครู ในโลกโซเชี่ยล โลกตื่นแล้ว คนรุ่นใหม่ที่อยากเขียนเพลงมีมากมาย พวกเขาเป็นคนเก่งมาก เมื่อนำมาเทียบกัน ผมกลายเป็นคนขี้เหร่ ผมเพียงเอาตัวรอดในงานของตนเอง  แต่ผมภาวนาให้พวกเขาเขียนเพลงได้ดีทุกเพลง คมคายได้ทุกเพลง นักแต่งเพลงรุ่นใหม่หลายคนแต่งเพลงได้คมคายต่อเนื่องกันนับ 20 เพลง ผมให้กำลังใจเขา สำหรับผม หากไม่ฝึกฝนก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ เพราะเราพยายามจะอยู่กับสิ่งที่เราชอบบนโลกที่กำลังหมุนไป ผมอยากเขียนเพลงที่ผมชอบและคนฟังก็ชอบ

สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) 

ผลงานศิลปินนักร้อง พยัต ภูวิชัย อัลบั้ม 1. “บอกรัก”

อัลบั้ม 2 “ตอบรักรับ”

อัลบั้ม 3. “รักเธอ รักเธอ”

admin

Recent Posts