เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร : Ep.3 Lydian Mode มิติดนตรีแจ๊สในเพลง Inner Urge ของ Joe Henderson

การศึกษาแนวคิดเรื่อง Mode สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างสรรค์มิติเสียงทางดนตรีให้มีความหลากหลาย พบเจอได้ในดนตรีหลากหลายลีลา เช่น แนวคิดทางดนตรีที่ได้กล่าวถึงไปแล้วสำหรับเพลงของ Steve Vai จาก Ep.1-2 ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ แนวคิดเรื่อง Mode ยังมีประเด็นความน่าสนใจในมิติดนตรีแจ๊สด้วยเช่นกัน สำหรับ Ep.3 ผมตั้งใจนำเสนอตัวอย่างเพลงแจ๊สที่เชื่อมโยงกับแนวคิด Lydian Mode และมีความหวังว่าน่าจะทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้แนวคิดเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

ผมพิจารณาแล้วว่าการนำเสนอแนวคิด Lydian Mode ที่ผ่านมาแล้วทั้ง Ep.1-2 นั้น สมควรนำเสนอในมิติดนตรีแจ๊สด้วยเช่นกัน เพื่อเชื่อมโยงถึงแนวคิดหลักการทางทฤษฎีถูกนำเข้ามาเป็นส่วนสำคัญให้บทเพลงมีทิศทางการดำเนินเรื่องราวไปยังบทบาทต่าง ๆ หลักการหรือแนวคิดทางทฤษฎีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งไม่สามารถสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นในเพลงได้ จินตนาการของผู้แต่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากทำให้หลักการหรือแนวคิดทางทฤษฎีนั้น มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นกว่าการมีบทบาทเพียงหนังสือหรือตำรา ซึ่งอาจกลายเป็นเพียงหลักการในอุดมคติเท่านั้น

ทิศทางภาพรวมประเด็น Ep.3 ผมนำเสนอแนวคิด Lydian Mode ที่เกิดขึ้นในมิติดนตรีแจ๊ส โดยได้นำแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดกับบันไดเสียง (Chord and Scale Relationships) มาเชื่อมโยงเข้ากับ Melody และ Chord ที่เกิดขึ้นในเพลง ผมนำเพลงแจ๊สมาตรฐานมากล่าวถึงคือ Inner Urge เพลงนี้เป็นทั้งชื่อเพลงและชื่ออัลบั้ม ประพันธ์โดยมือเทเนอร์แซ็กโซโฟน Joe Henderson บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1964 สังกัดค่าย Blue Note เพลง Inner Urge เวอร์ชันสตูดิโอที่นำเสนอใน Ep.3 นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีแนวคิด Lydian Mode ที่เกิดขึ้นในช่วง Melody หลัก ตลอดจนนำเสนอบางส่วนของช่วงแนวทำนองการ Improvisation เท่านั้น


เพลงนี้ได้รับอิทธิพลจาก Modal Jazz ที่มีการสอดแทรกแนวคิด Mode ทั้งแนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ด โดยช่วง Melody หลักมีความยาวจำนวน 24 ห้อง และการดำเนินคอร์ด ช่วง Melody หลักจะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบวนซ้ำให้กับช่วง Improvisation ของนักดนตรีด้วย ซึ่งการวนซ้ำช่วง Improvisation แต่ละรอบนักดนตรีแจ๊สนิยมเรียกว่า คอรัส (Chorus) เช่น ช่วง Improvisation ของนักดนตรีบรรเลง 3 รอบก็อาจเรียกว่าช่วง Improvisation บรรเลง 3 คอรัส เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงสำหรับการบรรเลงเพลงนั้น ๆ ด้วยว่ามีการบรรเลงจำนวนกี่คอรัส (หรือกี่รอบ) (สำหรับผู้ที่สนใจประเด็น Modal Jazz ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร สามารถติดตาม อ่านได้จากหนังสือ Modern Jazz ที่ผมได้จัดทำไว้ หาซื้อได้จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือติดต่อที่เพจ Jetnipith Sungwijit Official

นอกจากนี้โครงสร้างเพลงสำหรับบรรเลงเพลงแจ๊สมาตรฐาน มักนิยมขึ้นต้นเพลงด้วยช่วง Melody หลักจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Improvisation และอาจมีการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้อง (Trading Fours) (บางกรณีอาจเป็น 8 ห้อง (Trading Eights) หรือแล้วแต่ข้อตกลงสำหรับการบรรเลง) หลังจากนั้น มักนิยมบรรเลงช่วง Melody หลัก (อาจบรรเลงทั้งหมดหรือบางส่วน) อีกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นช่วง Improvisation เพื่อเข้าสู่ช่วงการจบเพลง ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกที่มักพบในโครงสร้างการบรรเลงเพลงแจ๊สมาตรฐาน จากที่กล่าวมาด้านโครงสร้างเพลงนั้นอาจพบหรือไม่พบการบรรเลงเช่นนี้ก็เป็นได้ขึ้นอยู่กับทิศทางการบรรเลงเพลงนั้น ๆ เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนขอสรุปประเด็นสำคัญในภาพรวมโครงสร้างเพลงไว้ดังนี้

สังเกตว่าแนวคิดภาพรวมโครงสร้างเพลงประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ภาพรวมโครงสร้างเพลงเช่นนี้เรียกว่า Sandwich Approach (พิจารณาจากโครงสร้างน่าจะทำให้เข้าใจได้ว่าถูกเปรียบเทียบกับ Sandwich ประกอบด้วยขนมปังขนาบข้างส่วนตรงกลางเป็นไส้) โครงสร้างเพลงเช่นนี้มักพบในวัฒนธรรมการบรรเลงเพลงแจ๊สมาตรฐาน สำหรับโครงสร้างเพลง Inner Urge เวอร์ชันสตูดิโอข้างต้นนั้นไม่พบการบรรเลงสลับกัน 4 ห้อง หรือ 8 ห้อง (Trading Fours or Trading Eights) โดยภาพรวมมีโครงสร้างเป็นดังนี้

Melody (เวลาในเพลง 0.00-0.53 นาที)
Bass Improvisation 3 คอรัส (เวลาในเพลง 0.53-2.13 นาที)
Saxophone Improvisation 8 คอรัส (เวลาในเพลง 2.13-5.39 นาที)
Piano Improvisation 6 คอรัส (เวลาในเพลง 5.39-8.15 นาที)
Drums Improvisation (เวลาในเพลง 8.15-9.37 นาที)
Saxophone Improvisation 3 คอรัส (เวลาในเพลง 9.37-10.51 นาที)
Melody (เวลาในเพลง 10.51 นาที)

Melody เพลง Inner Urge มีความน่าสนใจด้วยการแสดงแนวคิด Mode ที่สัมพันธ์กับคอร์ด (พิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 1) แนวทำนองผสมผสานโน้ตเอกลักษณ์ปรากฏบทบาทอยู่หลายครั้ง บรรทัดที่ 2-5 ตรงเครื่องหมายลูกศรที่อยู่ทางซ้ายมือของบรรทัดห้าเส้นตั้งแต่ห้องที่ 5-20 แสดงถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวและเครื่องหมาย * แสดงถึงโน้ตเอกลักษณ์ของ Lydian Mode ที่สัมพันธ์กับคอร์ด ซึ่งห้องที่ 5-8 ตรงคอร์ด Fmaj7(#11) แนวทำนองสัมพันธ์กับ F Lydian Mode มีโน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต B โดยแนวทำนองตั้งแต่ห้องที่ 9-20 ก็มีการปรากฏโน้ตเอกลักษณ์สอดคล้องกัน ผมสรุปภาพรวมความสัมพันธ์แบ่งออกเป็น

1) ห้องที่ 5-8 ตรงคอร์ด Fmaj7(#11) แนวทำนองสัมพันธ์กับ F Lydian Mode โน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต B
F Lydian Mode = F-G-A-B-C-D-E
(ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7 เปรียบเทียบโครงสร้างกับ F Major Scale)

2) ห้องที่ 9-12 ตรงคอร์ด Ebmaj7(#11) แนวทำนองสัมพันธ์กับ Eb Lydian Mode
โน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต A
Eb Lydian Mode = Eb-F-G-A-Bb-C-D
(ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7 เปรียบเทียบโครงสร้างกับ Eb Major Scale)

3) ห้องที่ 13-16 ตรงคอร์ด Dbmaj7(#11) แนวทำนองสัมพันธ์กับ Db Lydian Mode
โน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต G
Db Lydian Mode = Db-Eb-F-G-Ab-Bb-C
(ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7 เปรียบเทียบโครงสร้างกับ Db Major Scale)

4) ห้องที่ 17-20 ตรงคอร์ด Bmaj7(#11) แนวทำนองสัมพันธ์กับ B Lydian Mode
โน้ตเอกลักษณ์คือโน้ต E# (หรือโน้ต F)
B Lydian Mode = B-C#-D#-E#-F#-G#-A#
(ลำดับโครงสร้าง 1-2-3-#4-5-6-7 เปรียบเทียบโครงสร้างกับ B Major Scale)

ตัวอย่างที่ 1 แนวทำนอง Melody หลักเพลง Inner Urge

โน้ตเอกลักษณ์ที่ปรากฏบนแนวทำนองมีความสัมพันธ์สำคัญ 2 ประการคือ นอกจากแสดงบทบาทโน้ตเอกลักษณ์สัมพันธ์กับ Lydian Mode แล้วยังทำหน้าที่เป็นโน้ต #11 สอดคล้องกับคอร์ด Maj7(#11) ด้วย ทำให้มิติเสียงมีความกลมกลืนไปกับคอร์ด หรืออาจกล่าวได้ว่าคอร์ดทำหน้าที่สนับสนุนให้กับแนวทำนองที่ผสมผสานโน้ตเอกลักษณ์ (ผู้เขียนแนะนำให้ฟังเพลงร่วมด้วย หรือเล่นกีตาร์ เปียโน เพื่อสัมผัสถึงมิติเสียงที่เกิดขึ้น)

แนวทำนองห้องที่ 17-19 แม้ว่าจะเป็น คอร์ด Emaj7(#11), Dmaj7(#11), Dbmaj7(#11) ที่ไม่ปรากฏโน้ตเอกลักษณ์ที่สัมพันธ์กันใน แนวทำนองก็ตาม มุมมองของผมก็พิจารณาว่ายังแฝงไปด้วยแนวคิด Lydian Mode จากบทบาทคอร์ด Maj7(#11) แต่ไม่เด่นชัดเท่ากับช่วงห้องที่ 5-16 Melody หลักเพลง Inner Urge ยังมีประเด็นความน่าสนใจด้านแนวคิดลักษณะจังหวะด้วย พิจารณาห้องที่ 1-16 ลักษณะจังหวะที่ปรากฏขึ้นภาพรวมมีความคล้ายคลึงกัน แนวทำนอง Melody หลักรักษาวัตถุดิบด้านลักษณะจังหวะของห้องที่ 1-4 ไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มพัฒนาลักษณะจังหวะออกไปบ้าง เช่น ท้ายห้องที่ 12 จากนั้นแนวทำนองเคลื่อนที่มากขึ้นในช่วงท้ายตั้งแต่ห้องที่ 17 และเคลื่อนที่รวดเร็วยิ่งขึ้นในห้องที่ 21-23 อาจกล่าวได้ว่าแนวทำนอง Melody หลักมีความน่าสนใจด้านลักษณะจังหวะที่คล้ายคลึงกัน จากนั้นสร้างความน่าสนใจด้วยความหนาแน่นลักษณะจังหวะ (Rhythmic Density) ในช่วงท้าย

จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแนวทำนอง Melody หลักที่ปรากฏโน้ตเอกลักษณ์ของ Lydian Mode เชื่อมโยงกับคอร์ด Maj7(#11) น่าจะทำให้เห็นแนวคิดการนำเรื่อง Mode มาใช้สร้างสรรค์แนวทำนองได้บ้าง สิ่งสำคัญ 2 ประการที่ผมอยากให้พิจารณาประกอบด้วยคือความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างแนวทำนองกับคอร์ดหรือเสียงประสาน โดยบางกรณีนั้นอาจมีบริบทต่างออกไป เช่น มีเพียงแนวทำนองสร้างจาก Mode เท่านั้นไม่ปรากฏคอร์ด หรือมีเพียงคอร์ดไม่ปรากฏแนวทำนองก็อาจเป็นไปได้ หรือมีทั้งแนวทำนองและคอร์ดแต่แนวทำนองไม่ปรากฏโน้ตเอกลักษณ์ที่สัมพันธ์กับ Mode ซึ่งอาจพิจารณาได้หลายทิศทาง การวิเคราะห์จึงจำเป็นต้องใช้เหตุผลหรือหลักการ ฯลฯ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงการอธิบายบริบทเหล่านั้น

นอกจากแนวทำนอง Melody หลักที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันในประเด็น Lydian Mode ข้างต้น ยังปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดและบันไดเสียงกรณีคอร์ด Maj7(#11) ช่วงการ Improvisation ของ Joe Henderson ในเพลง Inner Urge ด้วย ผมพิจารณานำตัวอย่างที่เชื่อมโยงถึงประเด็นใน Ep.3 นี้มาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ตัวอย่างที่ 2-4 แสดงถึงแนวทำนอง Improvisation คอรัสที่ 1-3 จากทั้งหมด 8 คอรัส บนคอร์ด Maj7(#11) เครื่องหมาย * แสดงถึงโน้ตเอกลักษณ์ของ Lydian Mode ที่สัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อผมจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดเชิงวิเคราะห์แนวทำนองการ Improvisation ในตัวอย่างที่ 2-4 เพียงนำเสนอให้เห็นถึงความชัดเจนยิ่งขึ้นของแนวคิดจากแนวทำนอง Melody หลักและแนวทำนองการ Improvisation ในประเด็น ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดและบันไดเสียงที่สอดคล้องกันเท่านั้น

ตัวอย่างที่ 2 แนวทำนอง Improvisation บนคอร์ด Fmaj7(#11)

ตัวอย่างที่ 3 แนวทำนอง Improvisation บนคอร์ด Ebmaj7(#11)

ตัวอย่างที่ 4 แนวทำนอง Improvisation บนคอร์ด Dbmaj7(#11)

จากความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดและบันไดเสียงกรณีคอร์ด Maj7(#11) ที่เชื่อมโยงกับประเด็น Lydian Mode ที่เกิดขึ้นในเพลง Inner Urge ทั้งส่วนแนวทำนอง Melody หลักและช่วงการ Improvisation ของ Joe Henderson แม้ว่าผมได้นำเสนอเพียง 3 คอรัสจากทั้งหมด 8 คอรัสก็น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นถึงบทบาทแนวคิดเหล่านี้บ้าง ผมแนะนำให้ฟังเพลง Inner Urge จากนักดนตรีคนอื่น ๆ ประกอบด้วยเพื่ออรรถรสที่หลากหลาย ผมขอสรุปสาระที่เกิดขึ้นจาก Ep.3 ดังนี้

1) การดำเนินคอร์ดช่วง Melody หลักมักถูกนำมาเป็นวัตถุดิบวนซ้ำช่วง Improvisation ของนักดนตรี โดยการวนซ้ำแต่ละรอบนักดนตรีแจ๊สนิยมเรียกว่า คอรัส

2) โครงสร้างเพลงแจ๊สมาตรฐานมักประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ ขึ้นต้นด้วยช่วง Melody หลักจากนั้นเข้าสู่ช่วง Improvisation และกลับมาบรรเลงช่วง Melody หลักอีกครั้งในช่วงท้าย ภาพรวมโครงสร้างเพลงเช่นนี้เรียกว่า Sandwich Approach

3) ช่วง Melody หลักปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดและบันไดเสียง กรณีคอร์ด Maj7(#11) ที่เชื่อมโยงกับ Lydian Mode นอกจากนี้ยังสร้างความน่าสนใจด้วยความหนาแน่นลักษณะจังหวะ

4) ช่วงการ Improvisation ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างคอร์ดและบันไดเสียงเชื่อมโยงกับ Lydian Mode เช่นเดียวกับช่วง Melody หลัก

ตั้งแต่ Ep.1-3 เป็นบทความสำหรับคอลัมน์ Music Know How ที่มีประเด็นเชื่อมโยงกับแนวคิด Lydian Mode บทความเหล่านี้ผมพยายามไม่ให้เป็นบทความทางวิชาการเชิงลึกมากนัก โดยสอดแทรกแนวคิดหรือหลักการทางวิชาการเข้าไปผสมผสาน คุณผู้อ่านสามารถแนะนำประเด็นต่าง ๆ มาได้ที่เพจของผม Facebook: Jetnipith Sungwijit Official สุดท้ายนี้ก่อนสิ้นสุดปี 2023ผมขอขอบคุณ phayaobiz.com ที่เชิญชวนให้มาเขียนบทความทางดนตรี หวังว่าประสบการณ์การเรียนรู้ของผมจะก่อประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขออวยพรให้ผู้บริหาร phayaobiz.com และคุณผู้อ่านประสพผลสำเร็จในทุก ๆ มิติ สำหรับในปี 2024 ยังมีบทความอีกหลายประเด็นที่จะนำมากล่าวถึง รอติดตามครับ

อ้างอิง: ช่วงการ Improvisation ของ Joe Henderson ถอดโน้ตโดย Arthur White

โจ เฮนเดอร์สัน (Joe Henderson) คือนักแซกโซโฟนชาวอเมริกัน อยู่ในวงการดนตรียาวนานกว่าสี่ทศวรรษ เฮนเดอร์สันร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีชั้นนําชาวอเมริกันหลายคนและบันทึกเสียงให้กับค่ายเพลงที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง
admin

Share
Published by
admin