เบื้องลึกธุรกิจค้าโคข้ามชาติ ไทย ลาวและจีน

การปฏิเสธโคเนื้อนำเข้าจากสหหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียของจีน ส่งผลต่อความต้องการเนื้อโคในจีนสูงขึ้นอย่างมหาศาล เพราะความนิยมในการบริโภคเนื้อของผู้บริโภคชาวจีนมีสูงถึง 9 ล้านตันต่อปี การเปลี่ยนคู่ค้าของจีนเป็นกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มที่ดีแต่ก็ต้องประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดในโคเนื้อ ติดตามมาด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จีนสร้างมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาด โดยกำหนดพื้นที่เขตควบคุมโรคและกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของโคเนื้อนำเข้าสู่ประเทศ พื้นที่บริเวณเขตติดต่อกับ สปป.ลาว ส่วนทางทิศใต้ ชายแดนจีน-เมียนมา และจีน-เวียดนาม จีนสร้างกำแพงหรือรั้วกันเขตแดนขนาดใหญ่ “The Southern Great Wall” เป็นการกั้นพรมแดนในช่องทางธรรมชาติ เพื่อควบคุมการลักลอบข้ามแดน

ย้อนรอยจีนเปิดประตูรับโคเนื้อ สปป.ลาว 500,000 ตัว

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2556 กรมเลี้ยงสัตว์และประมง สปป.ลาว ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาและออกแบบโครงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคสัตว์ข้ามพรมแดน สร้างศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมโรคสัตว์ ในภาคกลาง (หนองแต่ง) 1 แห่ง สถานีเฝ้าระวังแขวงหลวงน้ำทา 1 แห่ง และแขวงพงสาลี  1 แห่ง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2561 และในเดือนธันวาคม 2559 สปป. ลาว ประกาศความตั้งใจที่จะเปิดตลาดโคเนื้อกับจีนอย่างเป็นทางการ

วันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2560 นาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เยือน สปป.ลาว ลงนามความร่วมมือและตกลงที่จะช่วยเหลือ สปป.ลาว เพื่อให้ประชาชนลาวมีรายได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยมองเห็นว่า การซื้อโคจาก สปป.ลาว จะเป็นหนทางช่วยเหลือคนลาว ต่อมา พ.ศ.2562 รัฐบาลจีน และ สปป.ลาว ลงนามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ จีนให้โควต้านำเข้าโคและกระบือจาก สปป.ลาว จำนวน 500,000 ตัวต่อปี วันที่ 28 เมษายน  2562 – 24 พฤษภาคม 2564  สปป.ลาว เริ่มส่งออกโคกระบือเพื่อทดลองระบบในจำนวนโควต้านำเข้า 3,000 ตัว

ต่อมาในเดือนมกราคม 2564 กรมศุลกากรของจีนประกาศให้ เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ซึ่งมีชายแดนติดกับสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นเขตปลอดโรคระบาด FMD โดยจีนและ สปป.ลาวได้ร่วมกันกำหนด 3 เขต

เขตปลอดโรคระบาด FMD 3 เขต

1.เขตปลอดโรคระบาด FMD โดยสร้างคอกกักกันสัตว์  โดยให้อยู่ในพื้นที่ชั้นใน โดยมีเขตรัศมี 3 กม.  

2. เขตพื้นที่ควบคุม ป้องกันโรค อยู่รอบเขตปลอดโรคระบาด รัศมี 47 กม.

3.พื้นที่สีเขียว รวมรวมสัตว์ อยู่รอบๆพื้นที่ควบคุมจะเป็นพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงโคขุน

โดยในพื้นที่ป้องกันโรค ห้ามสร้างฟาร์มปศุสัตว์ ตลาดสัตว์มีชีวิต โรงฆ่าสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ โรงงาน ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง โรงพยาบาล คลินิกสัตวแพทย์ สถานีผสมเทียม และสัตว์กีบเท้าคู่ทุกชนิด จะต้องถ่ายพยาธิ และฉีดวัคซีนป้องกัน FMD, LSD, HS 100% สุ่มเก็บตัวอย่าง 10% เพื่อประเมินภูมิคุ้มกันมากกว่า 90% ทั้งนี้มีการตรวจสุขภาพภูมิคุ้มกันของสัตว์ ก่อนจะนำโคเข้าสู่สถานกักกันที่ปลอดโรคระบาด โดยกักกันโคเนื้อไว้ประมาณ 30 วัน ก่อนที่จะผ่านเข้าไปยังชายแดนของประเทศจีนทางด่านเหมิงหม่าน หลังจากข้ามชายแดนไปแล้วก็จะมีการกักโรคในประเทศจีนอีกประมาณ 7 วัน ก่อนที่จะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ ในมณฑลยูนนาน

“โครงการโคเนื้อเพื่อการค้า แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นนโยบายของจีน ด้านความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน การทำโครงการเพื่อรับซื้อโคเนื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดำเนินการบริหารจัดการในเรื่องของโรคระบาดสัตว์ จัดตั้งเขตเมืองสิบสองปันนาเป็นจุดนำเข้าโค มีทั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ รวมถึงตั้งเป็นจุดกระจายสินค้าของประเทศ โดยมีเป้าหมายการนำเข้าโคมีชีวิต 500,000 ตัวต่อปี และรับซื้อจากพื้นที่กักสัตว์ โดยบริษัทจีนได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้ขึ้นใน สปป.ลาว บริเวณเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา อยู่ติดกับด่านพรมแดนที่อยู่ตรงข้าม ด่านเหมิงหม่าน เมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน

ภายใต้โควต้านำเข้าจากจีน สปป.ลาว จัดทำ “โครงการเลี้ยงโคเพื่อส่งออกไปจีน ระยะเวลา 8 ปี (2564 – 2571)” ตั้งเป้าหมายเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน 50,000 ตัวต่อปี และสร้างฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 100 แห่ง เพื่อออกลูกให้ได้ประมาณ 500 ตัวต่อรอบ พ.ศ.2566 รัฐบาล สปป. ลาว ตั้งเป้าส่งออกไปจีนให้ได้ 200,000 ตัวต่อปี พ.ศ. 2567 กำหนดเป้าหมายการส่งออกให้ได้ 500,000 ตัวต่อปี ผ่านโควต้า 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทเมืองหล้าเฉิงค้างพัฒนาอาหารกสิกรรม จำกัด ,บริษัทลาวโกทงพัฒนากสิกรรม , บริษัทสิบสองปันนาเยหง

วันที่ 26 มกราคม 2564 กรมใหญ่พลาธิการ กระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัทสางเจี่ยง การลงทุนลาว จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกสิกรรมครบวงจร อายุสัญญา 30 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 ปี ร่วมกันผลิตอาหารสัตว์ส่งออกไปขายในจีน และมีแผนสร้างฟาร์มโค แปลงพืชอาหารสัตว์ ศูนย์สัตวแพทย์ ศูนย์ขยายพัฒนาพันธุ์สัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ตลาดซื้อ-ขายสัตว์ใหญ่ โดยใช้เงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับบริษัทสางเจี่ยง เป็นบริษัทจีนที่ลงทุนธุรกิจการเกษตร ปศุสัตว์ และเหมืองแร่ อยู่ทางภาคเหนือ เฉพาะพื้นที่หลวงพระบาง และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 บริษัทสางเจี่ยงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับสปป.ลาว ในโครงการเลี้ยงโคและการแปรรูปเนื้อโคครบวงจรซึ่งในตอนนั้นอยู่ระหว่างการขอโควตาส่งออกโคไปยังจีนปีละ 400,000 ตัว

มาตรการควบคุมโรคของจีนและ สปป.ลาว

พ.ศ. 2564 เกิดโรคติดต่อทางผิวหนังระบาดในโคและกระบือในพื้นที่ สปป. ลาว จีนจึงหยุดนำเข้าโคและกระบือจาก สปป. ลาว เป็นการชั่วคราว ต่อมาในเดือนกันยายน 2566 ด่านเมืองสิง สปป.ลาว เปิดด่านการค้าขายโดยในวันที่ 28 กันยายน 2566 มีการส่งออกโคกระบือจากด่านเมืองสิงเข้าประเทศจีนที่ด่านเหมิงหม่าน จำนวน 3,000 ตัว ภายใต้โควต้านำเข้า 500,000 ตัวของจีน

จากการตรวจสอบข้อมูลและลงพื้นที่ตรวจสอบการเลี้ยงโค กระบือ ที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว พบว่า สภาพการเลี้ยงโค- กระบือ  ภายในแขวงบ่อแก้ว โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการเลี้ยงโคแบบปล่อยทุ่ง ปล่อยโคกินหญ้าตามธรรมชาติ เลี้ยงแบบขังและปล่อย อีกจำนวนหนึ่งเป็นการเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดเล็ก จำนวนโคเนื้อมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการโคเนื้อเพื่อการส่งออก ถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคขุนให้ได้ลักษณะและน้ำหนักตามมาตรฐานการนำเข้าที่จีนกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สปป.ลาว จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการค้าหลายด้าน แต่ยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการผลิตและเลี้ยงสัตว์ใน สปป. ลาวส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงตามธรรมชาติทำให้โคไม่มีขนาดตามมาตรฐานที่จีนต้องการ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ให้โคและกระบือต้องมีอายุไม่เกิน 4 ปี น้ำหนัก 350 กิโลกรัมขึ้นไปและปลอดโรค เนื่องจากพบการระบาดของโรคในสัตว์ โดยเฉพาะโรค FMD อยู่เป็นระยะ

ปัจจุบัน โคเนื้อซึ่งมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของจีนใน สปป.ลาว มีจำนวนน้อยมาก คาดการณ์ว่า โคเนื้อจากไทยที่จะส่งไปจีน ส่วนหนึ่งคือโคเนื้อจากไทยที่จะถูกขนส่งโดยใช้เส้นทางผ่าน สปป.ลาว ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อใช้โควต้าการส่งออกของ สปป.ลาว ในการยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับความสะดวกในการค้าขายดูเหมือนยังต้องศึกษาข้อกำหนดของแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไร ส่วนปัญหาการส่งออกโคเนื้อจากไทยไปจีน โดยใช้เส้นทางและโควต้านำเข้าโคเนื้อของ สปป.ลาว ยังเป็นเรื่องยาก ด้วยเงื่อนไขการส่งออก-นำเข้า ของแต่ละประเทศที่ยังต้องอาศัยข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ

ปลายเดือนเมษายน 2566 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินควบคุมโรคสัตว์ข้ามพรมแดน ได้จัดสรรยาฆ่าเชื้อ เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ และวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย  ให้กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของ สปป.ลาว ผ่านโครงการความร่วมมือ ว่าด้วยการควบคุมโรคสัตว์ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  พร้อมทั้งมีคณะผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคนิคและจัดหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการจัดการกักสัตว์กับเจ้าหน้าที่แผนกเลี้ยงสัตว์และประมง เกษตรกร พ่อค้า  สัตวแพทย์ประจำหมู่บ้าน ในเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นเขตกักกันสัตว์ก่อนผ่านด่านเข้าไปยังประเทศจีน โดยระบุว่าโคกระบือ อย่างน้อย 40,000 ตัว จะได้รับการป้องกันโรคระบาด ผ่านโครงการฉีดวัคซีนในทุก 5 เขต ของแขวง

โอกาสของพ่อค้าไทยในการส่งออกโคเนื้อสู่จีน

โควต้ารับซื้อโคเนื้อจำนวน 500,000 ตัวต่อปีของ สปป.ลาว เป็นช่องว่างทางการตลาด  เป็นโอกาสของพ่อค้าไทย ซึ่งการค้าโคเนื้อที่ชายแดน ไทย-ลาว-จีน ในการหาแหล่งทุนสนับสนุนเกษตรกร การส่งเสริมการเลี้ยง การหาแนวทางความร่วมมือในส่งออกโคไปยัง สปป.ลาว ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน  และการสร้างความสัมพันธ์ประสานงานกับบริษัทและหน่วยงานของประเทศจีน เพื่อหาวิธีการส่งออกตรงไปยังประเทศจีนอีกทางหนึ่ง

คุณสมบัติโคเนื้อตามมาตรฐานที่กำหนดโดยจีน

1.เป็นโคสายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง แองกัส ชาโรเล่ส์ บราห์มัน ซิมเมนทอล แบรงกัส หรือพันธุ์พื้นเมืองของไทย ลาว อินเดีย และเป็นโคที่มีมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350-400 กิโลกรัม

2. มีร่างกายแข็งแรง เนื้อเต็ม กล้ามเนื้อแน่น แผ่นหลังมีเนื้อเต็ม ผิวลื่นสวย ไม่มีแผลลึก

3. ปลอดโรคโรคปากเท้าเปื่อย (FMD) และโรคติดต่ออื่นๆ

4. ห้ามให้อาหารและน้ำเยอะเกินไป ห้ามให้เกลือเยอะเกินไป และห้ามให้อาหารที่ย่อยยาก ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตและผ่านการตรวจคัดกรองโรค FMD จะต้องเป็นไปตามกฎของรัฐบาลจีน

5. มีเอกสารใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)

วันที่ 26-27 มีนาคม 2562 นางสาวปทุมวดี  อิ่มทั่ว กงสุลฝ่ายการเกษตรของไทย นำคณะผู้แทนกรมปศุสัตว์ และเอกชนศึกษาดูงานสถานที่กักกันโคมีชีวิตข้ามแดนบริเวณชายแดน สปป.ลาว- จีน ณ เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ที่เป็นจุดทดลองการจัดการโรคระบาดสัตว์ข้ามแดนก่อนส่งออกโคมีชีวิตไปยังประเทศจีน ผ่านช่องทางจุดผ่านแดนเหมิงหม่าน เพื่อชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รองรับการเชือด 120-130 ตัวต่อชั่วโมง โดยมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ และห้องเย็นรองรับแบบครบวงจร

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการเข้าพบ ของ นายโทนี่ วู ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท Jinghong Chengkang Agricultural Food Development Co., Ltd. ของจีน ช่วงเวลานั้น จีนปฏิเสธการนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ขณะที่ประชากรจีนมีความต้องการเนื้อโคในการบริโภคมากถึง 9 ล้านตันต่อปี จึงทำให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อตามแนวชายแดน ส่วนใหญ่มีการลักลอบนำเข้าจาก สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ อินเดีย และไทย จีนจึงมีแผนสร้างโรงฆ่าชำแหละโคเนื้อเพื่อผลิตเนื้อโคจำนวน 2 ล้านตัวต่อปี แต่ยังมีความกังวลในเรื่องการขนส่งโคจากไทยไปลาวที่ยังมีปัญหา

รัฐบาลไทยมองเห็นโอกาสที่จะส่งออกโคเนื้อไปยัง สปป.ลาว จึงส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ 2 ระยะ โดยระบุว่าสามารถส่งออกโคเนื้อจำนวน 1,000 ตัว เป็นโครุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน น้ำหนักเฉลี่ย 450 กิโลกรัม ไปยัง สปป.ลาวเพื่อส่งต่อไปยังจีน ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งขณะนั้นโคเนื้อในประเทศกิโลกรัมละ 70 บาท ในเวลานั้น มีการนำเสนอต่อรัฐบาลให้ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อระยะที่ 3 โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)สนับสนุนสินเชื่อเป็นเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท โดยให้รัฐหนุนจ่ายดอกเบี้ย 500 ล้านบาท หากได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจะเตรียมแผนซื้อ-ขายโคเนื้อกับจีนทันที โดยมีเงื่อนไขระยะเวลาการรับซื้อ 5-10 ปี

วันที่ 6 ธันวาคม 2562  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ในลักษณะของการเลี้ยงเพื่อขุนขายช่วงระยะเวลาสั้นแต่มีตลาดรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งกรมปศุสัตว์จะดูแลด้านการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ การจัดการด้านระบบประกันภัยสัตว์ การจัดการด้านเครือข่ายและตลาดรับซื้อเพื่อการส่งออกต่างประเทศ โดยกำหนดชนิดของสัตว์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงมี 4 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อขุน กระบือเนื้อ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง การดำเนินการส่งเสริมและเลี้ยงสัตว์ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต”

จับตาสถานการณ์ค้าโคข้ามชาติ ชายแดน ไทย-ลาว 

การส่งออกโคมีชีวิต ผ่านด่านท่าเรือเชียงแสน และผ่านเส้นทาง R3A จากด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย อยู่ในความสนใจ หลังสถานการณ์โควิด – 19

สถิติการส่งออกโคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ใน พ.ศ. 2560 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน 11,620 ตัว เชียงของ 38,527 ตัว รวม 50,147 ตัว

ใน พ.ศ. 2561 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน  61,811 ตัว เชียงของ 60,971 ตัว รวม 122,782 ตัว

ใน พ.ศ. 2562 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน 75,702 ตัว เชียงของ 28,234 ตัว รวม 103,938 ตัว

ใน พ.ศ. 2563 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน  22,534 ตัว เชียงของ 10,508 ตัว รวม 33,02 ตัว

ใน พ.ศ. 2564 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน  2,363 ตัว เชียงของ 1,738 ตัว รวม 4,101 ตัว

ใน พ.ศ. 2565 โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน 1,641 ตัว เชียงของ 100 ตัว รวม 1,741 ตัว

ใน พ.ศ. 2566 (ม.ค.-15 ธ.ค.)โคเนื้อผ่านด่านเชียงแสน  1,249 ตัว เชียงของ 2,962 ตัว รวม 4,211 ตัว

เห็นได้ชัดว่าสถิติการส่งออกสูงมากใน พ.ศ. 2561-2562 หลังจากนั้น ลดลงอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2563 และ ลดลงต่ำสุดใน พ.ศ.2564 ทันที ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีโรคระบาดเกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ โรคระบาดโควิด19เกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2562-2565 โรคอหิวาห์สุกร ASF เกิดช่วง พ.ศ. 2562-2566 โรค FMD ช่วง พ.ศ. 2563-2564 โรค LSD เกิดขึ้น พ.ศ. 2564 ประเทศที่เป็นปลายทางของการค้าโคเนื้อคือจีน เมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด19 ทำให้จีนปิดด่านพรมแดนป้องกันคนเข้าออก ทำให้การค้าหยุดชะงัก

สิ่งน่าสนใจที่เกิดกับชายแดนจีน-เมียนมา และจีน-เวียดนามคือมีการสร้างกำแพงหรือรั้วกันเขตแดนขนาดใหญ่ของจีนตอนใต้  “The Southern Great Wall” เป็นการกั้นพรมแดนในช่องทางธรรมชาติ เพื่อควบคุมการลักลอบข้ามแดนบริเวณชายแดน เพื่อควบคุมโรคระบาด และสิ่งนี้ส่งผลถึงการลักลอบนำเข้าโคเนื้อและสินค้าอื่น ๆ ทำให้การเคลื่อนย้ายโคเนื้อเข้าจีนเปลี่ยนไป การลักลอบไม่สามารถทำได้โดยง่าย

 

ขณะเดียวกันจีนก็ได้เปิดช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายในการค้าสัตว์ใหญ่ โคกระบือ บริเวณชายแดน โดยร่วมลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่กักกันสัตว์บริเวณชายแดนเมียนมาร์ที่บริเวณรัฐฉานเหนือใกล้กับด่านหมู่เจ้ กับด่านรุ่ยลี่ ของจีน

พ.ศ. 2560 จีนสร้างพื้นที่กักสัตว์ที่เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ทั้งสองโครงการของจีนนี้อยู่ภายใต้นโยบาย BRI (Belt and Road Initiative) ในด้านการรักษาความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มกลไกป้องกันโรค โดยวิสาหกิจของจีนที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ปรากฎว่าเมียนมาร์เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในปี 2561 เกิดการต่อสู้กันทำให้ด่านกักสัตว์ในเมียนมาร์ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนด่านกักสัตว์ของ สปป.ลาว เมื่อสร้างเสร็จใน พ.ศ.2564 เป็นช่วงที่มีโรค FMD แพร่ระบาด เกิดการชะงักทำให้คอกกักสัตว์เมืองสิงต้องทิ้งร้าง ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 และเริ่มฟื้นการส่งออกโคกระบือ เมื่อเดือน กันยายน 2566

นับเป็นความท้าทายในสถานการณ์การค้าโคเนื้อมีชีวิตภายใต้เศรษฐกิจที่ซบเซา เจ้าของฟาร์มและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน เลิกกิจการทำฟาร์มและเลิกเลี้ยงโคขุนหลายราย ราคาโคเนื้อในประเทศมีราคาตกต่ำ เพราะพ่อค้าโคไม่สามารถส่งออกโคเนื้อสู่ต่างประเทศได้ เดือน ตุลาคม 2566 ราคาโคมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 85 – 90 บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม

ความต้องการเนื้อโคของประเทศจีนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนและกระตุ้นการผลิตโคเนื้อใน ลาว ไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีพิธีสาร การส่งออกเนื้อโค หรือโคเนื้อมีชีวิตโดยตรงกับจีน เนื่องจากไทยยังไม่ปลอดจากการเป็นเขตโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) จึงไม่มีการนำเข้าจากไทย ขณะที่จีนมีการบริโภคเนื้อโคสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จากความต้องการบริโภคเนื้อโคสูงในจีน หลายฝ่ายมองเห็นเป็นโอกาส เมื่อศึกษาเงื่อนไขหลักเกณฑ์มาตรฐานของจีนในการนำเข้าโคเนื้อ มีประเด็นที่ท้าทายหลายประเด็นที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพัฒนาการเลี้ยงโคขุนให้ได้ตามมาตรฐานที่จีนกำหนด จึงจะทำให้เกิดการผลิตและการค้าโคเนื้อให้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและทำรายได้ได้จริงตามที่หลายฝ่ายวางเป้าหมายไว้

จากข้อมูลแผนกเลี้ยงสัตว์และประมง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ระบุว่า จีนนำเข้าโคมีชีวิตประมาณ 1 ล้านตัวต่อปี โดยมีส่วนแบ่งในการนำเข้าจากอินเดีย 45% จากเมียนมาร์ 40%  จากปากีสถาน 10%  ส่วนที่เหลือ 5% นำเข้าจาก สปป.ลาว ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งในแต่ละปีมีการนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตโดยเดินทางจากประเทศไทยผ่าน สปป.ลาว ประมาณ 120,000 ตัว

รัฐบาลไทยสานสัมพันธ์จีนหวังเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์

พ.ศ.2560 จีนมีท่าทีเอื้อเฟื้อต่อ สปป.ลาว ซึ่งมีชายแดนติดต่อกัน แม้จีนจะให้โควต้านำเข้าโคเนื้อปลอดภาษีกับ สปป.ลาว จำนวนมากถึง 500,000 ตัวต่อปี แต่ก็กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติโคเนื้อนำเข้าไว้สูงซึ่ง สปป.ลาว ยังไม่มีศักยภาพที่จะเลี้ยงขุนโคเนื้อได้ตามคุณสมบัติที่จีนต้องการ  ส่วนประเทศไทย แม้จะมีโคเนื้อตามคุณสมบัติ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการขนส่งผ่านแดน การกักกันควบคุมโรค ทำให้ไม่สามารถขนส่งโคเนื้อผ่านชายแดนถึงจีนได้โดยง่าย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พ่อค้าโคชาวไทยมองเห็นโอกาสทางค้าจึงกว้านซื้อโคเพื่อขุนเลี้ยงส่งออก แต่ต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุนเพราะไม่สามารถส่งโคเนื้อให้กับจีน ทำให้จำนวนโคภายในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคภายในประเทศก็หันมาบริโภคเนื้อแช่แข็ง ทำให้ราคาโคเนื้อในตลาดของประเทศไทยตกต่ำ กลเกมส์การค้าโคข้ามชาติระหว่างพ่อค้าโคจึงถึงทางตัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงหาทางคลี่คลายโดยมุ่งสานสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศ เร่งระบายโคนื้อสู่ประเทศจีนเพื่อฉุดราคาโคเนื้อในประเทศให้ขยับสูงขึ้น กระทั่งมีการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงของไทยกับจีนถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าพบ นายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย เพื่อหารือข้อราชการด้านการเกษตร การส่งออก โค ซึ่งทางฝ่ายจีน รับพิจารณาจะให้ส่งโคออกไปขายโดยไม่ต้องผ่านด่านกักกันที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ ประเทศไทยต้องผ่านการรับรองจาก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health:WOAH)

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบปะหารือกับนายหวัง โช่ว    เหวิน (Mr. Wang Shouwen) ผู้แทนการค้าระหว่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ซึ่งไทยได้หยิบยกประเด็นการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะโคและสุกรมีชีวิต ให้สามารถส่งออกไปจีน และได้ให้ความเชื่อมั่นว่าแนวทางและมาตรฐานการป้องกันโรคระบาดของไทยเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเข้ามาตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ของไทย โดยฝ่ายจีนตอบรับที่จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็ม

มหาวิทยาลัยพะเยา จัดเสวนาสร้างความร่วมมือทางการค้า ไทย ลาวและจีน

19 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยพะเยา จัดการประชุมแนวการยกระดับเศรษฐกิจร่วมไทย-ลาว ผ่านโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสินค้าโคเนื้อคุณภาพเพื่อความยั่งยืนของพื้นที่เมืองชายแดนพะเยา เชียงราย ภายใต้หัวข้อ “กิจกรรมร่วมประชุมเสวนา เชื่อมสานสัมพันธ์การผลิต การค้าโคเนื้อ ไทย ลาว จีน”  ณ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ในที่ประชุมมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างฝ่ายไทย และฝ่ายลาว ในด้านวิชาการการเลี้ยงโคและเพื่อปรึกษาหารือด้านการค้า และแนวทางการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสินค้าโคเนื้อคุณภาพ โดยฝ่ายไทยมีการเชิญ ผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา หน้าหน้าด่านกักกันสัตว์จังหวัดเชียงราย เกษตรจังหวัดพะเยา และนักธุรกิจด้านการเลี้ยงสัตว์  ผู้เข้าร่วมจาก สปป.ลาว ประกอบด้วย นักวิชาการด้านการเลี้ยงสัตว์ หน่วยงานที่เลี้ยงสัตว์ นักลงทุนและนักธุรกิจด้านการเลี้ยงสัตว์ จากแขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา  ก่อนที่จะไปดูฟาร์ม 2 ฟาร์มในพื้นที่เมืองห้วยทราย

การประชุมมีการหารือถึงแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์โคลูกผสมในการขุนเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หญ้าและพืชอาหารสัตว์ การจัดการโรงเรือน คอกสัตว์ โปรแกรมสุขภภาพ การฉีดวัคซีน โดยใช้ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ที่มีภาษาที่ฟังกันเข้าใจ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกันของพื้นที่ชายแดนร่วมกันพัฒนา ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์จากโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกันทั้งเส้นทาง R3A และเส้นทางรถไฟลาว – จีน และรถไฟไทยที่จะขยายจากเด่นชัย มาถึงเชียงของราว พ.ศ. 2571 ไทยมีแม่พันธ์และลูกโคเนื้อขุน  ลาวมีที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ และพื้นที่ทำฟาร์มที่ต้องการพัฒนาไปสู่การส่งออกไปจีนตามโควต้าที่ได้รับ โดยการสร้างมาตรฐานฟาร์มร่วมกัน

ทั้งนี้พบว่าทางผู้เลี้ยงโคของลาว ต้องการแม่พันธุ์และลูกโคเนื้อเพื่อนำไปขุน และต้องการวัคซีน น้ำเชื้อเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ ทั้งเทคนิคการผสมเทียมและการปรับปรุงพันธุ์ไปด้วย ก่อนหน้านี้ทางฟาร์มที่พัฒนาสายพันธุ์ของไทยได้ขอโควต้าส่งออกแม่พันธุ์ได้ 3,000 ตัว เพื่อจำหน่ายให้กับเจ้าของฟาร์มในลาว และได้ทะยอยส่งออกปัจจุบันได้ส่งไปลาว 45 ตัวแล้ว อย่างไรก็ตามลาวได้เสนอขอให้ไทยยกเลิกระเบียบที่ต้องขออนุญาตส่งออกแม่พันธุ์จากกรมปศุสัตว์ที่ทางไทยออกระเบียบเพื่อไม่ให้แม่พันธุ์ไหลออกไปนอกประเทศเร็วเกินไป  เพื่อความสะดวกของฟาร์มที่ต้องการพัฒนาสายพันธุ์ในลาว

โดยตัวแทนของหน่วยงานลาวกล่าวถึงการสนับสนุนด้านนโยบายรัฐบาล สปป.ลาว ส่งเสริม ทั้งที่ดินการเลี้ยงสัตว์  คุณภาพการเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลิตภัณฑ์โคที่มีคุณภาพ เช่นเนื้อโคไขมันแทรกที่ต้องการพัฒนาการเลี้ยงไปถึงจุดนี้ ส่งเสริมด้านการค้า การฝึกแรงงานในฟาร์ม ไม่เก็บภาษีที่ดินที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการนำเข้าแม่พันธุ์และลูกโคหกเดือนถึงหนึ่งปี ส่งเสริมการนำเข้าโคเนื้อเพื่อการส่งออกไปจีน

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า เงื่อนไขการค้าที่กำหนดโดยจีนเป็นมาตรฐานที่เข้มงวด เรื่องวัคซีนป้องกันโรค 9 โรค ที่จะต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ การเจรจาในการค้าขาย รวมถึงการวางแผนปลูกพืชเลี้ยงสัตว์สร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรหรือฟาร์มที่ขุนโคเนื้อและผู้ผลิตอาหารสัตว์จำหน่าย ที่เป็นอาหารข้นที่ต้องมีสูตรอาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนและพลังงานเพียงพอในการเลี้ยงโคขุนให้ได้ตามขนาดและน้ำหนักมาตรฐานการส่งออก

เนื่องจากเกษตรกรลาวเลี้ยงโคแบบธรรมชาติ ขาดการรดูแลสุขภาพสัตว์ ผลตอนแทนต่ำ จะต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเลี้ยงโคแบบฟาร์ม แต่การไม่เปิดให้นำโคขุนเข้ามาเป็นนโยบายของลาวที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ การเริ่มต้นในการอุตสาหกรรมโคเนื้อไม่ง่าย เพื่อจัดหาโคได้เพียงพอต่อการส่งออกไปจีนตามเป้าหมาย ลาวมีพื้นที่ปลูกหญ้า ปลูกข้าวโพด แต่ยังต้องใช้เวลาการพัฒนาสายพันธุ์ 3-5 ปี ขณะที่ไทยมีโคแม่พันธุ์จำนวนมาก อาจต้องให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาในช่วงเริ่มต้น โดยภาครัฐไม่ตั้งกำแพงกีดกันการร่วมพัฒนา เมื่อมีอุปสรรคติดขัดรัฐร่วมกันหาทางออก เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

โดยทางลาวเสนอให้มีการจับคู่ธุรกิจเพื่อยกระดับการพัฒนาทั้งสายพันธุ์ และการขุน โดยทำเป็นแผนปฏิบัติการร่วมกัน กำหนดกรอบความร่วมมือเสนอในระดับของรัฐบาล นำผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวางแผนขับเคลื่อนไปด้วยกัน ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการวางแผนการส่งเสริมชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับการวางแผนในระดับธุรกิจเอกชน โดยไทยจะมีอาสาสมัครในชุมชนมาสอนชาวบ้านเป็นแผนที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยพะเยา และจากฟาร์มเอกชนที่มีประสบการณ์ เป็นอาสาสมัครมาช่วยอบรม ทำเป็นแผนปฏิบัติการพัฒนาคนของ สปป.ลาวด้วย  

รายงานโดย ปิยนันท์ จิตต์แจ้ง

เรียบเรียงและตรวจสอบโดย รองศาสตราจารย์ โชค โสรัจกุล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ สมชาติ ธนะ   คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา , ร้อยตำรวจเอกทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)

admin