นิวัฒน์ ร้อยแก้ว (Niwat Roykaew) คือ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อดีตเคยรับราชการครู (highland teacher) สอนนักเรียนชาติพันธุ์ สอนเด็กไร้สัญชาติให้เข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าใจสิทธิความเป็นมนุษย์ เขาลาออกจากการรับราชการครู ทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เขาพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการทำโครงการอนุรักษ์ป่าดอยหลวง ขอรับเงินบริจาคเพื่อนำมาสร้างระบบสาธารณูปโภคให้กับเด็กและเยาชน หลังจากนั้น เขาทำงานอนุรักษ์แม่น้ำโขงร่วมกับหลายองค์กร กระทั่งได้รับการยกย่องและได้รับรางวัล “Goldman Environmental Prize” ปัจจุบัน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ก่อตั้ง “โรงเรียนแม่น้ำโขง” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการทำกิจกรรมกับเด็กและเยาชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาแม่น้ำโขงในอนาคต 

สอนเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ให้กับคนไร้สัญชาติ

ผมเป็นคนบ้านนอก เติบโตมากับธรรมชาติ อยู่กับแม่น้ำ อยู่กับป่าเขา นั่นทำให้ผมมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันอาจเป็นจิตใต้สำนึกที่ทำให้เราผูกพัน ตอนผมเป็นนักศึกษา ผมเข้าร่วมกิจกรรมโครงการค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัย เดินทางออกไปช่วยพี่น้องชาวบ้าน สร้างโรงเรียนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยุคสมัยก่อน การเดินทางจากเชียงใหม่ถึงอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำบากมาก เส้นทางทุรกันดาร เพิ่งมีการบุกเบิกทำถนน ผมทำกิจกรรมค่ายอาสาเป็นเวลาหนึ่งเดือน นั่นเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายสิ่ง

พ.ศ.2526 ผมรับราชการครูโรงเรียนปอวิทยา ตำบลปอ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นครูดอย (highland teacher) สอนนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ “ลื้อ” การเป็นครูทำให้เรามองเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความแตกต่าง ผมชอบเรียนรู้ ได้สัมผัสหลายสิ่งหลายอย่าง หลังจากนั้น ผมทำงานที่สำนักงานการประถมศึกษา แล้วขอกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนบ้านทุ่งนาน้อย ห้วยตอง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สอนนักเรียนในหมู่บ้านชาติพันธุ์ “ม้ง” เรียนรู้เรื่องชาติพันธุ์ เรียนรู้เรื่องความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำเรื่องสิทธิ

ยุคสมัยก่อน ครูทำหน้าที่หลายอย่าง เป็นครู เป็นหมอ เป็นทนายความ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนก็ขอความช่วยหลือจากครู ยามป่วยไข้ก็มาหาครู มีปัญหาในหมู่บ้านก็ต้องร่วมกับผู้นำเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับพี่น้องชาวบ้าน ต้องเรียนรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่รัฐกระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์  ทั้งเรื่องสัญชาติ เรื่องสิทธิ เพราะยุคสมัยนั้น กลุ่มชาติพันธุ์เป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง

พ.ศ.2532 ผมเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านมนตรีวิทยา บ้านแม่จะคำน้อย ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ชีวิตลำบากมาก ต้องเดินเท้าหลายสิบกิโลเมตรเพื่อไปสอนหนังสือ มีปัญหาเรื่องยาเสพติดและ อาชญากรรมเยอะมาก โดยเฉพาะการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ผมอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ ว้า ลาหู่ จีนฮ้อ หลังจากนั้น ผมเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยคุ ตำบลปอ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อยู่กับพี่น้องชาติพันธุ์ “ม้ง” กลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทย  

ผมเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยคุ เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ ผู้นำหมู่บ้านก็จะเชิญผมรับฟังและช่วยดูแลความยุติธรรม ยุคสมัยนั้น ทหารมีโครงการสร้างหมู่บ้านเขตชายแดนโดยให้ทหารเกณฑ์ปลดประจำการอาศัยอยู่ แต่การสร้างบ้านต้องมีการตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เจ้าหน้าที่รัฐตัดไม้ พวกเราบอกก็ไม่ยอมรับฟัง ชาวบ้านจึงประชุมและเข้ายึดเลื่อยโซ่ยนต์ของทหาร นั่นกลายเป็นเรื่องใหญ่ สุดท้ายชาวบ้านกับทหารก็ตกลงกันได้ ทหารก็เข้าใจว่าผมเป็นคนอย่างไร ทหารรู้จักผมตั้งแต่ครั้งรับราชการครู ผมไม่ได้ทำเพื่อตนเอง พวกเราไม่คิดต่อสู้กับหน่วยงานของรัฐ เราลุกขึ้นเพื่อปกป้องรักษาสิทธิ หลังเหตุการณ์ทหารทำลายป่าห้วยคุ เมื่อมีการพูดคุยเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้านก็ทำให้เข้าใจกัน

เวลาต่อมา ผมเป็นครูใหญ่โรงเรียนสองพี่น้อง ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สอนเด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาหู่”  ยุคสมัยก่อน ชาวบ้านลาหู่เสพฝิ่นเยอะมาก เด็กไม่ไปโรงเรียนเพราะพ่อแม่เสพฝิ่น ผมคุยกับชาวบ้าน เรื่องการเลิกฝิ่น ยุคสมัยก่อนโครงการเลิกฝิ่นต้องจัดขึ้นที่สำนักงานที่ว่าการอำเภอ มีหลายหน่วยงานราชการร่วมกัน ชาวบ้านมีความลำบากในการเดินทาง เมื่อเข้าร่วมโครงการเลิกฝิ่น คนเลิกฝิ่นจะมีอาการเสี้ยนยา โกรธง่าย เวลาอยู่ร่วมกันก็เกิดการทะเลาะวิวาท เมื่อจบโครงการกลับบ้านก็ติดฝิ่นอีกครั้ง ผมเสนอให้เลิกเสพฝิ่นทั้งหมู่บ้านพร้อมกัน

ชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกันให้ตัดฝิ่นทั้งหมู่บ้านโดยขอเจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยเหลือ ผมรวบรวมรายชื่อได้ 50 คน ผมปรึกษากับ นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผอ.โรงพยาบาลเชียงของในเวลานั้นซึ่งท่านก็เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยคุณหมอจะเดินทางร่วมโครงการที่หมู่บ้าน ผมกลับไปโรงเรียนจัดขบวนขับเคลื่อนการเลิกเสพฝิ่น ตั้งคณะกรรมการ ตั้งกลุ่ม ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนในการทำโครงการ นั่นถือป็นประวัติศาสตร์หมู่บ้าน  

พัฒนาชีวิตชาวเขา ด้วยโครงการอนุรักษ์ป่าดอยหลวง

การลาออกจากราชการ คือ ความท้าทายในวิธีคิดของตนเอง ผมคิดไม่เหมือนคนอื่นในบางสิ่งบางอย่าง ผมลาออกจากราชการมาทำธุรกิจเกสเฮ้าส์มีรายได้พอเลี้ยงตนเอง พ.ศ.2540 ผมทำค่ายเยาวชนโครงการแรก โครงการรักษ์ป่าดอยหลวง Small Grants (SGP) เป็นโครงการขององค์กรของ Global Environment Facility (GEF) ที่ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เราทำเรื่องการฟื้นฟูป่าต้นน้ำดอยหลวง เราใช้กระบวนการซื้อชีวิตต้นไม้ สำรวจป่าร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน เราคุยกับคนหมู่บ้านม้งบ้านทุ่งนาน้อย พูดคุยกันเรื่องการฟื้นฟูป่า ทำให้แม่น้ำห้วยตองกลับมามีน้ำ เพราะการดูแลป่าไม่ใช่หน้าที่ของคนพื้นที่สูงเท่านนั้น คนพื้นราบควรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าด้วย

เราทำโครงการซื้อชีวิตต้นไม้ เพื่อให้คนพื้นราบบริจาคเงินซื้อชีวิตต้นไม้ เราสำรวจต้นไม้มีกี่ต้น แล้วก็ขอซื้อกับพี่น้องชาวบ้านม้ง เงินที่ได้มอบให้ชาวบ้านสร้างระบบสาธารณูปโภค แต่ต้องช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ รักษาชีวิตต้นไม้เพื่อคนพื้นราบ กิจกรรมคือเขียนป้ายชื่อผู้บริจาค เขียนลำดับที่ต้นไม้ พาคนพื้นราบเดินทางขึ้นภูเขาไปดูต้นไม้ นั่นเป็นโครงการแรกของกลุ่มรักษ์เชียงของ หลายปีผ่านไป เด็กที่เคยร่วมทำโครงการเติบใหญ่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ป่าก็ฟื้นฟู ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กและเยาวชน เราถ่ายภาพมองเห็นป้ายโครงการเก่าติดบนต้นไม้ที่เติบใหญ่ นั่นทำให้เห็นว่า การทำงานกับเด็กและเยาวชนไม่เสียเวลาเลย เด็กและเยาวชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

พ.ศ.2543 เกิดเหตุการณ์สำคัญ น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอด จากการสำรวจพบว่า มีโครงการสร้างเขื่อนและโครงการปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกโครงการนี้ว่า “โครงการระเบิดแก่ง” เป็นข้อตกลงแม่น้ำโขงร่วมกัน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว พม่า จีน ผมร่วมมือกับ สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา สร้างเครือข่ายขับเคลื่อน พวกเราทำงานหนักเพราะเป็นโครงการใหญ่ มีการพูดคุยกับชาวบ้าน พัฒนาองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ ภายใต้งานวิจัย เน้นเรื่องความรู้เป็นสิ่งสำคัญ

เราทำอะไร ถ้าไม่มีความรู้หนทางของความล้มเหลวย่อมมีมาก ความรู้เป็นพื้นฐานการต่อสู้ ความรู้พัฒนาศักยภาพของคน เราทำกิจกรรมให้มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ระบบนิเวศน์ วัฒนธรรม ผมมองว่า ความรู้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นข้อบกพร่องของคนท้องถิ่น เด็ก เยาวชน ชุมชน ต้องทำงานผ่านงานวิจัย ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือเพื่อเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับรู้ พวกเรานึกถึงการสร้างโรงเรียนเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ วัชระ หลิ่วพงศ์สวัสดิ์ มองเห็นความสำคัญ มองเห็นความคิดของเรา เขาจึงบริจาคที่ดินสำหรับสร้าง “โรงเรียนแม่น้ำโขง” พื้นที่สำหรับเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น

บทบาทของโรงเรียนแม่น้ำโขง คือ ช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านเรื่องทรัพยากร เรื่องการพัฒนาท้องถิ่น ทำงานวิจัยกับพี่น้องชาวบ้าน ต่อมาคือการสร้าง ทำหน้าที่สร้างความรู้ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยน เด็กและเยาวชนสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งได้  เราเชื่อมโยงเพื่อให้มองเห็นโลกใบนี้ เรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องแม่น้ำโขง เราพยายามเชื่อมคำว่า ท้องถิ่นกับสากล เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน เพราะโรงเรียนทั่วไปไม่ได้สอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ได้สอนเรื่องระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง ไม่ได้สอนวัฒนธรรม การข้ามวัฒนธรรม การเปรียบเทียบวัฒนธรรม ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ มีคนเข้ามาใช้โรงเรียนแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  

พ.ศ.2566 เราทำงานกับเด็กและเยาวชน อันเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กิจกรรมของเด็กมัธยมขับเคลื่อนผ่านการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) เด็กและเยาวชนสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่นได้หลายอย่าง กิจกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของเขา เช่น โรงเรียนบ้านแซว มีโครงการวิทยาศาสตร์ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เราใช้วิทยาศาสตร์ดึงความสนใจของเด็ก เด็กสร้างผลงานสารคดี สร้างหนังสั้น สามารถนำเสนอให้กับคนในหมู่บ้าน เมื่อผู้ใหญ่บ้านมองเห็นการนำเสนอ มองเห็นข้อมูล จึงมีการออกกฎระเบียบเพื่อมิให้มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำ นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ โรงเรียนบ้านปงของ โรงเรียนบ้านแซว โรงเรียนบานห้วยซ้อวิทยาคม เราจะมองว่าเขาเป็นเด็กไม่ได้ เมื่อเขาเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เด็กและเยาชนกับความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาแม่น้ำโขง

ช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลง วิธีคิด ขบวนการทำงาน ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) การเปลี่ยนความคิดในการพัฒนา ยุคสมัยก่อน เรามองเห็นหมู่บ้าน บ้านฉัน บ้านเธอ แต่เด็กยุคปัจจุบัน เด็กและเยาชนมองเห็นโลกทั้งใบ เขามองเห็นภาพรวมของโลก วิธีคิดแบบเดิม ไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาได้ มุมมองเรื่องทรัพยากรในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกัน ความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติลดลง การหายไปของทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย

เราคิดแบบเดิมไม่ได้ เช่น การบริหารจัดการแม่น้ำ น้ำท่วมก็ขุด น้ำแล้งก็ขุด ไม่มีน้ำก็สร้างฝายกั้นน้ำ โลกเปลี่ยน  เงื่อนไขทางทรัพยากรของโลกเปลี่ยน ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การพัฒนา แม่น้ำไม่เคยดีขึ้น มีแต่แย่ลงทุกวัน ลองทบทวนดู แม่น้ำอิงถูกขุดกี่ครั้ง สูญเสียงบประมาณเท่าไหร่ เราต้องทบทวนวิธีคิด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาแหล่งน้ำ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น

รูปธรรมที่เรามุ่งหวังคือ เราต้องการช่วยสร้างกลุ่ม (Club)ให้กับเด็กและเยาวชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชน เขาอยากเห็นธรรมชาติเป็นอย่างไรในความคิดของคนรุ่นใหม่ โรงเรียนจะมีการพัฒนาเรื่องหลักสูตรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมีหลักสูตรก็จะมีเงินทุนสำหรับส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ

เราต้องเข้าใจว่า การอนุรักษ์หรือการรักษาธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ว่า การรักษาธรรมชาติจะยั่งยืนไม่ได้ ถ้าวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของรัฐยังเป็นแบบเดิม ยกตัวอย่าง เวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย พื้นที่หนองน้ำ (wetland) ถูกขุดจนลึก วัวควายไม่มีหญ้ากิน เพราะเป็นการขุดแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นวิธีคิดเก่าๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ แต่กลับเป็นประโยชน์ให้กับใคร

ในมุมมองของผม เรื่องธรรมชาติหรือการทำลายธรรมชาติ โดยใช้เหตุผลด้านการพัฒนาโดยไม่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ประนีประนอมกันไม่ได้ เพราะธรรมชาติถูกกระทำอย่างหนักแล้ว ฉะนั้นเราต้องปรับวิธีคิดใหม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องปรับระหว่างการพัฒนากับความต้องการของมนุษย์เพื่อให้ธรรมชาติกลับมาสู่ความสมดุล เมื่อคนต้องการสนองความต้องการก็ทำลายธรรมชาติเรื่อยๆ ยุคสมัยก่อนทรัพยากรธรรมชาติมีมาก ปัจจุบันปัญหาอันเกิดจากการทำลายธรรมชาติมีมาก เราไม่สามารถลดอุณภมิของโลกนี้ได้  

การอนุรักษ์แบบเดิมคือมองแม่น้ำแล้วเห็น “น้ำ” เพียงอย่างเดียว ความเป็นแม่น้ำคือทุกสิ่ง มีหลายมิติที่ทับซ้อนกันอยู่กับคำว่าแม่น้ำ เขาถึงบอกว่าแม่น้ำมีชีวิต คิดแบบเดิมง่ายเกินไป เช่น ไม่มีน้ำก็เอาน้ำเข้ามา นั่นไม่ใช่การแก้ไข แต่เป็นการซ้ำเติม ทำให้ปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเราเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ แล้วถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เราใช้หลักวิชาการหรือไม่ องค์ความรู้มีหรือไม่ เราอธิบายความต้องการของมนุษย์แต่ไม่ได้ศึกษาว่าการขาดน้ำเกิดจากอะไรบ้าง แม่น้ำถูกกระทำ หรือคนใช้น้ำมากเกินไป

สิ่งเหล่านี้ทำตามความต้องการของคน ไม่ได้ทำตามองค์ความรู้ แล้วจะมีความเพียงพอได้อย่างไร ถ้าเรามีองค์ความรู้ในการพิจารณาว่า สมควรทำหรือไม่ ทำแล้วมีผลกระทบน้อยที่สุด เรื่องเหล่านี้ต้องมีการศึกษาอย่างหนัก ตัวอย่างกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนแม่น้ำโขง  เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศลาวแล้วมีผลกระทบกับคนไทย ระเบียบกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร สำคัญที่สุด ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญมากเพราะเกี่ยวพันกับการพัฒนาโดยตรง

การมีส่วนร่วมกับต่างประเทศในการพัฒนาแม่น้ำโขง

ปัญหาน้ำโขง คือ กระบวนการของการมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการพัฒนาอยู่ในมือของรัฐ เบื้องหลังรัฐ ก็คือกลุ่มทุน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ความจริงชาวบ้านลุ่มน้ำโขงถือเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการมีส่วนร่วม ต่อมาคือเรื่องของ กฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย ที่ล้าสมัยไม่ครอบคลุม ไม่สามารถปกป้องแม่น้ำน้ำโขงได้

กฎระเบียบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ผมยังมองว่ามันไม่ใช่ขบวนการที่จะช่วยสร้างความสมดุลในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง มันเป็นขบวนที่รับฟังชาวบ้าน แต่หยุดการสร้างเขื่อนไม่ได้ เพียงแค่มารับฟังชาวบ้าน ข้อตกลงเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง

 อีกประเด็นผมมองเรื่องอำนาจ เรื่องความร่วมมือ (Corporate) องค์กรกลางช่วยลดความเป็นรัฐ ลดอำนาจรัฐ อำนาจรัฐของแต่ละประเทศมีเหนือกว่าความร่วมมือ องค์กรเหล่านี้ต้องมีศักยภาพในการสร้างความร่วมมือ เพื่อลดอำนาจในกรณีของทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ก้าวล่วงถึงเรื่องความมั่นคง อำนาจรัฐต้องลดลงเพื่อให้เกิดความเร่วมมือขององค์กรเข้มแข็งขึ้น

ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เราพยายามส่งสัญญาณถึงจีน เราพยายามพูดคุย เพื่อให้เขาเห็นถึงความเดือดร้อน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการปัญหาร่วมกัน เราพยายามทำงานกับเยาวชนให้มากขึ้น เข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมและกระบวนการคิดข้ามวัฒนธรรม ( Cross-cultural ) เราเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาต่างประเทศทำการศึกษา แลกเปลี่ยน ข้ามวัฒนธรรม สิ่งหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คือ ความเป็นชาตินิยมลดลงมาก คนรุ่นใหม่มองโลก มองเห็นภาพรวม ถือเป็นเรื่องสำคัญ ข้ามวัฒนธรรมของตนเองเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

ข้ามผ่านสู่วัฒนธรรมใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

แม้แต่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เราก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ทำงานกับคนพื้นราบ สร้างอาชีพใหม่ๆ ส่วนเรื่องความรู้ ชาติพันธุ์มีองค์ความรู้จำนวนมาก สร้างการพัฒนาในสิ่งที่สำคัญกับชีวิต เรื่องสิทธิเขาได้รับการพัฒนามาอย่างมาก สมัยก่อนกลุ่มชาติพันธุ์พึ่งพาธรรมชาติ อยู่กับสิ่งแวดล้อม แต่เดียวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขของแต่ละคน  

ยุทธศาสตร์ คือการฟื้นฟูและรักษาแม่น้ำโขง ใครรักษาฟื้นฟูแม่น้ำโขงคือพันธมิตร นั่นเป็นความชัดเจน เราร่วมมือกับคนจีนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ถ้าร่วมมือกันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมก็สามารถสร้างความเข้าใจได้มาก ข้อมูลจากการศึกษาก็มีมากพอสมควร นั่นจะทำให้พี่น้องจีนได้รับรู้แต่เราจะทำอย่างไรให้คนจีนได้รับข่าวสารได้โดยง่าย แปลงานเขียนเป็นภาษาจีน ผ่านสื่อ ผ่านคน ผ่านอะไรหลายอย่าง

คนทำงานบนโลกใบนี้ ถ้าจะทำงานเพื่อโลกเราทำได้ มนุษย์มีความสามารถแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เราใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์กับโลกได้ ทุกคนทำได้ ด้านการทำงานทุกคนมีประโยชน์ไม่ว่าคุณจะมีความเชี่ยวชาญด้านไหน สามารถทำประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ได้ เก่งดนตรีก็ใช้ดนตรีในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อม มีความรู้เรื่องศิลปะก็สามารถทำได้ มีความรู้เรื่องวิชาการเราก็สามารถทำได้ มนุษย์ไม่เหมือนกัน ถ้าคนหมือนกันหมดมาอยู่ด้วยกันก็อยู่กันไม่ได้

ความแตกต่างของมนุษย์ทำให้เกิดความเกื้อกูลกัน ความหมือนของมนุษย์กลับก่อให้เกิดการแย่งชิง คนมีความรู้ด้านเดียวกันบางครั้งก็แก่งแย่ง แต่ถ้าคนมีความสามารถคนละด้าน ก็จะเกิดความร่วมมือ เมื่อมีความร่วมมือก็จะเกิดพลัง เราให้ความสำคัญกับทุกคนที่มีความถนัด เราถือว่าเป็นการพัฒนาเพื่อศักยภาพคน ผมคิดว่า ผมเข้าใจคน คิดว่าผมพบกับผู้คนมากพอสมควร ถ้าเข้าใจก็จะเป็นประโยชน์ ให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ ผลงานก็จะดี คนก็จะพัฒนาตัวเองขึ้น

บทเรียนเรื่องแม่น้ำโขงมีมากมาย เพียงแต่คนพื้นที่ต้นน้ำยังไม่ได้รับรู้ เราจะทำอย่างไรให้เขาได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น ขบวนการมีส่วนร่วมทั้งหมด มุ่งสู่การสร้างความข้าใจ กระบวนการมีส่วนร่วมก็เริ่มคิดแผน ร่วมกันจัดการ แต่จะเกิดขึ้นได้ ผู้คนต้องมีส่วนร่วม เพราะจะทำให้เห็นทิศทางของการพัฒนา ถ้าคนลุ่มน้ำที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมเขาก็จะได้มองในมิติอื่น มีคำเปรียบเปรยว่า “นักลงทุนมองไม่เห็นปลา แต่ชาวบ้านมองเห็นปลา”

ปัจจุบัน การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กง่ายมาก โลกนี้สื่อมีมาก ยุคสมัยก่อนเราจะอธิบายให้เด็กฟังเรื่องธรรมชาติถูกทำลาย เราจะพูดอย่างไร เดียวนี้เด็กมองเห็นโลกทั้งใบ ทำให้เกิดความเข้าใจเร็วขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เมื่อเด็กรับรู้แล้วเกิดความสงสัยก็จะศึกษา เราไม่ใช่คนทำหน้าที่สอนให้เขาเข้าใจทั้งหมด เราทำให้เกิดสงสัย เกิดกระบวนการเรียนรู้ นั่นเป็นหน้าที่ครู เป็นหน้าที่ของเรา  

20 ปี กับการคัดค้านโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

ผมเป็นลูกของแม่น้ำโขง เมื่อผมทำงานก็พบว่า สิ่งที่ผมกำลังทำมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมผ่านวิกฤติ เราได้เรียนรู้ความเหลื่อมล้ำ เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นสำคัญคือความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ สัญชาติ สถานะ การไม่มีสัญชาติหรือไร้สัญชาติ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในเรื่องของการศึกษา อาชีพ การเดินทางทำมาหากิน ยุคสมัยก่อน มีปัญหาเรื่องการตกสำรวจ คนไม่มีสัญชาติมีจำนวนมาก ในฐานะครู ผมทำให้เขาเข้าใจเรื่องสิทธิที่เขามีอยู่ สิทธิความเป็นมนุษย์ ถึงแม้เขาไม่มีสถานะเป็นคนไทย แต่อย่างน้อยเขาก็มีสถานะเป็นมนุษย์

ผมลาออกจากราชการครู ผมก็ยังต้องรับรองลูกศิษย์ที่ผมเคยสอน เพื่อให้เขาได้สัญชาติ การขอสถานะหรือสัญชาติโยงถึงการศึกษาในโรงเรียน เราเป็นครูใหญ่เราก็ทำตามหน้าที่ เขาได้เรียนจริง เราก็รับรองสิทธิความเป็นพลเมือง นั่นรวมถึงสิทธิทำกิน รวมถึงสิทธิครอบครองที่ดิน กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยมีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าสงวน ปัจจุบัน ปัญหาลดน้อยลง กฎหมายเปิดโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ระบบการได้สัญชาติพัฒนาขึ้น เรื่องสิทธิทำกิน วิถีวัฒนธรรม แต่ทัศนคติของคนหรือรัฐก็ยังเหมือนเดิม

การสร้างเขื่อนเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เคยมีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับคนสร้างเขื่อน เราพยายามขับเคลื่อนกระทั่งมีการเจรจากับ บริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ของจีน ผู้รับเหมาสร้างเขื่อนและระเบิดแก่ง เราต้องการฟังวิธีคิด เราต้องการอธิบายถึงสิ่งที่เรามองเห็น ประเด็นสำคัญคือ ทุกเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยต้องมีคำตอบ มีการเสนอทางออกว่าต้องทำอย่างไร

นโยบายสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย เป็นนโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐ พวกเราคนเชียงของ อยากมองเห็นบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร มีการพูดคุยกับชาวบ้าน ร่างยุทธศาสตร์เชียงของภายใต้ระบบ 1 เมือง 2 แบบ เป็นเมืองคู่ขนานกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเหตุผลอธิบายได้ การสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย เป็นการทำธุรกิจอุตสาหกรรมหนัก หลายสิ่งหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ หากจะสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย ต้องทำในสิ่งที่ชาวบ้านมีอยู่ พัฒนาในสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่ เช่น ข้าว อำเภอเชียงของ มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 120,000 ไร่ ถ้าพัฒนาเขตเศรษบกิจพิเศษเรื่องข้าว มันก็จะตอบรับกับผลประโยชน์ของท้องถิ่น

ปัจจุบัน ประเทศจีนเกิดความเข้าใจมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เราพยายามทำเป็นเวลากว่า 20 ปี เรามีเหตุผลอธิบาย โครงการระเบิดเกาะแก่ง ตัวแทนบริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ของจีน อธิบายผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการค้าขาย พวกเราถามว่า ทำไมจีนจึงต้องใช้เรือขนาด 500 ตัน เพราะการใช้เรือใหญ่ในการขนส่งจำเป็นต้องระเบิดแก่ง ตัวแทนของจีนตอบว่า การค้าขายทางเรือเป็นการค้าขายต้นทุนต่ำ

พวกเราไม่ต่อต้านการค้าขาย แต่ไม่เห็นด้วยกับการค้าขายที่ทำลายธรรมชาติ เราเสนอทางเลือกหลายอย่าง เช่น การลดกำไร การลดขนาดเรือ ผลกำไรอาจไม่เท่ากับการขนส่งโดยใช้เรือขนาด 500 ตัน แต่ก็ไม่มีการระเบิดแก่ง ไม่มีการทำลายธรรมชาติ พวกเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในแม่น้ำสายนี้ คำพูดที่ว่า “เราดื่มแม่น้ำสายเดียวกันเป็นเหมือนพี่น้อง เราจะอยู่กันอย่างไร” หลังการแจรจาตกลง โครงการระเบิดแก่งจึงหยุดลง จาก พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ.2563 ใช้เวลา 20 ปี

ถอดบทเรียนแม่น้ำโขง สู่การแก้ปัญหาแม่น้ำอิง

เราต้องเข้าใจก่อนว่า การกระทำกับแม่น้ำประธานหรือแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสาขาทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เดือน สิงหาคม พ.ศ.2566 ระดับน้ำแม่น้ำโขงสูง  2 เมตร ซึ่งระดับน้ำแม่น้ำโขงควรสูงถึง 5-6 เมตร ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน น้ำต้นทุนถูกกัก เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำอิงไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่น้ำในแม่น้ำโขงไม่ดันเข้าไปในแม่น้ำอิง เป็นปัญหาในการวางไข่ของปลา ปลาไม่สามารถวางไข่ในแม่น้ำสาขา กระทบต่อพันธุ์ปลาและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ

การจัดการน้ำ การแก้ปัญหาน้ำ ต้องมาจากคนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้ครบทุกมิติ อนุรักษ์ รักษา ดูแล ฟื้นฟู จัดการ สร้างสมดุลในการใช้น้ำ น้ำอิงมีปัญหาหลายมิติ หน่วยงานของรัฐกี่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำอิงหายไปมากเกิดจากเงื่อนไขใด? คนทำมาหากินกับแม่น้ำอิงมากขึ้น? ระบบนิเวศน์ถูกทำลายสาเหตุเกิดจากแม่น้ำถูกทำลายจากการพัฒนา? หรือเกิดจากการใช้น้ำในปริมาณมาก?  

อย่ามองแต่พื้นที่ต้นน้ำ อย่าลืมมิติของพื้นที่กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่แม่น้ำไหลผ่าน แม่น้ำอิงถ้ามองจากมุมสูง เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวปกคลุมแม่น้ำที่หายไป ผมเคยนั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้สื่อข่าว สองฝั่งแม่น้ำอิงไม่เหมือนเดิม มีการทำการเกษตรติดแม่น้ำอิง ปลูกข้าวโพดติดแม่น้ำอิง พื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำถูกทำลาย สมัยก่อน มีต้นไม้ มีพืชริมน้ำ ปริมาณน้ำถูกเก็บรักษา ความชุมชื้นถูกเก็บรักษา มันถึงเวลาที่เราต้องฟื้นฟูป่าริมแม่น้ำอิงทั้งหมดหรือยัง มองแม่น้ำอิงอย่ามองเป็นเรื่อง “น้ำ” แต่ต้องห็นพื้นที่ชุมน้ำและองค์ประกอบของแม่น้ำ

แก้ปัญหาแม่น้ำอิงอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องศึกษาทบทวนการพัฒนาลุ่มน้ำอิง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยนักวิชาการ องค์กรชาวบ้าน เพื่อให้เห็นว่า ภายใต้นโยบายการขุดลอกสร้างฝายที่ทำกันมาตลอดเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบกับอะไรบ้าง ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า เราสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์เท่าใด เราต้องยอมรับงานวิชาการที่ได้ทำการศึกษา เพราะเป็นกระบวนการทางวิธีวิทยาที่ร่วมมือกัน เราจะมองเห็นภาพที่ชัดเจน

การพัฒนา ก่อนขุดควรศึกษาระบบนิเวศน์ว่าเป็นอย่างไร เราต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ริมน้ำหรือไม่ การใช้สารเคมีในดินควรมีระยะห่างจากแม่น้ำเท่าใด พื้นที่กันชน (Buffer Zone) บริเวณป่าริมน้ำต้องสร้างอย่างไร เพราะการปลูกข้าวโพดติดกับแม่น้ำมีการใช้สารเคมี ต้องคิดต้องช่วยกัน ระบบนิเวศน์ที่เสียหายอันเกิดจากการพัฒนา เช่น การขุดทรายจนตลิ่งพัง ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ต้องแก้ไขอย่างไร พื้นที่หนองน้ำเป็นอย่างไร ตื้นสู่ลึกเพื่อให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้อยู่อาศัย

ความเข้าใจเรื่องแม่น้ำกับเรื่องวัฒนธรรมคล้ายกัน คนลุ่มน้ำอิงทำการเกษตร ปลูกข้าว ทำสวน ทำไร่ มองเห็นความสำคัญของแม่น้ำอิง มีความสัมพันธ์กับการทำมาหากิน มันป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยกันอยู่ หากเราพูดเรื่องข้าวบนผืนนาทุ่งลอ ก็ต้องพูดตั้งแต่พะเยาถึงเชียงราย เราสามารถฟื้นฟูแม่น้ำอิงโดยให้ความสำคัญกับเรื่องข้าว ยกระดับสู่เศรษฐกิจสีเขียว อันจะช่วยสนับสนุนให้สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้น คนลุ่มน้ำอิงในอนาคตอีก 30-40 ปี เขาไม่ใช้สารเคมี ขอเพียงให้เขาได้เรียนรู้การจัดการแม่น้ำ นั่นเป็นประโยชน์ในทางตรง ส่วนประโยชน์ในทางอ้อม คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นต้องเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เรารักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวต้องเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์ การเปลี่ยนผ่านจากสารเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ ต้องมีการรักษาแม่น้ำและลดการใช้สารเคมี

สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย  ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)