คอลัมน์  : วิญญาณของฉัน  ตะวันออก (East Of My Soul) นักเขียน : สุวิชานนท์  รัตนภิมล (Suvichanon Rattanapimol)

สองทางแยกเล็กๆทอดไปในพงหญ้า  ทำให้คนเดินรั้งท้ายอย่างผมต้องคาดเดาไปเอง  ว่าจะเดินตรงไปหรือแยกขวามือ  สองข้างทางนั้นต้นหญ้าต่อข้อกันเหมือนนิ้วมือ ขึ้นรกแน่นหนาท่วมหัว  ล้วนแต่เป็นแห้งทั้งนั้น  ผมนึกถึงฉากหนังของ อากิระ คุโรซาวา  เหมือนอยู่ในโลกเหนือจริง ต่างออกไปจากวันก่อนๆ  ต้นไม้ใบหญ้าเติบโตผิดรูปผิดร่าง  ไม่ใช่คนขนาดเล็กลง  แต่ต้นหญ้าสูงใหญ่ขึ้น                        

ผมกำลังเดินไปบนก้าวย่างภวังค์ความฝันเฟื่อง  คำถามผุดพรายขึ้นมาในใจ  โลกเราไม่ได้เดินไปข้างหน้าด้วยความฝันเฟื่องหรอกหรือ?  โลกในอดีตอีกเล่า  ยิ่งย้อนเวลาลึกข้ามผ่านโลกล้านปี  ยิ่งต้องกลับไปฝันเฟื่องกันใหม่จริงๆ  จนดูราวกับว่ามวลสารความรู้ในปัจจุบัน  เพิ่งเดินมาตอบคำถามได้ไม่นานนี่เอง

ผมเดินไปคนเดียวท่ามกลางดงหญ้ารกและหมู่ก้อนหิน  อดคิดไกลไปถึงโลกร้อยล้านปีไม่ได้จริงๆ  ก่อนผมจะขึ้นมาถึงอาณาบริเวณยอดดอยหลวงครั้งแรกนั้น  ผมจำได้ว่าผมอ่านข้อเขียน  ที่พูดถึงโลกยุคเพอร์เมี่ยน(Permian period) ที่อยู่ในช่วงเวลา 250-300 ล้านปีก่อน

ยุคของความเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกครั้งใหญ่  หรือจะบอกว่าห้วงเวลาของความย่อยยับก็ได้  เกิดอะไรขึ้นกับโลกในช่วงเวลานั้น

“ยุคสัตว์เลื้อยคลานเฟื่องฟู  กิ้งก่ายักษ์มีครีบและไม่มีครีบยาวหลายสิบฟุต(เช่น Dimertrodon) ในน้ำตามชายบึงหนองน้ำ  ส่วนในมหาสมุทรก็มีเมโซซอร์หัวยาวคอยาว มีสัตว์ที่ขาสั้นคล้ายสัตว์ที่เรียกลูกด้วยนม ฟันคม(เช่น moschop)  สูงกว่าหกฟุต ยาวกว่าแปดฟุต  ดุร้ายมาก  ป่าไม้ขยายพัฒนาอย่างกว้างขวาง”

แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ  โลกเป็นเช่นไร?

“…ไม้คล้ายสนสูง 100 ฟุต ป่าไม้ครั้งแรกของโลกหลายพันธุ์ แต่ล้วนมีกิ่งมีใบโปร่งคล้ายใบเฟิร์นอยู่รอบๆคอคบ  หางม้าและปรงชนิดต่างๆ  อากาศดี อบอุ่น แมลงมากขึ้น  ตัวใหญ่มาก  แต่ไม่มีปีก เริ่มมีหญ้าปกคลุมตามพื้นดิน”

นั่นเป็นโลกในช่วงเวลา 350 ล้านปี  

โลกต่อมาเป็นไง?

“โลก 330 ล้านปี  แมลงเริ่มมีปีก ขนาดใหญ่มากขึ้น แมลงปอตัวยาวห้าหกฟุต  เริ่มมีแมลงสาบยาวสามฟุต พอถึงโลก 310 ล้านปี ปลาซีลาแค้นท์(Coelacanth) เริ่มมีสัตว์เลื้อยคลานที่มีเลือดเย็นที่เป็นต้นตระกูลแรก (Stem reptile เช่น Semourial) ป่าไม้เริ่มสมบูรณ์  แต่ล้วนมีกิ่งก้านอยู่ตามคาคบ(Vasoular tree) ทั้งนั้น”

จากห้วงเวลานั้น  โลกก็เข้าสู่ยุคเพอร์เมี่ยน 270 ล้านปี  แล้วห้วงเวลาเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ก็มาถึง

“…การเคลื่อนที่ของแผ่นดินทวีปแพนเกียไปทางเหนือ นำความหนาวเย็นเพิ่มขึ้นในมวลน้ำ  ทำให้มวลสัตว์น้ำทุกชนิดที่เคลื่อนตัวได้หนีไปหาเส้นศูนย์สูตร  ภูเขาไฟระเบิดจากการเคลื่อนของพื้นดิน  เป็นความพินาศที่ยิ่งใหญ่  จนสัตว์บกสัตว์น้ำและพืชต่างๆ  ต้องสูญสิ้นตระกูล  สิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปร่วม 60 เปอร์เซ็นต์”

ยุคเพอร์เมียนนี่เอง  แผ่นเปลือกโลกยกตัวสูงขึ้น  ท้องน้ำก้นมหาสมุทรกลับกลายเป็นยอดเขา  ตะกอนทะเล ซากสัตว์ทะเล  ปรากฏเป็นซากฟอสซิลในเวลาต่อมา

ความเก่าแก่ของชั้นหินในยุคเพอร์เมี่ยน  นำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านชีวิต

กระทั่งถึงยุคไดโนเสาร์ ทั้งกินพืชและกินสัตว์  แล้วไม้ดอกยืนต้นก็งอกตามมา  

โลกให้กำเนิดนก  สัตว์มีปีกบินได้

แล้วถึงเวลาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์ฟันแทะก็ปรากฏตัว

 5 ล้านปีก่อน บาบูนแยกจากต้นลำดับย่อยของลิง

“… 2 ล้านปีก่อน โฮโมอีเร็คตัส หรือโฮโมแฮบิลิส บรรพบุรุษมนุษย์ กอริลลา ซิมแปนซี”

1 ล้านปีก่อน  โฮโมอีเร็คตัส(Homo erectus)

2 แสนล้านปี  โฮโม ซาเปียนโบราณ

1 แสนปี   โฮโม ซาเปียนนีอันเดอร์ธัลลิส

40,000 ปี  มนุษย์โครมาญอง มีภาพมือที่ผนังถ้ำ ….

เรากำลังเดินอยู่บนร่องรอยสิ่งมีชีวิตโบราณ มนุษย์โบราณ 

อ่างหินยักษ์ที่เรียกกันในชื่ออ่างสลุง  เคยผ่านช่วงเวลาของไดโนเสาร์กระโดดโลดเต้นมาก่อน  นกยักษ์เหินเวหาบินว่อน  คู่ไปกับพวกไดโนเสาร์กินพืชที่มีน้ำหนัก 100 ตัน

มาถึงดินแดนแห่งนี้  ต้องนึกถึงเรื่องของการกำเนิดโลก กำเนิดของสิ่งมีชีวิต  ความเก่าแก่โบราณที่ราวกับหยั่งทบทวนถึงความฝัน ที่ดูเป็นแผ่นฝ้าจางๆจับรอยอดีตไว้  และแทบจะเข้าถึงได้ด้วยพลังแห่งจินตนาการเท่านั้น

ความยิ่งใหญ่ยาวนานในโลกล้านปี  แทบจะถูกตัดออกไปจากชีวิตประจำวัน  เราอยู่ด้วยความจริงที่เขียนผ่านความรู้ และเรียนรู้ผ่านประวัติศาสตร์อันแสนสั้นเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม  เราก็ยังมุ่งหวังไปสู่หนทางอมตะ  เราแทบจะหลงลืมหายนะที่เกิดขึ้นกับดาวโลกครั้งแล้วครั้งเล่า  บนเส้นทางก่อเกิดและดำรงอยู่บนเวิ้งว้างจักรวาล

โฮโม ซาเปียน  โฮโม ซาเปียนนีอันเดอร์ธัลลิส หรือมนุษย์โครมาญอง  ล้วนเป็นบ่อเกิดที่มาแห่งเชื้อพันธุ์มนุษย์ 

เคยมีฝรั่งมาสำรวจแหล่งมนุษย์โบราณที่ดอยหลวงเชียงดาว  ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่าเคยมีมนุษย์ถ้ำโบราณอาศัยอยู่จริงๆ  ด้วยหลักฐานจากเครื่องมือหิน

ผลพวกจางหายนะของแผ่นเปลือกโลกในยุคเพอร์เมียน  ทำให้เกิดกลุ่มยอดเขาหินปูนดอยหลวงเชียงดาว  ที่คงลักลักษณะพิเศษเอาไว้จนถึงตอนนี้  ด้วยลักษณะเด่นของพันธุ์พืชและสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์

กึ่งอัลไพน์(Sub-akpine Vegetation)  มาจากความหมายรูปลักษณ์สังคมพืชอัลไพน์ นั่นคือสังคมพืชที่พบแต่ในเขตหนาว  หรือเขตร้อนบนความสูงเกิน 3,500 เมตร  ความสูงขนาดนี้จะไม่มีไม้ยืนต้น  ด้วยเหตุจากอากาศหนาวจัด ลมพัดแรง

แต่บนดอยหลวงเชียงดาวกลับมีไม้ก่อหลายชนิด  ค้อเชียงดาว  ปรง  อันเป็นไม้ที่วิวัฒนาการมายาวนาน  และต้องบันทึกลงไปว่าเป็นไม้กึ่งอัลไพน์  หมายถึงระดับความสูงที่ต่ำลงมา  อยู่ในระดับเกิน 1,900 เมตร  ซึ่งอากาศจะแห้งแล้ง  ลมเย็นพัดแรง  อีกทั้งเป็นความกันดารของทุ่งเขาหินปูน

ไม้ที่โตขึ้นมาจึงดูแคระแกร็น  เติบโตช้า  ด้วยเหตุปัจจัยจากสภาพหินปูที่มีสภาพเป็นกรดสูง  และหยั่งรากไชชอนได้ยากลำบาก 

ดังนั้น  พืชพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาว  จึงได้รับการถ่ายเทเชื้อพันธุ์ผ่านความสูง  ซึ่งพันธุ์ไม้บนความสูงเดียวกันจะพัดมาถึงกันได้

เชื้อพันธุ์พืชที่พบได้ตามเทือกเขาหิมาลัย  กลับมาพบที่ดอยหลวงเชียงดาวด้วย  ล้วนเป็นเครื่องยืนยันถึง  ลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่นของดอยหลวง  ว่าไม่อาจเทียบเคียงกับพื้นที่อื่นของโลก

เหล่าพันธุ์พืชที่วิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคเพอร์เมียน  ยังสืบทอดสายพันธุ์เฉพาะบนหมู่ยอดหินปูนดอยหลวงเชียงดาว  ผมเดินมาถูกทางจริงๆ   คืนนี้ เราจะค้างคืนท่ามกลางทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์  ความมหัศจรรย์ที่โลกยุคเพอเมี่ยนร์ทิ้งร่องรอยเอาไว้

………………………………………………

***อ้างอิงถึงหนังสือ  จักรวาลกับสัจธรรม แควนตัมจิตวิญญาณ  โดย นายแพทย์ประสาน  ต่างใจ     

………………………………………………

ช่องทางการสนับสนุนนักเขียน : ขอบคุณที่ร่วมสนับสนุนเรา

ผู้อ่านสามารถโอนเงิน ผ่านธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี สุวิชานนท์ รัตนภิมล 5040121906 ออมทรัพย์ 

ترك الرد

من فضلك ادخل تعليقك
من فضلك ادخل اسمك هنا