ขนบศิลป์ช่างวาด “สล่าหนานแถม” ที่วัดป่าแดงบุญนาค

พ.ศ.2564 วัยศิลปินพะเยานาม “สล่าหนามแถม” หรือ “นายธีรศาสตร์ สุขเจริญ” ครบวัย 70 ปีเต็ม ผลงานของเขาหากมองโดยผิวเผิน คล้ายกับงานเขียนของศิลปินในวัยเด็ก แต่เมื่อลองพิจารณารายละเอียดของภาพวาดที่ผนังอุโบสถวัดป่าแดงบุญนาค จะมองเห็นความประณีต ละเอียดลอออันเรียบง่าย เมื่อลองฟังความคิดของสล่าหนานแถมจะพบว่า มีหลายเรื่องราวเบื้องหลังภาพที่เรามิเคยได้ยินได้เห็น เช่น เรือผีหลอก การล่อปลาก่อ หรือวิถีชีวิตของคนโบราณกับการใช้ใบตองตึง

42 ปีกับชีวิตที่มิเคยมีผลงานทางศิลปะ

ผมสืบเชื้อสายชาวไทยใหญ่เดินทางมากับกลุ่มพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษ ปู่ของผมเเป็นเจ้าของช้างรับจ้างลากไม้ซุงให้ชาวอังกฤษ ส่วนพ่อก็ทำงานช่วยปู่คุมคนงานบริษัทอังกฤษจนรัฐบาลประกาศปิดป่า ชีวิตของผมเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มเริ่มทำงานที่เกษตรบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ทำงานเป็นเสมียนเหมืองแร่ หลังจากนั้นทำบังกะโลอยู่กับคุณลุงชื่อ หลง ศิริพันธ์ ทำงานเป็นคนตัดเย็บเสื้อผ้า ออกแบบเสื้อผ้า สไต์ลพังค์ร๊อค ฮิปปี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมีครอบครัวก็ซื้อที่ดินใช้ชีวิตอยู่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ประกอบอาชีพค้าขาย สอบบรรจุเป็นพนักงานธุรการโรงเรียน เปิดร้านอาหาร ทำงานหลายอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว

เมื่ออายุ 43 ปี พระครูวัดบุญยืนจะสร้างศาลาครูบาอินโต ผมก็รับทำงานโดยเริ่มจากงานแกะสลัก เรียนรู้งานศิลปะที่วัดบุญยืน พองานเสร็จก็ตระเวนทำงานให้กับวัดหลายแห่ง ทั้งงานวาดภาพ งานแกะสลัก งานปั้น ยามว่างจากงานก็เพ้นส์ภาพสินค้า เพ้นท์กระเป๋า เพ้นท์เสื้อยืด เพ้นท์ถุงย่ามตามความต้องการของลูกค้า ทำงานหลายอย่างเพื่อเลี้ยงชีพ บางเวลาก็ทำงานจิตอาสาร่วมกับกลุ่มศิลปิน สอนศิลปะบริเวณศาลาวัดพระเจ้าตนหลวง สอนทั้งคนแก่ คนหนุ่ม เด็ก เวลาว่างก็รับจ้างทำกระทง แกะสลักเทียน ทำงานศิลปะอยู่ตลอด

สร้างศิลปะให้เรียบง่ายกลายเป็นขนบ

พ.ศ.2554 เริ่มคิดและสร้างหุ่นสาย พ.ศ.2557 ร่วมงานแสดงบนเวทีโลก  พ.ศ.2561 ร่วมงานอาเซี่ยน พ.ศ.2562 ร่วมงานแสดงเวทีโลกอีกครั้ง งานหุ่นสายเป็นความริเริ่มจากความฝังใจจากหนังฝรั่ง เป็นเรื่องราวของคนแก่ที่ชอบเชิดหุ่น เมื่อเขาเสียชีวิตวิญญาณของได้เข้าสิงสู่หุ่นสายที่วางเรียงรายไว้ในห้องเก็บหุ่น เวลาคนเปิดเข้าไปในห้องหุ่นสายก็จะเต้นระบำ หุ่นสองตัวแรกจึงถูกสร้างชื่อว่า ปั๋นเต่ยกับปุ๊ดจะค่าน ออกแบบโดยใช้คีย์เปียโนกด เมื่อลองนำผลงานแสดงก็มีคนบริจาคเงิน เราก็ออกแบบหุ่นผู้หญิงชื่อบัวแก้วกับคำปัน หลังจากนั้นก็มีงานแสดงหุ่นโลก ภรรยาบอกว่า ลองสมัครร่วมงานหุ่นโลกกัน เราได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เมื่อเดินทางเข้าร่วมงาน ผู้จัดงานก็ไม่ยอมให้เราลงแข่งขันโดยอ้างว่า เราเป็นเอเชียเพราะอินโดนีเซียได้รับหลายรางวัล แต่เขาให้โอกาสแสดงโดยออกค่าโรงแรมค่าเดินทางให้

การเข้าถึงศิลปะ ดนตรี เป็นเรื่องง่าย คนเข้าถึงได้ง่าย อย่างเช่นเรื่องหุ่นสาย เราทำเพราะอยากทำ คนดูเรามีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส สังคมไม่เครียด ปรบมือกัน ส่วนการวาดภาพจะเน้นหนักเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น อะไรที่คนไม่เคยเห็นก็ดีงออกมา ตัวอย่างเช่น การยกยอปลาหรือตั้งจ๋ำ การล่อปลาก่อ การทอดแห เราบรรยายออกมาด้วยภาพ หรือเรือผีหลอกซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวประมงสมัยก่อน  ชาวประมงจะใช้เรือพายหนึ่งลำ ไม้กระดานแผ่นยาวทาสีขาวหนึ่งแผ่นกว้างประมาณหนึ่งเมตรหย่อนลงน้ำ เมื่อพายไปสีขาวของไม้กระดานจะสะท้อนแสงกลางคืน เมื่อปลามองเห็นก็จะกระโดดลงเรือที่มีแหน่งตั้งไว้ แค่พายเรือก็ได้ปลามากกว่าคนทอดแห

ผูกเรื่องศิลปะด้วยปฏิทินล้านนา

ผมอยากทำงานศิลปะ อยากวาดภาพวิถีชีวิต อยากวาดภาพการทำมาหากินของคนพื้นเมืองพะเยา มันเป็นความงดงามที่มีพลัง เช่น ภาพการทำแฮ้วน้ำบ่อ การตำข้าว ล้อลากหลัว การทำงานศิลปะต้องเตรียมตัวมากเพราะต้องหาข้อมูลวิถีชีวิตของชาวล้านนาแต่ละยุคสมัย เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นภาพวาด ปัจจุบันผมอายุ 70 ปี สำหรับผมวัยเป็นเรื่องของความรู้สึก ผมไม่เครียด ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติ มันอยู่ที่ร่างกายมากกว่า ร่างกายของเราแข็งแรงพอจะปืนขึ้นภูเขาได้หรือไม่ ทำงานวาดภาพเขียนภาพได้ดีหรือไม่ ผมทำงานทุกวัน วาดภาพตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ สอนศิลปะให้กับเด็กวันเสาร์อาทิตย์

ผมวาดภาพหนึ่งภาพใช้เวลา 20 วัน เพราะงานศิลปะมันอยู่นานนับร้อยปี ต้องใช้ความคิด ความประณีตละเอียดลออ เน้นหนักเรื่องการนำเสนอวิถีชีวิตโบราณ ต้องใช้ภาพความจำวัยเด็กร่วมกับจินตนาการ อย่างเช่น งานวาดภาพผนังโบสถ์วัดป่าแดงบุญนาค เมื่อเริ่มต้นวาดภาพเราคิดถึงความเป็นอยู่ของคนป่าแดงสมัยก่อน พวกเขาประกอบอาชีพอะไรเมื่อ 60 ปีก่อน มีสวน มีป่าแพะ มีใบตองตึงซึ่งใช้เหมือนถุงพลาสติก สมัยก่อนทุกอย่างถูกห่อด้วยใบต้องตึง ภาพวาดก็จะมีป่าตึง มีคนประกอบอาชีพเผาถ่าน มีคนเก็บเห็ด เวลาเดินทางก็จะมองเห็นพระธาตุวัดป่าแดงบุญนาคเป็นอิฐก้อนผุพัง เราก็จะบรรยายพระธาตุวัดป่าแดงในสมัยเรายังเป็นเด็ก

สำหรับการเล่าเรื่องราวด้วยภาพวาดเป็นการผูกเรื่องราวด้วยปีปฏิทินล้านนา ภาพวาดภาพแรกเป็นภาพเหตุการณ์ในเดือนเกี๋ยง มีเรื่องราวของผ้าป่ากฐิน ชาวบ้านเข้าวัดเข้าวาทำมาหากิน ภาพวาดภาพที่สองเป็นภาพเหตุการณ์ของเดือนยี่ เทศลอยกระทง เทศมหาชาติ ภาพวาดภาพที่สามเป็นเหตุการณ์เดือนสาม ชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้าว ตีเข้าว ขนข้าวเข้ากุเข้าหลอง เดือนสี่ ทำบุญทานเข้าใหม่ เผาข้าวหลาม ทำบุญพระ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผีปู่ย่า เดือนห้า ว่างจากงานแปงบ้านซ่อมเรือน หาปูปลาล่าสัตว์ เดือนหก ปอยหลวง ทานวัด สร้างโบสถ์วิหาร แห่คัวทานสลากภัตร เดือนเจ็ด งานปีใหม่สงกรานต์ เดือนแปด เรื่องผีสางผีมดผีแมง เดือนเก้า เตรียมพื้นที่การเกษตร เดือนสิบปลูกข้าวดำนา สิบเอ็ด หน้าฝน งานปอย เดือนสิบสอง เกี่ยวกับภูตผีบรรพบุรุษ การถ่ายทอดศิลปะด้วยการวาดภาพสำหรับผมเป็นเรื่องเรียบง่าย ทำให้เข้าใจง่าย แต่พยายามใช้ความประณีตละเอียดลออให้มาก

เรื่อง/ภาพ : กระจอกชัย

admin