ฉัตรชัย โปรดเมธี คืออาจารย์สอนดนตรีที่เติบโตจากครอบครัวดนตรีในพื้นที่ภาคอีสาน พ่อแม่ทำธุรกิจดิสโก้เทค ดีเจเปิดเพลงแนวดิสโก้ ขายบัตรให้กับคนที่อยากมาเต้น ตามเทศกาลที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เมื่อเติบโตครอบครัวส่งเสริมให้หัดเล่นดนตรี เล่นกีตาร์โปร่ง ฝึกกีตาร์คลาสสิค ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปราชญ์ อรุณรังสี และ กอล์ฟ ทีโบน ช่วงเวลาเรียนและการฝึกหัดเล่นกีตาร์ เขาศึกษาและทำแบบฝึกหัด พัฒนาแบบฝึกหัดดนตรีให้เป็นหนังสือคู่มือการเรียนการสอนกีตาร์ของตนเองเพื่ออธิบายลูกศิษย์ที่เรียนดนตรีกับเขา เป็นหนังสือที่เข้าใจง่าย แม้แต่ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางดนตรีก็สามารถเฝึกหัดตามบทเรียนในหนังสือได้

ครอบครัวดนตรีพื้นถิ่นภาคอีสาน

ครอบครัวของผมเป็นคนภาคอีสาน เป็นครอบครัวคนฟังเพลง เราฟังเพลงภูไท ฟังเพลงพื้นบ้าน ฟังพิณ โปงลาง  เช่น นักร้อง บานเย็น รากแก่น ครอบครัวของเรามีอาชีพทำดิสโก้เทคตามเทศกาล งานวัด ฯลฯ เมื่อมีงานที่ไหนพวกเราจะล้อมรั้ว เปิดเครื่องเสียงดิสโก้ ขายบัตรให้คนมาเต้นกัน เมื่อไม่มีงาน ชีวิตระหว่างวันก็จะเปิดเพลงทั้งวัน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสฟังเพลงต่างประเทศ เพราะสื่อยุคสมัยนั้นยังไม่เชื่อมโยงถึงกัน ส่วนใหญ่เพลงที่ฟังเป็นดนตรีแนว เพื่อชีวิต ร็อค ผมเริ่มเล่นกีตาร์ในช่วงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะเห็นลูกพี่ลูกน้องเล่น ส่วนใหญ่เล่นเพลง พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

หลังจากเรียนจบ ม.3 อำเภอวาปีประทุม จังหวัดมหาสารคาม ผมเลือกเรียน ปวช.ที่จังหวัดขอนแก่น คิดว่าอยากลองหาอะไรใหม่ๆ ถ้าเรียนสายสามัญ เรียนอยู่ที่เดิมก็ไม่โต แต่เมื่อไปเรียนช่างอิเล็กทรอนิกศ์ที่ราชมงคล ขอนแก่น ผมเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเรายังหาตัวตนไม่เจอ คนไหนที่หาตัวตนเจอก็จะตั้งใจเรียน กลายเป็นคนเรียนเก่ง แต่ผมไม่อินหรือตั้งใจในการเรียน แต่จะตั้งใจในเรื่องดนตรี ผมเริ่มตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ทำวงดนตรีประจำคณะช่างอิเล็กทรอนิกต์ เล่นดนตรี 3 ปี ตอนนั้นเล่นเพลง เสก โลโซ , หินเหล็กไฟ , X Japan, เพลงป๊อบทั่วไป แต่ก็เรียนจบมาด้วยเกรดเฉลี่ย 3 กว่า

ตอนใกล้เรียนจบ ผมเพิ่มเติมความรู้กับอาจารย์สอนคลาสสิค ชื่ออาจารย์ชล โรงเรียนดนตรีสยามกลการ คิดว่าจะเพิ่มทักษะในการเล่นดนตรี อาจารย์ให้โน๊ตเหมือนทดลองดูว่าเราจะเล่นได้มั้ย ผมเรียนดนตรี 2 สัปดาห์ อาจารย์ก็เอาโน้ตเพลงประกวดมาให้เล่น โรงเรียนสยามกลการมีการประกวดดนตรีทุกปี ผมไม่มีความรู้ดนตรีอะไรมากมาย การเรียนดนตรีของเราก็เพื่ออ่านโน้ต หาเทคนิคการเล่นที่มากกว่าการเกากีตาร์ หลีดกีตาร์ แต่ก็เป็นตัวแทนนักเรียนดนตรีภาคอีสานเข้าประกวดที่ศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพฯ

การเล่นกีตาร์คลาสสิคต่อหน้าผู้คน เป็นสิ่งที่กดดันมาก เป็นแนวดนตรีที่ผมจะไม่เลือกเล่นเพราะเราต้องใช้สมาธิเยอะ ซ้อมเยอะจริงๆ นิ้วถึงจะเป็นเนื้อเดียวกับเพลง เกิดความผิดพลาดน้อย เทคนิคการเล่นค่อนข้างยาก ตอนประกวดผมได้อันดับ 3 ผมใช้กีตาร์ที่ทางผู้จัดเตรียมไว้เล่นในการประกวด ซึ่งเป็นกีตาร์ที่ดี แต่เป็นกีตาร์ที่สายแข็ง ไม่คุ้นมือเรา เวลาจะเอากีตาร์เราไปเสียงก็สู้เขาไม่ได้ แต่อาจารย์ก็ประทับใจที่เราซ้อมนิดเดียวก็ได้ เราก็ได้ในเรื่องสกิลการอ่านโน้ตซึ่งมีเทคนิคค่อนข้างเยอะ

หลังเรียนจบ ผมเรียนต่อ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ช่วงนั้น ผมก็ไม่สนใจการเรียน ผมเน้นฝึกกีตาร์เป็นหลัก ผมเลือกเรียนกับอาจารย์ปราชญ์ อรุณรังสี เรียนรุ่นที่ 7 เรียนรู้ระบบการเรียนของต่างประเทศ เน้นการอ่านโน๊ต ผมเข้าใจว่า ระบบการเรียนแบบนี้ เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานความพร้อมความรู้ทางดนตรีระดับหนึ่ง ผมมีเพื่อนในรุ่นเรียนคณะดนตรีอยู่แล้ว เรียนเอกดนตรีมหาวิทยาลัยมหิดล เรียนเอกดนตรีดุรยางค์ตำรวจ ก็เข้ามาเรียน ฝึกในเรื่องการอ่านโน้ต คอร์ด อิมโพรไวส์ แต่ตอนนั้น ผมเรียนเยอะเกินไป ซึ่งผมรับไม่ทันกับอะไรที่เป็นทฤษฎีเยอะๆ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าใช้อย่างไรกันแน่ นอกจากการอิมโพรไวส์ด้วยเมเจอร์สเกล หรือเพนทาโทนิค ผมเรียนพักหนึ่งก็รู้สึกว่า พอแล้ว ไม่น่าจะเรียนรู้เรื่อง ตอน 3 ปี ผมสอบตกหลายวิชา ต้องเรียนหนักเพื่อเรียนจบให้ทันเพื่อน

เริ่มทำงานดนตรีในสายอาชีพ Sound Engineer

เมื่อเรียนจบก็หางาน เพื่อได้งานวิศวกรรม ตอนสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน เรายังรู้สึกสงสัยในตนเองว่า ใช่หรือ? ผมตัดสินใจลองหางานอื่นในเมือง ผมได้งานเป็นซาวด์เอ็นจีเนีย ตอนเข้าสมัครทำงานหมือนมีโชค วันที่ผมสมัครงาน วันนั้น เขากำลังรับวิศวคอมพิวเตอร์ เป็นงานพัฒนาซอฟแวร์ มีเกมส์ที่พัฒนาสำหรับโทรศัพท์แบล็กเบอร์รี่ สมาร์ทโฟน เขาจะมีทั้งเกมส์ แอนิเมซั่น ตอนนั้น ผมคิดจะทำซอฟแวร์ให้เขาเลย คณะวิศวกรรมเขาจะเรียนทุกอย่าง ตอนที่กำลังรับสมัครงาน ผู้สมัครต้องทำข้อสอบ ผมบอกกับรุ่นพี่ที่รับสมัครงานว่า ผมทำข้อสอบไม่ได้หรอก แต่ผมเห็นเขาง่วนอยู่กับหน้าจอคอมฯ ในหน้านั้นมีเปียนโนอยู่ เขากำลังแต่งเพลงประกอบเกมส์ ผมบอกว่า ผมทำได้ เพราะตอนเรียนที่พระนครเหนือผมเรียนทำดนตรี ทำซอฟแวร์ดนตรี เพราะเราอยากแกะเพลง แต่งไลน์ดนตรี ผมก็ทำดนตรีให้เขา เขาเห็นว่าผมทำได้ก็รับผมเข้าทำงาน

ผมทำงานอยู่ประมาณ 5 ปี บริษัทเริ่มทำแอนิเมชั่น ทำเกมส์ ขายในไทยทั้งต่างประเทศ ตอนนั้นบริษัทลงทุนเยอะ ทำห้อง มีอุปกรณ์ เราก็แต่งเปียโน กีตาร์ ได้ฝึกฝนตนเอง ดูว่าต้องเป็นแนวใด เกมส์สู้รบทำดนตรีประกอบแนวออเคสตร้า เกมส์ไซไฟต้องเป็นแนวร็อค แล้วมีงานหนึ่ง ผมทำแจ๊สแบบไทย ทำดนตรีแจ๊ส ทั้งที่ตนเองไม่เข้าใจดนตรีแจ๊ส ก็ทำไปตามความเข้าใจที่ตนเองคิดว่าเป็นแจ๊ส ตอนที่ผมทำ 5 ปี มันเป็นจุดเปลี่ยนของการฝึกเล่นกีตาร์ ผมเริ่มฟังเพลงของ จอร์จ เบนสัน (George Benson)  แลร์รี คาร์ลตัน (Larry Carlton)  ผมพยายามแกะเพลง แต่ก็รู้ว่าเล่นไม่ได้หรอก ผมเริ่มสนใจ คิดว่าใครจะสามารถแนะนำเราได้บ้าง ตอนนั้นนึกถึง กอล์ฟ ทีโทน ผมก็เลยติดต่อไปขอเรียน แต่ก็ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ผมปลอมตัวเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อขอเข้าเรียนกับพี่กอล์ฟ ทีโบน

เรียนวันแรกที่เริ่มเรียนผมรู้เลยว่า ผมต้องเริ่มฝึกใหม่ เปิดโลกแจ๊สอย่างเต็มตัว เรียนรู้ระบบการฝึกแจ๊สกับ กอล์ฟ ทีโบน ผมเรียนรู้ระบบการฝึก ผมฝึกกับพี่กอล์ฟประมาณ 2 ปี แต่ก็ไม่ถึงขั้นเก่ง แต่ก็เริ่มแจมได้ เราก็รู้ว่า เราพัฒนาไปได้ไกล แต่ก็หยุดเพราะมีการเปลี่ยนงาน ผมเริ่มทำฟรีแลนด์ รับงานจากหลายบริษัท ทำดนตรี สอนดนตรี สอนเด็กนักเรียนที่ KPN Music Academy , สถาบันบ้านดนตรีมีฟ้า

หลังจากนั้น ก็เริ่มสอนนักดนตรี เริ่มทำหนังสือเพื่อสอนนักเรียน เล่มแรกๆ เป็นแบบบางๆ เพื่อใช้เรียน และอ้างอิงมาจาหนังสือต่างประเทศ อยากจะฝึกอะไรก็ทำหนังสือขึ้นมาเลย ถ้าเรายังฝึกไม่ถึงก็แสดงว่าเราทำหนังสือไม่ได้ เหมือนการทำงานวิจัย ทำให้หนังสือมีความสมบูรณ์ในกรอบของเรา กรอบหรือขอบเขตของเรามีอะไรบ้าง เช่น เรียนรู้โน้ตบนคอกีตาร์ การปิ๊กกิ้งกีตาร์  Time Signature  สเกล คอร์ด มีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ทำหนังสือแจ๊ส

ผมได้งานของแกรมมี่ เป็นการทำเพลงป๊อปเป็นพลงแจ๊ส พอดีเขาติดต่อมา อาจจะรู้จักทางออนไลน์ แล้วผมเล่นเพลงตลาดทั่วไป ทำให้เพลงศิลปินเสก โลโซ กลายเป็นเพลงแจ๊ส ทำเพลงฉลามชอบงับคุณให้เป็นเพลงแจ๊ส แต่เรียบเรียนมันก็ไม่ได้ออกมาเป็นแบบที่เราคิดเสมอไป ต้องทำไปเรื่อยๆ ทำกับแกรมมี่เกือบ 200 เพลง ตอนนั้น เขากำลังทำช่อง จีเอ็มเอ็ม สบาย ทำเพลงของค่ายแกรมมี่ให้เป็นเพลงแจ๊สกระบวนการทำเพลง เราไม่เปลี่ยนเมโลดี้ สิ่งที่เราควรเปลี่ยนคือริทึมของเพลง แล้วก็โปรเกสชั่นของคอร์ดตามทฤษฎีของแจ๊ส เดียวจะมีเร็กเก้แจ๊ส

ผมสอนดนตรี 24 ปี ยิ่งผมสอนยิ่งพัฒนา เรามองเห็นระดับของนักเรียนที่พัฒนา อย่างชัดเจน พอเริ่มเล่น เริ่มคุย แบล็กกราวของเขา เราต้องเริ่มจากตรงไหน ว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการสอนของเรามากที่สุด แต่เราก็ต้องถามเขาด้วยว่า เป้าหมายในการเรียนของเขา เขาอยากได้ตรงไหน ผมถามนักเรียนอยู่เสมอว่า อยากได้ความรู้อะไรจากผม บางคนอยากเล่นฟิงเกอร์สไตล์ บางคนอยากเรียบเรียงเพลงได้ บางคนอยากเล่นแจ๊ส บางคนอยากอิมโพรไวส์ บางคนอยากเล่นฟิงเกอร์สไตล์แจ๊ส บางคนอยากเล่นบลูส์ เมื่อรู้เป้าหมายแล้วก็จะรู้ว่า เราจะเริ่มอะไร จากตรงไหน

ตอนนี้ (ปี พ.ศ. 2568) ผมทำหนังสือดนตรี 42 เล่ม แบ่งหมวดเป็น การฝึกเล่นฟิงเกอร์สไตล์ 7 เล่ม การเล่นแจ๊ส 12 เล่ม การเล่นบลูส์ 5 เล่ม นอกจากนั้นคือ ทฤษฎี ทักษะ คอร์ด อิมโพรไวส์ วิธีคิด เทคนิคต่างๆ ผมวางแผนที่จะทำหนังสือฝึกหัดเล่นกีตาร์ร็อค ดนตรีร็อคมีหลากหลาย ร็อคแจ๊ส หรือแบบร่วมสมัย ตอนนี้คือดีดด้วยการใช้นิ้วอย่างเดียวโดยไม่ใช้ปิ๊กเลย หนังสือของผม 1 หน้าไม่ได้มีไว้ฝึก 5 นาที ต้องใช้เวลาฝึก 2-3 วัน 1 หน้าไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ ต้องดูวีดีโอ หนังสือของผมเป็นเชิงปฏิบัติ ผมเป็นนักดนตรี นักฝึก ผมทำหนังสือจากประสบการณ์จริง ทำเพื่อการปฏิบัติ

เรียนดนตรีอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับประสบการณ์ในการสอน นักเรียนส่วนใหญ่อยากเล่นแจ๊ส โดยที่เล่นคอร์ดไปด้วย เหมือนเขาทำอะไรได้มากกว่าในการเล่นซิงเกิลโน้ตอย่างเดียว คือเล่นเป็นฟิงเกอร์สไตล์แจ๊ส เล่นทั้งคอร์ดและเมโลดี้ ส่วนใหญ่อยากเล่นที่บ้าน เล่นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเขาจะต้องคุมได้ทั้งคอร์ดและโซโล่ เราก็จะแนะนำเขาว่าควรจะฝึกอะไรบ้างให้ได้ถึงจุดนั้น มันเหมือนกับเราต้องฝึกหลายๆ แนวรวมกัน ใช้เวลาพอสมควร

นักเรียดนตรีที่ไม่ประสบความสำเร็จคือนักเรียนดนตรีที่ถูกพ่อแม่บังคับให้เรียน สถาบันสอนดนตรีต้องอยู่ด้วยเงินของผู้ปกครอง พ่อแม่พาลูกมาเที่ยวห้างสรรสินค้า แล้วก็ฝากลูกเรียนดนตรี ผมเป็นอาจารย์สอนสถาบันดนตรี น้อยคนที่จะมีความรักในการฝึก ร้อยละ 20 นอกนั้น เราสอนอะไรเขาก็ทำตามแต่เขาเข้ามาเรียนเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แต่เราก็ต้องสอนนักเรียนตามระบบ ตามสเตป เพื่อให้เรียนรู้อย่างถูกต้อง เช่นเขาเรียนคลาสสิค เราก็เน้นเพลง เน้นเทคนิค การวางมือ อย่างเล่นกีตาร์โปร่งทั่วไปก็ดีคอร์ดร้องเพลง ส่วนนักดนตรีที่เล่นเพลงโซโล่ ก็ต้องฝึก สเกล ถ้าเราเล่นเพลงเพียงอย่างเดียวก็ไม่รู้ว่าตนแองเล่นอะไร ถ้านักเรียนที่เริ่มต้น เขาไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไม่ต้องเรียนตรงนี้ เพราะยังฝึกไม่ถึงขั้นที่จะมองเห็นทั้งฟิงเกอร์บอร์ด ต้องฝึกเป็นปีถึงจะเห็นความสำคัญของมัน ซึ่งแล้วแต่บุคคล แต่ผมสอนตัวต่อตัว

ส่วนใหญ่นักเรียนที่มาเรียนกับผมจะไม่มีใครบังคับมาเรียนกับผมอยู่แล้ว คนที่มาเรียนก็มีใจ มีใจอยากพัฒนา เขาจะตั้งใน 1 ชั่วโมง เขาจะได้ฝึกแน่นอน ทั้งเรื่อง คอร์ด สเกล เพลง  การฝึกดนตรีมีหลักอยู่ 3 เรื่องคือ ฝึกคอร์ด ฝึกโซโล่ เช่น สเกล อาเพจิโอ้  ฝึกเพลง เพื่อให้ตกผลึกของการฝึกคอร์ดและสเกล ว่าจะนำมาใช้ในเพลงได้หรือไม่ รวมถึงสำเนียงการเล่น แล้วแต่ว่าจะเป็นแนวใด แจ๊ส บลูส์ ส่วนฟิงเกอร์สไตล์ ผมจะให้นักเรียนฝึกเรียบเรียง ไม่ได้เล่นตามเพลงอย่างเดียว สมมุติเรามีตัวอย่างให้เขาเล่น เราก็พยายามให้เขาพัฒนามือ ได้ฟิงเกอร์ริ่ง ถ้าเรียบเรียงเขาจะฝึกคิดงานของตนเอง จะต้องทำอย่างไรถึงได้ผลงานของเขา

สำหรับการสอนส่วนบุคคล เป็นการประเมินแบบบุคคล ไม่เกี่ยวกับการเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าเรียนเป็นกลุ่มก็แค่มีตารางให้ติ๊ก แต่ถ้าเป็นการเรียนคนเดียว จะเห็นว่า เด็กแต่ละคนมีจุดอ่อน จุดเด่น เป็นอย่างไร แต่ละคนแตกต่าง ส่วนใหญ่นักเรียนเขาจะได้มาได้สักระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีกลางคืน เขาจะได้ทักษะในการ Improvise อยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้ว่า Improvise อย่างไรให้พัฒนามากขึ้น พัฒนาการฝึกซ้อมอย่างไรให้เห็นทาง นักเรียนดนตรีบางคนเรียนดนตรีคลาสสิค เน้นการอ่านโน้ต แต่ไม่รู้โครงสร้างดนตรี บางครั้งผมก็งงว่า สถาบันการศึกษาไม่ได้สอนเรื่องโครงสร้างดนตรี โครงสร้างไดอโทนิค มีคอร์ดแทน เทนชั่นทำอย่างไรได้บ้าง หรือโครงสร้างดนตรีเรียนกันเฉพาะสาขาแจ๊ส ความจริงเป็นแค่การเพิ่มติมนิดหน่อย คนเรียนคลาสสิคก็ควรได้เรียนทฤษฎีแจ๊ส

แรงบันดาลใจยุคสมัยนี้ ไม่เหมือนยุคสมัยก่อน ปัจจุบัน แรงบันดาลใจกว้างมากๆ คือบางคนเห็นศิลปินที่เก่งมากๆ ก็อยากเก่งแบบเขา หาวิถีทางเพื่อฝึกเทคนิค เช่น เราอยากฝึกกีตาร์แบบวง Polyphia ทั้งมือ ทั้งปิ๊ก เราต้องดูประวัติตั้งแต่เริ่มต้นว่า Polyphia  ฝึกอย่างไร อาจจะเริ่มที่ปิ๊ก ที่นิ้ว แต่สุดท้ายแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ได้อยู่ที่เล่นเหมือนใคร แต่อยู่ที่ว่า เราเล่นได้อย่างที่เราอยากจะเล่นหรือเปล่า หรือ เล่นได้ตามเป้าหมายหรือไม่

ผมตั้งเป้าหมายว่า อยากเล่นดนตรีเหมือน George Benson ผมเรียนกับพี่กอล์ฟเพราะอยากจะรู้ตรงนี้ เมื่อได้เข้าโรงเรียนแบบ Old School แบบนี้จะเป็นแบบ George Benson ได้อย่างไร ผมเรียน 3 เดือน มืดสนิท รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมฝึกซ้อมทุกวัน ฝึกถึงเดือนที่ 4 เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลง เราบอกนักเรียนได้ว่า ฝึกไปเถอะ ถ้าเราไม่เห็น มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ฝึกเรื่อยๆ จนมองเห็น ตัวอย่างเช่น เราจับคอร์ดกีตาร์ เราก็ยังมองเฟรต เมื่อเล่นสักพักเราก็ไม่ดูนิ้วมือว่าวางบนเฟรตกีตาร์อย่างไร  Arpeggio ก็เช่นกัน เล่นตามคอร์ดทันหรือไม่ มันคือชั่วโมงในการฝึก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก

การพัฒนาด้านดนตรีของเด็กเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เพราะเด็กบางคนมีเวลาเยอะมาก บางคนมีเวลาแต่มีความเคลือบแคลงสงสัย จนไม่ซ้อม ไม่ทำตามแผนที่วางไว้ นักเรียนดนตรีที่ดีต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เป็นไปตามแผนการฝึก บางคนเรียนดนตรีแจ๊สไม่ได้เลย แต่อิมโพรไวส์ได้ เล่นแจมได้ ส่วนใหญ่ก็จะซ้อมประมาณ 1 ปี ซ้อมดนตรีอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เวลาซ้อมดนตรีจะรู้สึกเองว่า เราได้อะไรจากการฝึก สำหรับหนังสือก็ทำเพื่อการฝึกของเราและนักเรียนเป็นหลัก