เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 ใช้ชีวิตตามหลักพุทธธรรม มีชีวิตในร่มโพธิ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมที่สวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุ มีเพื่อนศิลปินในธรรมวิถี เช่น เขมานันทะ เขาเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ เขียนกลอน เป่าขลุ่ย เล่นดนตรี ชีวิตนักศึกษาทำกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) หรือ วันมหาวิปโยค, เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือ เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้เขาเติบโตเป็นศิลปินเพื่อประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตย เคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งขึ้นดำรงตำแหน่งการเมืองระดับประเทศ เช่น สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ,สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผลักดันงานด้านศิลปวัฒนธรรม มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 57(1)
เด็กชายนักกลอน
ผมถือว่าชีวิตของผมนั้น เกิดสามหน หนึ่ง คือ เกิดจากพ่อแม่ สอง เกิดจากสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุ สาม เกิดจาก 14 ตุลา เหตุการณ์ทางการเมือง ส่วนชีวิตก็แบ่งออกเป็น ชีวิตเด็กบ้านนอก ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ชีวิตทางการเมือง ชีวิตบ้านอกของผม เกิดที่ อำเภอพนมทวน เป็นอำเภอแรกของจังหวัดกาญจนบุรี เดิมชื่ออำเภอเหนือ อยู่ตอนเหนือของจังหวัด อำเภอพนมทวนชื่อเดิม คือ “บ้านทวน” ทวน ลำน้ำทวน ลำน้ำเริ่มจากแม่กลอง ไหลไปตามธรรมชาติ จากทิศใต้สู่ทิศเหนือถึงสุพรรณบุรี เรียกว่า ทวนทิศ ทวนลม จึงเรียกว่า บ้านทวน
ผมเป็นเด็กในยุคสมัยที่มีการอนุญาตให้ขายฝิ่น พ่อผมเปิดโรงยาฝิ่น ช่วงหลังรัฐบาลสั่งห้าม ก็เปิดโรงเหล้าแต่คงไม่เจริญรุ่งเรืองในทางเศษฐกิจ จึงเปิดเป็นวิกลิเก ประสบการณ์ของผม คือ 1.ได้สัมผัสกับชาวบ้าน 2. สัมผัสเรื่องดนตรีและกาละเล่น สมัยก่อนบ้านทวนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจุดตะเกียง จุดเทียน ชีวิตที่ได้ผ่านพบ มีทั้งชาวนา คนหาปลา มีข้อห้ามของโรงเรียน คือห้ามเล่นน้ำและไล่โหนรถ ผมเรียน ป.1-4 สมัยนั้น เป็นโรงเรียนวัด โรงเรียนวัดบ้านทวน ผมโชคดี ที่พ่อเป็นคนอ่านหนังสือ มีหนังสืออยู่ในบ้านเยอะ แกชอบคัดโคลงกลอนดีๆ เช่น โคลงสุภาษิต ไว้ที่ฝาบ้าน เขียนด้วยถ่าน ด้วยช็อค แล้วก็ให้ผมท่อง ผมท่องได้ พ่อชี้ ผมก็ท่องตาม เมื่อท่องได้ พ่อก็เขียน ก ไก่ เป็นแบบของพ่อ ก เอ๋ย กอไก่ จงขันเรื่อยไปข้าจะฟัง ข ไข่ อยู่ในรัง พวกฝรั่งเขาชอบกิน ฃ ฃวด ไว้ใส่เหล้า เจ๊กไหว้เจ้าเขาชอบริน ผมก็ชอบริน ต เต่า หลังเป็นกระดูก เรียกให้ถูกเรียกว่า กระดอง ฮ นกฮูก จับต้นมะยม ลูกตาโตกลม เด็กเห็นก็กลัว นี่เป็น ก ไก่ ที่ผมท่องได้ น้องของผมทุกคนท่องได้ สมัยก่อนแม่อ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็อ่านออกเพราะพ่อเป็นคนสอน
ก่อนเข้าโรงเรียน พ่อให้ผมอ่านหนังสือพิมพ์ให้ครูฟัง ผมก็อ่านหนังสือให้ครูฟัง ครูบอกว่าไม่ต้องเข้า ป.เตรียม (เตรียมประถมวัย) แต่เข้าเรียนประถม 1 เด็กบ้านทวน เข้ามีวันพระวันโกน แต่ห้ามโหนรถเมล์ ห้ามเล่นน้ำ เกรงเกิดอุบัติเหตุ ผมก็เลยว่ายน้ำไม่เป็น ผมเรียนจบประถม 4 ไปเรียนในเมือง เดินทาง 24 กิโลเมตร ถนนเป็นลูกรัง พ่อฝากผมไว้กับป้าซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง คุณป้าเป็น ภรรยา ของ ส.ส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายสวัสดิ์ สาระสาสิน ลูกของป้าก็เป็นเพื่อนนักเรียนกันมาตั้งแต่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6
บ้านของผมเป็นครอบครัวคนอ่านหนังสือ ผมจึงชอบเขียนกลอน เพราะที่โรงเรียนก็ต้องอ่านบทอาขยาน ก็ทำให้เราอยากหัดเขียนกลอน มีคำภาษิตว่า ความรักมักทำให้คนเป็นกวี ตอนนั้นเริ่มวัยรุ่น รักชอบเพื่อนต่างเพศ สมัยก่อนเขาแบ่งโรงเรียนชาย โรงเรียนหญิง ผมก็ชอบเขียนโคลง เรารับการเขียนโคลงมาจากพ่อ เวลาเพื่อนๆ จีบสาวโรงเรียนสตรี เอาชื่อนามสกุลมาให้ผมช่วยเขียนโคลงจีบสาว ให้ผมช่วยเขียนโคลงให้ ผมก็เขียนให้ เกือบครึ่งห้อง ที่ผมเขียนให้เพื่อน เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย เพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกันตั้งแต่มัธยมต่อมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นิด้า พาผมไปบ้าน ก่อนเข้าบ้าน ก็บอกว่า เอ็งอย่าไปบอกนะว่า โคลงที่ติดฝาบ้านเอ็งเป็นคนเขียนเพราะแฟนข้าคิดว่าข้าเขียนมาตลอด นับว่า เป็นศิลปินวรรณกรรมเพื่อชีวิตบทแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์วัยมัธยมที่ได้มา
เมื่อเรียนจบ อยากเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนิจจา จุฬาลงกลอน สะเดาะกลอนไม่ได้จึงมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นปีสุดท้ายที่ไม่ต้องสอบ ผมคิดว่า จะเรียนธรรมศาสตร์ 1 ปี แล้วจะสะเดาะกลอนเข้าจุฬา ปรากฏว่า เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วสนุก ไม่ต้องเรียนก็ได้ ทำกิจกรรม กิจกรรมแรกก็คือเขียนกลอนกับเล่นดนตรีไทย เพราะพ่อของผมหัดให้เป่าขลุ่ยตั้งแต่เด็ก เป็นรุ่นแรกที่ตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ และตั้งชุมนุมดนตรีไทย เราเล่นดนตรีไทย เล่นกลอน มาตั้งแต่แรก ไม่ค่อยสนใจเรียนทำกิจกรรมตลอด แต่ก็ดีที่ทำให้เรามีประสบการณ์ มีเพื่อนเยอะ เขาให้เรียน 8 ปี เราเรียน 7 ปีจบ เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม
ธรรม ทำจิตให้เป็นปกติ
เหตุผลที่สนใจธรรมมะก็เพราะว่า มันมีอยู่ปีหนึ่งที่ผมลำบากมาก ไม่มีค่าเล่าเรียน บ้านไม่มีอยู่ ข้าวไม่มีกิน พ่อแม่แยกกันอยู่ ส่วนผมก็อกหัก ไม่รู้จะไปพึ่งใคร เด็กเมืองกาญจนบุรีส่วนใหญ่ก็จะไปพึ่งวัดบวรนิเวศ วัดที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกจำวัดอยู่ ท่านเป็นคนเมืองกาญจน์ เพื่อนผมที่เรียนด้วยกันตั้งแต่ชั้นมัธยมเป็นลูกศิษย์ ผมก็ไปอาศัยอยู่กับเพื่อน นอนห้อง 2 วัน ไม่ได้ออกไปไหนเลย อ่านหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกอานาปานสติ ของ สมเด็จพระญาณสังวร อีกเล่มคือ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ของ พุทธทาสภิกขุ อ่านหนังสือสองเล่มจบ ตอนเดินออมาจากกุฏิของเพื่อนเหมือนได้เจอโลกใหม่ ไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน เราก็นับถือพุทธศาสนาเหมือนที่เคยนับถือกันมา คล้องพระ เจอศาลอะไรก็ยกเมือไหว้ ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ทำความดีก็ถือว่า นับถือศาสนา
หนังสือ 2 เล่ม ทำให้เปิดโลกใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ก็อ่านหนังสือของท่านพุทธทาส เช่น คู่มือมนุษย์ ทำให้ผมสรุปได้ว่า คนที่จะสนใจธรรมะ คนที่สนใจพุทธศาสนา ลำพังแค่ศึกษาอย่างเดียวไม่พอ มันต้องประสบกับความทุกข์จริงๆ จึงจะทำให้เข้าใจ เราเข้าใจในหลักธรรม แต่หมายถึงธรรมะเข้าไปในใจของเรา เรามักเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจเรา แต่เราไม่เคยเข้าใจตนเองเลย เหมือนกลอนรุ่นพี่ที่ว่า “เขาว่าเขาเข้าใจในตัวเขา แต่ว่าเราเข้าใจเขาไหมนี่ เขาว่าเขาเข้าใจในเราดี แต่ในที่สุดเขาไม่เข้าใจ” คือความเข้าใจจริง ต้องมีความทุกข์จึงจะสนใจธรรมะ ผมได้อย่างนั้น คุยกับเพื่อนที่สนใจ คนที่สนใจท่านพุทธทาส บางทีเดินคุยกับเพื่อนทั้งคืน ผมอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมากขึ้น คิดว่าเรียนจบแล้ว จะต้องไปบวชปฏิบัติธรรม แล้วผมก็ดำเนินประสบการณ์ชีวิตแบบนั้นมาตลอด สนใจพุทธทาส อ่านพุทธธรรม เขียนกลอนก็จะมีแต่เรื่องธรรมะ
งานศิลปวัฒนธรรม เรื่องดนตรีไทย วรรณศิลป์ บทกวี สองอย่างทำให้เราเข้าใจศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น ผมเขียนสรุปเป็นกลอนว่า “ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เอกราช เอกลักษณ์ เอกศักดิ์ศรี เป็นคันฉ่อง ส่องความงามและความดี เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน” กลอนบทนี้ได้รับการแปลจารึกไว้ที่กรุงเบอร์ลิน บนถนน Friedrichstraße เป็นบทสรุป ศิลปวัฒนธรรม ส่วนเรื่อง ธรรมมะ เมื่อเรียนจบธรรมศาสตร์ ผมอยู่ที่สวนโมกข์ ซึ่งที่สวนโมกข์ไม่มีการบวช ต้องบวชจากที่อื่นให้ได้นักธรรมเอก มีพื้นฐาน ซึ่งผมเพิ่งได้นักธรรมตรีเพราะบวชได้เพียงพรรษาเดียว เมื่อออกพรรษาก็ถือธุดงค์ 13 ข้อ อย่างเคร่งครัด ฉันอาหารมือเดียว นุ่งห่มผ้า 3 ผืน นอนในป่าช้า ผมปฏิบัติครบ เมื่อไปอยู่สวนโมกข์วันแรก ผมก็กราบและถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า การมาสวนโมกข์ต้องใช้ปัญญาระดับไหน ท่านหัวเราะหึๆ ใช้เพียงปัญญาที่มาสวนโมกข์ก็พอ ผมเหมือนโดนเขกกบาล คำถามของเรา เรียกว่า คำถามปรุงแต่ง ไม่ใช่คำถามจริงๆ ต้องการจะอวดว่า ถึงแม้ว่าเราไม่ได้นักธรรมเอก ได้นักธรรมตรี ได้ปริญญาตรี เหมือนจะอวด ท่านอาจารย์เหมือนจะรู้ทัน ก็บอกว่า ปัญญาที่ใช้เดินทางมาวนโมกข์ก็ใช้ได้ ถ้างั้นผมไม่ถาม ผมฟังอย่างเดียว ตลอด 2 เดือน
ผมได้รู้จักกับ เขมานันทะ (โกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์) ได้สนทนาธรรม เพราะท่านบวชและเขียนรูปในโรงมหรสพทางวิญญาณ ท่านสอนให้ผมเขียนรูป สเก็ตช์ให้แล้วก็ให้ผมลงสีและผมเขียนลง 2 ช่อง จากนิทาน “ตากับยาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้า กามากินถั่วกินงา หลานขอให้แมงหวี่มาตอมตาช้าง” ผมเขียนสองช่อง แมงหวีตอมตาช้างนี่แหละ ที่สวนโมกข์ ทำให้ผมมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง นั่งสมาธิ เข้าใจธรรมะมากขึ้น คุยกับเขมานันทะ ท่านให้ความรู้เยอะแยะ เช่น ท่านพุทธทาสเคยสอนว่า พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ในเดือน 6 จริงไม่จริงไม่สำคัญเท่ากับว่า ในคืนที่พระองค์ตรัสรู้ นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ก่อนจะตรัสรู้นั้น ท่านคือ เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อตรัสรู้ก็เท่ากับเป็น พุทธะ แปลว่า “รู้” ท่านรู้เรื่องความดับทุกข์ คือ นิพพาน ฉะนั้น การประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ผมตื่นเต้น มันเป็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ท่านอาจารย์สอนเรื่อง ธรรมะ หมายถึงความรู้ใน 4 อย่าง 1. ธร อ่านว่า ธร หมายถึงทรงไว้ อะไรก็ได้ที่แปลว่าทรงไว้ นั่นคือ ธรรมชาติ 2. ธรรมชาติก็มีกฎของมันคือกฎธรรมชาติ 3.ธรรมก็เป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎ .4. ผลที่เกิดจากการปฏิบัติก็เป็นธรรมมะ สิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็คือ ธรรม เราก็เข้าใจตามนี้ไปด้วย ตอนผมจะลาสิกขา ผมบอกท่านอาจารย์ว่า ผมจะต้องสึก
ผมจะลาสิกขา ลาท่านพุทธทาสภิกขุ บอกความจำเป็น และอยากได้คติธรรมจากท่าน ท่านพูดว่า “ทำจิตให้เป็นปกติ” ผมสว่างวาบ เพราะความหมายของศัพท์ ทุกข์ ทุกขะ หมายความถึงทนอยู่ได้ยาก หมายถึงทนอยู่ปกติไม่ได้ เป็นปกติไม่ต้องทนก็ไม่ทุกข์ เราก็ได้คติการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เราพยายามทำจิตให้เป็นปกติ ผมเขียนถึงพุทธทาสไว้ว่า “พุทธทาสนามท่านปานขุนเขา ทว่าเบาสบายอย่างว่างน้ำหนัก ตัวตนของท่านนั้นใหญ่นัก ใหญ่ด้วยหลักให้สละละตัวตน”
บทกวีรับใช้ประชาชน
เมื่อผมลาสิกขา ตอนผมจบ มีคนชวนเล่นหนังพระอภัยมณี ผมไม่รู้จะทำอะไรก็ไปเล่น ตอนละ 400 บาท ออกมาทำงานอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เพื่อรุ่นพี่เป็นคนชวน สอนได้ 1 ปี เรารู้สึกว่าเป็นอาจารย์ไม่ไหว ไม่มีความรู้ในทางวิชาการ สอนหนังสือก็พานักศึกษาออกนอกห้องไปเขียนบทกวีตามใต้ต้นไม้ ผมก็เลยลาออกจากงานอาจารย์ กลับมาถึงกรุงเทพฯ น้องนักศึกษาชวนผมมาเล่นดนตรีไทย มีโอกาสทำ วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ หลังจากนั้นก็ทำงานธนาคารกรุงเทพฯ เราไม่ต้องการเป็นนายแบงก์ (ผู้บริหารธนาคาร) เราต้องการเก้าอี้มานั่งเขียนกวี แล้วก็เล่นดนตรีไทยที่ธรรมศาสตร์
ยุคนั้น เป็นยุคที่นักศึกษาก่อร่างสร้างตัว แยกเป็นชุมนุมต่างๆ นักศึกษาส่วนใหญ่มีหัวก้าวหน้า สนใจเรื่องการเมือง เราก็แยกวงเป็นวง “เจ้าพระยา” สุจิตต์ วงษ์เทศ ช่วยแต่งเพลง แล้วก็มีเหตุทางการเมือง เราก็มาตั้งวง “การะเกต” (ตอนหลังแยกมาตั้งวงชื่อต้นกล้า)ซึ่งวงดนตรีไทยก็ร่วมกิจกรรมนักศึกษาอยู่ตลอด ในที่สุด วันเดินขบวนได้เห็นนักศึกษาแตกกระเจิง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีกิจกรรมของนักศึกษาตลอด ก่อนจะถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วงดนตรีก็จะมีอยู่ 3 วง คือ คาราวาน ,กรรมาชน, ต้นกล้า หลังจากนั้น เริ่มมีการประท้วงกรรมกร เหตการณ์ที่ทำให้ นางสาวสำราญ คำกลั่น ถูกฆ่าที่ กระทุ่มแบน กรุงเทพฯ เราเล่นดนตรี ขณะที่เผาศพ ผมนั่งเขียนกลอน จำได้บทหนึ่งว่า “เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น เธอตายเพื่อผู้อื่นอีกหมื่นแสน เธอคือดินก้อนเดียวในดินแดน แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน”
คืนวันที่ 6 ตลาคม 2519 เราไปเล่นดนตรีตอนหัวค่ำ หลังจากนั้น มีกำหนดเล่นดนตรีตอนเที่ยงคืน เรากลับมาไม่ได้เพราะ ธรรมศาสตร์ถูกล้อม ถูกกระหน่ำยิง นักศึกษากระเจิดกระเจิง หลายคนเข้าป่า ผมเองไม่เข้าป่าเพราะมีครอบครัว มีลูก ผมต้องหลบๆ ซ่อนๆ ผมมีเพื่อนเยอะ อาศัยนอนอยู่บ้านเพื่อนคืน สองคืน บางคืนพ่อแม่ของเพื่อนก็ถาม เป็นนักศึกษาอยู่ดีๆ เรียนให้จบ ทำไมไปยุ่งกับการเมือง เราก็อึ้งเหมือนกันว่า ทำไมคำถามแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้กับประชาชน แสดงว่า มีช่องว่างทางความเข้าใจกันเยอะมากเลย บางทีเราก็ไปกินนอนที่บ้านเพื่อศิลปิน บ้านของเขาอยู่ลึกเข้าไปในสวน เราก็ขลุกอยู่ในห้องคนเดียว ไม่กล้าออกไปไหน ทรมานมาก ตอนนั้นเรามีครอบรัว แต่เราต้องทิ้งบ้านไประเหเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะถ้าเดินทางออกต่างจังหวัดก็จะเป็นที่รู้กันเลย
เหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ผมตื่นตัวทางการเมือง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไร ผมก็ติดตามและมีส่วนร่วมอยู่หลายๆ เหตุการณ์ การมีส่วนร่วมก็คือไปอ่านกลอน ผมเขียนกลอนว่า “อย่าใช้มือประนมนิ่งก้มหน้า อย่าใช้มือปิดตาเมื่อถูกย่ำ อย่าใช้มือแบขอความเป็นธรรม แต่จงกำมือกล้าประกาศชัย” ตอนเล่นดนตรีที่แยกปทุมวัน ตรงหน้ามาบุญครอง ผมจำได้ว่า เพื่อนไปรับมาร่วมอ่านกลอน แล้วก็เล่นดนตรี พอถึงสะพานหัวช้าง ก็มีการยิงกัน เพื่อนให้ผมนอนบนรถแล้วก็เอาเกราะกันกระสุนมาปิดหน้าอก เกือบชั่วโมงกว่าจะไล่พวกมาก่อกวนไปได้ พวกก่อนกวนใช้มือปืนมายิง แล้วหลบไปในคันคลองแสนแสบ นั่นเป็นประสบการณ์ที่รุนแรงที่สุด แต่ก่อนหน้านั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ เชียงใหม่ ประตูท่าแพ ระเบิดลง กระโดดหนีกันชุลมุน ประสบการณ์ทางการเมืองทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งที่เรารู้สึกว่า เราเป็นฝ่ายถูก แต่เป็นผู้ถูกกระทำมากกว่า เราก็เลยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ การเขียนบทกวีจาก บทกวี บทรัก โรแมนติก ก็กลายเป็นทำนองบทกวีเพื่อชีวิต

ต่อสู้และขึ้นสู่เวทีการเมือง
ตอนหลังมีการตั้งสมัชชาปฏิรูป สปช. ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็มีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ท่านอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ด้านการเมือง ,ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ด้านสังคม ศ.นพ.ประเวศ ติดต่อผมให้ร่วมงานสมัชชาเกี่ยวกับเรื่อง “ศิลปินภาคประชาชน” เพราะท่านเป็นคนเมืองกาญจนบุรีสนิทคุ้นเคยกับผม เราทำงานได้เพียงปีเดียว ในปี 2554 ยังไม่ทันได้สรุปการทำงาน การเมืองก็เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นมีการตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ผมในฐานะตัวแทนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็สมัครเข้ามาทำงานในสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ทำงานเป็น สปช.ทำงานเป็นประธานกรรมธิการเกี่ยวกับด้านศิลปวัฒนธรรม ร่างกฎหมาย ทำงานได้เพียง 2 ปี สภาปฏิรูปก็ถูกล้ม แล้วรัฐบาลประยุทธ์ จันโอชา ก็ยุบสภา
ผมเป็นห่วงว่า สิ่งที่เราเสนอไว้ในเรื่องการปฏิรูปศิลปะวัฒนธรรมต้องมีการผลักดัน ผมพาคุณกฤษณา อโศกสิน ไปคุยกับท่าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คุยให้ท่านฟัง ท่านรับปาก ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ มีโอกาสพบกันอีกครั้ง ท่านก็บอกว่า บรรจุให้แล้วนะที่เสนอไว้ ซึ่งอยู่ในหมวดของหน้าที่ของรัฐ “ มาตรา 57 รัฐต้อง (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”
หลายเหตุการณ์ผ่าน ถึงเหตุการณ์ที่ผมทำงานเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ก่อนหน้านั้นมีคนบอกว่า ให้ผมทำงานต่อในเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะ สว. ไม่มีใครทำงานด้านนี้ หรือคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมไม่เข้าไปมีบทบาททางการเมือง ผมจึงทำหน้าที่เป็น สว. แต่ก่อนจะทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาประมาณ 6 เดือน ผมต่อสู้ เล่นดนตรีบนพื้นที่สีลมและหน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 เมื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม พยายามร่างกฎหมายลูก รัฐธรรมนูญ ม.57 (1) เมื่อดำเนินการร่างกฎหมายแล้วเสร็จ เสนอคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ทุกอย่างยกเลิกหมดในสิ่งที่เราเสนอไว้ ทำให้เราได้รู้ว่า การเมืองเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราต่อสู้ ก็ต่อสู้กันเหมือนเดิม ทำให้เราเข้าใจเรื่องการเมือง เข้าใจว่า ประชาธิปไตยคืออะไร
บ้านเรายังไม่สมกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะบ้านเมืองเรา ประชาชน ไม่มีจิตสำนึกเรื่องการเมือง ท่าน พุทธทาสภิกชุ ก็เคยบอกว่า ประชาธิปไตย คือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าหากว่า ประชาชนขึ้นมามีอำนาจแต่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน คือ อำนาจของประชาชนเป็นใหญ่แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถ้าไม่ทำ เกิดโจรขึ้นมาครองอำนาจบ้านเมืองก็ฉิบหาย ผมขยายความว่า ประชาธิปไตย คือ ประชา + ธิปไตย อำนาจของประชาชน ประชาธิปไตย ต้องเป็นอำนาจอันชอบธรรมในการบริหารราชการเรื่องที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักและเป็นใหญ่ นี่คือความหมายที่ครอบคลุมที่สุดของคำว่าประชาธิปไตย ฉะนั้น อำนาจต้องชอบธรรม อำนาจที่ทรงไว้ต้องชอบธรรม การใช้อำนาจต้องชอบธรรม การมีส่วนร่วมในอำนาจของประชาชนต้องชอบธรรม ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ประชาธิปไตยในบ้านเราจึงไม่เป็นจริง
อีกประการคือ ประชาชนเอาอำนาจเงินเป็นใหญ่ คือ ทุนนิยม สมัยก่อนเราถูกสอนว่า ทุนนิยมเป็นศัตรูอันร้ายกาจของสังคมนิยม แต่ปัจจุบัน เรายอมรับว่า “ทุน” สำคัญ แต่ต้องยอมรับว่า มันเป็นทุน “สามานย์” ตรงข้ามกับทุน “สัมมา” ทุนสัมมาคือเอาทุนมารับใช้สังคม ทุนสามานย์คือเอาสังคมมารับใช้ทุน นั่นทำให้ประชาธิปไตยไม่เป็นจริง น่าเสียดายที่ประเทศของเราอุดมสมบูรณ์แต่ขาดความคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ เหมือนจดหมายเหตุวันวลิต สมัยอยุธยาบอกว่า “สูเจ้าคนไทย เกิดในถิ่นอันอุดม เหมือนเส้นหญ้าที่เกิดในดินอันอุดม ยิ่งตัดให้เกรียนเท่าไหร่ก็ยิ่งงอกงามขึ้นเท่านั้น” หมายความว่าพื้นฐานของเราดีมากๆ แผ่นดินของเรา หรือลักษณะอาณาเขตของประเทศไทยอยู่ในทำเลที่ดีที่สุด เรียกว่าดีที่สุดของโลกก็ยังได้ เหมือนคำพูดของ อาจารย์เสน่ห์ จามริก พื้นที่ทรัพยากรในโลกที่เหมาะสม มีอยู่ 7 เปอร์เซ็น ของโลก ประเทศไทยอยู่ใน 7 เปอร์เซ็นของโลก ประเทศไทยสามารถผลิตทรัพยากรเลี้ยงโลก แต่เราไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ ปล่อยให้ต่างชาติครอบงำเรามากเกินไป
ประสบการณ์ในสภาเป็นประสบการณ์ใหม่ เราเห็นอุปสรรคหนักหนาสาหัสคือ การแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งฝ่าย เอาชนะกันด้วยเล่ห์เพทุบาบายต่างๆ เกมส์การเมือง ทำให้คำว่า “การเมือง” เป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องการเอาเปรียบ เหมือนสมัยที่เราเรียน สมัยนักศึกษา ที่ว่า ชนชั้น มี 2 ชนชั้น ในสังคม คือ “ชนชั้น” ผู้กดขี่ กับชนชั้น ผู้ถูกกดขี่ แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง “ชั้นชน” เพราะเป็นเรื่องของการลำดับความสำคัญที่จะต้องมีซึ่งกันและกัน แต่สังคมที่เอาเงินเป็นใหญ่ เรียกว่า บาทใหญ่ ความจริง มาจากคำว่า บาตร คือผู้มีบารมี แต่ในทางการเมืองเรียก บาทะ แปลว่า เงิน หรือ ตีน หรือเอาเรื่องของเงินเป็นใหญ่ ทุนสามานย์เป็นใหญ่ เอาความเห็นแก่ตัวเป็นใหญ่
แต่สิ่งที่ดีที่เราได้คือ ร่างกฎหมายเรื่องศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมันไปไม่ถึงไหน สรุปเรื่องบางเรื่อง ส่งไป ครม ส่งไปกระทรวง ก็ไปไม่ถึงไหน ผมสอบถามผู้ใหญ่ในกระทรวง เขาก็บอกว่า เขารังเกียจคำว่า สมัชชา เพียงเท่านั้น เขาก็เลยไม่ได้ผลักดัน ผมบอกว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับระบบราชการ ระบบการทำงานของกระทรวง ซึ่งไม่ได้รับการปฏิรูปเลย สิ่งที่ดีของผม คือ การเป็น สว. ได้รู้จักกับคนหลากหลาย ได้ทำความเข้าใจ พูดคุย ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า อุปสรรคหนักหนาคืออะไร
การทำงานตำแหน่ง สว. เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นห้องเรียนใหม่ เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้เราเข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องที่สกปรกมาก ใช้เงินซื้อเสียง ชาวบ้านก็ขอให้มีเงิน ยิ่งต่างจังหวัด ยิ่งคับแคบ ใครเป็นบ้านใหญ่ คนก็เกรงกลัวบารมี ไม่กล้าฝ่าฝืนคัดค้าน ภาวะอย่างนี้ มันไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สามารถจะเกิดประชาธิปไตยได้เลย ประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่ให้ความหมาย ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ การเลือกตั้งไม่มีประโยชน์อะไร นี่คือสิ่งที่ผมเห็น เมื่อไหร่พวกเราจะตื่นรู้กันสักทีว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก นี่คือการเมืองที่ผมเห็นและเข้าใจ
ธรรมมะกับเด็กและเยาวชน
การเมืองกับเด็กและเยาวชน ผมเห็นใจเพราะเราก็เคยเป็นอย่างนั้น ยุค 14 ตลา เราก็ปฏิเสธ เกลียดพวกนักการเมือง ใครที่เป็นเจ้าใหญ่นายโตเราไม่ชอบเลย พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น ก็เข้าใจอีกขั้นหนึ่ง และทำให้เราเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีใครบอกเขาเลยว่าต้องทำอย่างไร เขายังใช้ท่าทีไม่ถูกต้องกับหลายเรื่อง ที่ควรจะต้องทำการอย่างมีท่าที ไม่ใช่ก้าวล้ำ ก้าวล่วง ก้าวเกิน เด็กเขาขาดประสบการณ์ สมัยเรา หลัง 14 ตุลา เราศึกษากันมากขึ้น ศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์สังคม วิธีกำหนดจิต จิตกับวัตถุ ตอนนั้นผมก็ร่วมศึกษา เขียนเรื่องวัตถุนิยม ท่านอาจารย์พุทธทาส ในมรดกธรรมของท่านว่า เอาตัวออกมาจาวัตถุนิยม ซึ่งผมก็เถียงกับท่านว่า ไม่ได้เป็นเหยื่อหรือเป็นทาส แต่หมายถึงวัตถุมากำหนดจิต ท่านก็รับฟัง และหัวเราะหึๆ บางทีผมเขียนผิดๆ ท่านก็ท้วง ผมเคยไป กราบท่าน ท่านบอกว่า คุณเนาวรัตน์ ที่เขียนว่า อนัตตาไม่มีตนนั้น ไม่ใช่ อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตน มันมีตนแต่ไม่ใช่ตนตามที่เราไปยึด ผมคิดว่า เด็กรุ่นใหม่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ ซึ่ง สมัยก่อนไม่มีการเรียนแต่มีกลุ่มศึกษา ปัจจุบันไม่มีกลุ่มศึกษา
งานศิลปะ ผมเขียนอยู่บทหนึ่งว่า “ศิลปะคือความงามคือความรัก เป็นประจักษ์ในจิตอันวิจิตร เป็นที่รวมความรู้สึกนึกคิด เป็นที่พัก ของชีวิตจิตวิญาณ“ คือเราเข้าใจธรรมมะ มันเป็นที่รวมความรู้สึกนึกคิด คือ ที่ใจคน มีบทบาทอยู่ 3 อย่าง คือ รู้สึก นึก คิด หมอทางจิตวิทยา บอกว่า คนถ้าเอาแต่รู้สึกเพียงอย่างเดียว เป็นโรคประสาท คิดอย่างเดียวก็จะเป็นโรคจิต นึกอย่างเดียวก็เป็นโรคซึมเศร้า อย่างที่เราเป็นทุกวันนี้ คือ รู้สึก นึก คิด แยกกันไปเลย แต่ความจริง ร่างกายให้สมดุลกันเอง ลองสังเกตบางคนเขย่าเท้า เขย่าตีน หรือใช้มือดึงผม บีบสิว แล้วก็คุยไปคิดไป คือร่างกายมันมาเตือนอยู่เรื่อยว่าอย่าเอาแต่คิด ซึ่งมันเป็นไปตามธรรมะ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ศัทพ์และความหมายทางพุทธ
รูป คือ วัตถุ หรือ กาย
จิต คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
วิญญาณ แปลความหมาย ญาณ คือ รู้ วิญ หรือ วิ คือ โดยยิ่ง หรือ ธรรมชาติที่รู้ยิ่ง หรือ มโนธาตุ
จิต คือ บทบาทวิญญาณ มี 3 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร
เวทนา คือ จิตมารับรู้สึก สัมผัสทางประสาททั้งห้า
สัญญา คือ จำได้หมายรู้
สังขาร คือ ปรุงแต่ง
เรากลายความหมายของศัพท์ทางพุทธศาสนาเป็นวาทกรรมใหม่ เช่น เวทนา หมายถึง สงสาร , สัญญา คือ นิติกรรม ,สังขาร คือ ร่างกาย เราใช้วาทกรรมซึ่งไม่ได้มีความหมายเดิม แต่ในความหมายทางพุทธศาสนา เวทนา สัญญา สังขาร ก็คือ รู้สึก นึก คิด ซึ่งมีกาละอยู่ด้วย คือ รู้สึกเป็นปัจจุบัน นึกเป็นอดีต คิดเป็นอนาคต ศิลปวัฒนธรรม เป็นที่รวมความรู้สึก นึก คิด ของจิตวิญญาณ เป็นที่พักของชีวิต จิตวิญญาณ ถามศิลปินที่ทำงาน ศิลปินเขียนรูป เล่นดนตรี หรือ เขียนบทกวี ขณะที่เขาทำงาน เขาจะรู้สึกว่า เขาได้อยู่กับตนเองจริงๆ ซึ่งเป็นที่พักของจิตวิญญาณ
ธรรมะ ทำให้เรารู้จักตนเอง และอยู่กับตนเอง สิ่งที่หลายคนยังขาด คือ รู้จักตนเอง อยู่กับตนเอง ผมก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด ความรู้ของคนก็มีอยู่ 3 ระดับ คือ รู้จัก รู้จิรง รู้แจ้ง เหมือนเรื่องราวของพระนิกายเซ็น มีพระสององค์เดินทาง องค์หนึ่งถามว่า น้ำลึกแค่ไหน อีกองค์ก็ผลักอีกองค์ลงไป คือถ้าบอกว่า น้ำลึก ก็รู้จักว่าลึก ,ลึก 2 เมตร ก็รู้จริง ,ตกลงไป ก็คือ รู้แจ้ง คนทำงานศิลปะได้อยู่กับประสบการณ์จริงๆ โดยไม่รู้ตัว แต่รู้ตัวว่า มีความสุข
ข้อเสียของศิลปินที่ทำงานศิลปะซึ่งเป็นการทำงานกับความงาม ทำให้หลงใหล ปลี้มปิติ ทำให้รู้สึกว่า คนอื่นไม่เหมือนกู ภูมิใจเหนือคนอื่น โดยไม่รู้ว่า ที่เราภูมิใจเหนือคนอื่นมันเป็นเรื่องของความอหังการ มีตัวตน ความจริงแล้ว คือ มีดสองคม ถ้าเราเพลี่ยงพล้ำกับกิเลส ก็เพลิดเพลินเป็นอหังการ แต่ถ้าเข้าใจก็จะพบว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้เราสงบเป็นปกติ
สากลกวี
สำหรับบทกวี ถ้าเขาแตกฉานในภาษาของเขา จึงจะเติบโตเป็น บกวีได้ เพราะบทกวีเป็นเพชรยอดมงกุฎ วรรณกรรมเป็นมงกุฎ บทกวีเป็นเพชรยอดมงกุฏ เพราะว่า ภาษา มันมีวิวัฒนาการทุกภาษา 1. มันมีรากฐานของมัน 2. มีพื้นฐานที่นำมาใช้กันต่างๆ 3.เป็นภูมิฐาน เมื่อใช้มัน ผมเคยเปรียบเทียบว่า “บทกวีคือเพชรพลอยของถ้อยคำที่เจียระไนมาจากผลึกของความคิด” ฉะนั้น ทุกภาษาจะมีเพชรพลอยของถ้อยคำของเขา การแตกฉานในภาษาของตนจึงสำคัญมาก เพราะเราคิดด้วยภาษา สื่อสารด้วยภาษา มีทั้งรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน ฉะนั้น บทกวีจะเป็นสิ่งที่ทุกภาษามี เพียงแต่ว่าเราให้ความสนใจแค่ไหน
ประเทศที่เจริญแล้ว จะให้ความสนใจเรื่องบทกวีมากๆ หรือประเทศที่ผู้นำสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรม อย่างเวียดนาม ลุงโฮ เปลี่ยนประเทศ เขาเป็นกวี จีน ก็มีวัฒนธรรมเกลื่อนกลืนใกล้กัน อย่างผมไปเวียดนามเพื่อเขียนแผ่นดิน เขามีคติว่า “มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงด้วยศีลธรรม เติมเต็มด้วยดนตรี ” เป็นคำของขงจื๊อ เด็กเวียดนามจึงเติบโตมาอย่างนั้น ซึ่งน่าเสียดายว่า ประเทศไทย มีบทกวี ด้วยอิทธิพลจากอินเดีย ศาสนา ชาดก แต่เราก็สร้างสรรค์เป็นบทกวีของไทยอีกเยอะมาก อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน ผมถือว่าเป็นวรรณกรรมเอกของชาติ เพราะเนื้อหาเรื่องราวและภาษา เป็นภาษาไทยและเป็นคำกวี คำกวี มิได้หมายความว่า คำคล้องจอง แต่ใช้คำว่า คล้องจองมาคล้องใจได้ด้วยนั่นละ
น่าเสียดายปัจจุบัน สิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา ไม่ได้ให้ความใส่ใจ หรือ สนใจกับเรื่องนี้ เราตื่นตาตื่นใจกับความเป็นอื่น เหมือนคำที่ว่า “ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่” เดียวนี้ภาษาอื่น มีอิทธิพลเหนือภาษาเราอยู่มาก ถ้าเราไม่แตกฉานในภาษาของเรา เราจะเอาความคิดของเราไปรับรู้อื่นๆ ได้อย่างไร เพราะเราคิดเป็นภาษาไทย ฝันยังเป็นภาษาไทย ฉะนั้น เราต้องแตกฉานในภาษาของเรา แต่การจะแตกฉานได้นั้น 1. คนที่ชอบเรื่องนี้ 2. คนที่อ่านหนังสือเยอะๆ เหมือนอาจารย์ศิลป พีระศรี (Corrado Feroci) ว่า “นายไม่อ่านหนังสือนายจะรู้อะไร” การอ่านหนังสือเป็นการอ่านความคิดคนอื่น การเขียนหนังสือเป็นการอ่านความคิดของตัวเราเอง ไม่ว่าอ่านหรือเขียน เป็นการทำงานความคิด ซึ่งคนไทยยังขาดอยู่ เราต้องลึกซึ้งในรากเหง้า เราจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อความเป็นอื่น คำหนึ่งที่ดี คือ ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน เท่าทันอนาคต ถ้าเราไม่อ่านหนังสือเราก็ตกเป็นเหยื่อ หรือถ้าเราอ่านหนังสือเราก็เป็นนายมัน ฉะนั้น ปัจจุบัน น่าวิตกมาก คนไม่อ่านหนังสือ ห้องสมุดโรงเรียนเหมือนคุกขังหนังสือ ไม่มีกิจกรรมรักการอ่านเลย
รูปแบบ คือ ฉันทลักษณ์ เพื่อนำมารับใช้เนื้อหา ไม่ใช่เอาเนื้อหามารับใช้รูปแบบ ดังนั้น บทกวีทีดี จึงเป็นบทกวีที่มีเนื้อหาที่ดี มีรูปแบบที่เข้าถึงชีวิตจิตใจได้ง่าย เข้าถึงความรู้สึก ความนึก ความคิด บทกวีที่ดีมันให้อย่างนั้น บทกวีขุนช้างขุนแผนที่ผมชอบ เช่น “เงยหน้าขึ้นเถิดเจ้าพิมเพื่อน แก้มเปื้อนมาจะเช็ดน้ำตาให้” สัมผัสน้อยมาก แต่สัมผัสใจมากที่สุด นี่คือบทกวี ที่ผมใช้คำว่า คล้องจองมาคล้องใจ คนติดกับรูปแบบมากไปมันก็จะขาความรู้สึก ให้แต่ความคิด หรือให้ความไพเราะ แต่ไม่ได้ให้ความคิด รูปแบบไม่รับใช้เนื้อหา
รูปแบบฉันทลักษณ์ของไทย ถ้าเราแตกฉาน เราสามารถนำฉันทลักษณ์มารับใช้ได้ อย่างกาพย์ของจิต ภูมิศักดิ์ “เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ” เป็นกาพย์ยานี ให้ความรู้สึกซึ่งมีจังหวะจะโคน มีความไพเราะ ทำให้เนื้อหาเด่นขึ้นมาอีก เราต้องจำแนกให้ถูกเรื่องรูปแบบและเนื้อหา รูปแบบของไทยก็ดีเพราะภาษาไทยมันเป็นอย่างนั้น มันมีเสียง มีความเหลื่อมล้ำของเสียงที่แน่นอน มีจังหวะจะโคน เราใช้สละให้ถูกต้อง เสียงและจังหวะเป็นหัวใจของศิลปะ ทั้งในดนตรี ในรูปเขียน ในสถาปัตยกรรม มีจังหวะ ลีลา เสียงสูงต่ำ รูปเขียนมีองค์ประกอบ มีจังหวะจะโคน มีความเหลื่อมล้ำของแสงเงา
บทเพลงหลายเพลงซึ่งยังเป็นที่นิยม เริ่มต้นแต่งทำนองโดยอาจารย์ธนิสต์ ศรีกลิ่นดี แต่งทำนองให้ดี หลังจากนั้น ผมจึงเขียนเนื้อร้อง บทเพลงทุกวันนี้ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องแบบนี้ ทำนองไม่ไพเราะ เหมือนเอาร้อยแก้วมาใส่ทำนองเพลง ทำนองต้องมาก่อน หลังจากนั้น ใส่เนื้อหาให้ได้ก็จะเป็นบทเพลงสมบูรณ์ ผมถือว่าทำนองเป็นรูปแบบ ส่วนเนื้อหา คือ คำร้อง ศิลปะ อย่างที่ผมบอก รูปแบบต้องมารับใช้เนื้อหา ผมเคยคุยกับ แคน สังคีต ท่านท่องบทกวีที่เป็นภาษาฝรั่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นของใคร “my candle light at both end. it can not last the night but my ah foe and ho my friend it give a for lovely light” ผมแปลบทนี้ว่า เทียนของข้าจุดปลายทั้งสองข้าง มันมิอาจสว่าง ทั้งคืนข้าม สหายเหวย เฮ้ยอริ นิรนาม มันให้แสงอร้าอร่าม งดงามนัก คำเพียงคำเดียว ทำให้ความลึกมันต่างออกไป
สมัยอยู่ชมรมวรรณศิลป์ ผมเคยเขียน “โอ้แม่ศรีสวยสะ เจ้าประแป้ง ห่มสีแดงด้วยไหมสไบเฉียง นุ่งผ้ายกเชิงทองแล้วมองเมียง ค่าเจ้าเพียงเทพีแม่ศรีไทย” เพื่อนผมเป็นนักลอนด้วยกันชื่อ ดวงใจ รวิปรีชา บอกว่า ขอเปลี่ยนคำได้ไหม เปลี่ยนจาก นุ่งผ้ายกเชิงทอง “แล้ว” มองเมียง เปลี่ยนเป็น นุ่งผ้ายกเชิงทอง “ค่อย” มองเมียง เปลี่ยนคำแล้ว มันสว่าง มองเห็นชัด นี่คือการรู้สึกคำ เจียระไนคำ บทกวีที่ดีๆ ของทุกชาติ เขาเข้าใจความพิถีพิถันในการใช้คำ ไม่ใช่ใช้ศัพท์ แต่ใช้คำแทนความรู้สึกให้ได้ แทนจินตนการ แทนความคิดให้ได้ ก็คือ รู้สึก นึก คิด ผมว่า ศิลปะทั้งปวงมันเป็นสากลตรงนี้ ตรงที่มันขึ้นถึงความเป็นมนุษย์
ธรรมะเป็นสัจจะ เป็นวิทยศาสตร์ โดยเฉพาะ สัจจะทางจิต ทางนามธรรม ซึ่งพ้นจากรูปธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า รูปธรรมไม่สำคัญ รูปธรรมเป็นพาหะ ทำให้เข้าใจในสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม เข้าใจในที่นี้หมายถึง ไม่ใช่แค่รู้จักหรือรู้แจ้งด้วยเหตุผล แต่คือ “รู้แจ้ง” เพราะคำพูดเป็นสิ่งสมมุติอันไปถึงความจริงอันนั้น แต่ละคนมีความจริงที่ไม่เหมือนกัน แต่จริงในความจริง คือ หลักความคิดในทางพุทธศาสนา ทำให้เราเข้าใจเรื่องความจริงอย่างแจ่มแจ้ง ผมก็ใช่ว่าจะเข้าใจทั้งหมด เพียงแต่ว่า เราเข้าใจความรู้แจ้ง เพราะบางเรื่อง เราไม่สามารถจะใช้คำพูดแสดงออกมาพูดได้ เพียงใช้ความรู้สึกกับมัน มีจินตนาการกับมัน ซึ่ง ความรู้สึก กับ ความนึก มันไม่ต้องใช้ภาษา ตรงนี้ที่เรียกว่า “รู้แจ้ง”
ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) สัมภาษณ์