โรคแต่ละโรคเกิดจากหลายปัจจัยผสมผสานกัน มีหลายกลไกเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเข้าใจกลไกและปัจจัยเหล่านั้นได้ ย่อมทำให้การป้องกันและดูแลรักษาง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องหัวใจวายและหลอดเลือดตีบในสมองเป็นสาเหตุอันดับต้นของการเสียชีวิตและพิการในประชากรทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจกลไกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและพิกลพิการจากโรคกลุ่มนี้
รู้กันอยู่ว่าการสะสมไตรกลีเซอไรด์มากเกินไปในเนื้อเยื่อไขมัน ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้เนื้อเยื่อปล่อยสารตัวกลางที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เป็นต้นว่า Tumor Necrosis Factor α (TNF alpha) และ interleukin 6 รวมทั้งการผลิต Adiponectin ลดลง ผลคือกลไกที่นำไปสู่ภาวะอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเพิ่มขึ้นและกระจายเข้าสู่กระแสเลือด เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอักเสบในอวัยวะต่างๆ รวมทั้งผนังหลอดเลือดของหัวใจและสมอง เกิดลิ่มเลือด นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน การเสียชีวิตรวมทั้งปัญหาการพิกลพิการมาจากสาเหตุหลักเหล่านี้นี่เอง
ในทางโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู แพะแกะ ปริมาณมากบ่อยครั้งสัมพันธ์กับกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น การงดหรือลดการบริโภคเนื้อแดงแม้พบว่าช่วยลดอัตราการเกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ทว่าอาจเกาไม่ถูกที่คันโดยตรงนัก โดยอาจมีกลไกบางตัวเชื่อมโยงการลดการบริโภคเนื้อแดงกับกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด การดูแลกลไกเชื่อมโยงที่ว่านั้นอาจเกาถูกที่คันได้มากกว่า
Alexis Wood นักวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการแห่ง Baylor College of Medicine and Texas Children’s Hospital และทีมงานทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยที่เรียกว่า MESA (The Multi-Ethenic Study of Atherosclerosis) เป็นการติดตามศึกษาอาสาสมัครสูงอายุเชื้อสายต่างๆ จำนวน 4,000 คน ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ตั้งแต่ ค.ศ.2006 โดยนำผลวิจัยมาวิเคราะห์ซ้ำ
สิ่งที่ทีมวิจัยกลุ่มนี้พบคือ ในการบริโภคเนื้อแดงหากผู้นั้นไม่มีปัญหาโรคอ้วน ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเนื้อแดงกับอุบัติการณ์เกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดได้ทว่าไม่มากเท่าเมื่อเป็นโรคอ้วน ไขมันในเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่อาจก่อปัญหาอักเสบนำไปสู่ภาวะบาดเจ็บกระทั่งอุดตันของหลอดเลือด งานวิจัยชิ้นนี้จึงชี้แนะว่าการเลี่ยงหรือลดการบริโภคเนื้อแดงนั้นดีแน่ ทว่ายิ่งดีมากขึ้นหากผู้นั้นมีปัญหาอ้วนหรือโรคอ้วน ใครที่อ้วนจึงขอให้เลี่ยงหรือลดการบริโภคเนื้อแดงหน่อยก็แล้วกัน