ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจเกิดคำถามระหว่างทางสำหรับการฝึกฝนดนตรีแจ๊สเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในคำถามที่ผมเคยพบเจอกับตัวเองคือ ทำไมการดำเนินคอร์ด (Chord Progression) สำหรับเพลงแจ๊สมาตรฐานบางเพลงถึงมีการดำเนินคอร์ดคล้ายคลึงกันหรือแทบจะกล่าวได้ว่าเหมือนกันทั้งหมด สามารถนำการดำเนินคอร์ดของอีกบทเพลงหนึ่งนำมาบรรเลงร่วมกันได้อย่างกลมกลืนราวกับเป็นบทเพลงเดียวกัน หากเปรียบเทียบกันแล้วมีเพียงแนวทำนองหลักเท่านั้นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเพลงลีลาดนตรี Modal Jazz ที่เห็นได้ชัดเจนเช่นเพลง So What ประพันธ์โดย Miles Davis และเพลง Impressions ประพันธ์โดย John Coltrane ทั้งสองเพลงอาจแตกต่างด้านแนวทำนองหลักและอัตราความเร็ว ส่วนความยาวแนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดเหมือนกัน คือมีแนวทำนองความยาวจำนวน 32 ห้อง การดำเนินคอร์ดประกอบด้วยคอร์ดเพียงสองคอร์ด สามารถเรียงการดำเนินคอร์ดได้ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงการดำเนินคอร์ดเพลง So What และเพลง Impressions

ตัวอย่างที่ 1 ภาพรวมการดำเนินคอร์ดบทเพลง So What และเพลง Impressions

เพลง So What

เพลง Impressions

จากตัวอย่างเพลงข้างต้นเมื่อเสร็จสิ้นช่วงบรรเลงแนวทำนองหลักลงแล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงนักดนตรีอิมโพรไวส์ (เพลง So What เริ่มอิมโพรไวส์ประมาณ 1.32 นาที เพลง Impressions เริ่มอิมโพรไวส์ประมาณ 0.30 นาที) อาจกล่าวได้ว่าหากตัดแนวทำนองหลักออกไปพิจารณาเฉพาะช่วงนักดนตรีอิมโพรไวส์เสมือนเป็นเพลงเดียวกันเลย คำถามข้างต้นนี้เริ่มคลี่คลายลงจากหนังสือ How to Play Bebop Volume 3: For All Instruments ผู้เขียนคือ David Baker ผมขอสรุปสาระดังนี้ช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 เป็นพัฒนาการสำคัญของดนตรี Bebop เหล่านักดนตรีแจ๊สมักมีความคุ้นเคยกับการดำเนินคอร์ดในเพลงที่ตนได้นำมาบรรเลงหรืออาจเป็นเพลงที่ตนได้นำมาศึกษา ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีส่วนทำให้มีการหยิบยกเอาการดำเนินคอร์ดจากเพลงที่ตนเองคุ้นเคยมาดัดแปลงแก้ไขหรือปรับแต่งและประพันธ์แนวทำนองเข้าไปใหม่ ความนิยมคัดลอกการดำเนินคอร์ดจากเพลงอื่นมาประพันธ์แนวทำนองหลักเข้าไปใหม่ มักพบได้ในเพลงแจ๊สมาตรฐานหลากหลายเพลง โดยอาศัยโครงสร้างการดำเนินคอร์ดเดิมจากเพลงที่มีอยู่แล้ว ดนตรี Bebop หลายเพลงมักใช้แนวคิดการคัดลอกการดำเนินคอร์ดด้วยเหตุผลข้างต้น

เพลง I’ve Got Rhythm ประพันธ์โดย George Gershwin ประพันธ์เนื้อร้องโดย Ira Gershwin ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นิยมนำมาคัดลอกการดำเนินคอร์ด บทเพลงนี้แนวทำนองมีความยาวจำนวน 32 ห้อง อาจกล่าวได้ว่ามีสังคีตลักษณ์เป็น AABA ประกอบด้วยแนวทำนองหลัก A และ B จำนวนอย่างละ 8 ห้อง (ตัวอักษร A และ B ในกรอบสี่เหลี่ยมที่ปรากฏในตัวอย่างแสดงถึงแนวทำนองหลัก A หรือแนวทำนองหลัก B) มีเอกลักษณ์โดดเด่นช่วงแนวทำนองหลัก B มีการดำเนินคอร์ดเชื่อมโยงกับ Circle Progression โดยเหล่านักดนตรีแจ๊สมักนิยมเรียกการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm ว่า Rhythm Changes ตัวอย่างที่ 2 ผมนำมาจากหนังสือ The Jazz Theory Book เขียนโดย Mark Levine แสดงถึงการดำเนินคอร์ดบทเพลงนี้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งการดำเนินคอร์ดบทเพลงนี้ยังสามารถปรับ/ตกแต่งได้อีกมากมาย โดยสำหรับ Ep. 6 นี้ต้องการนำเสนอเพียงประเด็นการคัดลอกการดำเนินคอร์ดเท่านั้น บางกรณีจำเป็นต้องขยายความนำหลักการทางทฤษฎีมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและบางกรณีต้องคัดออกหรือจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพื่อให้สาระเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ให้มากที่สุด

ตัวอย่างที่ 2 การดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm

เพลง I’ve Got Rhythm

บทเพลงที่นำพื้นฐานการดำเนินคอร์ดมาจากบทเพลง I’ve Got Rhythm เช่น เพลง Red Cross, Moose The Mooche, Anthropology ประพันธ์โดย Charlie Parker หรือเพลง Oleo ประพันธ์โดย Sonny Rollins เป็นต้น ทั้งนี้ผมได้นำเพลง Red Cross และ Moose The Mooch มากล่าวถึงสาระเชื่อมโยงกับประเด็นการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm ตัวอย่างที่ 3 แสดงถึงแนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดเพลง Red Cross หากพิจารณาการดำเนินคอร์ดร่วมกันระหว่างตัวอย่างที่ 2-3 พบได้ว่าช่วงการดำเนินคอร์ดแนวทำนองหลัก A อาจมีความแตกต่างออกไปแต่ช่วงการดำเนินคอร์ดห้องที่ 17-24 เป็นช่วงแนวทำนองหลัก B มีการดำเนินคอร์ดที่เหมือนกันคือประกอบด้วยคอร์ด D7, G7, C7, F7 อย่างละจำนวน 2 ห้อง (เพื่ออรรถรสยิ่งขึ้นแนะนำให้รับฟังเพลงร่วมกับพิจารณาโน้ตเพลงในตัวอย่าง)   

ตัวอย่างที่ 3 แนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดเพลง Red Cross

เพลง Red Croos

เพื่อให้เห็นภาพสะดวกขึ้นผมได้นำการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm และเพลง Red Cross มาเปรียบเทียบกันแสดงดังตัวอย่างที่ 4 เป็นการปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 1-8 ผมได้แสดงเฉพาะช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 1-8 เท่านั้นเนื่องจากช่วงแนวทำนองหลัก A ส่วนที่เหลือนั้นมีการดำเนินคอร์ดเหมือนกัน หากพิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 4 ภาพรวมทั้งสองเพลงมีศูนย์กลางเสียงและการดำเนินคอร์ดส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับ Diatonic Chord ของกุญแจเสียง Bb เมเจอร์ (เช่น การดำเนินคอร์ด I-vi-ii-V7 คือช่วงการดำเนินคอร์ด Bb-Gm7-Cm7-F7 ในเพลง I’ve Got Rhythm) อาจมีความแตกต่างในห้องที่ 6 ของเพลง Red Cross มีการเคลื่อนที่สูงขึ้นครึ่งเสียงจากคอร์ด Bb ไปยังคอร์ด B และกลับมายังคอร์ด Bb ในห้องที่ 7 นอกจากนี้ยังสังเกตได้อีกว่าเพลง I’ve Got Rhythm นั้นมีความหนาแน่นของคอร์ดและมีการเคลื่อนที่ของการดำเนินคอร์ดรวดเร็วกว่าเพลง Red Cross อย่างเห็นได้ชัดเจน   

ตัวอย่างที่ 4 เปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 1-8

ตัวอย่างที่ 5 เปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B สำหรับกรณีนี้มีความชัดเจนว่ามีการดำเนินคอร์ดเหมือนกันทั้งหมดคือประกอบด้วยคอร์ด D7, G7, C7, F7 อย่างละจำนวน 2 ห้องเท่ากัน แนวคิดลักษณะนี้อาจกล่าวได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับ Circle Progression คือเป็นการดำเนินคอร์ดแบบวงจรอาจเป็นการเคลื่อนที่ลักษณะ Cycle of Fifths หรือ Cycle of Fourths หากพิจารณาภาพรวมร่วมกับการดำเนินคอร์ด D7, G7, C7, F7 จะพบว่ามีการเคลื่อนที่เป็นไปตามแนวคิดข้างต้น

ตัวอย่างที่ 5 เปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ห้องที่ 17-24

ส่วนเพลง Moose The Mooche นั้นมีแนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดแสดงดัง ตัวอย่างที่ 6 ภาพรวมการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A มีความสัมพันธ์กับคอร์ดที่ประกอบด้วยโน้ตในบันไดเสียงไดอะทอนิก (Diatonic Chord) กุญแจเสียง Bb เช่นเดียวกัน ส่วนการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ห้องที่ 17-24 มีความแตกต่างออกไปบ้างด้วยการสอดแทรกคอร์ด Min7 ที่สัมพันธ์กับคอร์ด D7, G7, C7, F7 อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสอดแทรกแนวคิดการดำเนินคอร์ด ii-V7 มาสร้างสรรค์ การดำเนินคอร์ด ii-V7 หรือการดำเนินคอร์ด ii-V7-I มักพบได้บ่อยครั้งในเพลงแจ๊สมาตรฐาน สามารถกล่าวถึงแนวคิดได้หลายมุมมองโดยมีความเชื่อมโยงกับคอร์ดลำดับที่ 2, 5 และ 1 สัมพันธ์กันกับกุญแจเสียงหรือบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประกอบกัน ทั้งนี้จะขอไม่กล่างถึงเชิงหลักการทางทฤษฎีมากจนเกินไปนัก

ตัวอย่างที่ 6 แนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดเพลง Moose The Mooche

เพลง Moose The Mooche     

เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อผมนำการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A เฉพาะห้องที่ 1-8 มากล่าวถึงเท่านั้น แม้ว่าการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ของเพลง Moose The Mooche อาจมีความแตกต่างออกไปบ้าง แต่ภาพรวมยังคงมีทิศทางสอดคล้องกับการดำเนินคอร์ดห้องที่ 1-8 โดยเปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm และเพลง Moose The Mooche ได้ดังตัวอย่างที่ 7 การดำเนินคอร์ดเพลง Moose The Mooche ยังคงมีความสัมพันธ์กับการดำเนินคอร์ดI-vi-ii-V7 คือช่วงการดำเนินคอร์ด Bbmaj7-Gm7-Cm7-F7 และมีการดำเนินคอร์ดแตกต่างออกไปบ้าง เช่น สอดแทรกการดำเนินคอร์ด iii-VI7-ii-V7 ตรงช่วงห้องที่ 2-4 ตรงการดำเนินคอร์ด Dm7-G7-Cm7-F7 ส่วนห้องที่ 5-8 ยังคงมีทิศทางสอดคล้องกับการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm

ตัวอย่างที่ 7 เปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A ห้องที่ 1-8

การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าการดำเนินคอร์ดเพลง Moose The Mooche มีความแตกต่างออกไปด้วยการสอดแทรกความสัมพันธ์จากคอร์ด Min7 นำเข้าสู่คอร์ด D7, G7, C7, F7 อาจกล่าวได้ว่าเป็นการผสมผสานแนวคิดการดำเนินคอร์ดแบบ ii-V7 เข้าไปสร้างสีสันให้กับการดำเนินคอร์ด (ผมขอขยายความการดำเนินคอร์ดแบบ ii-V7 สักเล็กน้อยคือเป็นคอร์ดลำดับที่ 2 และคอร์ดลำดับที่ 5 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกุญแจเสียงและมีความเชื่อมโยงกับคอร์ดที่ประกอบด้วยโน้ตในบันไดเสียงไดอะทอนิก พบแนวคิดลักษณะเช่นนี้ได้บ่อยครั้งในเพลงแจ๊สมาตรฐาน) ทั้งนี้สามารถสรุปการสอดแทรกด้วยคอร์ด Min7 ไว้ก่อนหน้าคอร์ด D7, G7, C7, F7เป็นดังนี้ตารางที่ 2 (พิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 8)

ตารางที่ 2 การดำเนินคอร์ดเพลง Moose The Mooche ห้องที่ 17-24      

ตัวอย่างที่ 8 เปรียบเทียบการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B ห้องที่ 17-24

กรณีคัดลอกการดำเนินคอร์ดจากเพลง I’ve Got Rhythm ที่นำมายกตัวอย่างนี้อาจกล่าวได้ว่าช่วงแนวทำนองหลัก A มีความสัมพันธ์กับพื้นฐานการดำเนินคอร์ด I-vi-ii-V7 โดยเพลง Red Cross นั้นมีการดำเนินคอร์ดเคลื่อนที่ช้ากว่าและมีความหนาแน่นของคอร์ดที่น้อยกว่า ส่วนเพลง Moose The Mooche ภาพรวมมีการดำเนินคอร์ดสอดคล้องกับเพลง I’ve Got Rhythm และสอดแทรกการดำเนินคอร์ด iii-VI7-ii-V7 เข้าไปผสมผสาน

กรณีช่วงแนวทำนองหลัก B มีความเชื่อมโยงกับ Circle Progression โดยเพลง Red Cross มีการดำเนินคอร์ดเหมือนกับเพลง I’ve Got Rhythm ทุกประการคือประกอบด้วยคอร์ด D7, G7, C7, F7 จำนวนอย่างละ 2 ห้องตามลำดับ ส่วนเพลง Red Cross นั้นมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดการดำเนินคอร์ดข้างต้นเช่นเดียวกัน แต่สอดแทรกด้วยความสัมพันธ์จากคอร์ด Min7 นำเข้าสู่คอร์ดต่าง ๆ ต่อไปซึ่งสำหรับกรณีนี้เป็นคอร์ด D7, G7, C7, F7 ตามลำดับ

สังเกตได้ว่าการคัดลอกการดำเนินคอร์ดหรือ Contrafact ที่นำมากล่าวถึงนี้ แม้มีแนวคิดนำพื้นฐานการดำเนินคอร์ดมาจากเพลงอื่นอาจเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น ความประทับใจหรือเพลงที่ตนเองนำมาศึกษา การประพันธ์แนวทำนองหลักเข้าไปใหม่โดยอาศัยวัตถุดิบการดำเนินคอร์ดดั้งเดิมจากเพลงอื่นที่นำมาคัดลอกนี้ ผู้ประพันธ์ก็สามารถปรับแก้ไขหรือดัดแปลงการดำเนินคอร์ดให้เหมาะสมกับแนวทำนองหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในเพลงหรือเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ยังมีแนวคิดบนพื้นฐานการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm อีกหลายบทเพลง เช่น เพลง Anthropology, Dexterity, Segment ประพันธ์โดย Charlie Parker เพลง Oleo ประพันธ์โดย Sonny Rollins เพลง Dizzy Atmosphere  ประพันธ์โดย Dizzy Gillespie

เพลง Anthropology

เพลง Dexterity

เพลง Segment

เพลง Oleo

เพลง Dizzy Atmosphere

สำหรับ Ep. 6 เป็นการนำสาระจากประเด็นคัดการดำเนินคอร์ดจากเพลง I’ve Got Rhythm มานำเสนอ ยังมีความน่าสนใจในประเด็นนี้อีกโดยผมจะนำมากล่าวถึงต่อในครั้งต่อไป สุดท้ายนี้ผมขอประชาสัมพันธ์โครงการ Thailand Jazz Workshop 2024 เป็นโครงที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณาจารย์จากวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ตลอดจนอาจารย์จากต่างประเทศ และศิลปินรับเชิญ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-9 ตุลาคม 2567 สามารถดูรายละเอียดได้จาก Facebook: Thailand Jazz Workshop

สรุปสาระใน EP.6

1. มักได้รับอิทธิการดำเนินคอร์ดจากบทเพลงที่ศึกษาหรือคุ้นเคย โดยนำการดำเนินคอร์ดมาแก้ไขหรือปรับแต่ง แล้วประพันธ์แนวทำนองเข้าไปใหม่

2. เพลงI’ve Got Rhythm ประพันธ์โดย George Gershwin ประพันธ์เนื้อร้องโดย Ira Gershwin เป็นหนึ่งในตัวอย่างเพลงที่ได้รับความนิยมนำมาคัดลอกการดำเนินคอร์ด โดยช่วงแนวทำนองหลัก A การดำเนินคอร์ดมักมีความสัมพันธ์กับการดำเนินคอร์ด I-vi-ii-V7 ส่วนช่วงแนวทำนองหลัก B การดำเนินคอร์ดมีการดำเนินคอร์ดเชื่อมโยงกับ Circle Progression

3. เพลง Red Cross ได้รับอิทธิพลจากการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A โดยมีความหนาแน่นของคอร์ดน้อยกว่าและเคลื่อนที่ช้ากว่าการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm ส่วนช่วงแนวทำนองหลัก B มีการดำเนินคอร์ดเหมือนกัน

4. เพลง Moose The Mooche ได้รับอิทธิพลจากการดำเนินคอร์ดเพลง I’ve Got Rhythm เช่นเดียวกัน การดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก A มีความสัมพันธ์กับการดำเนินคอร์ด I-vi-ii-V7 ส่วนการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก B สอดแทรกแนวคิดการดำเนินคอร์ดแบบ ii-V7

แหล่งอ้างอิง:

1. หนังสือHow to Play Bebop Volume 1-3: For All Instruments โดย David Baker

2. หนังสือ Jazz Theory from Basic to Advanced Study โดย Dariusz Terefenko

2. หนังสือ The Jazz Theory Book โดย Mark Levine

3. บทความวิชาการเรื่อง “การสร้างสรรค์ของชาลี ปาร์คเกอร์: กรณีศึกษาบทเพลง Red Cross และบทเพลง Moose the Mooche Charile Parker’s Creation: The Case of Red Cross and Moose the Mooche” โดยเจตนิพิฐ สังข์วิจิตร (เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

4. บทความวิชาการเรื่อง Contrafact โดยเจตนิพิฐ สังข์วิจิตร (เผยแพร่ในงาน RSU International Research Conference 2020)